รางวัลชมเชย ปีการศึกษา 2566

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : KR 2.2.3

การสร้างหลักฐานเชิงประจักษ์ทางด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย ในผู้ที่มีภาวะลองโควิด (Long COVID) เพื่อต่อยอดการพัฒนาสมุนไพรไทยสู่ตลาดโลก

ผู้จัดทำโครงการ​

ดร.ภญ.ธิติยา ลักคุณะประสิทธิ์

วิทยาลัยเภสัชศาสตร์

หลักการและเหตุผล/ความสำคัญ/ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้​

          ในปัจจุบันด้วยสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั้งในระยะเฉียบพลันและในระยะยาว ในระยะเฉียบพลันการติดโรคโควิด-19 มีผลกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันหลายอย่างที่เป็นสาเหตุให้เกิดกระบวนการอักเสบและเป็นเหตุให้การทำงานของอวัยวะหลายระบบล้มเหลวได้ ทั้งนี้ที่สำคัญการได้รับเชื้อโควิด-19 เข้าสู่ร่างกายหลังจากรักษาหายแล้ว แต่ผู้ได้รับเชื้อหลายรายยังมีอาการของบางระบบที่เป็นปัญหาและอุปสรรคของสภาวะสุขภาพ เนื่องจากระหว่างการติดเชื้อ ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อไปจับกับเซลล์โปรตีนของบางอวัยวะ ทำให้เกิดการอักเสบในร่างกาย เป็นผลให้อวัยวะนั้น ๆ ได้รับความเสียหาย ส่งผลกระทบไปทั่วร่างกาย เช่น อาการปอดบวม หรือ เนื้อปอดถูกทำลาย โดยระดับความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในรักษา และการกำจัดเชื้อโควิดในร่างกาย หรือที่เรียกว่าภาวะลองโควิด (Long COVID) โดยกลุ่มอาการนี้สามารถพบได้ถึงร้อยละ 30-50 ทั้งที่มีสาเหตุหลักจาก เครียดสะสม หรือเป็นผลข้างเคียงของยาที่ใช้ในระหว่างการรักษา เช่น ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ โรคแฝง หรือบางรายอาจติดเชื้อโควิดซ้ำแต่คนละสายพันธุ์ พืชสมุนไพรไทยหลายชนิด ได้แก่ มะนาว ใบหญ้านาง ข่า พริกไทย ใบกัญชา ฯลฯ มีประวัติการใช้ตามภูมิปัญญาโดยใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารตลอดจนใช้สำหรับดูแลสุขภาพตลอดจนรักษาโรค ซึ่งมีผลการศึกษาในหลอดทดลองหลายการศึกษาที่สนับสนุนว่าพืชสมุนไพรเหล่านี้มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน ลดกระบวนการอักเสบได้ ในบทบาทของการเป็นอาจารย์ผู้สอนของวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตที่จะต้องมีภาระทั้งการสอน และการทำวิจัยควบคู่ไปด้วย ได้เล็งเห็นประโยชน์และความสำคัญของภูมิปัญญาไทยต่อการใช้พืชสมุนไพรชนิดต่าง ๆ ในการบำรุง ดูแล รักษาและฟื้นฟูสุขภาพ ทั้งนี้ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเคลียร์-บีลอง พลัส ผสมใบกัญชา โดยบริษัทนารีฟาร์มา กรุ๊ป ที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรชนิดต่าง ๆ ที่ผลิตออกมาในรูปแคปซูลที่สะดวกต่อการรับประทาน ซึ่งในเบื้องต้นมีผลกาวิจัยในหลอดทดลองที่สนับสนุนความปลอดภัยและประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวซึ่งได้มีการเผยแพร่บทความวิจัยในวารสารวิชาการระดับนานาชาติแล้ว ดังนั้นจึงมีโครงการศึกษาวิจัยประสิทธิผลในด้านการรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยภาวะลองโควิด ของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในระดับคลินิกในมนุษย์เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงประจักษ์ต่อไป

ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้

          เรียนรู้การต่อยอดงานวิจัยเบื้องต้นเรื่อง การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบและต้านมะเร็งในหลอดทดลองของสมุนไพรไทยสูตรผสม (In vitro antioxidant, anti-inflammatory, and anticancer activities of mixture Thai medicinal plants) ที่ได้ดำเนินการสำเร็จต่อยอดขยายไปสู่การออกแบบการศึกษาในมนุษย์ในเชิงลึกและบูรณาการมากขึ้น บริบทการดำเนินการวิจัยที่เน้นการทำงานเป็นทีม ที่ประกอบด้วยนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญหลาย ๆ สาขา เพื่อให้งานวิจัยสัมฤทธิ์ผลดีและประหยัดเวลาในการดำเนินงาน ดังนั้นการสร้างทีมวิจัยและเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยจึงเป็นสิ่งสำคัญ การวางแผนงานที่สามารถปรับให้เข้ากับบริบทของงานวิจัย ทั้งนี้ที่สำคัญคือการดำเนินงานวิจัยในปัจจุบันต้องมุ่งเน้นบูรณาการในการต่อยอดสร้างมูลค่าจากผลลัพธ์ของที่เกิดจากกระบวนการวิจัย และการวางแผนสำหรับเผยแพร่บทความวิจัยในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ

ประเภทความรู้และที่มาความรู้

ความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge) :
เจ้าของความรู้/สังกัด  ดร.ภญ.ธิติยา ลักคุณะประสิทธิ์ และ ผศ.ดร.ภก.อภิรุจ นาวาภัทร  วิทยาลัยเภสัชศาสตร์

วิธีการดำเนินการ

1. วิธีการดำเนินการ
   ดำเนินการตามขั้นตอน plan, do, check, act ดังนี้

  1. ตั้งคำถามวิจัยและทบทวนวรรณกรรม
  2. เขียนโครงร่างวิจัย
  3. ขอรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัย
  4. เปิดรับสมัครอาสาสมัครร่วมโครงการ
  5. ดำเนินการวิจัยจนเสร็จสิ้น
  6. บันทึกข้อมูลและตรวจสอบข้อมูล
  7. วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ
  8. จัดทำรายงานการวิจัย
  9. เตรียมเผยแพร่ผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ

2. Prototype testing in an operational environment – DO

ผลการดำเนินการ การนำไปใช้ หรือการลงมือปฏิบัติจริง อุปสรรคหรือปัญหาในการทำงาน
         มีอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการวิจัยครบตามจำนวนที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัย มหาวิทยาลัยรังสิต โครงการวิจัยดำเนินการศึกษาวิจัยแล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลา ตลอดจนได้ผลการศึกษานำร่องเกี่ยวกับประสิทธิผลและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยเพื่อดูแลสุขภาพสำหรับผู้ที่มีภาวะลองโควิด เป็นแนวทางกำหนดแผนดำเนินงานวิจัยสมุนไพรไทยในอนาคต และเป็นข้อมูลให้แก่บริษัทนารีฟาร์มา กรุ๊ปเพื่อใช้วางแผนพัฒนาการผลิตและการตลาดเพื่อให้ตอบโจทย์กลุ่มประชาชนที่จะได้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์นี้ทั้งในและต่างประเทศ  นอกจากนี้ผลการวิจัยยังอยู่ในช่วงเตรียมบทความต้นฉบับสำหรับเผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ         

3. Proven through successful mission operation, Objectives and Key Results for Knowledge Management – CHECK

การตรวจสอบผลการดำเนินการ การนำเสนอประสบการณ์การนำไปใช้ สรุปและอภิปรายผล บทสรุปความรู้หรือความรู้ที่ค้นพบใหม่

           การดำเนินการวิจัยได้รับการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ทั้งที่เป็นสื่อภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยรังสิต ผลการศึกษาวิจัยที่ได้จะนำไปสู่การเผยแพร่บทความวิจัยให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายถึงประสิทธิผลและความปลอดภัยของสูตรตำรับยาสมุนไพรที่คิดค้นโดยนักวิจัยชาวไทย และเป็นข้อมูลที่สนับสนุนประสิทธิผลและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเคลียร์-บีลอง พลัส ผสมใบกัญชา โดยบริษัทนารีฟาร์มา กรุ๊ป ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการผลิตและการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติในประเทศไทย อันจะสืบเนื่องไปถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยซึ่งเป็นแหล่งของพืชสมุนไพรที่เป็นวัตถุดิบในการเตรียมผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และการประชาสัมพันธ์สู่สังคมภายนอกอื่น ๆ ทำให้ประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพอันเกี่ยวเนื่องกับภาวะลองโควิด ได้มีช่องทางและทางเลือกในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพในการดูแลและส่งเสริมสุขภาพ อีกทั้งยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักในด้านการแพทย์ทางเลือกมากขึ้นด้วย

ข้อเสนอแนะในการดำเนินการในอนาคต หรือการดำเนินการเพื่อสามารถนำไปสู่การเป็น Good Practice

           การวิจัยทางคลินิกโดยใช้กลุ่มประชากรศึกษาเป็นมนุษย์มีข้อจำกัดหลายด้านทั้งด้านปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับโรคที่เป็นสมมติฐานในการใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ในการดูแล รักษาสุขภาพ อายุ เพศ การดำเนินโรค ข้อจำกัดทางด้านจริยธรรมการวิจัย ตลอดจนเศรษฐานะอันจะส่งผลต่อความสะดวกในการเดินทางเพื่อให้สามารถเข้าร่วมโครงการวิจัยได้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอจนสิ้นสุดโครงการวิจัย ดังนั้นในกระบวนการสร้างเครื่องมือและเตรียมความพร้อมสำหรับดำเนินการวิจัย นักวิจัยควรมีการคำนวณกลุ่มประชากรศึกษาให้เหมาะสมอย่างเพียงพอ ตลอดจนการสร้างเกณฑ์การคัดเข้า หรือคัดออกของกลุ่มประชากรศึกษาต้องมีความรัดกุมเพื่อให้ประชากรศึกษาที่ตรงบริบทของงานวิจัยเพื่อให้ได้ผลการศึกษาวิจัยที่ชัดเจนและเที่ยงตรง ดังนั้นการเตรียมการให้มีความพร้อมให้ครอบคลุมปัจจัยด้านต่าง ๆ จึงเป็นข้อควรคำนึงพื้นฐานสำหรับการดำเนินการวิจัยทางคลินิกในมนุษย์ให้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์

Scroll to Top