รางวัลชมเชย ปีการศึกษา 2567

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : KR ไม่ระบุ

แนวทางการพัฒนาพื้นที่และออกแบบสถาปัตยกรรมในพื้นที่คานเรือศรีเจริญ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้มรดกวัฒนธรรมที่มีชีวิต

ผู้จัดทำโครงการ​

ดร.ปาริษา มูสิกะคามะ ดร.ศศิกาญจน์ ศรีโสภณ
และ อ.อามาล ภักดีธรรม ฉิมวิไลทรัพย์

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

หลักการและเหตุผล/ความสำคัญ/ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้​

          มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นมากกว่าสถาบันการศึกษา แต่ยังเป็นศูนย์กลางขององค์ความรู้และนวัตกรรมที่สามารถชี้นำและขับเคลื่อนสังคมได้ โดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) และการมีส่วนร่วมกับชุมชน (Community Engagement) เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างผลกระทบเชิงบวก

            ในช่วงปีการศึกษา 2566 – 2567 ที่ผ่านมานี้ ทีมวิจัยจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ดำเนินโครงการวิจัยหัวข้อแนวทางการพัฒนาพื้นที่และออกแบบสถาปัตยกรรมในพื้นที่คานเรือศรีเจริญ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้มรดกวัฒนธรรมที่มีชีวิต โครงการวิจัยนี้เลือกใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปฏิบัติการ เพื่อบูรณาการโครงการวิจัยกับกิจกรรมพัฒนานักเรียนและนักศึกษาผ่านการลงมือปฏิบัติจริง ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมกับสถาบันการศึกษาภายนอก และสถานประกอบการภาคเอกชนที่เป็นผู้ถือครององค์ความรู้เรื่องภูมิปัญญาการต่อเรือไม้แบบดั้งเดิม

               ภูมิปัญญาการต่อเรือไม้แบบดั้งเดิมคือมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Heritage) ประเภทหนึ่งที่กำลังเสี่ยงต่อการสูญหายไปตามบริบทการเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันมีผู้ถือองค์ความรู้ดังกล่าวนี้ไม่มากนัก หนึ่งในนั้นคือคานเรือศรีเจริญ ซึ่งเป็นสถานประกอบการภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แม้ว่าเจ้าของกิจการคานเรือศรีเจริญจะมีปณิภาณส่งต่อภูมิปัญญาสู่บุคคลภายนอก และสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีทักษะฝีมือช่างมาสืบต่อภูมิปัญญาเหล่านี้ แต่การดำเนินการเพื่อบรรลุเจตนารมณ์ดังกล่าวก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยง่าย ด้วยข้อจำกัดในมิติต่างๆ อาทิ การขาดเครือข่ายความร่วมมือ การขาดเงินทุน การขาดองค์ความรู้ การขาดประสบการณ์ ฯลฯ ทีมวิจัยจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เล็งเห็นประเด็นปัญหาดังกล่าว จึงใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมกับชุมชนเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่นักเรียน นักศึกษา และบุคคลภายนอก โดยมีจุดเด่นที่การนำกิจกรรมเชิงศิลปะและการออกแบบ ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมการเรียนรู้ในระบบการศึกษาร่วมสมัยมาเป็นเครื่องมือเพื่อการเรียนรู้มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้จากอดีต

ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้ 

          ภูมิปัญญาด้านการต่อเรือไม้แบบดั้งเดิมในฐานะมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ 

ประเภทความรู้และที่มาความรู้

ความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge)

เจ้าของความรู้/สังกัด: คุณชัชวาล และคุณสมรทิพย์ ศรีเปลี่ยนจันทร์ ผู้ประกอบการคานเรือศรีเจริญ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วิธีการดำเนินการ

               ทีมวิจัยทีมวิจัยจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมกับชุมชนเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่นักเรียน นักศึกษา และบุคคลภายนอก โดยมีจุดเด่นที่การนำกิจกรรมเชิงศิลปะและการออกแบบ ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมการเรียนรู้ในระบบการศึกษาร่วมสมัยมาเป็นเครื่องมือเพื่อการเรียนรู้มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้จากอดีต

               การดำเนินการตลอดช่วงระยะเวลาที่ดำเนินการวิจัย แบ่งเป็น 3 ครั้ง ดังนี้

  1. ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 ทีมวิจัยได้จัดกิจกรรมกระบวนการออกแบบแบบเชิงปฏิบัติการ โดยบูรณาการร่วมกับกิจกรรมพัฒนานักศึกษาด้านนานาชาติของคณะ โดยการนำกลุ่มนักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ Universitas Islam Indonesia (UII) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยพันธมิตรของมหาวิทยาลัยรังสิตจำนวน 25 คนเข้าร่วมกิจกรรม ผลผลิตจากกิจกรรมคือข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางกายภาพและรูปแบบทางสถาปัตยกรรมในบริเวณพื้นที่คานเรือศรีเจริญ ผลลัพธ์ด้านการเรียนรู้คือความเข้าใจและตระหนักรู้ถึงความสำคัญของภูมิปัญญา และสถานที่ตั้งที่เปรียบเสมือนพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต (living museum)
  2. ครั้งที่ 2 เมือเดือนธันวาคม พ.ศ. 2567 ทีมวิจัยได้จัดกิจกรรมประกวดวาดภาพระบายสีระดับชั้นประถมศึกษา โดยเชิญนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลายที่ศึกษาอยู่ในพื้นที่โรงเรียนวัดพนัญเชิง ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนเดียวกันกับคานเรือศรีเจริญมาเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 25 คน ผลผลิตจากกิจกรรมคือภาพวาดในจินตนาการของนักเรียนภายใต้หัวข้อ “อยุธยา เมืองแห่งสายน้ำ และเรือในฝันของฉัน” ผลลัพธ์ด้านการเรียนรู้คือการเกิดประสบการณ์การเรียนรู้เรื่องเรือที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการทัศนศึกษาก่อนการวาดภาพ ทำให้นักเรียนที่มีวิถีชีวิตห่างไกลจากแม่น้ำและเรือเกิดแรงบันดาลใจที่จะเรียนรู้มากขึ้น และพยายามเชื่อมโยงองค์ความรู้ทางภูมิปัญญากับการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ในระบบการศึกษาร่วมสมัย ผลลัพธ์สำคัญอีกประการหนึ่งคือการเกิดต้นแบบของกิจกรรมความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้มรดกวัฒนธรรมสำหรับเยาวชน
  3. ครั้งที่ 3 เมือเดือนมกราคม พ.ศ. 2568 ทีมวิจัยได้จัดกิจกรรมวาดภาพระบายสี โดยเชิญศิลปิน อาจารย์ และนักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะดิจิทัลอาร์ต มหาวิทยาลัยรังสิต รวมถึงอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 55 คนเข้าร่วมกิจกรรม ผลผลิตจากกิจกรรมคือภาพวาดที่สะท้อนความประทับใจในสถานที่ตั้ง ส่วนผลลัพธ์จากกิจกรรมนั้นถือว่าประสบความสำเร็จกว่าที่คาดการณ์ไว้ นั้นคือ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่เพียงแต่รับทราบและตระหนักรู้ถึงความสำคัญทางประวัติของสถานที่ตั้งและภูมิปัญญาการต่อเรือไม้แบบดั้งเดิม แต่ยังเกิดการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือใหม่เพื่อต่อยอดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมที่ไม่มีชีวิต

ภาพที่ 1 กิจกรรมออกแบบเชิงปฏิบัติการนานาชาติครั้งที่ 1 เมือเดือนสิงหาคม 2566

ภาพที่ 2 กิจกรรมวาดภาพระบายสีครั้งที่ 2 เมือเดือนธันวาคม 2567

ภาพที่ 3 กิจกรรมวาดภาพระบายสีครั้งที่ 3 เมือเดือนมกราคม 2568

2.Prototype testing in an operational environment – DO 

ผลการดำเนินการ การนำไปใช้ หรือการลงมือปฏิบัติจริง อุปสรรคหรือปัญหาในการทำงาน

          การจัดกิจกรรมเชิงศิลปะและการออกแบบเพื่อการเรียนรู้มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีเชิงประจักษ์เป็นขั้นลำดับ ได้แก่ เยาวชนและผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกิดความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสถานที่และภูมิปัญญา เกิดความรู้สึกอยากเรียนรู้เพิ่มเติม เกิดความรู้สึกอยากมีส่วนร่วมในกระบวนการอนุรักษ์ และเกิดการพัฒนาและขยายเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม

          อย่างไรก็ตาม หากจะส่งเสริมให้กระบวนการดังกล่าวนี้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน ผู้วิจัยประเมินว่ามหาวิทยาลัยในฐานะผู้พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือควรสนับสนุนกระบวนการในฐานะพี่เลี้ยงไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเครือข่ายความร่วมมือที่ถูกพัฒนาขึ้นนั้นจะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างเข้มแข็งต่อไป

3. Proven through successful mission operation, Objectives and Key Results for Knowledge Management – CHECK

การตรวจสอบผลการดำเนินการ การนำเสนอประสบการณ์การนำไปใช้ สรุปและอภิปรายผล บทสรุปความรู้หรือความรู้ที่ค้นพบใหม่

               ทีมวิจัยประเมินว่าโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ นั้นคือนอกเหนือจากการพัฒนาข้อเสนอแนะทางกายภาพเพื่อพัฒนาพื้นที่และออกแบบสถาปัตยกรรมในพื้นที่คานเรือศรีเจริญ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้มรดกวัฒนธรรมที่มีชีวิตแล้ว ยังได้ริเริ่มพัฒนากิจกรรมเพื่อการเรียนรู้สำหรับเยาวชน และบุคคลทั่วไป เพื่อเป็นต้นแบบให้คานเรือศรีเจริญในฐานะผู้ถือครองภูมิปัญญาเกิดความมั่นใจและเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง พร้อมที่จะดำเนินการส่งต่อภูมิปัญญาสู่เยาวชนและบุคคลทั่วไปตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้

               ผู้วิจัยยืนยันข้อสรุปจากผลการดำเนินงานได้ว่ามหาวิทยาลัยคือองค์กรที่สามารถมีบทบาทสำคัญในการสร้างและขยายเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนามรดกวัฒนธรรมที่ฝังตัวอยู่ในพื้นที่ชุมชนหรือสถานประกอบการภาคเอกชน โดยรูปแบบของกระบวนการมีส่วนร่วมผ่านกิจกรรมเชิงศิลปะและการออกแบบที่โครงการวิจัยประยุกต์ใช้ตลอดการดำเนินการทั้ง 3 ครั้งนั้นก็เป็นเครืองมือที่ทรงพลังที่สามารถบูรณาการการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมกับการศึกษาร่วมสมัยได้อย่างแนบเนียน ทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมรู้สึกสนุก ประทับใจ และรู้สึกอยากมีส่วนร่วมในกระบวนการอนุรักษ์ต่อไป

ข้อเสนอแนะในการดำเนินการในอนาคต หรือการดำเนินการเพื่อสามารถนำไปสู่การเป็น Good Practice

ปัจจัยที่ทำให้โครงการวิจัยนี้เกิดความสำเร็จ คือ ความเหมาะสมของรูปแบบกิจกรรมเพื่อการมีส่วนร่วม ความต่อเนื่องของการดำเนินการ เครือข่ายความร่วมมือ และการบูรณาการกับกิจกรรมพัฒนานักศึกษา

               กิจกรรมเชิงศิลปะและการออกแบบถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมการเรียนรู้ภายใต้ระบบการศึกษาสมัยใหม่ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้แบบ Active เหมาะสมต่อการนำมาบูรณาการเพื่อการเรียนรู้มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ กระบวนการทางศิลปะเปิดกว้างทางความคิดและจินตนาการ ทำให้สิ่งที่จับต้องไม่ได้กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ และเชื่อมโยงคุณค่าจากอดีตสู่ปัจจุบัน กิจกรรมประเภทนี้เหมาะสมกับผู้เรียนรู้ทุกช่วงวัย จึงมีศักยภาพสูงมากที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในโอกาสอื่นๆ

               ความต่อเนื่องของการดำเนินการคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้วิจัยสามารถทดสอบกระบวนการและเครื่องมือเพื่อการถ่ายทอดความรู้ที่เลือกใช้นี้ รวมถึงทำให้เกิดความเชื่อมั่นระหว่างผู้วิจัยและผู้ถือครองภูมิปัญญาว่ามีพันธกิจและเป้าหมายเดียวกัน ความเป็นหนึ่งเดียวกันนี้มีผลต่อการสร้างความร่วมมือระยะยาว

               เครือข่ายความร่วมมือคือปัจจัยที่ทำให้ผลลัพธ์ของการดำเนินโครงการวิจัยนี้บรรลุวัตถุประสงค์ในระดับที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ โครงการวิจัยได้รับความร่วมมือจากทีมอาจารย์คณะดิจิทัลอาร์ต มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รวมถึงได้รับความร่วมมือจากศิลปินผู้ทรงเกียรติหลายท่าน ความสำเร็จดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากความร่วมมือของพันธมิตรดังกล่าวนี้

               ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ส่งผลต่อความสำเร็จคือการบูรณาการกับกิจกรรมพัฒนานักศึกษาของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะดิจิทัลอาร์ต ทำให้กิจกรรมได้รับความร่วมมือ อำนวยการ และสนับสนุนในมิติต่างๆ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการวิจัยไม่ได้สิ้นสุดเพียงแค่ผลงานวิจัยของอาจารย์ ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย แต่ยังส่งผลกระทบทางบวกโดยตรงต่อนักเรียนและนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรม จึงขอขอบคุณมา ณ ที่นี้

Scroll to Top