รางวัลชมเชย ปีการศึกษา 2566
ยุทธศาสตร์ที่ 3 : KR 3.2.1
แนวทางการพัฒนาระบบฐานข้อมูลระดับมหาวิทยาลัย (กรณีศึกษาฐานข้อมูลบริการวิชาการ)
ผู้จัดทำโครงการ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วุฒิพงษ์ ชินศรี
ศูนย์บริการทางวิชาการ
หลักการและเหตุผล/ความสำคัญ/ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้
งานบริการวิชาการเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของมหาวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายเพื่อให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ในรูปแบบต่างๆ ตามความเหมาะสมและในด้านที่มหาวิทยาลัยมีความเชี่ยวชาญ โดยให้บริการทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน หน่วยงานอิสระ หน่วยงานสาธารณะ ชุมชน และสังคมการให้บริการทางวิชาการอาจมีทั้งแบบที่มีรายได้หรือแบบให้เปล่า ซึ่งการให้บริการทางวิชาการนอกจากเป็นการทำประโยชน์ให้สังคมแล้ว มหาวิทยาลัยเองยังได้รับประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น การเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ของอาจารย์และนักศึกษา ซึ่งทำให้เกิดการบูรณาการระหว่าง การเรียนการสอน การวิจัย และบริการวิชาการได้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการบริการวิชาการนั้นมีความสำคัญและจำเป็นต้องใช้ในการรายงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย เช่น รายงานด้านประกันคุณภาพ การประเมินประจำปี ซึ่งการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวต้องการความถูกต้องรวดเร็ว หากไม่มีระบบฐานข้อมูลกลาง จะทำให้ต่างคนต่างจัดเก็บ ทำให้ประเด็นเรื่องของความถูกต้องจำเป็นต้องตรวจสอบเพิ่มเติม และที่เป็นปัญหาหลักคือการรวบรวมข้อมูลนั้นทำได้ยาก ตลอดจนรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลของแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน เมื่อรวบรวมมาแล้วจึงต้องนำมาจัดรูปแบบใหม่ จึงจะสามารถประมวลผลข้อมูลต่อได้
ผู้ให้ความรู้เล็งเห็นว่าการพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลงานบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยรังสิต จะสามารถช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ โดยจะพัฒนาในรูปแบบของเว็บแอปพลิเคชัน (Web application) ติดตั้งไว้ที่เครื่องเซิร์ฟเวอร์ (Server) เครื่องของผู้ใช้หรือเครื่องไคลเอนต์ (Client) ที่เชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายจะสามารถเรียกใช้งานโปรแกรมผ่านเว็บเบราว์เซอร์ (Web browser) ได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องติดตั้งโปรแกรมเพิ่มเติม ระบบบริหารจัดการข้อมูลงานบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยรังสิตที่พัฒนาขึ้นจะเป็นฐานข้อมูลกลาง ที่สามารถเข้าถึงและใช้งานได้ง่าย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการใช้งานระบบในวงกว้าง มีการนำเข้าข้อมูลและนำข้อมูลไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในส่วนของบุคลากรและหน่วยงานกลางของมหาวิทยาลัย โดยระบบดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับบุคลากรทั้งในส่วนของอาจารย์และเจ้าหน้าที่ในการบันทึกและค้นคืนข้อมูลงานบริการวิชาการได้เป็นอย่างดี
ประเด็นข้างต้นเป็นตัวอย่างกรณีศึกษาที่จะนำไปสู่แนวทางในการจัดทำระบบฐานข้อมูลระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งควรเป็นประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกับบุคลากรส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัย
ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้
- การพัฒนาระบบฐานข้อมูล
- วชี้วัดด้านประกันคุณภาพที่เกี่ยวข้องกับงานบริการวิชาการ
- การพัฒนาเว็บแอปพลิเคชั่น
ประเภทความรู้และที่มาความรู้
ความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge) : เจ้าของความรู้/สังกัด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วุฒิพงษ์ ชินศรี
วิธีการดำเนินการ
1. วิธีการดำเนินการ
ดำเนินการตามขั้นตอน plan, do, check, act ดังนี้
- ศึกษาตัวชี้วัดด้านประกันคุณภาพรวมไปถึงยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ที่สอดคล้องกับพันธกิจของหน่วยงาน
- ประสานงานกับสำนักงานบุคคลเพื่อขอปรับปรุงเกณฑ์การประเมินให้สอดคล้องกับตัวชี้วัดด้านประกันคุณภาพรวมไปถึงยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย
- จัดทำระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลสำหรับงานบริการวิชาการ เพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านบริการวิชาการของมหาวิทยาลัย โดยสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการประเมินบุคลากรประจำปีได้ทันที หากมีการบันทึกข้อมูลลงในระบบนี้
- สื่อสาร ทำความเข้าใจ และประสานงานเพื่อให้เกิดการใช้งานระบบสารสนเทศดังกล่าว
- ประเมินผล ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
2. Prototype testing in an operational environment – DO
ผลการดำเนินการ การนำไปใช้ หรือการลงมือปฏิบัติจริง อุปสรรคหรือปัญหาในการทำงาน
การนำไปใช้หรือการลงมือปฏิบัติจริง
ระบบสารสนเทศที่พัฒนาขึ้น สามารถเข้าถึงได้จาก URL: http://asc.rsu.ac.th/servicedata ได้ถูกใช้งานครั้งแรกในปีการศึกษา 2564 และได้ใช้งานต่อเนื่องในปีการศึกษา 2565 ซึ่งระบบดังกล่าวมีการนำข้อมูล 2 ส่วน ดังนี้
- ส่วนที่ตรงกับเกณฑ์การประเมินบุคลากรในข้อ 3.1 โครงการบริการวิชาการแบบมีรายได้ และ 3.2 โครงการบริการวิชาการเพื่อสนับสนุนงานประกันคุณภาพ ทางศูนย์บริการทางวิชาการซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงตามพันธกิจ จะเป็นผู้กรอกข้อมูลเข้าระบบตามกระบวนการในแต่ละปีการศึกษา เนื่องจากจำเป็นต้องตรวจสอบในส่วนของความถูกต้องของข้อมูลเป็นพิเศษ
- ส่วนที่ตรงกับเกณฑ์การประเมินบุคลากร 3.3 ได้รับเชิญเป็นวิทยากร อาจารย์พิเศษ กรรมการ อนุกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และ 3.4 ได้รับเชิญเป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาผลงานวิชาการ บุคลากรจะเป็นผู้กรอกเอง เนื่องจากทางศูนย์บริการทางวิชาการจะไม่ทราบข้อมูลดังกล่าว และได้อำนวยความสะดวกในการจัดทำระบบให้กับบุคลากร ซึ่งข้อมูลในส่วนดังกล่าว ทางบุคลากรจะสามารถ Print จากระบบเป็นไฟล์หรือเป็นกระดาษ ตามแนวทางของหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อทำการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลอีกครั้ง
อุปสรรคหรือปัญหาในการทำงาน
เนื่องจากในปี 2564 เป็นการเริ่มใช้ครั้งแรกและในการประเมินบุคลากรยังเปิดโอกาสให้บุคลากรสามารถดำเนินการเองได้โดยไม่ผ่านระบบทั้งหมด ทำให้มีผู้ใช้งานเข้ามาใช้งานเพียงบางส่วน แต่เมื่อมีการกำหนดชัดเจนแล้วในปี 2565 จึงไม่เกิดปัญหาดังกล่าว
อุปสรรคอีกประการหนึ่ง คือระบบฐานข้อมูลบุคลากรยังไม่มีข้อมูลที่แม่นยำเกี่ยวกับสังกัดคณะ/หลักสูตร ทำให้ในช่วงพัฒนาไม่ได้พัฒนาในส่วนของการยืนยันผลการดำเนินงานในข้อ 3.3 และ 3.4 ได้
3. Proven through successful mission operation, Objectives and Key Results for Knowledge Management – CHECK
การตรวจสอบผลการดำเนินการ การนำเสนอประสบการณ์การนำไปใช้ สรุปและอภิปรายผล บทสรุปความรู้หรือความรู้ที่ค้นพบใหม่
ผลการดำเนินการ มีข้อมูลที่บันทึกเข้าสู่ระบบ ดังตารางที่ 1
ตารางที่ 1 จำนวนข้อมูลที่ได้รับการบันทึกเข้าสู่ระบบ
จากตารางที่ 1 จะพบว่าในปีการศึกษา 2565 มีการใช้งานระบบและมีการบันทึกข้อมูลในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้นสูงกว่าปีการศึกษา 2565 ทุกด้าน ผู้วิจัยในทำการประเมินผลการใช้งานระบบบริหารจัดการข้อมูลงานบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยรังสิตหลังจากหมดปีการศึกษา 2565 ซึ่งผู้วิจัยจะนำเสนอผลการประเมินในแต่ละข้อและในภาพรวม โดยรายงานคะแนนเฉลี่ย ( ) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) จากผู้ประเมิน จำนวน 30 คน โดยผลการประเมินแสดง ดังตารางที่ 2
ตารางที่ 2 ผลการประเมินความพึงพอใจในการใช้งานระบบบริหารจัดการข้อมูลงานบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยรังสิต
จากตารางที่ 2 ผลการประเมินผลการใช้งานระบบบริหารจัดการข้อมูลงานบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยรังสิต อยู่ในระดับมากที่สุด ( =4.66, S.D.=0.60) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ผู้ประเมินมีความรู้สึกดีหรือมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้าน โดยเฉพาะด้านความสะดวกในการเริ่มใช้งานระบบเพราะไม่ต้องติดตั้งแอปพลิเคชันเพิ่มเติม และด้านความสะดวกในการเข้าสู่ระบบ ด้วยบัญชีผู้ใช้ของมหาวิทยาลัย ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ด้านความเหมาะสมเกี่ยวกับประสบการณ์ของผู้ใช้งาน (User Experience) ในการใช้งานระบบ มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุดเท่ากับ 4.50 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.68
ดังนั้น บทสรุปความรู้หรือความรู้ที่ค้นพบคือ ระบบสารสนเทศ ระบบฐานข้อมูล จากส่วนกลาง มีความสำคัญ แต่หากไม่มีนโยบายหรือกฎเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยสนับสนุน ก็จะไม่ทำให้เกิดการใช้งานเท่าที่ควร และหากงานดังกล่าวไม่ใช้ภารกิจหลักด้วยแล้ว โอกาสที่บุคลากรจะใช้ระบบสารสนเทศที่พัฒนาขึ้นยิ่งเป็นเรื่องที่ยากขึ้น แต่สำหรับกรณีที่นำเสนอ ทางมหาวิทยาลัยได้มีการปรับเกณฑ์การประเมินบุคลากร ซึ่งระบบสารสนเทศนี้ได้พัฒนาให้สอดคล้องกับเกณฑ์การประเมิน ช่วยสร้างความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน และในอีกมุมหนึ่ง หน่วยงานกลางหรือศูนย์บริการทางวิชาการจะได้รับข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน ทำให้สามารถนำไปวางแผนปรับปรุงหรือส่งเสริมงานบริการวิชาการต่อไปได้
ข้อเสนอแนะในการดำเนินการในอนาคต หรือการดำเนินการเพื่อสามารถนำไปสู่การเป็น Good Practice
นโยบายของมหาวิทยาลัยต้องชัดเจน และบังคับใช้อย่างเข้มงวด ส่งเสริมให้หน่วยงานหรือบุคลากรที่ยังไม่ใช้ระบบ เข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อประโยชน์ทั้งส่วนตนและประโยชน์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งจะช่วยให้บุคลากรตระหนักถึงภารกิจด้านบริการวิชาการมากขึ้นด้วย
ในส่วนของระบบสารสนเทศ ในข้อ 3.3 และ 3.4 หากมีการพัฒนาเพิ่มเติมให้ทางคณะ/หน่วยงาน สามารถเข้ามายืนยันสิ่งที่บุคลากรบันทึกเข้าระบบได้ จะทำให้ข้อมูลที่อยู่ในระบบมีความถูกต้องและนำไปใช้อ้างอิงต่อได้
ดังนั้นการพัฒนาระบบฐานข้อมูลระดับมหาวิทยาลัย ควรมีแนวปฏิบัติ ดังนี้
- กำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์จากข้อมูลให้ชัดเจน ให้เห็นเป้าหมายก่อนว่าต้องการจัดเก็บไปเพื่ออะไร หากเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็นหรือมีความสำคัญกับมหาวิทยาลัยด้วยยิ่งดี
- ข้อมูลที่จัดเก็บหากนำมาเชื่อมโยงกับการประเมินประจำปีได้ จะช่วยสร้างระบบกลไกในเชิงนโยบาย เพื่อให้เกิดการดำเนินการบันทึกข้อมูล ซึ่งจะช่วยให้เกิดประโยชน์ทั้งผู้บันทึกและส่วนของมหาวิทยาลัยที่จะนำข้อมูลไปใช้
- สร้างระบบที่ช่วยให้ผู้บันทึกข้อมูลสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในงานอื่นๆ ของตนเองได้ จะทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกได้ถึงความสำคัญของการดำเนินการมากกว่าการดำเนินการตามระบบกลไก