รางวัลชมเชย ปีการศึกษา 2566

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : KR 2.3.1

การสร้างสรรค์ผลงานดนตรีแจ๊สด้วยแนวคิดสหวิชา
สู่การสร้างนวัตกรรมงานวิจัย
กรณีศึกษา “บทประพันธ์เพลงหัตถยุทธ ลีลา” และ
“บทประพันธ์เพลงเดวิสฟินอมินอน”
ประพันธ์โดย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เจตนิพิฐ สังข์วิจิตร

ผู้จัดทำโครงการ​

ผศ.ดร.เจตนิพิฐ สังข์วิจิตร

วิทยาลัยดนตรี

หลักการและเหตุผล/ความสำคัญ/ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้​

แนวคิดสำหรับการประพันธ์เพลงไม่ได้มีข้อกำหนดว่า ต้องเกิดจากการศึกษาศาสตร์ดนตรีเพียงเท่านั้น แรงบันดาลใจจากการศึกษาศาสตร์ด้านอื่น ก็สามารถนำมาเชื่อมโยงเข้ากับเทคนิคการประพันธ์หรือแนวคิดหลักการทางดนตรีหรือทฤษฎีดนตรีเพื่อสร้างสรรค์ผลงาน การศึกษาศาสตร์อื่นเพื่อขยายกรอบแห่งการสร้างสรรค์ทางดนตรีของผู้ประพันธ์ ก็เป็นสิ่งท้าทายสำหรับการสร้างบทประพันธ์ที่ผสมผสานขึ้นจากการศึกษาศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อนำองค์ความรู้ หลักการ หรือเทคนิค นำมาสร้างคุณค่าให้กับบทประพันธ์ สำหรับประเด็นความรู้การสร้างสรรค์ผลงานดนตรีแจ๊สด้วยแนวคิดสหวิชาสู่การสร้างนวัตกรรมงานวิจัย กรณีศึกษา “บทประพันธ์เพลงหัตถยุทธ ลีลา” และ “บทประพันธ์เพลงเดวิสฟินอมินอน” ประพันธ์โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เจตนิพิฐ สังข์วิจิตร เป็นการศึกษาศาสตร์ด้านศิลปะและบุคคลสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ นำมาเชื่อมโยงเข้ากับแนวคิดทางดนตรีเพื่อสร้างนวัตกรรมการวิจัยที่เกิดจากแนวคิดสหวิชาการ สามารถอธิบายสาระได้ดังนี้

สำหรับกรณีวิจัยสร้างสรรค์บทประพันธ์เพลงหัตยุทธ ลีลา (Hattayut Leela) ประพันธ์โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เจตนิพิฐ สังข์วิจิตร ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างชุดบทประพันธ์เพลงแจ๊สรูปแบบวงดนตรีแจ๊สขนาดใหญ่ จำนวน 1 ชุด ประกอบด้วย 4 Episode สะท้อนศาสตร์และศิลป์ในมิติดนตรีแจ๊สที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการศึกษาผลงานภาพวาดศิลปิน 4 คน จำนวน 4 ภาพ ซึ่งมีที่มาและความสำคัญดังนี้

          เป็นที่ทราบกันดีว่าศาสตร์ด้านศิลปะสามารถช่วยกล่อมเกลาหรือบ่มเพาะจิตใจมนุษย์ให้สัมผัสกับอารมณ์ ความรู้สึก สะท้อนความเป็นตัวตนของมนุษย์ อีกทั้งศิลปะยังเป็นสื่อกลางเพื่อถ่ายทอดสาระสุนทรียภาพไปถึงบุคคลอื่นตามแต่เจตนารมณ์ของผู้ส่งสาระนั้น สุนทรียภาพข้างต้นก็มีความงดงามต่างกันออกไป โดยตัวแปรสำคัญด้านสุนทรียภาพก็ขึ้นอยู่กับอัจฉริยภาพของแต่ละบุคคลเช่นกัน ในปัจจุบันศาสตร์ด้านศิลปะก็แตกแขนงออกไปมากมาย ทั้งด้านวิจิตรศิลป์และด้านประยุกต์ศิลป์ ผลงานด้านทัศนศิลป์และดนตรีก็เป็นศาสตร์ด้านศิลปะแขนงหนึ่งอยู่คู่กับวิถีของมนุษย์มาช้านานให้มนุษย์ได้สัมผัสกับอารมณ์ ความรู้สึก ที่เอื้ออำนวยประโยชน์ทางจิตใจในหลากหลายมิติ

ทัศนศิลป์ แหล่งสุนทรียภาพแฝงไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ทักษะและประสบการณ์จะถูกถ่ายทอดจิตวิญญาณผ่านไปยังมือของศิลปิน บรรจงสร้างสรรค์ผลงานผ่านฝีแปรงไปบนผืนผ้าใบแฝง ไว้ด้วยนัยคุณค่าศาสตร์และศิลป์ ภาพอันที่ทรงคุณค่าก็จะสะท้อนตัวตนของศิลปินให้มีความเด่นชัด เช่นเดียวกับดนตรีแจ๊ส แหล่งสุนทรียภาพแบบหนึ่ง สามารถสื่อถึงศาสตร์และศิลป์ในวิถีแบบนามธรรม ทั้งยังให้คุณลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์ด้านการอิมโพรไวส์ เพื่อเปิดโอกาสให้ศิลปินสะท้อนถึงอารมณ์ ความรู้สึกของตนเอง ที่มีต่อบทเพลงถ่ายทอดผ่านมือของศิลปินไปยังเครื่องดนตรีก่อเกิดสำเนียงมิติเสียงต่าง ๆ การอิมโพรไวส์เป็นองค์ประกอบสำคัญในดนตรีแจ๊สสามารถแสดงถึงทักษะ ประสบการณ์ และจิตวิญญาณของผู้บรรเลงได้เฉกเช่นเดียวกับภาพวาด รูปแบบการจัดวงแจ๊สขนาดใหญ่หรือเรียกว่าวงบิกแบนด์ ผสมผสานด้วยกลุ่มเครื่องเป่าและกลุ่มจังหวะที่เชื่อมโยงกันทำหน้าที่สร้างมิติเสียงและขับเคลื่อนบทเพลงด้วยรูปแบบวงแจ๊สขนาดใหญ่ สามารถสร้างมิติเสียงได้หลากหลายและมีผลโดยตรงต่อการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อิมโพรไวส์ในบทเพลง นักดนตรีที่ร่วมกันบรรเลงตลอดจนผู้อิมโพรไวส์จะร่วมกันสร้างสรรค์บทเพลง ให้ดำเนินไปตามแนวทางของผู้ประพันธ์กำหนดไว้  

ทั้งสุนทรียภาพของภาพและดนตรีแจ๊ส มีสื่อกลางในการถ่ายทอดจินตนาการที่เหมือนกันนั่น คือ ผลงานถูกสร้างสรรค์ผ่านมือของศิลปิน ด้วยความเชื่อมโยงนี้ผู้ประพันธ์จึงมีความสนใจในประเด็นดังกล่าว โดยนำแรงบันดาลใจจากภาพมาสะท้อนเป็นการประพันธ์ในรูปแบบวงแจ๊สขนาดใหญ่หรือบิกแบนด์ ผ่านบทประพันธ์เพลง หัตถยุทธ ลีลา เพื่อสื่อถึงสุนทรียภาพทั้งในมิติภาพและดนตรีแจ๊สที่ต้องสร้างสรรค์ผ่านมือของศิลปิน
ซึ่งผู้ประพันธ์กำหนดชื่อบทประพันธ์ “หัตถยุทธ ลีลา” ให้มีนัยแฝงด้วยแนวคิดผลงานถูกสร้างสรรค์ผ่านมือของศิลปิน

  ส่วนกรณีวิจัยสร้างสรรค์บทประพันธ์เพลงเดวิสฟินอมินอน (Davis Phenomenon) ประพันธ์โดย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เจตนิพิฐ สังข์วิจิตร ได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างบทเพลงระลึกถึงไมล์ส เดวิส ในวาระครบรอบ 30 ปีการเสียชีวิต เพื่อตระหนักถึงความสำคัญของไมล์ส เดวิสเชิงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ดนตรีแจ๊ส ซึ่งมีที่มาและความสำคัญดังนี้

ไมล์ส เดวิส (Miles Davis, 1926-1991) นักเล่นทรัมเป็ต นักประพันธ์เพลง บุคคลสำคัญต่อวงการดนตรีแจ๊สและมีบทบาทเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาดนตรีแจ๊สในหลายวิถีตั้งแต่ ดนตรีบีบ็อป ดนตรีคลูแจ๊ส ดนตรีฮาร์ดบ็อป ดนตรีโมดัลแจ๊ส และดนตรีฟิวชันแจ๊ส เขานำดนตรีแจ๊สพัฒนาเข้ากับยุคสมัย ผสมผสานกับทดลองนำแนวคิดต่างๆ มาขยายขอบเขตให้มิติเสียงดนตรีแจ๊สมีความหลากหลายขึ้น แม้เขาเสียชีวิตจะครบ 30 ปี ในปี ค.ศ. 2021 นี้ แต่แนวคิดที่เขาสร้างปรากฏการณ์ไว้ในดนตรีแจ๊สวิถีต่าง ๆ ได้กลายเป็นมรดกทางความคิดที่ถูกถ่ายทอดมาถึงดนตรีแจ๊สในปัจจุบัน

ช่วงทศวรรษ 1940 ดนตรีบีบ็อปได้ก่อกำเนิดจากนักดนตรีแจ๊สชั้นแนวหน้า เช่น ชาร์ลี
ปาร์คเกอร์ (Charlie Parker, 1920-1955) นักเล่นอัลโตแซกโซโฟน ดิซซี กิลเลสพี (Dizzy Gillespie, 1917-1993) นักเล่นทรัมเป็ต ได้ร่วมกันบรรเลงดนตรีแจ๊ส ณ สถานบันเทิง มินตันส์เพลย์เฮาส์มีเอกลักษณ์ด้านการแสดงด้วยรูปแบบวงขนาดเล็กและเน้นการอิมโพรไวส์เป็นสำคัญ ลีลาการบรรเลงแสดงถึงทักษะความเชี่ยวชาญของนักดนตรีที่บรรเลงร่วมกัน ไมล์ส เดวิสได้ร่วมงานกับชาร์ลี ปาร์คเกอร์ ในลีลาดนตรีบีบ็อป และสร้างความแตกต่างจากปาร์คเกอร์ด้วยแนวทำนองที่มีความหนาแน่นลักษณะจังหวะเบาบางกว่า แนวทางการบรรเลงของเดวิสเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจไปสู่วิถีแห่งดนตรีคลูแจ๊ส 

ปี ค.ศ. 1957 เดวิสได้ออกผลงานชื่อ Birth of The Cool ด้วยรูปแบบวงเก้าชิ้น (Nonet) สังกัดค่าย Capital Records ผลงานชิ้นนี้ได้ผสมผสานเฟร็นช์ฮอร์น หรือทูบา เครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่า มักพบในวงออร์เคสตรานำมาร่วมสร้างสรรค์ และได้ สร้างกระแสแห่งวิถีดนตรีคลูแจ๊สให้ได้รับความนิยม ผลงานชิ้นนี้บันทึกเสียงตั้งแต่ปี ค.ศ. 1949-1950 โดยเดวิสได้ร่วมงานกับนักดนตรีที่สำคัญอย่าง กิล อีแวนส์ (Gill Evans,1912-1988) นักเรียบเรียงเสียงประสาน เจอร์รี มัลลีแกน (Gerry Mulligan, 1927-1966) นักเล่นบาริโทนแซกโซโฟน ลี โคนิตซ์ (Lee Konitz, 1927-2020) นักเล่นอัลโตแซกโซโฟน กันเธอร์ ชูลเลอร์ (Gunther Schuller, 1925-2015) นักเล่นเฟร็นช์ฮอร์น นักดนตรีเหล่านี้ยังนำแนวคิดของเดวิสไปสร้างสรรค์การประพันธ์เพลงในทิศทางตนเอง ทำให้ดนตรีคลูแจ๊สมีความหลากหลายยิ่งขึ้น ต่อมาช่วงทศวรรษ 1960 เดวิสได้กลับมาสร้างสรรค์วงแจ๊สขนาดเล็ก ด้วยการนำแนวทางการบรรเลงจากดนตรีบีบ็อปที่เขาเคยร่วมบรรเลงกับชาร์ลี ปาร์คเกอร์ในช่วงทศวรรษ 1940 มาพัฒนาให้มีความแตกต่างออกไปจากเดิมในวิถีแห่งดนตรีฮาร์ดบ็อป ที่มีกลิ่นอายดนตรีแอฟริกัน เช่น ริทึมแอนด์บลูส์ กอสเปล หรือบลูส์ และเน้นด้านการเรียบเรียงมากขึ้นกว่าดนตรีบีบ็อป เช่น วงห้าชิ้นที่ดีที่สุดของเขา (First Great Quintet) นักดนตรีร่วมบรรเลงประกอบด้วย จอห์น โคลเทรน (John Coltrane, 1926-1967) นักเล่นเทเนอร์แซกโซโฟน เรด การ์แลนด์ (Red Garland, 1923-1984)  นักเล่นเปียโน พอล แชมเบอส์ (Paul Chambers, 1935-1969) นักเล่นเบส และฟิลลี โจ โจนส์ (Philly Joe Jones, 1923-1985) นักเล่นกลอง  

ปี ค.ศ. 1959 เดวิส ได้ร่วมสร้างสรรค์ดนตรีแจ๊สในวิถีดนตรีโมดัลแจ๊สในผลงานชื่อ Kind of Blues สังกัดค่าย Columbia ผลงานนี้มีเสียงประสานอันเป็นเอกลักษณ์ บทเพลง So What ได้สร้างกระแสดนตรีโมดัลแจ๊สด้วยเสียงประสานที่ต่างออกไป การดำเนินคอร์ดในบทเพลงนี้มีเพียง 2 คอร์ดและมีการเคลื่อนที่ช้าไม่เหมือนกับการดำเนินคอร์ดดนตรีบีบ๊อพ การอิมโพรไวส์มีแนวคิดต่างออกไปด้วยการเน้นการสร้างสรรค์จากโมดที่มีความสัมพันธ์กับเสียงประสานในบทเพลง กระทั่งทศวรรษ 1970 เดวิสได้นำดนตรีร็อกเข้ามาผสมผสานกับดนตรีแจ๊ส ส่งผลให้ดนตรีฟิวชันแจ๊สได้ก่อกำเนิดขึ้น ผลงานสำคัญที่เดวิสได้สร้างสรรค์ไว้ คือ ผลงานชื่อ Bitches Brew บันทึกเสียงปี ค.ศ. 1970 สังกัดค่าย Columbia เดวิสได้นำเครื่องดนตรีไฟฟ้า เช่นเปียโนไฟฟ้าและออร์แกนตลอดจนคีย์บอร์ดเข้ามาแทนที่เปียโน รวมถึงการนำกีตาร์ไฟฟ้าที่อาจกล่าวว่าเป็นสัญลักษณ์ของดนตรีร็อกเข้ามาร่วมบรรเลงด้วย ทำให้มิติเสียงดนตรีแจ๊สกับดนตรีร็อกได้ถูกผสมผสานกันอย่างชัดเจน      

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะพบได้ว่า เดวิสได้ขยายขอบเขตดนตรีแจ๊สให้หลากหลายขึ้น ด้วยการทดลองแนวคิดหรือผสมผสานเครื่องดนตรีนำมาสร้างสรรค์ในทิศทางของตนเอง ส่งผลให้เกิดกระแสในดนตรีแจ๊สและเกิดเป็นวิถีทางต่างออกไป ผลงานของเดวิสเปรียบเสมือนโรงเรียนทางดนตรีแจ๊ส เหล่านักดนตรีแจ๊สที่เคยร่วมงานกับเขาได้กลายเป็นนักดนตรีแจ๊สสำคัญมากมาย เช่น จอห์น โคลเทรน นักเล่นเทเนอร์แซกโซโฟน บิล
อีแวนส์ (Bill Evans, 1929-1980) เฮอร์บี แฮนคอก (Herbie Hancock, 1940-) ชิค คอเรีย (Chick Corea, 1941-) คีธ จาร์เร็ตต์ (Keith Jarrett, 1945-) นักเล่นเปียโน ไมค์ สเติร์น (Mike Stern, 1953-) จอห์น สโคฟิลด์ (John Scofield, 1951-) นักเล่นกีตาร์ เป็นต้น

ไมล์ส เดวิส เสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 1991 และสำหรับในปี ค.ศ. 2021 จะเป็นวาระการครบรอบ 30 ปีของการเสียชีวิต ผู้ประพันธ์ (ผู้วิจัย) จึงมีความสนใจนำแนวคิดหรือแนวทางการสร้างสรรค์ของเขามาประพันธ์เพลงในรูปแบบดนตรีแจ๊สขนาดใหญ่ เพื่อเป็นการระลึกถึงนักดนตรีที่มีบทบาทสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ดนตรีแจ๊ส

ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้

สำหรับกรณีวิจัยสร้างสรรค์บทประพันธ์เพลงหัตถยุทธ ลีลา มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างชุดบทประพันธ์เพลงแจ๊สรูปแบบวงดนตรีแจ๊สขนาดใหญ่ จำนวน 1 ชุด ประกอบด้วย 4 Episode สะท้อนศาสตร์และศิลป์ในมิติดนตรีแจ๊สที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการศึกษาผลงานภาพวาดศิลปิน 4 คน จำนวน 4 ภาพ ได้แก่

1. ชื่อผลงาน The Scream ผลงานจากศิลปิน เอ็ดวาร์ด มูงค์ (Edvard Munch, 1863-1944) สีสันในภาพแสดงอารมณ์และความรู้สึกภาพกระแสเอกซ์เปรชัน ศิลปะที่สำแดงพลังด้วยการใช้สีสันแสดงออกทางอารมณ์อย่างชัดเจน ไม่ซ้อนเร้น นอกจากนี้ผู้ประพันธ์นำสาระจากสมุดบันทึกของมูงค์มาเป็นแนวทางการประพันธ์เชื่อมโยงกับแนวคิดโมด กลุ่มเสียงกัด สะท้อนสีสันมิติเสียงจากเหตุการณ์หรืออารมณ์ความรู้สึกที่เกิดเรื่องราวขึ้นในภาพ

2. ชื่อผลงาน The Guitar Player ผลงานจากศิลปิน ปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso, 1881-1973) ภาพกระแสคิวบิสม์ รูปทรงที่เกิดขึ้นในภาพเหล่านี้ถูกนำมาประติดประต่อประกอบเข้าด้วยกัน บางรูปอาจซ้อนทับกันหรือเหลื่อมซึ่งกันและกัน เส้นรูปทรงเหล่านี้แสดงถึงทิศทางการเคลื่อนไหว สะท้อนอารมณ์ต่าง ๆ ในช่วงเวลาต่างกันออกไป ด้วยเหตุนี้ผู้ประพันธ์จึงนำมาเป็นแรงบันดาลใจเชื่อมโยงกับแนวคิดเชิงเทคนิคของดนตรีมินิมัลลิซึม

  1. ชื่อผลงาน Improvisation 28 ผลงานจากศิลปิน วาสซิลี คันดินสกี (Wassily Kandinsky, 1866-1944) แนวคิดภาพนี้เป็นการวาดโดยไม่ได้มีการเตรียมตัวมาก่อนตามแนวคิดการสร้างสรรค์ผลงาน Improvisation เฉกเช่นเดียวกับการอิมโพรไวส์ของนักดนตรีแจ๊สถูกนำมาสะท้อนแรงบันดาลใจแนวคิดดนตรีฟรีแจ๊ส ที่มักกำหนดกรอบแนวทางการบรรเลงไว้อย่างหลวม ๆ เพื่อให้สาระทางดนตรีฟรีแจ๊สเกิดขึ้นขณะบรรเลง นอกจากนี้ผู้ประพันธ์ได้นำแรงบันดาลใจจากรูปร่างลายเส้น มิติสีสัน และมิติช่องว่าง ที่ปรากฏในภาพมาเชื่อมโยงกับกรอบแนวคิดการประพันธ์ในแต่ละท่อน

4. ชื่อผลงาน Michael Jackson ผลงานจากศิลปิน แอนดี วอร์ฮอล (Andy Warhol, 1928-1987) แนวคิดป็อปอาร์ตสะท้อนให้เห็นกระแสจากประชานิยมที่เกิดขึ้นในสังคม ผู้ประพันธ์นำมาเป็นแรงบันดาลใจด้วยแนวคิดการคัดทำนองจากบทเพลงของไมเคิล แจ็กสัน ศิลปินนักร้องที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งในกระแสดนตรีป็อปร็อก นำมาผสมผสานในการประพันธ์เพื่อเชื่อมโยงแนวคิดดนตรีแจ๊สและดนตรีป็อปร็อก

สำหรับกรณีวิจัยสร้างสรรค์บทประพันธ์เพลงเดวิสฟินอมินอน บทประพันธ์สะท้อนแรงบันดาลใจเพื่อระลึกถึงไมล์ส เดวิส ทั้งยังเป็นการตระหนักถึงบทบาทสำคัญเชิงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ดนตรีแจ๊สในหลายมิติทั้งด้านแนวคิดการสร้างสรรค์ผลงาน การสร้างบุคลากรทางดนตรีแจ๊สตลอดจนเป็นผู้นำดนตรีแจ๊สพัฒนาไปตามยุคสมัย กระทั่งก่อเกิดเป็นดนตรีแจ๊สลีลาต่าง ๆ มากมาย กล่าวได้ว่าเป็นมรดกอันมีค่าให้กับวงการดนตรีแจ๊สเป็นอย่างมาก แนวคิดทางดนตรีของเดวิสที่ผู้ประพันธ์ได้กำหนดแนวทางไว้ถูกนำมาเป็นวัตถุดิบสำหรับการสร้างสรรค์เพื่อสะท้อนแรงบันดาลใจดังกล่าว

แนวคิดการประพันธ์

ผู้ประพันธ์นำแนวคิดทางดนตรีของเดวิสมาเป็นวัตถุดิบให้กับบทประพันธ์ด้วยแนวคิด
สำคัญ 3 ประเด็นหลักคือ 1) แนวคิดดนตรีบีบ็อป 2) แนวคิดดนตรีโมดัลแจ๊ส และ 3) แนวคิดดนตรีฟิวชันแจ๊ส แต่ละประเด็นถูกนำมาสร้างสรรค์เพื่อให้บทประพันธ์ดำเนินไปตามแนวทางที่กำหนดทิศทางไว้ แนวคิดการประพันธ์ด้วยแนวคิดข้างต้นมีรายละเอียดเป็นดังนี้

แนวคิดดนตรีบีบ็อป

ไมล์ส เดวิส ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ทางดนตรีกับชาร์ลี ปาร์คเกอร์ (Charlie Parker, 1920-1955) นักเล่นแซ็กโซโฟนคนสำคัญในวิถีดนตรีบีบ็อปช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1944-1948 อาจกล่าวได้ว่า ช่วงแรกของเดวิสนั้นได้รับอิทธิพลจากปาร์คเกอร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก่อนที่เขาได้เริ่มก่อตั้งวงดนตรีของตนเองขึ้น กระทั่งนำดนตรีแจ๊สพัฒนาไปตามยุคสมัยต่าง ๆ ในช่วงเวลาต่อมา แนวคิดดนตรีบีบ็อปถูกนำมาสะท้อนลงในท่อน A เพื่อเป็นการสื่อถึงช่วงเวลาแห่งการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ดนตรีบีบ็อปจากปาร์คเกอร์ โดยผู้ประพันธ์นำแนวคิดดนตรีบีบ็อปมาสร้างสรรค์ซึ่งกำหนดให้การบรรเลงประกอบกลุ่มเครื่องจังหวะบรรเลงด้วยแนวคิดจังหวะสวิง (Swing) ที่มักพบได้บ่อยครั้งในดนตรีบีบ็อป ผู้เล่นกลองบรรเลงด้วยจังหวะสวิงผสมผสานกับผู้เล่นเบสบรรเลงด้วยแนวคิดวอล์กกิงเบสไลน์ (Walking Bass Line) ที่มีความโดดเด่นจากการบรรเลงด้วยโน้ตตัวดำเป็นส่วนใหญ่

แนวคิดดนตรีโมดัลแจ๊ส

กล่าวได้ว่าผลงาน Kind of Blue บันทึกเสียงปี ค.ศ. 1959 สังกัดค่าย Columbiaนำไปสู่วิถีแห่งดนตรีโมดัลแจ๊สมีความโดดเด่นด้านการเคลื่อนที่ของคอร์ดช้า สามารถเปิดโอกาสให้นักดนตรีมีความอิสระยิ่งขึ้นทั้งด้านการอิมโพรไวส์และด้านการบรรเลงประกอบ แนวคิดการดำเนินคอร์ดบทเพลง So What ในผลงานชิ้นนี้ของเดวิสมีการเคลื่อนที่ช้าประกอบด้วยคอร์ดเพียงเล็กน้อย ด้านการเคลื่อนที่มีลักษณะการดำเนินคอร์ดเคลื่อนที่สูงขึ้นครึ่งเสียงจากช่วงแรก จากนั้นจะกลับมายังการดำเนินคอร์ดเหมือนช่วงแรกอีกครั้งในช่วงท้าย แนวคิดดังกล่าวผู้ประพันธ์นำมาสะท้อนลงไปในการดำเนินคอร์ดช่วงการอิมโพรไวส์ของผู้เล่นทรัมเป็ตและผู้เล่นกีตาร์ไฟฟ้า เพื่อสื่อถึงแนวคิดการดำเนินคอร์ดที่ได้รับอิทธิพลทางแนวคิดของเดวิสที่เขาสร้างสรรค์ไว้ในบทเพลง So What ที่มีความโดดเด่นในวิถีดนตรีโมดัลแจ๊ส

แนวคิดดนตรีฟิวชันแจ๊ส

ผลงานชื่อ Bitches Brew บันทึกเสียงปี ค.ศ. 1970 สังกัดค่าย Columbia ผลงานชิ้นนี้ของเดวิสมีทิศทางไปในวิถีแห่งดนตรีฟิวชันแจ๊ส มีการนำเครื่องดนตรีไฟฟ้าเข้ามามีบทบาทอย่างชัดเจน ทั้งกีตาร์ไฟฟ้าหรือเปียโนไฟฟ้าได้เข้ามาร่วมกันสร้างมิติเสียง โดยเฉพาะบทบาทจากกีตาร์ไฟฟ้ากล่าวได้ว่าเป็นเครื่องดนตรีที่โดดเด่นสำหรับดนตรีร็อก ถูกนำมาสร้างบทบาทสำคัญให้กับดนตรีฟิวชันแจ๊สของเดวิส การบรรเลงกีตาร์ไฟฟ้ามีการใช้อุปกรณ์แปลงเสียงกีตาร์ประเภทให้เสียงแตกพร่า เช่น โอเวอร์ไดรฟ์ (Overdrive) หรือดิสทอร์ชัน (Distortion) ช่วยสนับสนุนให้ผลงานมีความเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่น นอกจากนี้ยังมีแนวคิดสำคัญอีกประการคือ การนำแนวคิดแวมป์ (Vamp) เข้ามาสอดแทรกในบทเพลงอยู่บ่อยครั้ง แวมป์เป็นแนวคิดการบรรเลงวนซ้ำ ๆ โดยมากมักมีบทบาทจากกลุ่มเครื่องจังหวะ จากแนวคิดข้างต้นของเดวิสผู้ประพันธ์นำมาสะท้อนลงในบทเพลงด้วยบทบาทจากกลุ่มเครื่องจังหวะผสมผสานกับกลุ่มเครื่องลม   

การสร้างสรรค์แนวทำนอง

ด้านการสร้างแนวทำนองและการดำเนินคอร์ด ปรากฏแนวคิดการใช้ตัวเลขเดือนเกิด- วันเกิด-ปีเกิดของเดวิสมาเป็นพื้นฐานเชื่อมโยงเข้ากับตัวโน้ต เพื่อสร้างเป็นวัตถุดิบให้กับกลุ่มโน้ตหลัก และกลุ่มโน้ตหลักนี้ถูกนำมาสร้างสรรค์ให้กับแนวทำนองและการดำเนินคอร์ด บทบาทกลุ่มโน้ตหลักสำหรับการสร้างสรรค์แนวทำนองปรากฏแนวคิดการไล่เรียงตามลำดับ ซึ่งการใช้แนวทางนี้มิติเสียงที่เกิดขึ้นนั้นถูกกำหนดไว้ด้วยตัวโน้ตจากกลุ่มโน้ตหลัก F-DF#-C#ADF# จึงจำเป็นต้องผสมผสานเข้ากับการใช้ช่วงเสียงควบคู่ไปกับลักษณะจังหวะหลากหลาย เช่น จังหวะขัด เพื่อสร้างสำเนียงแบบแจ๊ส การสร้างสรรค์แนวทำนองยังปรากฏแนวคิดเลียนแบบมิติเสียงสะท้อน โดยนำแนวคิดมาจากบทเพลง Bitches Brew ดังปรากฏในท่อน C แนวคิดนี้สร้างมิติเสียงซ้ำ ๆ และสนับสนุนให้มิติเสียงช่วงแนวทำนองท่อน C มีความแปลกใหม่ เนื่องจากการบรรเลงด้วยแนวคิดแวมป์มีเอกลักษณ์ด้านการบรรเลงวนซ้ำ ๆ ของกลุ่มเครื่องจังหวะมิติเสียงที่เกิดขึ้นจึงมีทิศทางคล้ายกัน การสร้างมิติเสียงแปลกใหม่เป็นสิ่งสำคัญสามารถสร้างความน่าสนใจ ตลอดจนช่วยให้บทบาทการบรรเลงแวมป์มีความหลากหลายยิ่งขึ้น นอกจากนี้การใช้ขั้นคู่เสียงต่าง ๆ ถูกนำมาผสมผสานไปกับแนวทำนองทั้งขั้นคู่เสียงกลมกลืนและกระด้าง การพิจารณาบทบาทขั้นคู่เสียงเหล่านี้นอกจากช่วยสนับสนุนแนวทำนองแล้ว ยังสามารถสร้างมิติเสียง อารมณ์ หรือบรรยากาศบทเพลง ให้มีความหลากหลาย เช่น บทบาทแนวทำนองกลุ่มเครื่องลม เป็นต้น                  

การสร้างสรรค์การดำเนินคอร์ด

ส่วนการสร้างสรรค์การดำเนินคอร์ด เป็นการนำกลุ่มโน้ตหลัก F-DF#-C#ADF# นำมาเชื่อมโยงเข้ากับคอร์ดต่าง ๆ แบ่งเป็น 2 ประเด็นสำคัญคือ 1) การบรรเลงไล่เรียงตามลำดับของกลุ่มโน้ตหลัก แนวคิดนี้จำเป็นต้องกำหนดชนิดคอร์ดให้ชัดเจน เพื่อสร้างมิติเสียงให้กับการดำเนินคอร์ด เช่น กรณีการดำเนินคอร์ดที่ปรากฏดังท่อน A นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องกำหนดทิศทางการบรรเลงให้สอดคล้องกับลีลาดนตรีแจ๊สต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการจัดวางแนวเสียงเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงและสอดคล้องกับการดำเนินคอร์ดเหล่านี้ 2) นำกลุ่มโน้ตหลัก F-DF#-C#ADF# แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 FDF# ส่วนที่ 2 C#AD และส่วนที่ 3 F# เพื่อสร้างวัตถุดิบให้กับการดำเนินคอร์ดท่อน B และท่อน C ผสมผสานไปกับแนวคิดทางดนตรีโมดัลแจ๊สและดนตรี        ฟิวชันแจ๊สตลอดจนถึงแนวคิดแวมป์ หากพิจารณาภาพรวมแนวคิดการดำเนินคอร์ดทั้งหมด กล่าวได้ว่าเป็นการนำผลลัพธ์กลุ่มโน้ตหลักที่เชื่อมโยงกับตัวเลขเดือนเกิด-วันเกิด-ปีเกิดของเดวิส นำมาเป็นตัวกำหนดทิศทางให้กับการดำเนินคอร์ด จากนั้นจึงถูกนำมาพิจารณาเข้ากับขนิดคอร์ด    ต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับลีลาทางดนตรี  

 แนวคิดแวมป์

การบรรเลงด้วยแนวคิดแวมป์ กล่าวได้ว่าเป็นเทคนิคสำคัญที่ผู้ประพันธ์นำมาใช้อย่างเด่นชัด ผู้ประพันธ์นำแนวคิดการบรรเลงแวมป์มาจากแนวคิดทางดนตรีของเดวิส ซึ่งพบว่าแนวคิดการบรรเลงแวมป์ถูกสอดแทรกอยู่ในหลากหลายบทเพลงของเดวิส เช่น บทเพลง Milestones บันทึกเสียงปี ค.ศ. 1958  สังกัดค่าย Columbia หรือบทเพลง Bitches Brew บันทึกเสียงปี ค.ศ. 1969 สังกัดค่าย Columbia เป็นต้น แนวคิดการบรรเลงแวมป์ได้สร้างเอกลักษณ์ให้กับบทเพลงเหล่านี้ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยให้ผู้ฟังจดจำบทเพลงเหล่านี้ได้สะดวกขึ้นจากการบรรเลงวนซ้ำ ๆ การพิจารณานำแนวคิดแวมป์มาใช้ในบทประพันธ์เพลง เดวิสฟินอมินอนพบว่าท่อน B และท่อน C มีการบรรเลงวนซ้ำจากกลุ่มเครื่องจังหวะสามารถสร้างความเป็นเอกลักษณ์ให้กับท่อนเพลงต่าง ๆ การบรรเลงวนซ้ำเสมือนเป็นการย้ำมิติเสียงที่ปรากฏขึ้นส่งผ่านไปยังผู้ฟังซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่กระนั้นการบรรเลงด้วยเทคนิคนี้จำเป็นต้องสร้างความแปลกใหม่หรือสร้างมิติเสียงให้มีความน่าสนใจ เนื่องจากเป็นการบรรเลงวนซ้ำจากกลุ่มเครื่องจังหวะเป็นสำคัญ โดยมากบทบาทกลุ่มเครื่องจังหวะมักมีความโดดเด่นสำหรับการขับเคลื่อนมิติเสียงให้ดำเนินไปตามแนวทางที่กำหนดไว้ หากบรรเลงวนซ้ำมากเกินไปอาจทำให้ผู้ฟังต้องการมิติเสียงที่มีความแปลกใหม่สอดแทรกเข้ามาผสมผสาน เพื่อสร้างความหลากหลายและไม่ทำให้แนวทางการบรรเลงด้วยเทคนิคแวมป์มีคุณค่าลดน้อยลงไป

ประเภทความรู้และที่มาความรู้

ความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge) : เจ้าของความรู้/สังกัด  ผศ.ดร.เจตนิพิฐ สังข์วิจิตร

วิธีการดำเนินการ

1. วิธีการดำเนินการ
   ดำเนินการตามขั้นตอน plan, do, check, act ดังนี้

สำหรับกรณีวิจัยสร้างสรรค์บทประพันธ์เพลงหัตยุทธ ลีลา การศึกษาค้นคว้าข้อมูลประเด็นต่าง ๆ สำหรับการประพันธ์กำหนดประเด็นวิธีการดำเนินงานวิจัยและการประพันธ์เพลง แบ่งออกเป็น 4 ประเด็นสำคัญ คือ พิจารณาคัดเลือกผลงานภาพ วิเคราะห์ข้อมูล สังเคราะห์ข้อมูล กระบวนการสร้างสรรค์บทประพันธ์ ทั้ง 4 ประเด็นมีความสอดคล้องกันเพื่อให้ดำเนินไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้รายละเอียดดังนี้

  1. พิจารณาคัดเลือกผลงานจำนวน 4 ภาพ จากศิลปิน 4 คน โดยมีประเด็นแนวคิดการสร้างสรรค์หรือแรงบันดาลใจที่ผู้ประพันธ์ให้ความสนใจ สามารถเชื่อมโยงเข้ากับแนวคิดทางดนตรี ได้อย่างมีสาระ ผลงานที่ผู้ประพันธ์ให้ความสนใจได้แก่ 1) ผลงาน The Scream ของเอ็ดวาร์ด มูงค์ 2) ผลงาน The Guitar Player ของปาโบล ปิกัสโซ 3) ผลงาน Improvisation 28 ของวาซิลี คันดินสกี และ 4) ผลงาน Michael Jackson ของแอนดี วอร์ฮอล
  2. วิเคราะห์ข้อมูล ศึกษาแนวคิดการสร้างสรรค์ ปรัชญาที่แฝงไว้ในภาพวาด ตลอดจนแรงบันดาลใจรวมถึงองค์ประกอบอื่น ๆ ที่สำคัญ แนวทางการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ประพันธ์รวบรวมมาจากผู้ทรงคุณวุฒิหลายคนมาเป็นแนวทางการศึกษา ทั้งนี้ผู้ประพันธ์นำแหล่งข้อมูลมาจากหนังสือ งานวิจัย บทความ โน้ตเพลง ข้อมูลจากเวบไซด์ เป็นต้น
  3. สังเคราะห์ข้อมูล ผลจากการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลส่งผลให้สังเคราะห์ประเด็นต่าง ๆ ออกมาเป็นวัตถุดิบหลากหลาย ข้อมูลที่ได้จากการสังเคราะห์เหล่านี้จะถูกนำมาเชื่อมโยงเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานนำไปเป็นแนวทางสู่การสร้างวัตถุดิบสำหรับการประพันธ์ต่อไป
  4. กระบวนการสร้างสรรค์บทประพันธ์ ผู้ประพันธ์กำหนดแนวทางไว้ดังนี้

4.1 กำหนดกรอบแนวคิดการประพันธ์ และเทคนิคการประพันธ์ที่เหมาะสม
4.2 สร้างสรรค์บทประพันธ์ตามกรอบแนวคิดที่กำหนดไว้
4.3 จัดเตรียมนักดนตรีให้เหมาะสมกับบทประพันธ์
4.4. ฝึกซ้อมบทประพันธ์กับวงดนตรี ตลอดจนปรับแต่งบทประพันธ์ให้เหมาะสม
4.5 บันทึกเสียงบทประพันธ์ทั้งหมด และผลิตเป็นแผ่น CD
4.6 จัดพิมพ์โน้ตเพลงพร้อมอรรถาธิบายชุดบทประพันธ์เป็นรูปเล่ม
4.7 เผยแพร่บทประพันธ์ด้วยการแสดงดนตรี และผลิตเป็นแผ่น DVD
4.8 สรุปผลการดำเนินงาน และส่งรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์

ส่วนกรณีวิจัยสร้างสรรค์บทประพันธ์เพลงเดวิสฟินอมินอน การศึกษาประเด็นต่าง ๆ ผู้ประพันธ์กำหนดประเด็นวิธีการดำเนินงานวิจัยและการประพันธ์เพลง แบ่งออกเป็น 4 ประเด็นสำคัญ คือ รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล สังเคราะห์ข้อมูล และกระบวนการสร้างสรรค์บทประพันธ์ โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. รวบรวมข้อมูล ดนตรีบีบ็อป ดนตรีคูลแจ๊ส ดนตรีฮาร์ดบ็อป ดนตรีโมดัลแจ๊ส และดนตรี ฟิวชันแจ๊ส ตลอดจนผลงานการประพันธ์ที่เกี่ยวข้องจากแหล่งข้อมูลหลากหลาย เช่น หนังสือ งานวิจัย บทความ โน้ตเพลง เว็บไซต์ เป็นต้น
  2. วิเคราะห์ข้อมูล ผู้ประพันธ์นำแนวคิดข้อมูลของผู้ทรงคุณวุฒิหลายคนมาเป็นแนวทางการศึกษา เพื่อให้ทราบถึงบริบทพื้นฐานสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับไมล์ส เดวิส ตลอดจนศึกษาวิเคราะห์แนวคิดผลงานการประพันธ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้ทราบถึงแนวทาง แนวคิด เทคนิค การประพันธ์ที่หลากหลายมิติ
  3. สังเคราะห์ข้อมูล ข้อมูลที่ได้จากการสังเคราะห์เหล่านี้จะถูกนำมาเชื่อมโยงเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการนำเสนอประเด็นต่าง ๆ ผลจากการสังเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวจะนำไปสู่แนวทางการสร้างสรรค์การประพันธ์ต่อไป
  4. กระบวนการสร้างสรรค์บทประพันธ์ ผู้ประพันธ์กำหนดแนวทางไว้ดังนี้

4.1 กำหนดกรอบแนวคิดการประพันธ์ และเทคนิคการประพันธ์ที่เหมาะสม
4.2 สร้างสรรค์บทประพันธ์ตามกรอบแนวคิดที่กำหนดไว้
4.3 จัดเตรียมนักดนตรีให้เหมาะสมกับบทประพันธ์
4.4. ฝึกซ้อมบทประพันธ์กับวงดนตรี ตลอดจนปรับแต่งบทประพันธ์ให้เหมาะสม
4.5 เผยแพร่บทประพันธ์ด้วยการแสดงดนตรี
4.6 สรุปผลการดำเนินงาน และส่งรายงานการวิจัยสร้างสรรค์ฉบับสมบูรณ์
4.7 เผยแพร่งานวิจัยสร้างสรรค์ในรูปแบบบทความวิจัย

2. Prototype testing in an operational environment – DO

ผลการดำเนินการ การนำไปใช้ หรือการลงมือปฏิบัติจริง อุปสรรคหรือปัญหาในการทำงาน

          สำหรับกรณีวิจัยสร้างสรรค์บทประพันธ์เพลงหัตยุทธ ลีลา ด้านปัญหาและอุปสรรคหลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับขั้นตอนกระบวนการต่าง ๆ ที่วางแผนไว้ต้องได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่ได้รับผลกระทบคือการแสดงมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นรูปแบบออนไลน์แทนการแสดงสดต่อสาธารณชน การรวมกลุ่มเพื่อการฝึกซ้อมร่วมกันทั้งหมดมีอุปสรรคเป็นอย่างมาก จำเป็นต้องรอช่วงผ่อนปรนจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งนี้การฝึกซ้อมก็ได้แบ่งออกเป็นกลุ่มเล็กเพื่อให้สามารถดำเนินไปตามเป้าหมายได้ตามลำดับ

                    การใช้โปรแกรมเขียนโน้ตดนตรีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการส่งต่อมิติเสียง จากจินตนาการของผู้ประพันธ์ส่งไปยังเหล่านักดนตรี ด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดข้อจำกัดบางประการด้านมิติเสียงโปรแกรมเขียนโน้ตดนตรี ผู้ประพันธ์จึงมีความจำเป็นต้องใช้เสียงสังเคราะห์ที่มีความเสมือนจริงมาสื่อถึงมิติเสียงเครื่องดนตรีต่าง ๆ ให้นักดนตรีสามารถเข้าใจแนวทางการบรรเลง ด้วยขั้นตอนนี้หากอยู่ในสถานการณ์ปรกติสามารถรวมกลุ่มฝึกซ้อมได้จะช่วยประหยัดเวลาเพื่อให้นักดนตรีทราบถึงมิติเสียงหรือการบรรเลงได้

                    ปัญหาด้านการบรรเลงด้วยแนวคิดหรือลีลาดนตรีต่าง ๆ เช่น กรณีการบรรเลงแนวคิดคอลเลคทีฟอิมโพรไวส์เซชัน ซึ่งผู้ประพันธ์กำหนดให้ท่อน A ของ Episode III: Improvisation 28 บรรเลงด้วยลีลาดนตรีฟรีแจ๊ส ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่าผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ยังส่งผลถึงช่วงเวลาในการบันทึกเสียงที่ไม่สามารถรวมกลุ่มได้ จำเป็นต้องใช้วิธีบันทึกเสียงแยกเครื่องดนตรีต่าง ๆ ออกมา การบรรเลงด้วยแนวคิดคอลเลคทีฟอิมโพรไวส์เซชันมีพื้นฐานจากแนวคิดอิมโพรไวส์ ไปพร้อมกัน การรับฟังกันและกันตลอดจนรับฟังมิติเสียงที่เกิดขึ้นพร้อมกับร่วมกันขับเคลื่อนมิติเสียงต่าง ๆ จากแนวคิดนี้สำหรับขั้นตอนการบันทึกเสียง ผู้ประพันธ์จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจร่วมกับนักดนตรีเนื่องจากไม่สามารถบันทึกเสียงแบบรวมกลุ่มได้ ส่งผลให้ต้องปรับเปลี่ยนวิธีแต่ยังสามารถสร้างมิติเสียงให้มีทิศทางเดียวกันกับแนวคิดคอลเลคทีฟอิมโพรไวส์เซชัน ด้วยการสร้างแนวทำนองอิมโพรไวส์ขึ้นมาเป็นต้นแบบและให้นักดนตรีบรรเลงให้สอดคล้องกับแนวคิดนี้ เช่น กรณีการบรรเลงคอลเลคทีฟอิมโพรไวส์เซชันร่วมกันระหว่างเทเนอร์แซ็กโซโฟนและทรอมโบน

 

          ส่วนกรณีงานวิจัยสร้างสรรค์บทประพันธ์เพลงเดวิสฟินอมินอน ในส่วนของการปฏิบัติจริงด้านบทบาทเครื่องดนตรีผู้ประพันธ์พิจารณาบทบาทเครื่องดนตรีแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มสอดคล้องกับการจัดรูปแบบวงดนตรีแจ๊สขนาดใหญ่หรือบิกแบนด์คือ กลุ่มเครื่องลมและกลุ่มเครื่องจังหวะ กลุ่มเครื่องลม มีบทบาทหน้าที่สำคัญด้านการบรรเลงแนวทำนอง สนับสนุนแนวทำนอง ตลอดจนสร้างสีสัน อารมณ์ หรือบรรยากาศ ขณะที่กลุ่มเครื่องจังหวะมีบทบาทสำคัญกับการบรรเลงด้วยแนวคิดแวมป์ เนื้อดนตรีที่ปรากฏมีลักษณะเนื้อดนตรีโฮโมโฟนีร่วมไปกับบทบาทเครื่องดนตรี หากพิจารณาภาพรวมทั้งหมดพบว่า ช่วงนำเข้าบทประพันธ์เสมือนเป็นการเชื้อเชิญผู้ฟัง ด้วยบทบาทจากเครื่องดนตรี 2 ชิ้นคือทรัมเป็ตและเปียโน จากนั้นจึงตามด้วยกลุ่มเครื่องลมและดำเนินเข้าสู่ท่อนต่าง ๆ โดยท่อน A ถึงท่อน C บทบาทกลุ่มเครื่องลมและกลุ่มเครื่องจังหวะทำหน้าที่บรรเลงร่วมกัน และบทประพันธ์เพลง เดวิสฟินอมินอน จบลงด้วยบทบาทจากกลุ่มทรัมเป็ต

ด้านบทบาทเครื่องดนตรีบทประพันธ์เพลง เดวิสฟินอมินอน ผู้ประพันธ์พิจารณาบทบาทเครื่องดนตรีแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มสอดคล้องกับการจัดรูปแบบวงดนตรีแจ๊สขนาดใหญ่หรือบิกแบนด์คือ กลุ่มเครื่องลมและกลุ่มเครื่องจังหวะ กลุ่มเครื่องลม มีบทบาทหน้าที่สำคัญด้านการบรรเลงแนวทำนอง สนับสนุนแนวทำนอง ตลอดจนสร้างสีสัน อารมณ์ หรือบรรยากาศ ขณะที่กลุ่มเครื่องจังหวะมีบทบาทสำคัญกับการบรรเลงด้วยแนวคิดแวมป์ เนื้อดนตรีที่ปรากฏมีลักษณะเนื้อดนตรีโฮโมโฟนีร่วมไปกับบทบาทเครื่องดนตรี หากพิจารณาภาพรวมทั้งหมดพบว่า ช่วงนำเข้าบทประพันธ์เสมือนเป็นการเชื้อเชิญผู้ฟัง ด้วยบทบาทจากเครื่องดนตรี 2 ชิ้นคือทรัมเป็ตและเปียโน จากนั้นจึงตามด้วยกลุ่มเครื่องลมและดำเนินเข้าสู่ท่อนต่าง ๆ โดยท่อน A ถึงท่อน C บทบาทกลุ่มเครื่องลมและกลุ่มเครื่องจังหวะทำหน้าที่บรรเลงร่วมกัน และบทประพันธ์เพลง เดวิสฟินอมินอน จบลงด้วยบทบาทจากกลุ่มทรัมเป็ต

ปัญหาและอุปสรรค

หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่กระบวนการสำหรับการจัดทำงานวิจัยสร้างสรรค์นี้ ล้วนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 การรวมกลุ่มเพื่อฝึกซ้อมร่วมกันจำเป็นต้องดำเนินไปภายใต้มาตรการต่าง ๆ การแบ่งเป็นกลุ่มย่อยเป็นทางเลือกสำหรับการแก้ปัญหาการรวมกลุ่มขนาดใหญ่ ผสมผสานไปกับการใช้ช่องทางออนไลน์สำหรับการติดต่อสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจกับเหล่านักดนตรี ซึ่งจากประสบการณ์ของผู้ประพันธ์พบว่า การรวมกลุ่มสำหรับการฝึกซ้อมร่วมกันของนักดนตรีทั้งหมดเป็นสิ่งสำคัญ การสื่อสารกับเหล่านักดนตรีขณะฝึกซ้อมร่วมกันทั้งหมดสามารถช่วยสร้างความเข้าใจและแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี แต่ด้วยสถานการณ์โควิด 19 ที่เกิดขึ้นจึงส่งผลกระทบทำให้การสร้างความเข้าใจตลอดจนการแก้ปัญหาต้องใช้เวลาเพิ่มมากขึ้น การแบ่งเป็นกลุ่มย่อยจึงเป็นทางเลือกหลักดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

การใช้เสียงสังเคราะห์จากโปรแกรมพิมพ์โน้ตเพลงประกอบการฟังและการฝึกซ้อมส่วนตัวหรือกลุ่มย่อย มิติเสียงที่เกิดขึ้นเป็นเพียงเครื่องนำทางเท่านั้นยังมีข้อจำกัดอีกหลายประการ หากสถานการณ์ปรกติการฝึกซ้อมร่วมกันทั้งหมดทำให้สามารถได้ยินมิติเสียงที่สมจริง จากเครื่องดนตรีส่งผลให้นักดนตรีจดจำมิติเสียงได้สะดวกขึ้น สะท้อนถึงบทบาทการบรรเลงของนักดนตรีทั้งหมด การใช้เสียงสังเคราะห์จากโปรแกรมพิมพ์โน้ตเพลงจึงเป็นเพียงส่วนประกอบรองลงไป แต่จากการแก้ปัญหาของผู้ประพันธ์เพื่อความสะดวกของนักดนตรี สำหรับการฝึกซ้อมส่วนตัวหรือฝึกซ้อมกลุ่มย่อยจึงพิจารณาใช้เสียงสังเคราะห์ให้มีความสมจริงมากยิ่งขึ้น เพื่อสามารถใช้เป็นเครื่องนำทางให้กับเหล่านักดนตรีได้ในสถานการณ์เช่นนี้

ปัญหาด้านการจัดการแสดงดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 การเผยแพร่การแสดงบทประพันธ์เพลง เดวิสฟินอมินอน ผู้ประพันธ์ได้ปรับเปลี่ยนจากแผนการดำเนินงานเดิม ซึ่งเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วยการแสดงสดเป็นช่องทางออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กตนเอง Facebook Live: Jetnipith Sungwijit ในวันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน 2565 เวลา 13.00 น.

ข้อเสนอแนะการนำเสนอแนวคิดที่ปรากฏในบทประพันธ์เพลง เดวิสฟินอมินอน เป็นแนวทางหนึ่งที่ผู้ประพันธ์กำหนดไว้เท่านั้น หากพิจารณาถึงแนวทางการประพันธ์ ผู้ประพันธ์นำแนวคิดลีลาทางดนตรีโมดัลแจ๊สและดนตรีฟิวชันแจ๊สของเดวิสมาเป็นแนวทาง ยังมีปรากฏแนวคิดลีลาดนตรีแจ๊สอื่นอีกจากผลงานการสร้างสรรค์ของเดวิส เช่น แนวคิดทางดนตรีคูลแจ๊สหรือแนวคิดทางดนตรีฮาร์ดบ็อป เป็นต้น แนวคิดทางดนตรีดังกล่าวนี้ก็ยังสามารถสะท้อนคุณค่าทางดนตรีแจ๊สของเดวิสได้อีกหลากหลายมิติ ทั้งประเด็นด้านแนวคิดทางดนตรี การจัดรูปแบบวงดนตรี รวมถึงเครื่องดนตรีสำหรับการบรรเลงเพื่อสร้างมิติเสียงให้มีความหลากหลาย ซึ่งการสร้างเสน่ห์จากมิติเสียงการจัดรูปแบบวงดนตรีขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กก็เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประพันธ์ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากบทบาทเครื่องดนตรีสามารถสร้างความโดดเด่นให้กับการจัดรูปแบบวงต่าง ๆ ได้เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนให้บทเพลงมีมิติเสียงสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

                    นอกจากนี้ด้านการคัดเลือกนักดนตรีก็เป็นสิ่งสำคัญ สำหรับการบรรเลงดนตรีแจ๊สลีลาต่าง ๆ ควรพิจารณาด้านทักษะ ประสบการณ์ ความเข้าใจทางดนตรีแจ๊ส ซึ่งมีส่วนเป็นอย่างมากสำหรับการบรรเลงบทเพลงให้ดำเนินไปตามแนวทางที่กำหนดไว้ เนื่องจากธรรมชาติหรือเสน่ห์ทางดนตรีแจ๊สมักเปิดโอกาสให้นักดนตรีสามารถตึความการบรรเลงของตนเองได้ เช่น กรณีช่วงการอิมโพรไวส์ เป็นต้น

3. Proven through successful mission operation, Objectives and Key Results for Knowledge Management – CHECK

          สำหรับกรณีวิจัยสร้างสรรค์บทประพันธ์เพลงหัตยุทธ ลีลา สรุปและอภิปรายผลได้ว่า แนวคิดและเทคนิคการประพันธ์ผู้ประพันธ์กำหนดแนวทางการประพันธ์ให้มีความหลากหลาย โดยอาศัยแนวคิดทางดนตรีศตวรรษที่ 20 ทั้งแนวคิดทางดนตรีแจ๊สและแนวคิดดนตรีศตวรรษที่ 20 แต่ละ Episode มีแรงบันดาลใจจากผลงานภาพต่างกันออกไป ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการศึกษาผลงานทางศิลปะดังกล่าว แนวคิดทางดนตรีแจ๊สกล่าวได้ว่ามีส่วนผสมอยู่ในบทประพันธ์ หัตถยุทธ ลีลา มากที่สุด ผู้ประพันธ์พิจารณานำแนวคิดทางดนตรีแจ๊สหรือองค์ประกอบสำคัญมาสอดแทรก เช่น จังหวะขัดที่ปรากฏใน Episode IV: Michael Jackson เป็นการบรรเลงประกอบของกีตาร์และเปียโนจากแนวคิดชาลส์ตันริทึม หรือแนวคิดด้านเสียงประสานที่ประกอบด้วยเสียงประสานแบบอิงกุญแจเสียงหรือแนวคิดโมด แนวคิดทรัยแอดในช่วงเสียงบน ตลอดจนการดำเนินคอร์ดบลูส์พื้นฐาน นำมาสร้างมิติเสียงในลีลาต่าง ๆ อีกทั้งบทบาทสำคัญด้านการอิมโพรไวส์ก็ถูกนำมาแสดงออกอย่างหลากหลาย ทั้งในมิติการเดี่ยวอิมโพรไวส์หรือมิติบรรเลงร่วมกับกลุ่มเครื่องจังหวะ จะเห็นได้ว่าองค์ประกอบสำคัญเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกับสาระด้านจังหวะ เสียงประสาน และการอิมโพรไวส์ที่ผู้ประพันธ์นำมากล่าวถึงในประเด็นองค์ประกอบในดนตรีแจ๊ส องค์ประกอบเหล่านี้ถูกนำมาจัดระเบียบให้เกิดดุลยภาพ ตลอดจนความเป็นเอกภาพที่เชื่อมโยงกับแรงบันดาลใจจากการศึกษาผลงานของศิลปินทั้ง 4 คน 

                   นอกจากนี้ยังปรากฏเทคนิคการประพันธ์ที่นำตัวเลขมาเชื่อมโยงกับตัวโน้ต เพื่อสร้างเป็นวัตถุดิบสำหรับการประพันธ์ เช่น กรณีนำเลขปีคริสต์ศักราชมาสร้างเป็นกลุ่มโน้ตหลักสำหรับแนวทำนองหลักท่อน A ของ Episode I: The Scream หรือนำตัวเลขปีคริสต์ศักราชและลำดับหมายเลขชื่อผลงานมาเชื่อมโยงกับตัวโน้ตและสร้างแนวคิดทางลักษณะจังหวะให้กับ Episode III: Improvisation 28 แนวคิดการประพันธ์ที่เกี่ยวกับตัวเลขนี้ เป็นแนวทางที่ผู้ประพันธ์นำมาเป็นส่วนหนึ่งสำหรับสร้างเป็นวัตถุดิบ อย่างไรก็ดีตัวเลขเหล่านี้เมื่อถูกนำมาเชื่อมโยงกับตัวโน้ตแล้วจำเป็นต้องนำมาจัดระเบียบมิติเสียงต่าง ๆ ผู้ประพันธ์จินตนาการถึงเสมือนการจัดวางองค์ประกอบของภาพที่ศิลปินจะรังสรรค์ผลงานขึ้นมานั้น จำเป็นต้องมีการจัดวางองค์ประกอบของภาพว่าควรพิจารณาให้มีทิศทางอย่างไร เพื่อให้การรังสรรค์ผลงานนั้นมีจุดมุ่งหมายเดียวกันและต้องแสดงออกถึงลักษณะเฉพาะตัวของศิลปิน

                   ยังปรากฏแนวคิดทางดนตรีศตวรรษที่ 20 ผู้ประพันธ์พิจารณานำมาใช้สำหรับการประพันธ์   Episode II: The Guitar Player แนวคิดทางดนตรีมินิมัลลิซึมถูกนำมาแสดงออกด้วยแนวคิดเชิงเทคนิคการซ้ำตลอดจนสอดแทรกการจำกัดวัตถุดิบสำหรับการประพันธ์ กรณีท่อน A ถูกนำเสนอด้วยแนวคิดการซ้ำของกลุ่มเครื่องจังหวะด้วยการบรรเลงรูปแบบซ้ำ ๆ ขับเคลื่อนด้วยโน้ตเขบ็ตสองชั้น  เป็นส่วนใหญ่เชื่อมโยงกับวัตถุดิบที่สร้างจากการกำหนดรูปทรงไปบนคอกีตาร์ ส่วนท่อน B มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์จากแนวคิดการไล่เลียนกันของกลุ่มเครื่องลม ด้วยวัตถุดิบการซ้ำลักษณะจังหวะเพียงรูปแบบเดียวไล่เลียนเริ่มไม่พร้อมกัน กล่าวคือแต่ละแนวของกลุ่มเครื่องลมมีแนวคิดจากลักษณะจังหวะรูปแบบเดียวกันแต่เริ่มบรรเลงไม่พร้อมกัน โดยผู้ประพันธ์กำหนดให้เริ่มบรรเลงห่างกันครึ่งจังหวะ แนวคิดเหล่านี้กระจายไปในแนวทำนองกลุ่มแซ็กโซโฟน กลุ่มทรัมเป็ต และกลุ่มทรอมโบน ก่อนดำเนินไปสู่แนวคิดการบรรเลงถอยหลังต่อไป  

                   ด้านการปรับเปลี่ยนเครื่องหมายประจำจังหวะ เป็นแนวคิดที่ถูกนำมาใช้สร้างสีสันให้กับชีพจรบทเพลงมีความหลากหลายผนวกเข้ากับแนวคิดหรือเทคนิคการประพันธ์ เพื่อเชื่อมโยงถึงแรงบันดาลใจจากรูปร่างลายเส้น มิติสีสัน และมิติช่องว่าง โดย Episode III: Improvisation 28 ท่อน A มีเครื่องหมายประจำจังหวะ 3/4 บรรเลงในลีลาดนตรีฟรีแจ๊สผสมผสานคอลเลคทีฟอิมโพรไวส์เซชัน ท่อน B เครื่องหมายประจำจังหวะ 5/4 วัตถุดิบแนวทำนองสร้างจากตัวเลขปีคริสต์ศักราชและลำดับหมายเลขชื่อผลงาน นำมาเชื่อมโยงกับตัวโน้ตและสร้างแนวคิดทางลักษณะจังหวะ ส่วนท่อน C นั้นมีเครื่องหมายประจำจังหวะ 3/4 ผสมผสานกับเทคนิคการใช้ทรัยแอดในช่วงเสียงบน การปรับเปลี่ยนเครื่องหมายประจำจังหวะให้ต่างกันนี้ นอกจากสร้างสีสันให้กับชีพจรบทเพลงแล้วผู้ประพันธ์พิจารณานำมาใช้เพื่อสะท้อนถึงแรงบันดาลใจข้างต้นที่ปรากฏในภาพ Improvisation 28 การพิจารณาใช้เครื่องหมายประจำจังหวะใน Episode III: Improvisation 28 แม้ท่อน A และท่อน C มีการใช้เครื่องหมายประจำจังหวะ 3/4 เหมือนกันก็ตาม แต่มีปรับเปลี่ยนอัตราความเร็วให้แตกต่างกันเพื่อสะท้อนถึงผลพวงของแรงบันดาลใจจากรูปร่างลายเส้น มิติสีสัน และมิติช่องว่าง นั้นมีทิศทางหลากหลายและคาดเดาได้ยาก   

                   ประเด็นแนวคิดการใช้ความเข้มเสียง การใช้เสียงดัง-เบาในบทประพันธ์ หัตถยุทธ ลีลา มีความหลากหลาย เพื่อสร้างอารมณ์หรือสร้างความหนาแน่น-เบาบางให้กับมวลมิติเสียง เช่น กรณีท่อน B ของ Episode I: The Scream ผู้ประพันธ์ได้สังเคราะห์ออกเป็นประเด็นจากสมุดบันทึกของมูงค์ซึ่งเป็นสาระเหตุการณ์ที่เกิดระหว่างเขาและเพื่อน จากข้อมูลช่วงหลังในสมุดบันทึกแสดงให้เห็นถึงสภาพอารมณ์ความรู้สึกของมูงค์ได้เป็นอย่างดี แนวทางการใช้ความเข้มเสียงเข้ามามีบทบาทเพื่อช่วยสื่อถึงสภาพอารมณ์เหล่านี้ ดังที่ปรากฏการใช้ความเข้มเสียงตรงห้องที่ 101-109 มีการปรับเปลี่ยนความเข้มเสียงอย่างฉับพลัน เพื่อสร้างบรรยากาศบทเพลงให้เกิดการสะดุดหรือเปลี่ยนไป ทั้งนี้ผู้ประพันธ์จินตนาการถึงมิติเสียงในโสตประสาท กระทั่งเขาสัมผัสได้ถึงเสียงกรีดร้องของธรรมชาติที่ค่อย ๆ คืบคลานเข้ามา

                   ประเด็นการอิมโพรไวส์องค์ประกอบสำคัญในดนตรีแจ๊ส บทบาทการอิมโพรไวส์ถูกสอดแทรกอยู่ทุก Episode ผู้ประพันธ์ได้กล่าวถึงประเด็นการอิมโพรไวส์เพื่อเป็นแนวทางให้กับนักดนตรีตลอดจนผู้ที่สนใจทราบถึงแนวทางสอดคล้องกับผู้ประพันธ์กำหนดไว้ ในภาพรวมด้านการอิมโพรไวส์มักมีเสียงประสานหรือการดำเนินคอร์ดชัดเจน เริ่มตั้งแต่ Episode I: The Scream, Episode II: The Guitar Player และ Episode VI: Michael Jackson แนวทางการใช้บันไดเสียงสำหรับการอิมโพรไวส์ที่ผู้ประพันธ์นำเสนอไปนั้น เป็นเพียงการชี้นำให้นักดนตรีดำเนินไปตามแนวทางที่กำหนดไว้และมีการเน้นย้ำเสมอว่าเป็นเพียงแนวทางหนึ่งเท่านั้น ผู้อิมโพรไวส์สามารถตีความการบรรเลงได้อีกมาก หรือกล่าวได้ว่ากำหนดกรอบแนวคิดไว้อย่างไม่เคร่งครัด เปิดโอกาสให้นักดนตรีนำเสนอแนวคิดอื่นได้

                   ส่วนกรณี Episode III: Improvisation 28 มีแนวคิดต่างออกไป ช่วงแรกเป็นการอิมโพรไวส์เพียงชั่วขณะของเทเนอร์แซ็กโซโฟนและทรอมโบน ด้วยแนวคิดคอลเลคทีฟอิมโพรไวส์เซชันการดำเนินคอร์ดถูกลดบทบาทลงไปอย่างชัดเจน กล่าวคือไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดแนวทางการใช้บันไดเสียงให้สัมพันธ์กับการดำเนินคอร์ดดังการอิมโพรไวส์ของ Episode II: The Guitar Player และ Episode VI: Michael Jackson แต่ปัจจัยหลักกลับกลายเป็นการบรรเลงตามความรู้สึกหรืออารมณ์ของตนเองขณะนั้น บันไดเสียงอาจไม่มีบทบาทสำคัญผู้อิมโพรไวส์สามารถบรรเลงได้อย่างค่อนข้างอิสระ ไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ทางหลักการทฤษฎีเชื่อมโยงกับการดำเนินคอร์ด แต่ต้องอยู่บนปัจจัยสำคัญอีกประการคือ ต้องรับฟังมิติเสียงที่เกิดขึ้นของผู้อิมโพรไวส์คนอื่นเพื่อร่วมกันสร้างมิติเสียงไปพร้อม ๆ กันขณะบรรเลงด้วยแนวคิดคอลเลคทีฟอิมโพรไวส์เซชัน จากนั้นช่วงหลังเป็นการเดี่ยวอิมโพรไวส์ของเปียโนผู้ประพันธ์กำหนดให้บรรเลงด้วยลีลาดนตรีฟรีแจ๊ส บทบาทด้านการดำเนินคอร์ดถูกถอดบทบาทออกไปคงเหลือเพียงแนวทำนองอิมโพรไวส์ ผสมผสานไปกับการบรรเลงด้วยอัตราจังหวะความเร็วไม่เคร่งครัด แนวคิดการบรรเลงกลุ่มเสียงกัด การพรมนิ้ว การรุดเสียง และมีการบรรเลงในช่วงเสียงหลากหลาย สะท้อนแนวคิดและแรงบันดาลใจจากรูปร่างลายเส้นที่ปรากฏในภาพ เพื่อความสะดวกต่อการสื่อสารให้ไปในทิศทางเดียวกันและมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ผู้ประพันธ์พิจารณากำหนดแนวทางให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นด้วยภาพร่างแนวคิดทั้งหมด เพื่อให้ผู้เล่นเปียโนสัมผัสได้ถึงมิติเสียงและการจัดองค์ประกอบของแนวคิดต่าง ๆ

                   การสร้างสรรค์เนื้อดนตรีที่ปรากฏในบทประพันธ์เพลง หัตถยุทธ ลีลา มีความหลากหลาย ตั้งแต่เนื้อดนตรีโมโนโฟนี เนื้อดนตรีโฮโมโฟนี เนื้อดนตรีโพลิโฟนี แนวคิดการสร้างเนื้อดนตรีต่าง ๆ เป็นดังนี้ ผู้ประพันธ์กำหนดแนวทางการสร้างเนื้อดนตรีโมโนโฟนี ผสมผสานกับบทบาทการบรรเลงจากเครื่องดนตรี เช่น กรณีการเดี่ยวอิมโพรไวส์ของเปียโนใน Episode III: Improvisation 28 ผู้ประพันธ์พิจารณากำหนดให้เปียโนมีความโดดเด่นยิ่งขึ้น ด้วยบทบาทการบรรเลงเดี่ยวในลีลาดนตรีฟรีแจ๊ส การกำหนดบทบาทนี้สร้างความแตกต่างให้กับการบรรเลงของเปียโน ซึ่งหากพิจารณาภาพรวมมักเป็นการบรรเลงร่วมกับกลุ่มเครื่องจังหวะหรือกลุ่มเครื่องลมเป็นส่วนใหญ่

                   การสร้างเนื้อดนตรีโฮโมโฟนี พบได้บ่อยครั้งสำหรับการสร้างเนื้อดนตรีสนับสนุนแนวทำนองให้มีความโดดเด่น การสร้างเนื้อดนตรีนี้ปรากฏอยู่บ่อยครั้งเพื่อสนับสนุนแนวทำนองหลักด้วยการบรรเลงจากกลุ่มเครื่องจังหวะ ซึ่งมักบรรเลงสนับสนุนแนวทำนองด้วยคอร์ด กล่าวได้ว่าเนื้อดนตรีโฮโมโฟนีมักปรากฏอยู่ในทุก Episode ส่วนการสร้างเนื้อดนตรีโพลิโฟนีผู้ประพันธ์พิจารณานำมาสร้างความหลากหลายให้กับการผสมผสานแนวทำนองหลายแนวเข้าด้วยกัน เช่น กรณี Episode IV: Michael Jackson แนวทำนองหลัก C กลุ่มแซ็กโซโฟนบรรเลงแนวคิดคัดทำนองจากบทเพลง Heal the World ขณะที่กลุ่มทรัมเป็ตบรรเลงแนวคิดคัดทำนองจากบทเพลง Black or White การสร้างเนื้อดนตรีโพลิโฟนีจะช่วยสร้างมิติแนวทำนองให้มีความหลากหลาย และสร้างความแปลกใหม่ให้กับแนวทำนองเมื่อนำมาบรรเลงร่วมกัน ก่อนแนวทำนองจะดำเนินไปสู่แนวคิดอื่นต่อไป

                   แม้บทประพันธ์เพลง หัตถยุทธ ลีลา จะมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างชุดบทประพันธ์เพลงแจ๊ส  รูปแบบวงดนตรีแจ๊สขนาดใหญ่ แต่ผู้ประพันธ์ก็ได้กำหนดบทบาทหน้าที่เครื่องดนตรีให้มีความหลากหลาย เช่น บทบาทหน้าที่ของกลุ่มเครื่องจังหวะ และบทบาทหน้าที่ของกลุ่มเครื่องลม บทบาทหน้าที่ของกลุ่มเครื่องจังหวะเสมือนเป็นผู้ขับเคลื่อนบทเพลงให้ดำเนินไปในมิติต่าง ๆ สอดประสานไปกับกลุ่มเครื่องลม บทบาทสำคัญที่ผู้ประพันธ์นำมาใช้คือ การกำหนดให้บทบาทกลุ่มเครื่องจังหวะผสมผสานกับเทเนอร์แซ็กโซโฟน เช่น กรณีการบรรเลงท่อน A ของ Episode I: The Scream หรือกรณีผสมผสานกับเทเนอร์แซ็กโซโฟนและทรอมโบน เพื่อสร้างการบรรเลงด้วยแนวคิดคอลเลคทีฟอิมโพรไวส์เซชันในการบรรเลงท่อน A ของ Episode III: Improvisation 28 ทั้ง 2 กรณีผู้ประพันธ์พิจารณาเครื่องดนตรีให้เสมือนจำลองบทบาทเครื่องดนตรี ให้มีทิศทางคล้ายกับลักษณะแจ๊สวงเล็ก เพื่อสร้างความหลากหลายสำหรับการบรรเลงในบทเพลง

                   ด้านบทบาทหน้าที่กลุ่มเครื่องลมนอกจากจะบรรเลงร่วมกับกลุ่มเครื่องจังหวะ เพื่อสร้างมิติเสียงให้บทเพลงแล้ว ผู้ประพันธ์ยังกำหนดบทบาทให้โดดเด่นด้วยการบรรเลงเพียงกลุ่มเครื่องลมเท่านั้น เพื่อสร้างมวลมิติเสียงหรืออารมณ์บทเพลงให้ต่างออกไปและสอดคล้องกับแนวทางที่ผู้ประพันธ์กำหนดไว้ เช่น กรณีการบรรเลงช่วงท่อน B ของกลุ่มเครื่องลมระหว่างจุดซ้อม K-L จาก Episode I: The Scream นอกจากนี้กรณีบรรเลงร่วมกับกลุ่มเครื่องจังหวะ ผู้ประพันธ์ก็ได้กำหนดบทบาทให้มีความโดดเด่น เช่น กรณี Episode III: Improvisation 28 ด้วยการสะท้อนแนวคิดมิติสีสันตรงท่อน B บทบาทกลุ่มเครื่องลมถูกนำมาสะท้อนลงไปกับแรงบันดาลใจด้านแนวคิดการประพันธ์เพื่อสื่อถึงมิติสีสันที่ปรากฏในภาพ Improvisation 28 หรือกรณีสะท้อนแนวคิดมิติช่องว่างตรงท่อน C กลุ่มเครื่องลมมีบทบาทโดดเด่นด้วยการสร้างมิติเสียงจากแนวคิดทรัยแอดในช่วงเสียงบน บทบาทกลุ่มเครื่องลมมีทิศทางคล้ายกับกลุ่มเครื่องจังหวะกล่าวคือ มีทั้งบทบาทบรรเลงเพียงกลุ่มเครื่องลมเท่านั้นหรือบรรเลงร่วมกับกลุ่มเครื่องจังหวะ เพื่อสร้างมิติเสียงตามแนวทางที่ถูกกำหนดไว้

หมายเหตุ สามารถรับชมบันทึกการเผยแพร่งานวิจัยสร้างสรรค์บทประพันธ์เพลงหัตถยุทธ ลีลา ได้จากสแกนคิวอาร์โคด ต่อไปนี้

ส่วนกรณีงานวิจัยสร้างสรรค์บทประพันธ์เพลงเดวิสฟินอมินอน สรุปและอภิปรายผลได้ว่า
ในส่วนของการปฏิบัติจริงด้านบทบาทเครื่องดนตรีผู้ประพันธ์พิจารณาบทบาทเครื่องดนตรีแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มสอดคล้องกับการจัดรูปแบบวงดนตรีแจ๊สขนาดใหญ่หรือบิกแบนด์คือ กลุ่มเครื่องลมและกลุ่มเครื่องจังหวะ กลุ่มเครื่องลม มีบทบาทหน้าที่สำคัญด้านการบรรเลงแนวทำนอง สนับสนุนแนวทำนอง ตลอดจนสร้างสีสัน อารมณ์ หรือบรรยากาศ ขณะที่กลุ่มเครื่องจังหวะมีบทบาทสำคัญกับการบรรเลงด้วยแนวคิดแวมป์ เนื้อดนตรีที่ปรากฏมีลักษณะเนื้อดนตรีโฮโมโฟนีร่วมไปกับบทบาทเครื่องดนตรี หากพิจารณาภาพรวมทั้งหมดพบว่า ช่วงนำเข้าบทประพันธ์เสมือนเป็นการเชื้อเชิญผู้ฟัง ด้วยบทบาทจากเครื่องดนตรี 2 ชิ้นคือทรัมเป็ตและเปียโน จากนั้นจึงตามด้วยกลุ่มเครื่องลมและดำเนินเข้าสู่ท่อนต่าง ๆ โดยท่อน A ถึงท่อน C บทบาทกลุ่มเครื่องลมและกลุ่มเครื่องจังหวะทำหน้าที่บรรเลงร่วมกัน และบทประพันธ์เพลง เดวิสฟินอมินอน จบลงด้วยบทบาทจากกลุ่มทรัมเป็ต

ด้านการอิมโพรไวส์เพื่อให้สามารถทราบถึงการกำหนดแนวทางสำหรับช่วงอิมโพรไวส์ ผู้ประพันธ์ได้นำเสนอแนวคิดการใช้บันไดเสียงสำหรับช่วงทรัมเป็ตและกีตาร์อิมโพรไวส์ ประกอบไว้ด้วยแต่อย่างไรก็ดีธรรมชาติดนตรีแจ๊สมักเปิดโอกาสให้นักดนตรีสามารถตีความการบรรเลงของตนเองได้ แนวทางที่ผู้ประพันธ์กำหนดไว้จึงเป็นแนวทางหนึ่งเท่านั้น และสังเกตได้ว่าประเด็นอิมโพรไวส์ของทรัมเป็ตและกีตาร์จะพบว่ามีการเน้นย้ำเสมอว่าเป็นเพียงแนวทางหนึ่งเท่านั้น ผู้อิมโพรไวส์สามารถตีความการบรรเลงด้วยแนวคิดอื่นได้อีกหลากหลาย อาจกล่าวโดยสรุปว่าเป็นการกำหนดกรอบแนวคิดไว้ระดับหนึ่งเพื่อเปิดโอกาสให้นักดนตรีตีความการบรรเลงของตนได้

ด้านบทบาทเครื่องดนตรีบทประพันธ์เพลง เดวิสฟินอมินอน ผู้ประพันธ์พิจารณาบทบาทเครื่องดนตรีแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มสอดคล้องกับการจัดรูปแบบวงดนตรีแจ๊สขนาดใหญ่หรือบิกแบนด์คือ กลุ่มเครื่องลมและกลุ่มเครื่องจังหวะ กลุ่มเครื่องลม มีบทบาทหน้าที่สำคัญด้านการบรรเลงแนวทำนอง สนับสนุนแนวทำนอง ตลอดจนสร้างสีสัน อารมณ์ หรือบรรยากาศ ขณะที่กลุ่มเครื่องจังหวะมีบทบาทสำคัญกับการบรรเลงด้วยแนวคิดแวมป์ เนื้อดนตรีที่ปรากฏมีลักษณะเนื้อดนตรีโฮโมโฟนีร่วมไปกับบทบาทเครื่องดนตรี หากพิจารณาภาพรวมทั้งหมดพบว่า ช่วงนำเข้าบทประพันธ์เสมือนเป็นการเชื้อเชิญผู้ฟัง ด้วยบทบาทจากเครื่องดนตรี 2 ชิ้นคือทรัมเป็ตและเปียโน จากนั้นจึงตามด้วยกลุ่มเครื่องลมและดำเนินเข้าสู่ท่อนต่าง ๆ โดยท่อน A ถึงท่อน C บทบาทกลุ่มเครื่องลมและกลุ่มเครื่องจังหวะทำหน้าที่บรรเลงร่วมกัน และบทประพันธ์เพลง เดวิสฟินอมินอน จบลงด้วยบทบาทจากกลุ่มทรัมเป็ต

หมายเหตุ สามารถรับชมการเผยแพร่งานวิจัยสร้างสรรค์บทประพันธ์เพลงเดวิสฟินอมินอน ได้จากสแกน QR Code ต่อไปนี้

ข้อเสนอแนะในการดำเนินการในอนาคต หรือการดำเนินการเพื่อสามารถนำไปสู่การเป็น Good Practice

การสร้างสรรค์ผลงานดนตรีแจ๊สด้วยแนวคิดสหวิชา สู่การสร้างนวัตกรรมงานวิจัย การศึกษาองค์ความรู้ศาสตร์อื่น ๆ ยังคงเป็นความท้าทายสำหรับผู้ประพันธ์เพลงอยู่เสมอ การสร้างแรงบันดาลใจสำหรับการประพันธ์เพลงไม่ได้มีข้อจำกัดอยู่ที่องค์ความรู้ด้านดนตรีเท่านั้น หากขึ้นอยู่กับการเสาะหาความรู้ที่ต้องการ ผนวกกับองค์ความรู้ความเข้าใจเพื่อสามารถนำมาประยุกต์เชื่อมโยงให้เข้ากับการสร้างสรรค์ตามแนวทางของตนเอง เพื่อสะท้อนสู่การก่อเกิดองค์ความรู้ใหม่

จากวิธีการดำเนินการของงานวิจัยสร้างสรรค์บทประพันธ์เพลงหัตยุทธ ลีลา และบทประพันธ์เพลงเดวิสฟินอมินอน จะช่วยเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สามารถนำมาเป็นแนวทางให้กับผู้ประพันธ์ เพื่อประยุกต์ใช้กับการประพันธ์เพลงที่ได้แรงบันดาลใจจากการศึกษาองค์ความรู้ของศาสตร์อื่น การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์และการสังเคราะห์ข้อมูลตลอดจนกระบวนการสร้างสรรค์เป็นสิ่งสำคัญในงานวิจัย เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นระบบ
จากแนวทางงานวิจัยสร้างสรรค์ทั้งสองชิ้นนี้สามารถสะท้อนถึงแนวทางการเชื่อมโยงประเด็นต่าง ๆ เข้ากับแนวคิดทางดนตรี เช่น การสร้างแนวทำนอง การสร้างการดำเนินคอร์ด การกำหนดลีลาดนตรี รวมถึงบทบาทเครื่องดนตรี

อีกทั้งงานวิจัยทั้งสองชิ้นมีการบันทึกเสียงและเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ กระบวนการจัดการและแก้ไขปัญหาจากโครงการวิจัยเหล่านี้ จะช่วยเป็นแนวทางการทำวิจัยสร้างสรรค์ให้กับผู้ประพันธ์คนอื่นให้นำมาใช้แก้ปัญหาหรือประยุกต์นำเอาสิ่งใกล้ตัวในสังคมนำมารังสรรค์เข้ากับแนวคิดหรือหลักการทางดนตรี นอกจากนี้แนวทางการเขียนรายงานวิจัยสร้างสรรรค์ก็เป็นสิ่งที่นำมาใช้เป็นแนวทางได้เป็นอย่างดี เนื่องจากองค์ความรู้ด้านงานวิชาการที่เป็นรูปธรรม สามารถนำมาเป็นต้นแบบหรือตัวอย่างการศึกษาเพื่อต่อยอดงานวิชาการทางดนตรียังเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ยังสามารถนำเสนอวิธีการดำเนินการของงานวิจัยสร้างสรรค์บทประพันธ์เพลงหัตยุทธ ลีลา และบทประพันธ์เพลงเดวิสฟินอมินอน เผยแพร่ในรูปแบบการบรรยายไปยังสถาบันระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศให้กับผู้ที่สนใจทั้งครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา บุคลากร หัวหน้าชุมชน ผู้สนใจทั่วไป ฯลฯ หรือนำเสนอเป็นบทความผ่านเว็บไซต์ (ปัจจุบันผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เจตนิพิฐ สังข์วิจิตร ได้รับเชิญจากเว็บไซต์พะเยาบีสให้เป็นคอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ Music Know How เป็นบทความเกี่ยวกับสาระหลากหลายมิติทางดนตรี) เพื่อแสดงตัวอย่างแนวทางการสร้างสรรค์ การประยุกต์แนวคิดหลักการทางดนตรีด้วยแนวคิดสหวิชาที่สามารถสร้างนวัตกรรมการวิจัยสะท้อนไปยังศาสตร์ต่าง ๆ หรือสะท้อนไปยังชุมชน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนตระหนักต่อคุณค่าความเป็นคนที่เชื่อมโยงกับศิลปะ วัฒนธรรม คุณค่าทางประวัติศาสตร์ หรือผลกระทบที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันทั้งด้านดี-ร้ายผ่านคุณค่าการสร้างสรรค์วิจัยทางดนตรี

Scroll to Top