รางวัลชมเชย ปีการศึกษา 2566

ยุทธศาสตร์ที่ 1 : KR 1.4.6

การเรียนรู้โดยนักศึกษามีส่วนร่วมผ่านการใช้ทักษะต่างๆ (Active Learning) ในรายวิชาทฤษฎีอาชญาวิทยา

ผู้จัดทำโครงการ​

ดร.พรรษพร สุวรรณากาศ

คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม

หลักการและเหตุผล/ความสำคัญ/ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้​

คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต อาชญาวิทยาและนิติวิทยาศาสตร์ ได้สนับสนุนให้คณาจารย์วางแผนการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ในชั้นเรียน โดยในแต่ละรายวิชาต้องออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ที่มุ่งเน้นให้นักศึกษาสามารถเข้าถึงความรู้และพัฒนาตนเอง แสดงศักยภาพ พัฒนาทักษะในชั้นเรียนได้อย่างสูงสุดโดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของนักศึกษาในเนื้อหาสู่การเรียนรู้ที่แท้จริง

ในรายวิชา CJA202 ทฤษฎีอาชญาวิทยา มีเนื้อหาครอบคลุมศาสตร์ทางอาชญาวิทยา พัฒนาการของทฤษฎี และความรู้ในเชิงสหวิทยาต่อการอธิบายปรากฏการณ์อาชญากรรมผ่านแนวคิด และทฤษฎีทางด้านอาชญาวิทยา โดยมีวัตถุประสงค์รายวิชาคือ

  1. เพื่อให้เข้าใจฐานคติและแนวคิดที่เป็นต้นกำเนิดของศาสตร์ทางอาชญาวิทยา พัฒนาการของทฤษฎี ความรู้ในเชิงสหวิทยาของหลักการทางอาชญาวิทยาและธรรมชาติของสังคมกับอาชญากรรม
  2. เพื่อให้สามารถอธิบายปรากฏการณ์อาชญากรรมด้วยแนวคิดและทฤษฎีทางด้านอาชญาวิทยาได้
  3. เพื่อให้เข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับรูปแบบอาชญากรรมที่น่าสนใจ

อนึ่ง ประเด็นสำคัญที่ท้าทายการเรียนการสอนคือประเด็นการทำความเข้าใจทฤษฎีอาชญาวิทยาที่มีจำนวนมากหลากหลายทฤษฎี ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายทั้งในมิติผู้บรรยายต่อการถ่ายถอดบทเรียนสู่มิติของกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนต่อการทำความเข้าใจในแต่ละแนวคิดในการอธิบายสาเหตุประกอบอาชญากรรม การวางแผนการจัดการเรียนการสอนจึงมีกระบวนการที่ให้นักศึกษาได้พัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ในแต่ละกิจกรรม ควบคู่ไปกับการวัดผลความรู้ที่ได้จากรายวิชา

ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้

                   นอกเหนือจากการบรรยายเชิงทฤษฎี ยังมีการดำเนินการเรียนการสอนโดยกลยุทธ์การจัดการเรียนรู้กระบวนการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม แบบการระดมสมอง (Brainstorming) แบบเน้นปัญหา/โครงงาน/กรณีศึกษา (Problem/Project-based Learning/Case Study) แบบแสดงบทบาทสมมุติ (Role Playing) เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์การศึกษา และการพัฒนาการเรียนรู้ในปัจจุบัน

ประเภทความรู้และที่มาความรู้

ความรู้แบบชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) :

ความรู้จากคลังความรู้ของเว็บไซต์ระบบการจัดการความรู้ KM Rangsit University   (http://lc.rsu.ac.th/km/Knowledgebase) 
เจ้าของความรู้/สังกัด   คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม         

ความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge) : 
เจ้าของความรู้/สังกัด ดร.พรรษพร สุวรรณากาศ

วิธีการดำเนินการ

กระบวนการจัดการเรียนรู้จึงต้องดำเนินด้วยการเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ โดยอาจารย์ผู้สอนมีการวางแผนกระบวนการเรียนรู้ ดังนี้

  1. กำหนดเนื้อหาที่ต้องเรียนในศาสตร์ทางด้านอาชญาวิทยา ทฤษฎีอาชญาวิทยาผ่านการบรรยายความรู้พื้นฐานที่ใช้ในการอธิบายสาเหตุอาชญากรรม
  2. กำหนดเครื่องมือการวัดความรู้ ประกอบด้วย การออกแบบเนื้อหาการทดสอบความรู้ ประเมินผ่านการทดสอบย่อยโดยผู้สอน Pre Test, Post Test, Final Exam
  3. สอดแทรกแต่ละกิจกรรมในแต่ละช่วงของกลุ่มแนวคิดทางด้านอาชญาวิทยา ประกอบด้วย การระดมสมอง การเรียนรู้ด้วยการแสดงบทบาทสมมติ (Role Play)
  4. วางแผนกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วยการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ – การเรียนรู้ผ่าน Case Study รวมถึงการค้นหาความรู้เพิ่มเติม สามารถค้นคว้าข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ปัญหาในเชิงลึก และถ่ายทอดความรู้เป็นชิ้นงานการศึกษาได้อย่างสร้างสรรค์ ทักษะสารสนเทศ – มุ่งให้นักศึกษาอาศัยเทคโนโลยีในการผลิตสื่อเพื่ออธิบายทฤษฎีอาชญาวิทยาได้อย่างสร้างสรรค์ ทักษะในการสื่อสาร – เข้าใจถึงการสื่อสารภายในกลุ่มในชั้นเรียน เรียนรู้ทักษะการสื่อสารกับกลุ่มผู้เปราะบางทางสังคม หรือผู้กระทำผิด ทักษะชีวิต – เรียนรู้ความเป็นผู้นำ และการทำงานเป็นทีม

การสังเกตการเรียนรู้ การแสดงศักยภาพของนักศึกษาในแต่ละกิจกรรมในห้องเรียน เพื่อพัฒนาปรับปรุงกระบวนการเรียนรู้ในอนาคต

2. Prototype testing in an operational environment – DO

ผลการดำเนินการ การนำไปใช้ หรือการลงมือปฏิบัติจริง อุปสรรคหรือปัญหาในการทำงาน

               จากการวางแผนการเรียนการสอนสู่การลงปฏิบัติ โดยในปีการศึกษา 2566 ได้มีนักศึกษาจำนวนทั้งหมด 98 คนในรายวิชาทฤษฎีอาชญาวิทยา อนึ่ง ในรายวิชาได้มีการดำเนินการบรรยายทฤษฎีอาชญาวิทยาประกอบการสอดแทรกกิจกรรม ผ่านกลยุทธ์การจัดการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น และมีผลการดำเนินการ ดังต่อไปนี้

กิจกรรม

กลยุทธ์การจัดการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น

1. การแสดงบทบาทสมมุตินักอาชญาวิทยาและผู้กระทำผิด

การเรียนรู้ด้วยการแสดงบทบาทสมมติ (Role Play) จากกรณีศึกษาที่หลากหลาย เรียนรู้ทฤษฎีเทคเนคการโยนความผิด และการสื่อสารกับผู้กระทำผิด

พัฒนาทักษะการเรียนรู้ ทักษะการสื่อสาร

2. การวิเคราะห์คดีดัง อาทิ ‘กราดยิงพารากอน’ ‘กำนันนก’

การเรียนรู้ แบบ Case Study ที่หลากหลายการวิเคราะห์สาเหตุอาชญากรรมที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ผลกระทบจากสถานการณ์ แนวทางป้องกันอาชญากรรม วิพากษ์ระบบงานยุติธรรมทางอาญา

พัฒนาทักษะการเรียนรู้ในการวิเคราะห์ด้วยความเป็นเหตุเป็นผล ค้นหาข้อมูลความรู้ด้วยตนเอง

3. การระดมสมองในประเด็นปัญหาสังคมและอาชญากรรม

การเรียนรู้โดยระดมสมอง อภิปรายภายในกลุ่ม ร่วมกันวิเคราะห์สภาพปัญหาสังคมสู่การประกอบอาชญากรรม ในบทเรียนกลุ่มทฤษฎีโครงสร้างทางสังคมต่อการกระทำผิด

ทักษะการเรียนรู้ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม ทักษะการสื่อสาร ต่อการนำเสนอหน้าชั้นเรียน

4. Project Based นำเสนอชิ้นงานประยุกต์ใช้ทฤษฎีอาชญาวิทยาแต่การถ่ายทอดผ่านสื่อ

การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ให้นักศึกษาผลิตผลงานสื่อสร้างสรรค์โดยไม่จำกัดแนวทางในการนำเสนอ ภายใน 15 นาที เพื่อประยุกต์ทฤษฎีที่เรียนสู่การถ่ายทอดรูปธรรม โดยมีข้อตกลงการดำเนินงานดังนี้

1. จับกลุ่ม 8-10 คน

2. ส่งรายชื่อสมาชิกภายในสัปดาห์ที่ 2 ของการเรียน

3. ลักษณะการนำเสนอเนื้อหาได้อย่างสร้างสรรค์ โดยต้องมีการสอดแทรกการอธิบายทฤษฎีอาชญาวิทยา เช่น การแสดงสถานการณ์จำลอง นักศึกษาจำลองบทบาทคดีอาชญากรรม และมีการอธิภายทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นๆ ท้ายคลิป หรือสอดแทรกระหว่างคลิปตามความเหมาะสม

4. ส่ง Plot เรื่อง และเลือกทฤษฎีที่ใช้อธิบายก่อนดำเนินการ เพื่อให้อาจารย์พิจารณาให้คำแนะนำก่อนสัปดาห์ที่ 9 ของการเรียน

5. ไม่ต้องจัดทำรูปเล่ม โดยส่งไฟล์ผลงานก่อนวันนำเสนอ อย่างน้อย 1 วันเข้าอีเมล phatsaporn.s@rsu.ac.th

ทักษะการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ทักษะชีวิตในการทำงานเป็นทีม ทักษะสารสนเทศต่อการเผยแพร่ความรู้

5. การวัดความรู้ Pre-Test, Post-Test และการสอบปลายภาค

การออกแบบ Quiz และ Final Exam

ทักษะการเรียนรู้

3. Proven through successful mission operation, Objectives and Key Results for Knowledge Management – CHECK

การตรวจสอบผลการดำเนินการ การนำเสนอประสบการณ์การนำไปใช้ สรุปและอภิปรายผล บทสรุปความรู้หรือความรู้ที่ค้นพบใหม่

                   อาจารย์ได้มีการชี้แจงสัดส่วนของการประเมินผลตั้งแต่สัปดาห์แรกในชั้นเรียน เพื่อให้นักศึกษารับทราบข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน

การประเมินผลการเรียนรู้

สัดส่วนของการประเมินผล

1.       สอบปลายภาค

30%

2.       การเข้าชั้นเรียน QUIZ และการมอบหมายงาน รวมถึงการอภิปรายปัญหาอาชญากรรมในชั้นเรียน

30%

3.       Project งานกลุ่ม

40%

                   ทั้งนี้จากกิจกรรมต่างๆ ได้มีการตรวจสอบผลการดำเนินการดังนี้
  1. การแสดงบทบาทสมมุตินักอาชญาวิทยาและผู้กระทำผิด – จากการแนะนำความรู้โดยอาจารย์ผู้สอน สู่การให้นักศึกษาได้ปฏิบัติจริง โดยให้สลับกันเป็นอาชญากร และนักอาชญาวิทยา ทั้งนี้ การสังเกตพบว่านักศึกษามีความกระตือรือร้นเป็นอย่างมาก มีการใช้ความรู้ที่เรียนมาเท่าทันเทคนิคการโยนความผิด และเข้าใจถึงการสื่อสารกับผู้กระทำผิดโดยไม่ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน และสามารถถ่ายทอดสรุปผลการศึกษาการวิเคราะห์ผู้กระทำผิดได้อย่างสอดคล้องทฤษฎีอาชญาวิทยา
  2. การวิเคราะห์คดีดัง อาทิ ‘กราดยิงพารากอน’ ‘กำนันนก’ – จากการประเมินการนำเสนอพบว่า นักศึกษามีการนำทฤษฎีทางด้านอาชญาวิทยาเข้ามาวิเคราะห์ และมีการนำเสนอแนวทางป้องกันแก้ไขตามหลักวิชาการถูกต้องและทันสมัย
  3. การระดมสมองในประเด็นปัญหาสังคมและอาชญากรรม – จากกระประเมินโดยการสังเกตแต่ละกลุ่มในช่วงอภิปราย โดยอาจารย์เป็นผู้ฟังการนำเสนอความคิดเห็นนักศึกษาภายในกลุ่มแต่ละกลุ่ม หลังจากนั้นจึงเป็นการนำเสนอหน้าชั้นเรียน พบว่านักศึกษามีความสนใจ มีความกล้าแสดงออกที่จะแสดงความคิดเห็นเชิงวิชาการต่อปัญหาสังคม มีความเข้าใจปัจจัยทางสภาพแวดล้อมต่อการประกอบอาชญากรรม
  4. Project Based นำเสนอชิ้นงานประยุกต์ใช้ทฤษฎีอาชญาวิทยาแต่การถ่ายทอดผ่านสื่อ – จากการประเมินผลงานของนักศึกษาพบว่า สื่อที่นักศึกษาผลิตและนำเสนอมีความทันสมัยน่าสนใจอย่างสร้างสรรค์ และนักศึกษามีผลงานการนำเสนอหรือชิ้นงานที่มีลักษณะไม่ซ้ำกันในแต่ละกลุ่ม อาทิ การนำเสนอผ่าน webtoon การใช้บทบาทสมมุติในการนำเสนอ นำเสนอโดยผลิตเป็น Animation พบว่านักศึกษาดำเนินการเป็นอย่างดี มีการร่วมปรึกษากับอาจารย์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้อาจารย์ได้แนะนำความเห็น ความถูกต้องตามหลักวิชาการ

การวัดความรู้ Pre-Test, Post-Test และการสอบปลายภาค – จากการทดสอบ Pretest และ Post-test ผ่านพบว่านักศึกษาส่วนใหญ่มีคะแนน Post-test เพิ่มขึ้น และจากการสอบปลายภาคพบว่านักศึกษาส่วนใหญ่สามารถจำและเขียนอธิบายทฤษฎีอาชญาวิทยาได้ อีกทั้งสามารถประยุกต์ใช้เขียนบรรยายบทวิเคราะห์คดีในข้อสอบ

ข้อเสนอแนะในการดำเนินการในอนาคต หรือการดำเนินการเพื่อสามารถนำไปสู่การเป็น Good Practice

เพื่อสนับสนุนให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง อาจมีการผลักดันให้เกิดกิจกรรมการเรียนรู้ในแต่ละกลุ่มทฤษฎีอาชญาวิทยา โดยอาจเป็นกิจกรรมที่หลากหลายมากขึ้น นักศึกษาให้ความสนใจ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เป็นฝ่ายนำเสนอความคิดเห็นในบทเรียน และวิธีการจัดการเรียนรู้มากขึ้น

          อนึ่งในแต่ละสัปดาห์ท้ายคาบเรียน อาจารย์ผู้สอนจะเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาหารือเนื้อหาทฤษฎีทุกครั้งเพื่อผลิตผลงานการนำเสนอชิ้นงานอย่างสร้างสรรค์ พบว่าแนวทางดังกล่าวสามารถนำไปใช้ในอนาคตได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากนักศึกษาจะมีความกล้าแสดงออกที่จะปรึกษาหารือเนื้อหาความรู้มากขึ้น โดยมีนักศึกษาร่วมปรึกษาอย่างต่อเนื่องในแต่ละสัปดาห์การเรียน

                   และระหว่างการเรียนทั้งภาคการศึกษา นักศึกษาสามารถปรึกษาหารืออาจารย์ที่ปรึกษาผ่าน Line Group หรือ Line อาจารย์ผู้สอนได้โดยตรง โดยอาจารย์จะมีการส่งข้อมูล สถานการณ์อาชญากรรมต่างๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง

ผลงานนักศึกษาส่วนหนึ่งจาก Project Based นำเสนอชิ้นงานประยุกต์ใช้ทฤษฎีอาชญาวิทยาแต่การถ่ายทอดผ่านสื่อ

  • https://drive.google.com/drive/folders/1oq4rl9xMwvzKYjy2tzxVSrRg4mEWeMgu
  • https://youtu.be/Jat4fL3s3Ig?si=UcU0sjCEFh5iwOh7
  • https://youtu.be/WbmnlgAt7Dk?si=MfNsNHyepEHvhtNy
  • https://www.youtube.com/watch?v=Y3OkXjkeiIs

ภาพบรรยากาศในชั้นเรียนและกิจกรรมการจำลองบทบาทสมมุติ

Scroll to Top