รางวัลชมเชย ปีการศึกษา 2566

ยุทธศาสตร์ที่ 1 : KR 1.4.4, KR 1.4.5

ศาสตร์การสอนและการเรียนรู้: เสริมพลังอาจารย์ใหม่
สู่การจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ

ผู้จัดทำโครงการ​

ดร.ชิดชไม วิสุตกุล และ ดร.พิบูลย์ ตัญญบุตร

วิทยาลัยครูสุริยเทพ

หลักการและเหตุผล/ความสำคัญ/ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้​

          การศึกษาเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ ครูมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษาให้บรรลุเป้าหมาย คุณภาพการศึกษาจึงผูกพันกับคุณภาพของครูโดยตรง ครูใหม่เปรียบเสมือนต้นกล้าแห่งอนาคตของการศึกษา การเสริมพลังครูใหม่ให้มีศักยภาพและพร้อมสำหรับการสอนที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเป้าหมายของสถาบันอุดมศึกษาคือการผลิตกำลังคนที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ โดยมีภารกิจหลัก คือ การสร้างคนให้เปี่ยมด้วยความรู้ และมุ่งพัฒนาสร้างความรู้สู่ความเป็นเลิศ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา สังคมให้พึ่งตนเองได้ พัฒนาได้และแข่งขันได้ การสอน (Teaching) และการวิจัย (Research) จึงเป็นสองด้านของเหรียญอันเดียวกัน ทิศทางการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 เน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ (learning outcomes) การจัดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากตามภารกิจหลักของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศสู่การศึกษายุค Thailand 4.0 ซึ่งส่งผลต่อรูปแบบกระบวนการจัดการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาเป็นอย่างมาก ผนวกกับสถานการณ์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดขึ้นและแพร่กระจาย ของเชื้อไวรัส Covid-19 ที่นำมาสู่วิถีใหม่ในการดำรงชีวิต การจัดการศึกษาจำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยยึดมั่นอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์เยาวชนให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศ จึงนำมาสู่การปรับและการสร้างโครงสร้างใหม่ในทุกมิติของมหาวิทยาลัยรังสิต ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยรังสิต พ.ศ.2565-2569 เพื่อให้บัณฑิตมีความเป็นเลิศทั้ง “วิชาการ  วิชางาน  และวิชาคน”  โดยสอดคล้องกับวิสัยทัศน์หลัก คือ “การศึกษาคือนวัตกรรมที่ไม่มีที่สิ้นสุด” มหาวิทยาลัยรังสิตมุ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีมาตรฐานระดับนานาชาติ เน้นคุณภาพและสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล มีความเป็นเลิศทางด้านการเรียนการสอนที่อยู่บนพื้นฐานของการค้นคว้าวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ และแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหา ชี้แนะทางเลือก และสนองตอบความต้องการของชุมชน สังคม และประเทศ (มหาวิทยาลัยรังสิต, 2564)

          คณาจารย์เปรียบเสมือนหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษา บทบาทของคณาจารย์มหาวิทยาลัยรังสิตไม่ได้จำกัดอยู่แค่การถ่ายทอดความรู้ แต่ต้องมุ่งเน้นไปที่การพัฒนา “สมรรถนะด้านความเป็นอาจารย์” บนพื้นฐานของการค้นคว้าวิจัย สิ่งนี้จะช่วยสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพ  มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งพัฒนาบุคลากรทุกระดับ โดยเฉพาะบุคลากรสายการสอน ด้วย “กรอบมาตรฐานวิชาชีพอาจารย์” ตามแนวทางการพัฒนาคุณภาพอาจารย์เพื่อส่งเสริมการบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา โดยซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ องค์ประกอบที่ 1 ความรู้ (Knowledge) มี 2 องค์ประกอบย่อย คือ (1.1) ความรู้ในศาสตร์สาขาวิชาของตน (1.2) ความรู้ในศาสตร์การสอนและการเรียนรู้ องค์ประกอบที่ 2 สมรรถนะ (Competencies) มี 4 องค์ประกอบย่อย คือ (2.1) ออกแบบและวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพ (2.2) ดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิผล (2.3) เสริมสร้างบรรยากาศการเรียนรู้และสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียน (2.4) วัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน พร้อมทั้งสามารถให้ข้อมูลป้อนกลับอย่างสร้างสรรค์ และองค์ประกอบที่ 3 ค่านิยม (Values) มี 2 องค์ประกอบย่อย คือ (3.1) คุณค่าในการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์ และการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง (3.2) ธำรงไว้ซึ่งจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพอาจารย์ ซึ่งคุณภาพการจัดการเรียนการสอนในแต่ละองค์ประกอบได้ กำหนดให้มีระดับของคุณภาพของแต่ละองค์ประกอบ จำนวน 4 ระดับ โดยในระดับที่ 1 ได้กล่าวถึงครูที่มีคุณภาพ (Beginner/Fellow Teacher) หมายถึง อาจารย์ที่เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ของตนและประยุกต์ใช้ได้ มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์การเรียนรู้เบื้องต้น สามารถออกแบบกิจกรรม จัดบรรยากาศ ใช้ทรัพยากรและสื่อการเรียนรู้ โดยคำนึงถึงผู้เรียนและปัจจัยที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ สามารถวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนนำผลประเมินมาใช้ปรับปรุงพัฒนาการจัดการเรียนรู้ พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เปิดใจรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพอาจารย์ขององค์กร (สมาคมเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และองค์กรระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (ควอท), 2566)  ในยุคสมัยที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว บทบาทของอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเป็นผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์เฉพาะทางเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ ทักษะ และสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษา ซึ่งหมายความว่าอาจารย์จำเป็นต้องมี “สมรรถนะด้านความเป็นอาจารย์” ควบคู่ไปกับ “ความเชี่ยวชาญในศาสตร์วิชาชีพ” ในระดับอุดมศึกษาอันจะเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จให้สอดรับกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยรังสิต

          ศาสตร์การสอนและการเรียนรู้ เป็นรากฐานสำคัญในการส่งเสริมสมรรถนะด้านความเป็นอาจารย์ พัฒนาศักยภาพของอาจารย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์ใหม่ในระดับอุดมศึกษาที่ต้องเผชิญความท้าทายหลายประการ หนึ่งในนั้นคือ การขาดทักษะและความรู้ในศาสตร์การสอนและการเรียนรู้ ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้และผลการเรียนรู้ของนักศึกษา ดังนั้น อาจารย์ใหม่จึงจำเป็นต้องพัฒนาทักษะและความรู้ในการจัดการเรียนรู้ เพื่อช่วยให้เข้าใจหลักการและวิธีการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย ส่งเสริมให้นักศึกษามีส่วนร่วม คิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา และสร้างสรรค์ผลงาน ด้วยหลักการนี้จึงเป็นที่มาของหลักสูตร “ศาสตร์การสอนและการเรียนรู้” ในความร่วมมือของสำนักงานพัฒนาบุคคล และวิทยาลัยครูสุริยเทพ โดยในหัวข้อ “การจัดการเรียนรู้” และ “การวัดและประเมินผล” มีจุดมุ่งหมายให้ผู้สอนใช้วิธีการสอนที่หลากหลาย เหมาะสมกับเนื้อหาและผู้เรียน เน้นการเรียนรู้ตามหลักการ Active Learning ส่งเสริมให้อาจารย์ใหม่มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ คิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา และสร้างสรรค์ผลงาน และเน้นการวัดผลเชิงพัฒนาการ ประเมินทั้งความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ โดยใช้เครื่องมือที่หลากหลายและทันสมัย เหมาะสมกับวัตถุประสงค์และเนื้อหา โดยนำผลประเมินผลไปพัฒนาผู้เรียน ปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ และพัฒนาระบบการวัดประเมินผลให้มีประสิทธิภาพ

          การพัฒนาศักยภาพอาจารย์ใหม่ ในศาสตร์การสอนและการเรียนรู้ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของมหาวิทยาลัยรังสิต โดยหลักสูตรนี้มุ่งเน้นพัฒนาอาจารย์ใหม่ให้นำความรู้และทักษะใหม่ไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาสู่การเป็นนักวิจัย โดยเน้นในเรื่อง การจัดการเรียนรู้และการวัดประเมินผลผู้เรียน จะส่งผลดีต่อทั้งอาจารย์ใหม่ นักศึกษา และสถาบันอุดมศึกษาโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์ใหม่จะได้พัฒนาทักษะและความรู้ในการจัดการเรียนรู้ เพิ่มประสิทธิภาพการสอน ส่งเสริมให้นักศึกษามีผลลัพธ์การเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ รวมถึงพัฒนาทักษะการวัดผลและประเมินผลอย่างเป็นระบบ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจในการสอน สำหรับนักศึกษาจะได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีคุณภาพ มีส่วนร่วมในการเรียนรู้มากขึ้น สามารถสร้างผลงาน หรือแก้ปัญหาด้วยทักษะการคิดขั้นสูงได้อย่างสร้างสรรค์ผลงานดียิ่งขึ้น อีกทั้งเกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้ สำหรับมหาวิทยาลัยรังสิตจะได้พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดี

          “อาจารย์” คือ หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนอนาคตในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น “อาจารย์” จึงไม่ใช่เพียงผู้สอน แต่คือ “ผู้นำทางปัญญา” มหาวิทยาลัยรังสิตจึงให้ความสำคัญกับพัฒนา “สมรรถนะด้านความเป็นอาจารย์” ผ่านการค้นคว้าวิจัย พัฒนาทักษะการสอน ตลอดจนสร้างกลยุทธ์การเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน ด้วยความมุ่งมั่น “เพื่อพัฒนาอนาคตของชาติต่อไป”

 

ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้

                   องค์ความรู้ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการนำมาใช้เพื่อในการพัฒนาหลักสูตรศาสตร์การสอนและการเรียนรู้ : เสริมพลังอาจารย์ใหม่ สู่การจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ หรือ V-I-M-P-S Model (จากความหมายในภาษาอังกฤษของแต่ละองค์ประกอบ มีความหมายในภาษาอังกฤษว่า Very important แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า  “สำคัญที่สุด”

โมเดลนี้ มุ่งหวังที่จะสร้าง “อาจารย์ยุคใหม่” ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษาไทยไปสู่คุณภาพ จากการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่เสมอ มีที่มาจากหลักการ หรือองค์ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้ ดังนี้

  1. วิสัยทัศน์ : Vision : คือ การให้ความสำคัญกับการมุ่งพัฒนา “อาจารย์” ให้เป็น “ผู้นำทางปัญญา” ที่ขับเคลื่อนอนาคตการศึกษาไทย ผ่านการสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพ เปี่ยมด้วยความรู้ ทักษะ และพร้อมรับมือกับทุกความท้าทายทุกสภาพปัญหา
  2. อุดมการณ์: Intention : คือ การให้ความสำคัญกับการพัฒนา “สมรรถนะด้านความเป็นอาจารย์” บนพื้นฐานการค้นคว้าวิจัย ฝึกฝนทักษะการสอนที่ทันสมัยที่สอดคล้องกับหลักการ Active Learning พร้อมทั้งศึกษาและสร้างแนวทางการเรียนรู้ในยุคศตวรรษที่ 21 สำหรับผู้เรียน ผ่านการส่งเสริมการเรียนรู้ในลักษณะของการค้นคว้าวิจัยสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการศึกษา โดยให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย
  3. แบบแผน: Method : คือ การให้ความสำคัญกับกระบวนการพัฒนาหลักสูตรอย่างเป็นระบบ เพื่อพัฒนา “อาจารย์ยุคใหม่” ที่เน้นการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning) และถ่ายทอดผ่านการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาทักษะการสอนที่ทันสมัย สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมทางการศึกษา และจัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างเครือข่ายความร่วมมือในรูปแบบของวารสาร RJES วิทยาลัยครูสุริยเทพ มหาวิทยาลัยรังสิต
  4. ระยะเวลาการศึกษา: Period: คือ การให้ความสำคัญกับการออกแบบการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนที่เหมาะสมกับระยะเวลา เนื่องจากความรู้ที่สมบูรณ์นั้นจะเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาที่เหมาะสม

                   5. ตัวชี้วัดความสำเร็จ: Success: คือ การให้ความสำคัญกับความพึงพอใจของนักศึกษาที่มีต่อการสอนของคณาจารย์ ความสำเร็จในการศึกษาของผู้เรียน ส่งเสริมให้คณาจารย์งานพัฒนาตนเองผ่านการทำผลงานทางวิชาการสู่ความเป็นเลิศทางการศึกษา

สำหรับรายงานฉบับนี้ ขอนำเสนอแนวทางจาก 2 หัวข้อ คือ หัวข้อที่ 3 การจัดการเรียนรู้ และหัวข้อที่ 4 การวัดและประเมินผล ดังนี้

หัวข้อที่ 3 การจัดการเรียนรู้

          อาจารย์ ดร.ชิดชไม วิสุตกุล ผู้รับผิดชอบ ได้ใช้หลักการของ V-I-M-P-S Model ในการออกแบบการฝึกอบรม ซึ่งพิจารณาแล้วว่าสอดคล้องกับกรอบแนวคิด 4C ที่ใช้สำหรับการจัดการเรียนรู้ให้เกิดประสิทธิภาพ ได้แก่ Context (บริบท) Content (เนื้อหา) Curriculum (หลักสูตร) และ Conduct (การจัดการ) ผู้สอนสามารถใช้กรอบแนวคิดนี้เพื่อออกแบบและจัดการการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับบริบท เนื้อหา หลักสูตร และผู้เรียน ดังนี้

  1. Context (บริบท)
  • เข้าใจบริบทของการเรียนรู้ในระดับอุดมศึกษา หมายถึง การเข้าใจปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ในระดับอุดมศึกษา เช่น วัฒนธรรมของมหาวิทยาลัย ลักษณะของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา เทคโนโลยีที่มีอยู่ ทรัพยากรที่มีอยู่
  • วิเคราะห์ลักษณะของผู้เรียนในระดับอุดมศึกษา หมายถึง การเข้าใจความต้องการ ความสนใจ
    จุดแข็ง และข้อจำกัดของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา
  • เข้าใจธรรมชาติของเนื้อหาวิชา หมายถึง การเข้าใจโครงสร้าง เนื้อหา และวิธีการคิดวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาวิชา
  1. Content (เนื้อหา)
  • ออกแบบเนื้อหาวิชาให้เหมาะสมกับผู้เรียนและบริบท หมายถึง การออกแบบเนื้อหาวิชาให้ตรงกับความต้องการ ความสนใจ จุดแข็งและข้อจำกัดของนักศึกษา
  • คัดเลือกสื่อการสอนที่หลากหลายและเหมาะสม หมายถึง การเลือกใช้สื่อการสอนที่เหมาะสมกับเนื้อหาวิชา รูปแบบการเรียนรู้ และลักษณะของนักศึกษา
  • จัดลำดับเนื้อหาการสอนอย่างมีตรรกะ หมายถึง การจัดลำดับเนื้อหาการสอนให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องและเข้าใจง่าย
  1. Curriculum (หลักสูตร)
  • ออกแบบหลักสูตรที่สอดคล้องกับเป้าหมายการเรียนรู้ หมายถึง การนำผลลัพธ์การเรียนรู้ของหลักสูตรมาออกแบบการเรียนการสอนในรายวิชาให้สอดคล้องกับเป้าหมายการเรียนรู้
  • กำหนดวิธีการประเมินผลที่หลากหลาย หมายถึง การเลือกใช้เครื่องมือการประเมินผลที่หลากหลาย
  • บริหารจัดการเวลาและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ หมายถึง การจัดสรรเวลาและทรัพยากร
    ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  1. Conduct (การจัดการ)
  • ดำเนินการจัดการเรียนรู้โดยใช้กลยุทธ์ที่หลากหลาย หมายถึง การเลือกใช้กลยุทธ์การสอนที่หลากหลาย
  • สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เอื้ออำนวย หมายถึง การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้
  • ประเมินผลและปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ หมายถึง การประเมินผลการจัดการเรียนรู้และปรับปรุงให้ดีขึ้น

 

หัวข้อที่ การวัดและประเมินผล

                   อาจารย์ ดร.พิบูลย์ ตัญญบุตร ผู้รับผิดชอบ ได้ใช้หลักการของ V-I-M-P-S Model ในการออกแบบการฝึกอบรม ซึ่งพิจารณาแล้วว่าสอดคล้องกับแนวคิดของ สมคิด บางโม (2553) ที่กล่าวว่า ระบบ (system)
ถูกนำมาใช้กันอย่างกว้างขวาง การวิเคราะห์การฝึกอบรมในรูปของระบบจะช่วยให้มองเห็นว่าการจัดการฝึกอบรมนั้นมุ่งประโยชน์โดยส่วนรวม มิใช่มุ่งประโยชน์ของตัวบุคคล แนวความคิดเชิงระบบเชื่อว่าระบบประกอบด้วยปัจจัย
5 ประการ โดยสามารถสรุปได้ว่า คือ 1) ปัจจัยนำเข้า 2) กระบวนการ 3) ผลิตผล 4) ข้อมูลย้อนกลับ
5) สิ่งแวดล้อมภายนอก

ซึ่งผู้รับผิดชอบได้ศึกษาและวิเคราะห์ระบบดังกล่าว สำหรับใช้ในการออกแบบการฝึกอบรม พบว่า สามารถใช้ในการออกแบบการฝึกอบรมให้เกิดประสิทธิภาพได้ ดังนี้
1. ปัจจัยนำเข้า

          1.1 พิจารณาข้อมูลพื้นฐานของผู้เข้ารับการอบรม (อาจารย์ใหม่) ดังนี้

          ความรู้พื้นฐาน: ระดับความรู้และประสบการณ์ของอาจารย์ใหม่เกี่ยวกับการวัดและประเมินผล เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นอาจารย์ที่ไม่ได้มีประสบการณ์ หรือองค์ความรู้เกี่ยวกับศาสตร์การสอนและการเรียนรู้ และเป็นอาจารย์ใหม่ที่มีอายุงาน 1-5 ปี แรงจูงใจ: ความตั้งใจจริงและความสนใจในการเรียนรู้ทักษะการวัดและประเมินผล ความตั้งใจจริง: อาจารย์ใหม่ควรมีความตั้งใจจริงในการเรียนรู้ทักษะการวัดและประเมินผล เพราะเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับการสอนที่มีประสิทธิภาพ เข้าใจถึงความสำคัญของการวัดและประเมินผล เพื่อนำมาพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน และต้องการใช้วิธีการวัดและประเมินผลที่หลากหลาย เหมาะสมกับเนื้อหาและรูปแบบการเรียนรู้ ความสนใจ: อาจารย์ใหม่ควรมีความสนใจใฝ่รู้เกี่ยวกับวิธีการวัดและประเมินผลที่หลากหลาย ต้องการศึกษาและทดลองใช้วิธีการวัดและประเมินผลใหม่ๆ และสนใจที่จะพัฒนาทักษะการวัดและประเมินผลของตนเองอยู่เสมอ ทักษะการคิดวิเคราะห์: ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลและตีความผลลัพธ์ ทักษะการสื่อสาร: ความสามารถในการอธิบายและสื่อสารผลการวัดและประเมินผล

          1.2 วิทยากร

          ความรู้: ความเชี่ยวชาญและความรู้ที่ลึกซึ้งด้านการวัดและประเมินผล ประสบการณ์: ประสบการณ์การสอนและการฝึกอบรมเกี่ยวกับการวัดและประเมินผล ทักษะการสอน: ความสามารถในการถ่ายทอดความรู้และทักษะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทักษะการสื่อสาร: ความสามารถในการสื่อสารที่ชัดเจนและน่าสนใจ

          1.3 สื่อการสอน

          ความทันสมัย: เนื้อหาและตัวอย่างที่ทันสมัยและสอดคล้องกับแนวทางการวัดและประเมินผลปัจจุบัน ความหลากหลาย: การใช้สื่อการสอนที่หลากหลาย เช่น บทบรรยาย การอภิปราย การศึกษากรณีตัวอย่าง การฝึกปฏิบัติ ความเหมาะสม: สื่อการสอนที่ตรงกับความต้องการและระดับความรู้ของผู้เข้ารับการอบรม

          1.4 สถานที่

          บรรยากาศ: สถานที่อบรมที่สะดวกสบาย และเอื้อต่อการเรียนรู้ อุปกรณ์: อุปกรณ์ที่ทันสมัยและเพียงพอต่อการฝึกปฏิบัติ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ โปรเจคเตอร์

          1.5 ปัจจัยสนับสนุน

          นโยบายของมหาวิทยาลัย: นโยบายที่สนับสนุนการพัฒนาทักษะการวัดและประเมินผลของอาจารย์ งบประมาณ: งบประมาณที่เพียงพอสำหรับการจัดอบรม ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักงานพัฒนาบุคคล มหาวิทยาลัยรังสิต การสนับสนุนจากหน่วยงาน หรือวิทยาลัย: วิทยาลัยครูสุริยเทพสนับสนุนและส่งเสริมในการให้บริการวิชาการ อีกทั้งสนับสนุนให้ส่งอาจารย์ใหม่เข้ารับการอบรมเช่นกัน

2. ทักษะการคิดวิเคราะห์

          ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล: อาจารย์ใหม่ควรมีทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการวัดและประเมินผล วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน และความต้องการของนักเรียนระบุปัญหาและอุปสรรคในการเรียนรู้ ประเมินประสิทธิภาพของการสอน ความสามารถในการตีความผลลัพธ์: อาจารย์ใหม่ควรมีทักษะการตีความผลลัพธ์ของการวัดและประเมินผล อธิบายความหมายของข้อมูล สรุปผลการวัดและประเมินผล นำผลการวัดและประเมินผลไปใช้เพื่อพัฒนาการเรียนรู้

3.ทักษะการสื่อสาร

          ความสามารถในการอธิบายผลการวัดและประเมินผล: อาจารย์ใหม่ควรมีทักษะการอธิบายผลการวัดและประเมินผลให้นักเรียน ผู้ปกครอง และผู้บริหารเข้าใจ อธิบายผลการวัดและประเมินผลอย่างชัดเจน สื่อสารผลการวัดและประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ ความสามารถในการสื่อสารผลการวัดและประเมินผล: อาจารย์ใหม่ควรมีทักษะการสื่อสารผลการวัดและประเมินผล เพื่อใช้เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ นำเสนอผลการวัดและประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ผลการวัดและประเมินผลเพื่อปรับปรุงการสอน

4
. กระบวนการ

          4.1 วิธีการและเทคนิคการสอนที่หลากหลาย ประกอบด้วย การบรรยาย: นำเสนอเนื้อหาทฤษฎีและแนวทางการวัดและประเมินผล การอภิปราย: แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์เกี่ยวกับการวัดและประเมินผล การศึกษากรณีตัวอย่าง: วิเคราะห์กรณีตัวอย่างการวัดและประเมินผลในสถานการณ์จริง การฝึกปฏิบัติ: ฝึกฝนการออกแบบและใช้เครื่องมือวัดและประเมินผล

          4.2 ระยะเวลา โดยกำหนดระยะเวลาในการฝึกอบรมที่เพียงพอสำหรับการเรียนรู้เนื้อหา ฝึกฝนทักษะ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์

          4.3 บรรยากาศ บรรยากาศการอบรมที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการคิดวิเคราะห์

5. ผลลัพธ์

          การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม อาจารย์ใหม่สามารถออกแบบและใช้เครื่องมือวัดและประเมินผลได้อย่างเหมาะสม สามารถวิเคราะห์ข้อมูลและตีความผลลัพธ์การวัดและประเมินผลได้อย่างถูกต้อง และสามารถนำผลการวัดและประเมินผลไปพัฒนาการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาความรู้ ทักษะ และทัศนคติ  อาจารย์ใหม่มีทักษะการวัดและประเมินผลที่ทันสมัยและตรงกับความต้องการของผู้เรียน อาจารย์ใหม่
มีทัศนคติที่ดีต่อการวัดและประเมินผล มองเห็นความสำคัญของการวัดและประเมินผลต่อการพัฒนาการเรียน
การสอน ผลลัพธ์ต่อองค์กร คุณภาพการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยดีขึ้น ผู้เรียนได้รับการวัดและประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม มหาวิทยาลัยมีระบบการวัดและประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ

 6. ข้อมูลย้อนกลับ

          การประเมินผลการอบรม เก็บรวบรวมข้อมูลย้อนกลับจากผู้เข้ารับการอบรมเกี่ยวกับเนื้อหา วิทยากร สื่อการสอน กระบวนการ และผลลัพธ์ การติดตามผล ติดตามผลการนำความรู้และทักษะไปใช้จริงของอาจารย์ใหม่ เก็บรวบรวมข้อมูลย้อนกลับจากนักศึกษาเกี่ยวกับการวัดและประเมินผล

7. สิ่งแวดล้อมภายนอก

          สภาพการแข่งขัน มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องพัฒนาทักษะการวัดและประเมินผลของอาจารย์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สภาพขององค์กรวัฒนธรรมขององค์การ วัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนการเรียนรู้และการพัฒนา ส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการอบรม

          การจัดอบรมอาจารย์ใหม่ด้านการวัดและประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ทั้งปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผลลัพธ์ ข้อมูลย้อนกลับ และสิ่งแวดล้อมภายนอก การออกแบบและจัดการอบรมอย่างรอบคอบ จะช่วยพัฒนาทักษะการวัดและประเมินผลของอาจารย์ใหม่ ส่งผลดีต่อคุณภาพการเรียนการสอนและ อีกทั้งส่งผลดีต่อภาพรวมของมหาวิทยาลัย

ประเภทความรู้และที่มาความรู้

ความรู้แบบชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) :

ความรู้จากคลังความรู้ของเว็บไซต์ระบบการจัดการความรู้ KM Rangsit University
(http://lc.rsu.ac.th/km/Knowledgebase)
เจ้าของความรู้/สังกัด  ดร.ชิดชไม วิสุตกุล และ ดร.พิบูลย์ ตัญญบุตร สังกัด  วิทยาลัยครูสุริยเทพ

อื่น ๆ (โปรดระบุ)  วิทยากรรับเชิญ ศ.ดร.จินตวีร์ คล้ายสังข์

ความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge) : 
เจ้าของความรู้/สังกัด ดร.ชิดชไม วิสุตกุล และ ดร.พิบูลย์ ตัญญบุตร สังกัด  วิทยาลัยครูสุริยเทพ

วิธีการดำเนินการ

สำนักงานพัฒนาบุคคล มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับ วิทยาลัยครูสุริยเทพ โดยหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน จัดอบรมหลักสูตร “ศาสตร์การสอนและการเรียนรู้” ให้กับอาจารย์ใหม่ที่มีอายุงาน 1-5 ปี  ได้กำหนดกรอบเวลาไว้ภายในปีการศึกษา 2566 มีการดำเนินการดังนี้

  1. กำหนดวิทยากรและหัวข้อของหลักสูตรให้ครอบคลุมสมรรถนะด้านความเป็นอาจารย์ โดยคำนึงถึงความสอดคล้องของกลุ่มเป้าหมาย โดยกำหนดกรอบเนื้อหาทั้งหมด 5 หัวข้อ ได้แก่ (1) ทฤษฎีการเรียนรู้ (2) จิตวิทยาความเป็นครู และจรรยาบรรณวิชาชีพครู (3) การจัดการเรียนรู้ (4) การวัดและประเมินผล และ (5) เทคโนโลยีการจัดการเรียนรู้
  2. กำหนดลำดับของหัวข้อให้เป็นไปตามกรอบเนื้อหา “ศาสตร์การสอนและการเรียนรู้” โดยหัวข้อที่ 1 ทฤษฎีการเรียนรู้ หัวข้อที่ 2 จิตวิทยาความเป็นครู และจรรยาบรรณวิชาชีพครู มีกำหนดการจัดอบรมในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2566 และหัวข้อที่ 3 การจัดการเรียนรู้ และหัวข้อที่ 4 การวัดและประเมินผล มีกำหนดการจัดอบรมในช่วงพักระหว่างเทอม (Term Break) วันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2567 (สำหรับหัวข้อที่ 5 อยู่ในกระบวนการกำหนดวิทยากร)
  3. สำนักงานพัฒนาบุคคลประสานกับสำนักงานฝ่ายบุคคล เพื่อขอรายชื่ออาจารย์ใหม่ที่มีอายุงาน 1-5 ปี ของทุกวิทยาลัย/คณะวิชาทั้งมหาวิทยาลัย แล้วส่งบันทึกข้อความไปยังวิทยาลัย/คณะวิชาต่างๆ เพื่อทราบและดำเนินการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์
  4. กำหนดจำนวนผู้อบรมแบ่งเป็นหัวข้อละ 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ซึ่งในแต่ละรุ่นมีผู้เข้าอบรมประมาณ 30-40 คน และจัดเตรียมห้องที่ใช้ในการอบรม
  5. ทำ QR code ไฟล์ที่ใช้ในการอบรมในแต่ละหัวข้อ แล้วส่งอีเมล์แจ้งไปยังผู้เข้าร่วมอบรม
  6. ดำเนินการอบรมตามวันและเวลาที่กำหนด
  7. ประเมินผลการดำเนินงานหลังเสร็จสิ้นการอบรม สรุปประเมินผลโครงการและรับข้อเสนอแนะในการปรับปรุง

2. Prototype testing in an operational environment – DO

ผลการดำเนินการ การนำไปใช้ หรือการลงมือปฏิบัติจริง อุปสรรคหรือปัญหาในการทำงาน

หัวข้อที่ 3 การจัดการเรียนรู้

          จัดอบรมวันที่ 28-29 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้อง 1-705 ชั้น 7 อาคารอาทิตย์ อุไรรัตน์ วิทยากรคือ อ.ดร.ชิดชไม วิสุตกุล และวิทยากรรับเชิญคือ ศ.ดร.จินตวีร์ คล้ายสังข์ โดยแบ่งเป็น 2 รุ่น คือ รุ่นที่ 1 จัดอบรมวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 9.00-16.00 น. รุ่นที่ 2 จัดอบรมวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 9.00-16.00 น. มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้และทักษะในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ผู้เข้าอบรมสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาตนเองและผู้อื่นให้เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประกอบด้วยเนื้อหา ได้แก่ หลักการและทฤษฎีการจัดการเรียนรู้ การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง การจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่สนุกสนาน การใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งประโยชน์ที่ผู้เข้าอบรมจะได้รับ คือ มีความรู้และทักษะในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ สามารถออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ สามารถเลือกใช้วิธีการสอนและกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย สามารถสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่สนุกสนาน สามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หัวข้อที่ 4 การวัดและประเมินผล
          จัดอบรมวันที่ 27 กุมภาพันธ์ และ 1 มีนาคม 2567 ณ ห้อง 1-702 ชั้น 7 อาคารอาทิตย์ อุไรรัตน์ วิทยากรคือ อ.ดร.พิบูลย์ ตัญญบุตร  โดยแบ่งเป็น 2 รุ่น คือ รุ่นที่ 1 จัดอบรมวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 9.00-16.00 น. รุ่นที่ 2 จัดอบรมวันที่ 1 มีนาคม 2567 เวลา 9.00-16.00 น. มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้และทักษะในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาตนเองและผู้อื่นให้เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประกอบด้วยเนื้อหา ได้แก่ หลักการและทฤษฎีการวัดและประเมินผล การประเมินผลรูปแบบต่างๆ การให้ข้อเสนอแนะแก่ผู้เรียน การใช้ผลการประเมินเพื่อปรับปรุงการเรียนรู้ การประเมินผลการเรียนรู้ตามมาตรฐาน ซึ่งประโยชน์ที่ผู้เข้าอบรมจะได้รับ คือ มีความรู้และทักษะในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน สามารถออกแบบการประเมินผลที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้ สามารถให้ข้อเสนอแนะแก่ผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถใช้ผลการประเมินเพื่อปรับปรุงการเรียนรู้ของผู้เรียน สามารถประเมินผลการเรียนรู้ตามมาตรฐาน

3. Proven through successful mission operation, Objectives and Key Results for Knowledge Management – CHECK

การตรวจสอบผลการดำเนินการ การนำเสนอประสบการณ์การนำไปใช้ สรุปและอภิปรายผล บทสรุปความรู้หรือความรู้ที่ค้นพบใหม่

โครงการจัดอบรมหลักสูตร “ศาสตร์การสอนและการเรียนรู้” หัวข้อที่ 3 การจัดการเรียนรู้ จัดขึ้นในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 และ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้อง 1-705 ชั้น 7 อาคารอาทิตย์ อุไรรัตน์ มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 61 คน และมีผู้ตอบแบบประเมินผลจำนวน 52 คน คิดเป็นร้อยละ 85.25 จากผลการประเมิน ผู้เข้าร่วมการอบรมมีความพึงพอใจต่อโครงการโดยรวมในระดับมากที่สุด มีรายละเอียดดังนี้  เนื้อหาการอบรมตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะทางการสอน (4.85) เนื้อหาการบรรยายมีความเหมาะสม (4.77) ระยะเวลาในการอบรมเหมาะสม (4.63) ได้รับความรู้ เรื่องทฤษฎีการจัดการเรียนการสอน (4.75) เข้าใจในหลักการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม (4.73) สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสอนได้ (4.79) วิทยากรมีความรอบรู้ในเรื่องที่บรรยาย (5.00)  วิทยากรมีความสามารถในการถ่ายทอด (4.96) วิทยากรมีความสามารถในการตอบคำถาม (4.96) ผู้เข้ารับได้รับประโยชน์จากการอบรมครั้งนี้ (4.87)

          โครงการจัดอบรมหลักสูตร “ศาสตร์การสอนและการเรียนรู้” หัวข้อที่ 4 การวัดและประเมินผล จัดขึ้นในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 และ 1 มีนาคม 2567 ณ ห้อง 1-702 ชั้น 7 อาคารอาทิตย์ อุไรรัตน์ มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 62 คน และมีผู้ตอบแบบประเมินผลจำนวน 51 คน คิดเป็นร้อยละ 85.26 จากผลการประเมินผู้เข้าร่วมการอบรมมีความพึงพอใจต่อโครงการโดยรวมในระดับมากที่สุด มีรายละเอียดดังนี้ เนื้อหาการอบรมตรงตามวัตถุประสงค์ (4.78) เนื้อหาการบรรยายมีความเหมาะสม (4.78) ระยะเวลาในการอบรมเหมาะสม (4.80) ได้รับความรู้ เรื่องการวัดและประเมินผล (4.81) เข้าใจแนวทางการใช้เครื่องมือวัดและประเมินผลที่เหมาะสม (4.82) สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสอนได้ (4.84) วิทยากรผู้บรรยาย (4.90)      

          จากผลการประเมินดังกล่าวสามารถอภิปรายผลได้ว่า จากการบรรยายและถ่ายทอดประสบการณ์ในการจัดการเรียนรู้ของวิทยากรที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญและจำเป็นของการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยชี้แนะให้อาจารย์ใหม่เริ่มต้นจากการจัดการเรียนรู้ในรายวิชาที่ตนรับผิดชอบจาก Course Learning Outcomes (CLOs) ซึ่งเป็นสิ่งที่รายวิชาต้องการ/คาดหวังให้ผู้เรียนได้รับเมื่อเรียนครบตามเนื้อหาของรายวิชา เมื่อรายวิชาได้ผลลัพธ์ตามที่คาดหวังแล้วก็จะนำไปสู่ Program Learning Outcomes (PLOs) ที่เป็นสิ่งที่หลักสูตรต้องการ/คาดหวัง ให้บัณฑิตเป็น เมื่อเรียนครบตามโปรแกรมของหลักสูตร ซึ่งในการอบรมในหัวข้อนี้ วิทยากรได้นำเสนอประสบการณ์การนำไปใช้ตามหลักการ ดังนี้

  • เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง: การออกแบบการอบรมคำนึงถึงความต้องการและความสนใจของอาจารย์, การมีส่วนร่วมของอาจารย์ในกิจกรรมการเรียนรู้, การใช้กลยุทธ์การสอนที่หลากหลายเพื่อรองรับอาจารย์ที่มีความหลากหลาย
  • มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาทักษะ: การฝึกปฏิบัติจริงเพื่อพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้ของอาจารย์, การให้ feedback ที่เป็นประโยชน์เพื่อพัฒนาการสอน, ส่งเสริมให้อาจารย์ในการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนรู้ และทำวิจัยในชั้นเรียน
  • เชื่อมโยงทฤษฎีกับการปฏิบัติ: การนำเสนอเนื้อหาทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้, การนำเสนอตัวอย่างกรณีศึกษาและกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย, การเปิดโอกาสให้อาจารย์มีส่วนร่วมในกิจกรรมการออกแบบและจัดกิจกรรมการเรียนรู้
  • สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่สนุกสนาน: การใช้กิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย, ผสมผสานการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและแอปพลิเคชันเพื่อการเรียนรู้, การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ผ่อนคลายและเป็นมิตร

ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้: การจัดกิจกรรมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้, การเปิดโอกาสให้อาจารย์ได้นำเสนอผลงาน, การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างอาจารย์ในการทำวิจัยร่วมกัน

ข้อเสนอแนะในการดำเนินการในอนาคต หรือการดำเนินการเพื่อสามารถนำไปสู่การเป็น Good Practice

จากผลการประเมินโครงการจัดอบรมหลักสูตร “ศาสตร์การสอนและการเรียนรู้” หัวข้อที่ 3 การจัดการเรียนรู้ และ หัวข้อที่ 4 การวัดผลและการประเมินผล มีข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาโครงการให้ดียิ่งขึ้น ดังนี้

  1. เพิ่มระยะเวลาการอบรม เนื่องจากผู้เข้าอบรมบางส่วนเห็นว่าระยะเวลาในการอบรมสั้นเกินไป ไม่เพียงพอต่อการเรียนรู้เนื้อหาและฝึกปฏิบัติ
  2. สร้างเครือข่ายผู้เข้าอบรมเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และจัดระบบการให้คำปรึกษาเพื่อสนับสนุนให้ผู้เข้าอบรมนำความรู้ไปใช้ในการจัดการเรียนรู้และการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ เพื่อต่อยอดไปสู่การทำวิจัยในชั้นเรียน

เอกสารอ้างอิง

มหาวิทยาลัยรังสิต. (2564). แผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยรังสิต พ.ศ.2565-2569). สืบค้นจาก https://plan2.rsu.ac.th/strategic/

สมคิด บางโม. (2553). เทคนิคการฝึกอบรมและประชุม. กรุงเทพมหานคร: บริษัทวิทยพัฒน์จํากัด.

สมาคมเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และองค์กรระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (ควอท). (2566). คู่มือการขอรับการประเมินสมรรถนะอาจารย์ ตามแนวทางการพัฒนาคุณภาพอาจารย์เพื่อส่งเสริมการบรรลุผลลัพธ์ การเรียนรู้ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2566. สืบค้นจาก https://www.thailandpod.org/doc/thailand_PSF/

 

ดูรูปภาพเพิ่มเติมได้ที่นี่ ..การอบรมหลักสูตรศาสตร์การสอนและการเรียนรู้ หัวข้อที่ 3 การจัดการเรียนรู้
 https://drive.google.com/drive/u/0/folders/1-2WABYoIuX4YX1pMn6_n0NbCZlezf1xu

 ดูรูปภาพเพิ่มเติมได้ที่นี่ ..การอบรมหลักสูตรศาสตร์การสอนและการเรียนรู้ หัวข้อที่ 4 การวัดและประเมินผล

https://drive.google.com/drive/u/0/folders/1-4mWDZRBoMg55SBHtfgwtDmo3Sb-OuOb

Scroll to Top