รางวัลชมเชย ปีการศึกษา 2566
ยุทธศาสตร์ที่ 1 : KR 1.4.6
หนึ่งทศวรรษการประชุมทางไกลเพื่อการทำวิจัย
ของนักศึกษาในโรงพยาบาลชุมชน
ผู้จัดทำโครงการ
รศ.พญ.วราภรณ์ แสงทวีสิน
วิทยาลัยแพทยศาสตร์
หลักการและเหตุผล/ความสำคัญ/ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้
จากการประชุมแพทยศาสตร์ศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 9 วันที่ 14-16 กันยายน 2558 มีการอภิปรายประเด็นการผลิตแพทย์ เพื่อให้มีความพร้อมที่จะเป็นนักวิจัย จะต้องมีการปลูกฝังให้นักศึกษามีทัศนคติที่ดีต่อการวิจัย องค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยจะเป็นประโยชน์ในการนำไปประยุกต์ใช้ ในการพัฒนาการดูแลรักษาผู้ป่วย การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสุขภาพ แล้วจึงจะสรุปเป็นแนวทางการรักษา การนำไปประยุกต์ใช้
องค์ความรู้เกี่ยวกับงานวิจัย ได้แก่ ระเบียบวิธีวิจัย การทบทวนวรรณกรรม การเขียนโครงร่างงานวิจัย การได้ลงมือทำวิจัยจริง จึงได้บรรจุในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ซึ่งวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เห็นถึงความสำคัญดังกล่าวและได้กำหนดหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต(มคอ 2) ฉบับ พ.ศ. 2555 ให้นักศึกษาแพทย์มีความรู้พื้นฐานการทำวิจัยทางการแพทย์ในชั้นปีที่ 6 ในโรงพยาบาลชุมชน เมื่อนักศึกษาแพทย์ออกไปฝึกปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ในรายวิชาเวชศาสตร์ป้องกัน 3 (PVM 621) ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของวิทยาลัย ในการส่งเสริม สนับสนุนการวิจัยและการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม
แม้ว่าจะมีการจัดการเรียนการสอน ความรู้เกี่ยวกับการทำวิจัยให้นักศึกษาแพทย์รวมทั้งการใช้ชีวสถิติ ตั้งแต่ชั้นปีที่ 3-5 แต่เมื่อไปปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนและทำการวิจัยจริงพบว่า มีอุปสรรคและปัญหาในการทำวิจัยอย่างมาก ตั้งแต่การเขียนโครงร่างการวิจัย การตั้งชื่อเรื่องให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การวิจัย กลุ่มตัวอย่าง
การสร้างแบบเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การเลือกใช้สถิติ การแปลผลและการเขียนรายงาน ข้อจำกัดของอาจารย์แพทย์พี่เลี้ยงในโรงพยาบาลชุมชนที่จะเป็นที่ปรึกษาช่วยแก้ไขปัญหาการทำวิจัย อาจารย์ในภาควิชามีจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มขึ้น โรงพยาบาลแต่ละแห่งอยู่ห่างไกลกัน ระยะเวลาการทำงานวิจัยมีเพียง 4 สัปดาห์ ควบคู่ไปกับการปฏิบัติงานวิชาเวชศาสตร์ชุมชน 2 (CMD 621) ในเวลาเดียวกัน เกิดความเครียดกับนักศึกษา และทำให้ผลงานวิจัยไม่ได้เป็นที่น่าพอใจ ทางภาควิชาฯได้มีการทบทวนการจัดการเรียนการสอนอุปสรรคและปัญหาต่างๆ รวมทั้งผลการประเมินจากนักศึกษาและข้อเสนอแนะต่างๆ และจากอาจารย์แพทย์พี่เลี้ยงจึงได้จัดทำโครงการประชุมวิชาการทางไกลโดยมีอาจารย์ผู้รับผิดชอบรายวิชา PVM 621 และมีอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาจากศูนย์แพทยศาสตร์ชั้นคลินิก โรงพยาบาลราชวิถีและสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี มาร่วมให้คำปรึกษา การทำวิจัยและการวิเคราะห์ข้อมูลผ่านการประชุมทางไกล (Teleconference) ณ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ ให้แก่นักศึกษาแพทย์ที่ทำงานวิจัยขณะปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน โดยเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 ถึง 2566
ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้
การประชุมทางไกล (Teleconference) เป็นการประชุมที่ผู้เข้าประชุมอยู่คนละสถานที่แต่สามารถประชุมร่วมกันได้ ผู้เข้าประชุมจะเห็นภาพ ข้อความต่างๆ ในเวลาเดียวกัน เพื่ออภิปรายร่วมกัน มีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกันได้ โดยอาศัยอุปกรณ์ เช่น คอมพิวเตอร์ ลำโพง เครื่องขยายเสียง และระบบสื่อสารโทรคมนาคมผสมผสานเพื่อสนับสนุนการประชุมให้มีประสิทธิภาพ
ประเภทความรู้และที่มาความรู้
ความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge) : เจ้าของความรู้/สังกัด รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวราภรณ์ แสงทวีสิน หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคมและเวชศาสตร์ชุมชน วิทยาลัยแพทยศาสตร์
วิธีการดำเนินการ
1. วิธีการดำเนินการ
ดำเนินการตามขั้นตอน plan, do, check, act ดังนี้
การลงมือปฏิบัติจริง
เริ่มใช้ครั้งแรก วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 กับนักศึกษาชั้นปีที่ 6 ของปีการศึกษา 2558-2559 โดยมีขั้นตอนการดำเนินการดังนี้
- ขอความช่วยเหลือจากกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ชื่อกระทรวงในขณะนั้น) โดยการติดต่อผ่านศูนย์คอมพิวเตอร์ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ช่วยประสานขอช่วงเวลาในการจัดประชุมวิชาการทางไกลเพื่อสนับสนุนการวิจัยของนักศึกษาแพทย์ที่ปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน 4 แห่ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
- พัฒนาห้องฝึกปฏิบัติการทักษะทางการแพทย์ชั้น 4 อาคารสถาบันร่วมผลิตแพทย์ฯ จัดหาโสตทัศนูปกรณ์ internet, WIFI สำหรับประชุมทางไกลกับนักศึกษาที่ปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน 4 แห่ง ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้แก่ โรงพยาบาลพนมสารคาม โรงพยาบาลสนามชัยเขต โรงพยาบาลบางน้ำเปรี้ยว และโรงพยาบาลแปลงยาว
- เดินทางไปประสานงานและประชุมชี้แจงผู้อำนวยการ แพทย์พี่เลี้ยงที่ดูแลรับผิดชอบการเรียนการสอนและควบคุมการวิจัยของนักศึกษา เจ้าหน้าที่สารสนเทศ ณ โรงพยาบาลชุมชนแต่ละแห่งเพื่อเตรียมห้องสำหรับใช้ประชุมทางไกลให้กับนักศึกษา รวมทั้งการติดตั้งและสาธิตการใช้ Computer Program GIN Conference (Government International Network)
- ทดสอบความพร้อมการทำงานระบบสื่อสารการประชุมทางไกลจากห้องฝึกปฏิบัติการทักษะทางการแพทย์ชั้น 4 อาคารสถาบันร่วมผลิตแพทย์ฯ กับโรงพยาบาลชุมชนทั้ง 4 แห่งก่อนนักศึกษาเปิดเทอม
- จัดปฐมนิเทศ ให้นักศึกษาติดตั้ง Computer Program GIN Conference (Government International Network) รวมทั้งสาธิตวิธีการใช้ และทดลองใช้ใน computer ส่วนตัวให้กับนักศึกษาก่อนออกภาคสนามทุกกลุ่ม รวมทั้งทบทวนการใช้ program SPSS
- จัดการประชุมทางไกลเพื่อการทำวิจัยในโรงพยาบาลชุมชน (วิชา PVM 621) โดยวิธี GIN Conference ในช่วงบ่ายวันจันทร์ โดยขอให้ยกเว้นการฝึกปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน (วิชา CMD 621) ในช่วงเวลาประชุมทางไกลเพื่อการวิจัย ดังต่อไปนี้
สัปดาห์ที่ 1 นักศึกษาเลือกเรื่องที่สนใจ 1 เรื่องต่อนักศึกษา 1 กลุ่ม (กลุ่มละ 2-3 คน) กำหนดชื่อเรื่องงานวิจัย จากปัญหาสุขภาพในโรงพยาบาลชุมชนที่ฝึกปฏิบัติงานที่ตนสนใจ โดยมีอาจารย์แพทย์ที่โรงพยาบาลเป็นที่ปรึกษา และเขียนโครงร่างการวิจัย (Research proposal)
สัปดาห์ที่ 2 วันจันทร์ เวลา 13.00-16.00 น. นักศึกษาแต่ละกลุ่มนำเสนอโครงร่างการวิจัยในรูปแบบ PowerPoint ผ่านการประชุมทางไกล (GIN Conference) กับอาจารย์ผู้สอนภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันฯ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ และอาจารย์ที่ปรึกษาระบาดวิทยาและสถิติจากศูนย์แพทยศาสตร์ชั้นคลินิกโรงพยาบาลราชวิถีและสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เพื่อให้คำปรึกษาและแนะนำเพิ่มเติม และนำไปปรับปรุงแก้ไข แล้วลงมือเก็บข้อมูล วิเคราะห์ รวบรวมผล
สัปดาห์ที่ 3 วันจันทร์ เวลา 13.00-16.00 น. นักศึกษาแต่ละกลุ่มนำเสนอผลการวิจัย และอภิปรายผลการวิจัย ในรูปแบบ PowerPoint ผ่านการประชุมทางไกลกับอาจารย์ผู้สอนภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันฯ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ และอาจารย์ที่ปรึกษาระบาดวิทยา เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำเพิ่มเติม และนำไปปรับปรุงแก้ไข รวมทั้งการจัดทำรายงานต่อไป
สัปดาห์ที่ 4 วันจันทร์ เวลา 13.00-16.00 น. นักศึกษาแต่ละกลุ่มนำเสนอผลงานวิจัยที่ปรับปรุงแก้ไข ในการประชุมทางไกลกับอาจารย์ผู้สอนภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันฯ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ และอาจารย์ที่ปรึกษาระบาดวิทยา และส่งรายงานทาง electronic file ในรูปแบบ PDF
- การเตรียมความพร้อมนักศึกษาก่อนขึ้นชั้นปีที่ 6 ในหลักสูตร (Course for extern preparation)เดือนเมษายน เริ่มปีการศึกษา 2562 และได้จัดต่อเนื่องทุกปีถึง ปีการศึกษา 2566
7.1 ทบทวนความรู้ที่เคยเรียนในชั้นปีที่ 3-5 เกี่ยวกับการวิจัยภาคทฤษฎี เช่น ระเบียบวิธีวิจัย ชีวสถิติ
7.2 แบ่งกลุ่มนักศึกษาทำ workshop มีอาจารย์ที่ปรึกษาประจำกลุ่มให้ฝึกเขียนโครงร่างการวิจัย
(Research proposal) และนำมาอภิปรายหมู่
ปัญหาอุปสรรคในการทำงาน
แม้ว่าจะสามารถดำเนินการตามแผนที่วางไว้แต่ก็พบปัญหาระหว่างการดำเนินการหลายประเด็น และต้องปรับแก้ไข ดังต่อไปนี้
1. สัญญาณ internet ไม่มีความเสถียร เนื่องจากโรงพยาบาลชุมชนอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ส่งผลกระทบต่อระบบภาพและเสียง
แก้ไขโดย การจัดหาอุปกรณ์ขยายสัญญาณเพิ่ม
2.ห้องที่ทำการประชุมทางไกลในโรงพยาบาลชุมชนบางแห่งมีเสียงรบกวน เช่นเสียงประกาศตามสายภายในโรงพยาบาล
แก้ไขโดย การจัดหาห้องใหม่สำหรับการประชุม ที่เป็นสัดส่วนและปราศจากเสียงรบกวน
3.ระยะการทำวิจัยในโรงพยาบาลชุมชนมีน้อยเกินไปและเป็นช่วงเวลาซ้อนกับการฝึกปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน 2 (วิชา CMD 621) ที่นักศึกษาจะต้องปฏิบัติงานทั้งในเวลาราชการและการอยู่เวรนอกเวลาราชการค่อนข้างถี่ (บางแห่งอยู่วันเว้นวัน ทำให้เกิดอุปสรรคในการทำงานวิจัยกับเพื่อนร่วมกลุ่ม)
แก้ไขโดย การประชุมกับผู้อำนวยการและอาจารย์แพทย์โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง ปรับการอยู่เวรให้เป็นวันเว้น 2 วัน เพื่อให้นักศึกษามีเวลาวันว่างตรงกัน มีเวลาปรึกษาทำงานวิจัยร่วมกัน
- ช่วงเวลาที่จัดประชุมทางไกลต้องเป็นเวลาที่ขออนุมัติจากกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ หากมีความจำเป็นต้องการเลื่อนจะต้องติดต่อขอล่วงหน้าเพื่อพิจารณาว่าจัดเวลาให้ได้หรือไม่ ไม่ซ้ำซ้อนกับเวลาของผู้อื่น
- ขาดประสบการณ์ ความชำนาญการใช้ program GIN conference ในช่วงแรกๆทำให้ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ
แก้ไขโดย ขอเจ้าหน้าที่สารสนเทศของศูนย์แพทยศาสตร์ชั้นคลินิกโรงพยาบาลราชวิถีมาประจำช่วงเวลาการประชุมทางไกลเพื่อช่วยแนะนำและแก้ไขปัญหา
3. Proven through successful mission operation, Objectives and Key Results for Knowledge Management – CHECK
การตรวจสอบผลการดำเนินการ การนำเสนอประสบการณ์การนำไปใช้ สรุปและอภิปรายผล บทสรุปความรู้หรือความรู้ที่ค้นพบใหม่
การตรวจสอบผลการดำเนินการ การนำเสนอประสบการณ์การนำไปใช้
- สามารถดำเนินการตามแผนการ และขั้นตอนต่างๆ ที่วางไว้
- อาจารย์ภาควิชาฯสามารถติดตามความก้าวหน้าการทำวิจัยของนักศึกษา รวมทั้งการให้คำปรึกษา แนะนำและแก้ไขปัญหาของนักศึกษาได้อย่างรวดเร็วทันเวลา
- การประชุมทางไกลทำให้นักศึกษาที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนทั้ง 4 แห่งในเวลาเดียวกันได้มีโอกาสแลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกัน ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายรวมทั้งการใช้ทรัพยากรร่วมกันให้คุ้มค่า
- นักศึกษามีเวลาทำงานวิจัยร่วมกับเพื่อนได้ และสามารถส่งรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ได้ครบตามเวลาที่กำหนดทุกกลุ่ม
- ผลการประเมินความพึงพอใจของนักศึกษาในการเตรียมความพร้อมก่อนขึ้นชั้นปีที่ 6 ในหลักสูตร (Course for extern preparation) เดือนเมษายน ปีการศึกษา 2562-2566 เพื่อจัดทบทวนภาคทฤษฎีและ workshop การทำวิจัย อยู่ในเกณฑ์ดีมากและเพิ่มขึ้นทุกปี (4.65-4.83) 1
- ผลประเมินความพึงพอใจของนักศึกษาในการทำวิจัยในชุมชน ปีการศึกษา 2558-2566 อยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมาก (16-4.60) และการประชุมทางไกลเพื่อการวิจัยอยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมากเช่นกัน (4.03-4.58) 2
- จากการติดตามนิเทศ การประชุมสัมมนาวิชาการเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน และประเมินความคิดเห็นของอาจารย์แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนต่อการทำวิจัยของนักศึกษาหลังจากที่มีการประชุมทางไกลเปรียบเทียบกับในอดีตที่ไม่มี พบว่านักศึกษามีความรู้ความเข้าใจและทำวิจัยได้ดีขึ้น และสำเร็จตามกำหนด และสามารถนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาดูแลรักษา ป้องกัน สร้างเสริมและฟื้นฟูสุขภาพให้แก่ประชาชนในชุมชน
- นักศึกษามีผลงานวิจัยที่ดี สามารถนำไปเสนอในงานประชุมวิชาการประจำปีของโรงพยาบาลราชวิถี และประชุมวิชาการประจำปีของมหาวิทยาลัยรังสิต เป็นประจำทุกปี ปีละ 4-5 เรื่อง ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 ถึงพ.ศ. 25663
- นักศึกษามีผลงานวิจัยที่ดี ที่ได้รับการคัดเลือกนำไปเสนอในงานประชุมวิชาการประจำปีระดับนานาชาติ International Medical Student Research Conference(IMRC) ครั้งที่ 1-4 (ปี พ.ศ. 2563-2566) ปีละ 2-4 เรื่อง และทุกเรื่องได้รับรางวัล3
- นักศึกษาที่มีผลงานวิจัยที่ดี นำเสนอประกวดในโครงการดาวเด่นงานวิจัย ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และศูนย์แพทย์ศาสตร์ชั้นคลินิกโรงพยาบาลราชวิถีและสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ครั้งที่ 1-3 (ปีการศึกษา 2564-66) 3
การนำเสนอประสบการณ์การนำไปใช้
การประชุมทางไกลเพื่อการทำวิจัยในโรงพยาบาลชุมชนของนักศึกษาแพทย์โดยใช้ระบบ GIN Conference ได้รับความช่วยเหลือจากเครือข่ายมาอย่างดีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558–2561 ในปี 2562 ระบบการสื่อสารมีรูปแบบใหม่ๆเกิดขึ้น ได้แก่ Skype ทางภาควิชาจึงได้ทดลองใช้พบว่าการติดตั้ง application และการใช้งานได้ง่ายกว่า สะดวกกว่า GIN conference
ใน ปี พ.ศ. 2563 เป็นระยะเวลาที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด ทำให้การประชุมทางไกลมีการใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น มี program ต่างๆ ให้เลือกใช้มากมาย ซึ่งทางภาควิชาฯได้เปลี่ยนมาใช้ระบบ zoom conference ในการประชุมทางไกลกับนักศึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563- ปัจจุบัน ซึ่งพบว่า สะดวก รวดเร็วมากขึ้น
กว่าในอดีต
นอกจากนี้นักศึกษายังสามารถ ส่งข้อมูล ขอคำปรึกษาเพิ่มได้โดยทาง LINE และ email กับอาจารย์ ทั้งในเวลาและนอกเวลาราชการ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาให้นักศึกษาได้รวดเร็ว ทำให้การวิจัยดำเนินไปได้ มีความคืบหน้าขึ้น ไม่ต้องรอถึงวันที่จะประชุมทางไกลครั้งต่อไป เช่น แบบบันทึกข้อมูล การวิเคราะห์ทางสถิติ
เนื่องจากการทำวิจัยของนักศึกษาแพทย์ได้กำหนดไว้ในหลักสูตรแพทยศาสตรศึกษา ในรายวิชาเวชศาสตร์ป้องกัน ให้ทำการวิจัยในโรงพยาบาลชุมชนควบคู่ไปกับการฝึกปฏิบัติงานในชุมชนในรายวิชาเวชศาสตร์ชุมชน 4 สัปดาห์ เรื่อยมาทำให้จำกัดเวลาการทำวิจัย และข้อมูลที่จะนำมาวิเคราะห์ เพราะการวิจัยส่วนใหญ่เป็นการเก็บข้อมูลย้อนหลัง นักศึกษามีความเครียด อยากให้การทำวิจัยของนักศึกษาในชั้นคลินิกเสร็จสิ้นในชั้นปีที่ 5
ในปี พ.ศ. 2559 มีการประชุมสัมมนาปรับปรุงหลักสูตรแพทยศาสตร์ ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2562 ให้เปลี่ยนการทำวิจัยในชั้นปีที่ 6 ไปอยู่ในชั้นปีที่ 4-5 เพื่อให้นักศึกษามีเวลาทำวิจัยมากขึ้น ดีขึ้น มีโอกาสเลือกแบบวิธีวิจัยได้หลากหลายมากขึ้น โดยมีอาจารย์ภาคคลินิกของวิทยาลัยแพทย์และศูนย์แพทย์ศาสตร์เป็นที่ปรึกษา ควบคุมการวิจัย
สรุปและอภิปรายผล
การวิจัยเป็นการนำไปสู่องค์ความรู้ที่ต้องการหลักฐานเชิงประจักษ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยทางการแพทย์ที่จะทำให้ได้องค์ความรู้ไปเป็นประโยชน์ในการดูแล รักษา สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเพื่อให้คนมีสุขภาพที่ดี รวมทั้งสังคม สิ่งแวดล้อมที่ดี การให้นักศึกษาแพทย์ได้เรียนรู้และมีประสบการณ์การทำวิจัยที่ถูกต้อง เป็นการปลูกฝังให้มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตลอดชีวิต จากอดีตถึงปัจจุบันมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ของการสื่อสาร ค้นคว้าหาข้อมูลได้สะดวก รวดเร็วมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้การทำวิจัยได้กว้างและลึกหากรู้จักนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ดังเช่นการวิจัยในชุมชนของนักศึกษาที่มีการนำระบบการประชุมทางไกลมาใช้ ซึ่งระยะช่วงแรก เมื่อสิบปีที่แล้วยังไม่แพร่หลายอย่างเช่นในปัจจุบัน การเริ่มต้นในปี 2558 ต้องอาศัยเครือข่ายของกระทรวงฯ กรมฯ จนปัจจุบันระบบการใช้ internet ได้กว้าง ไกล มีหลากหลาย program ให้เลือกใช้และเข้าถึงง่ายจากอุปกรณ์ มือถือ tablet นอกเหนือไปจากการใช้ computer และสามารถใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา
วิกฤติจากภาวะระบาดของโรคโควิด ตั้งแต่ปลายปี 2562 ต่อเนื่องยาวมาหลายปี เป็นโอกาสที่ทำให้ระบบการติดต่อสื่อสารทาง internet ผ่านการประชุมทางไกลมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย สะดวก รวดเร็วมากอย่างก้าวกระโดด ซึ่งทำให้การประชุมทางไกลกับนักศึกษาช่วยการทำวิจัยในชุมชนได้มีประสิทธิภาพและผลลัพธ์ดีขึ้นมากตามลำดับ ได้ผลงานวิจัยที่ดีสามารถนำเสนอ เผยแพร่ได้ทุกปี และได้รับรางวัลทั้งในสถาบันและระดับนานาชาติ อย่างไรก็ตามเนื่องจากการทำวิจัยในชุมชนของนักศึกษาแพทย์ที่กำหนดไว้ในหลักสูตรมีข้อจำกัดของเวลาและการเลือกวิธีการวิจัยแบบ prospective ได้ยาก จึงมีการทบทวนและปรับหลักสูตรใหม่ปี พ.ศ. 2562 มาทำการวิจัยในชั้นคลินิกปีที่ 4-5 แทนชั้นปีที่ 6
บทสรุปความรู้หรือความรู้ที่ค้นพบใหม่
การเรียนการสอนสามารถดำเนินการได้โดยการประชุมทางไกล ทั้งผู้เรียนและผู้สอนไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานที่เดียวกันในเวลาเดียวกัน สามารถรับผู้เรียนได้จำนวนมาก ประหยัดการเดินทางทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย โดยการใช้ระบบสารสนเทศที่ทันสมัย กับอุปกรณ์สื่อสารชนิดต่าง ๆ โดยมีการเตรียมความพร้อมที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
ข้อเสนอแนะในการดำเนินการในอนาคต หรือการดำเนินการเพื่อสามารถนำไปสู่การเป็น Good Practice
ในการจัดการเรียนการสอนนักศึกษา อาจารย์ผู้รับผิดชอบรายวิชาจะต้องเข้าใจเนื้อหาของหลักสูตรที่จะสอน และผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาให้ได้บัณฑิตตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ เพื่อนำไปกำหนดเป้าหมายการจัดการ การเรียนการสอนให้ชัดเจน มีการวางแผนที่ดี มีทีมงาน เครือข่ายที่จะช่วยสนับสนุนแผนการสอน มีการสื่อสาร สัมพันธภาพที่ดีในทีม มีการเรียนรู้และนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ มีการติดตามประเมินผล รับฟังความคิดเห็น ความต้องการของผู้เรียน อาจารย์ผู้ร่วมสอน และบุคลากรผู้เกี่ยวข้อง เพื่อปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การสนับสนุนจากผู้บริหารทั้งเรื่องบุคลากร เช่น เจ้าหน้าที่โสตฯ และงบดำเนินการ
เอกสารอ้างอิง
- การประเมินความพึงพอใจของนักศึกษาแพทย์เตรียมความพร้อมก่อนขึ้นปฏิบัติงานชั้นปีที่ 6 (Course for extern preparation) ปีการศึกษา 2562-66
- มคอ.6 รายวิชาเวชศาสตร์ป้องกัน 3 (PVM 621) ปีการศึกษา 2558-2566
- บันทึกรายงานการนำเสนอผลงานวิจัยของนักศึกษาแพทย์ในการประชุมวิชาการและประกวดผลงานวิจัย
ประจำปีการศึกษา 2558-2566 ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคมและเวชศาสตร์ชุมชน วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต