รางวัลชมเชย ปีการศึกษา 2567
ยุทธศาสตร์ที่ 5 : KR 5.1.2
Healing Heart from Stressful Life Experiences to Well-being

ผู้จัดทำโครงการ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ วุฒิรณฤทธิ์ อ.ราตรี ทองยู
อ.เพชรไพลิน พิบูลนิธิเกษม อ.วราภรณ์ ศิริธรรมานุกุล
อ.ฐิติชญาน์ ปิยภัทรธนัสไชย และ อ.สุนิษา เชือกทอง
คณะพยาบาลศาสตร์
หลักการและเหตุผล/ความสำคัญ/ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้
ศึกษาในระดับอุดมศึกษาเป็นระยะที่นักศึกษาแสวงหาความรู้และพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับการเข้าสู่โลกการทำงานและการเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น นักศึกษามีอิสระมากขึ้นในการตัดสินใจเกี่ยวกับการเรียนและการใช้ชีวิต อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้อาจสร้างความท้าทายด้านการปรับตัว ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาทางอารมณ์ เช่น ความเครียดจากภาระการเรียน ความรู้สึกโดดเดี่ยวจากการอยู่ห่างไกลจากครอบครัวและเพื่อน หรือความกดดันจากสังคมใหม่ที่ต้องเผชิญ (Bewick & Stallman, 2018) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาทางสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การเกิดปัญหาทางสุขภาพจิตมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในปัจจุบันมีอัตราการเกิดปัญหาทางสุขภาพจิตสูงขึ้นกว่าทศวรรษที่ผ่านมาถึง 5 เท่า (Bewick & Stallman, 2018) การสำรวจในประเทศไทยพบอุบัติการณ์เกิดภาวะซึมเศร้าของนักศึกษามหาวิทยาลัยร้อยละ 23 ซึ่งสูงกว่าประชากรไทยโดยรวมถึงร้อยละ 4 (อธิชาติ และจันทิมา, 2565) นอกจากนี้ยังพบว่า ร้อยละ 21.4 ของนักศึกษากำลังเผชิญปัญหาทางสุขภาพจิต โดยสาเหตุหลักมาจากปัจจัยด้านการเรียน ความสัมพันธ์ และการปรับตัว ปัญหาทางสุขภาพจิตที่พบได้บ่อยในกลุ่มวัยรุ่นและนักศึกษา ได้แก่ ความเครียดและภาวะวิตกกังวล (ร้อยละ 9) ความรู้สึกโดดเดี่ยว (ร้อยละ 10) ภาวะซึมเศร้า (ร้อยละ 9-15)
และพฤติกรรมทำร้ายตัวเองหรือพยายามฆ่าตัวตาย (ร้อยละ 13) ซึ่งพบว่าภาวะซึมเศร้าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด (Pilakanta & Sriwichai, 2020)
นักศึกษาพยาบาลเป็นกลุ่มนักศึกษาที่มักจะถูกคาดหวังจากสังคม อาจารย์ และครอบครัว ให้เป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น การเรียนการสอนมีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ มีการฝึกปฏิบัติงานในสถานบริการสุขภาพ ซึ่งนักศึกษาจะต้องปรับตัวกับผู้รับบริการ บุคลากรทีมสุขภาพ และสภาพการณ์ของการเจ็บป่วยและการดูแลรักษาในบริบทแตกต่างหลากหลาย สภาพการณ์เหล่านี้ทำให้นักศึกษาพยาบาลมีโอกาสเกิดปัญหาทางสุขภาพจิตได้มาก ประกอบกับในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 นักศึกษาต้องปรับตัวกับการเรียนออนไลน์ การฝึกปฏิบัติงานแบบผสมผสานระหว่างสถานการณ์จำลองและสถานการณ์จริง ทำให้เกิดความเครียดจากการเรียน ดังการศึกษาในกลุ่มนักศึกษาสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยรังสิต รวมทั้งนักศึกษาพยาบาลในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ที่พบว่า ปัจจัยด้านการเรียนการสอนเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้นักศึกษาเกิดความเครียด (วัชรินทร์ วุฒิรณฤทธิ์, นูรีดา ดอเลาะ, ซูฟีนา ดาละ, ปารีรัตน์ มูและ บุษรินทร์ ประดับญาติ และฟาตีเม๊าะ ไสสากา, 2563)
คณาจารย์ในกลุ่มวิชาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชจึงเห็นความสำคัญของการให้การช่วยเหลือนักศึกษาพยาบ
าลที่มีความเครียดหรือปัญหาทางสุขภาพจิตจากการเรียนในสถานการณ์ดังกล่าว โดยได้พัฒนาศูนย์บริการให้คำปรึกษา Happiness Center ขึ้นในปีการศึกษา 2564 เพื่อให้บริการคำปรึกษาทางออนไลน์แก่นักศึกษาพยาบาล ช่วยลดความเครียด ช่วยให้ผ่านช่วงเวลาที่ลำบากไปได้ สามารถเรียนรู้ และมีสุขภาพจิตที่ดี การบริการให้คำปรึกษามีการดำเนินการและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในปีการศึกษา 2566 – 2567 ได้ปรับปรุงหน่วยบริการให้คำปรึกษา ปรับรูปแบบการบริการใหม่เป็นการบริการวิชาการแบบให้เปล่าของคณะพยาบาลศาสตร์ชื่อ รักษ์ใจ – Healing Heart และในปีการศึกษา 2567 ปรับปรุงมาเป็นหน่วยบริการให้คำปรึกษาที่ชื่อว่า Healing Heart Center ขยายขอบเขตการบริการให้แก่นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยรังสิต รวมถึงผู้รับบริการในชุมชนเมืองเอกที่ต้องการความช่วยเหลือด้านปัญหาสุขภาพจิต มีการนำ application Line Official มาใช้ในการรับทราบความต้องการการบริการและประสานงานนัดหมายบริการให้คำปรึกษา
การดำเนินงานบริการให้คำปรึกษาผ่าน Healing Heart Center เป็นโครงการที่มีส่วนในการสร้างสุขภาวะทางกายและใจของนักศึกษา บุคลากร และชุมชน และสนับสนุนการส่งเสริม Healthy University ของมหาวิทยาลัยรังสิตต่อไป
ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้
กระบวนการให้คำปรึกษา การพยาบาลผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิต และ Therapeutic use of self เป็นความรู้สำคัญที่นำมาใช้ในการให้บริการให้คำปรึกษาเพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ทางใจของผู้ที่มารับบริการที่ Healing Heart Center
การให้คำปรึกษา (Counseling) เป็นกระบวนการที่ช่วยให้บุคคลทำความเข้าใจตนเอง พัฒนาทักษะในการจัดการปัญหา ผลจากการเข้ารับบริการการให้คำปรึกษาและผ่านการทำความเข้าใจตนเอง ทำให้ผู้รับบริการเติบโตภายในจากประสบการณ์ชีวิต กระบวนการให้คำปรึกษามีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้าง Well-being หรือความเป็นอยู่ที่ดีทั้งทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ โดยแนวคิดที่นำมาใช้หลักๆ ได้แก่ แนวคิดการพัฒนาศักยภาพมนุษย์และความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตใจ แนวคิดนี้ได้รับอิทธิพลจาก Carl Rogers และ Carol Ryff ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพภายในของบุคคล การเสริมสร้างการตระหนักรู้ในตนเอง และการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยมีองค์ประกอบสำคัญ คือ
1) Person-Centered Therapy (Rogers, 1951) – การให้คำปรึกษาที่มุ่งเน้นผู้รับคำปรึกษาเป็นศูนย์กลาง โดยใช้ Empathy (ความเข้าใจเห็นใจ), Unconditional Positive Regard (การยอมรับโดยไม่มีเงื่อนไข), และ Genuineness (ความจริงใจ) เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในการเติบโตทางอารมณ์และจิตใจ และช่วยให้บุคคลตระหนักถึงศักยภาพของตนเอง และมุ่งสู่การเติมเต็มความสามารถสูงสุดของตน
2) Psychological Well-being (Ryff, 1989) – ความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตใจ ประกอบด้วย 6 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ Self-Acceptance (การยอมรับตนเอง) Positive Relations with Others (ความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น) Autonomy (การมีอิสระในการตัดสินใจ) Environmental Mastery (การจัดการสิ่งแวดล้อมได้ดี) Purpose in Life (การมีเป้าหมายในชีวิต) Personal Growth (การเติบโตและพัฒนา) ซึ่งแนวคิดนี้ช่วยให้บุคคลเกิดการตระหนักรู้ในตนเอง ยอมรับตนเอง พัฒนาทักษะในการใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณค่า สามารถปรับตัวต่อความท้าทาย เติบโตจากประสบการณ์ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งส่งผลต่อ Well-being ในระยะยาว
ประเภทความรู้และที่มาความรู้
ความรู้แบบชัดแจ้ง (Explicit Knowledge)
ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการให้คำปรึกษา การพยาบาลผู้มีปัญหาสุขภาพจิต
และแนวคิดของกลุ่มมนุษยนิยม
ความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge)
ได้แก่ ทักษะการให้คำปรึกษา (counseling skills) การใช้ตนเองเพื่อให้การช่วยเหลือ (therapeutic use of self)
วิธีการดำเนินการ
1) ประชุมคณาจารย์กลุ่มวิชาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช
นำข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาสถานการณ์และปัญหาของนักศึกษาที่พบ
หลังจากนั้นได้นำแนวทางการดำเนินงานเรียนปรึกษาท่านคณบดี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับทราบข้อเสนอแนะจากทุกส่วน นำกลับมาประชุมในกลุ่มวิชาฯ เพื่อปรับปรุงแผนการให้บริการ
2) ขั้นเตรียมการ
2.1 จัดเตรียมข้อมูลสำหรับใช้ในการประชาสัมพันธ์ Healing Heart Center
2.2 จัดเตรียม Line Official สำหรับใช้ในการติดต่อและนัดหมายการรับบริการ จัดบริการให้คำปรึกษาโดยจัดทำระบบการติดต่อขอนัดรับบริการคำปรึกษาแบบ blind ผ่าน Line official
2.3 จัดเตรียมสถานที่ให้บริการแบบ on-site: ขออนุญาตใช้ห้องและอุปกรณ์สำนักงานที่จำเป็นสำหรับบริการให้คำปรึกษา


Lorem ipsum dolor sit amet, consectetur adipiscing elit. Ut elit tellus, luctus nec ullamcorper mattis, pulvinar dapibus leo.
3) เมื่อมีผู้ต้องการรับบริการแจ้งความประสงค์ขอเข้ามารับบริการผ่านทาง Line Official
อาจารย์ที่เป็นผู้รับผิดชอบให้บริการในวันเวลาดังกล่าว จะไปให้บริการตามนัดที่ห้อง 4/2-406 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
4) เมื่อพบผู้รับบริการที่มารับบริการให้คำปรึกษา อาจารย์เปิดโอกาสให้ผู้รับบริการระบายความรู้สึกและบอกเล่าประสบการณ์ที่ทุกข์ใจ รับฟังด้วยความเข้าใจโดยประยุกต์ใช้กระบวนการให้คำปรึกษาและความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการพยาบาลทางสุขภาพจิตและจิตเวช ช่วยให้ผู้รับบริการได้มีโอกาสทบทวนเหตุการณ์และทำความเข้าใจตนเอง มองหาทางเลือกที่จะแก้ไขปัญหาในทางสร้างสรรค์ หลังจากให้คำปรึกษาใน session แล้ว บางรายอาจจะให้การบ้านผู้รับบริการกลับไปทบทวนตนเอง
และนัดกลับมาพบกรณีที่ผู้รับบริการต้องการหรืออาจารย์ผู้ให้บริการคำปรึกษาเห็นว่าสมควรนัดเพื่อติดตาม
5) กรณีที่พบว่าปัญหาของผู้รับบริการมีความซับซ้อนและต้องการการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ อาจารย์จะขออนุญาตผู้รับบริการและสรุปข้อมูลเพื่อใช้สำหรับการส่งต่อไปรับบริการจากผู้เชี่ยวชาญ
6) ประสานงานส่งต่อผู้เชี่ยวชาญตามความเหมาะสมกับผู้รับบริการแต่ละคน
2.Prototype testing in an operational environment – DO
ผลการดำเนินการ การนำไปใช้ หรือการลงมือปฏิบัติจริง อุปสรรคหรือปัญหาในการทำงาน
ผลการดำเนินการเชิงปริมาณ
ผลการดำเนินงานของหน่วยบริการให้คำปรึกษา Healing Heart Center คณะพยาบาลศาสตร์ที่ให้บริการคำปรึกษาทางด้านสุขภาพจิตและจิตเวชแก่นักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัยรังสิต ตั้งแต่ปีการศึกษา 2566 มีผู้เข้ารับบริการ จำนวน 32 ราย ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจากคณะต่างๆ รวมถึงคณะพยาบาลศาสตร์ มีบุคคลากรในมหาวิทยาลัยและบุคคลภายนอกเล็กน้อย โดยปัญหาที่พบมากที่สุดคือ ภาวะซีมเศร้า วิตกกังวล เครียด และแพนิค ทุกรายที่ขอรับบริการได้รับบริการ คิดเป็นร้อยละ 100 และมีความพึงพอใจหลังรับคำปรึกษาร้อยละ 100 ในปีการศึกษา 2567 กำลังพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูล และคงให้บริการอย่างต่อ
ผลการดำเนินการเชิงคุณภาพ
ด้านผู้รับบริการ นักศึกษาที่รับบริการให้คำปรึกษา รู้สึกพึงพอใจและได้รับความช่วยเหลือทำให้สามารถบรรเทาความไม่สบายใจ และมีแนวทางรับมือกับปัญหาที่นำมาปรึกษาได้ ผู้เข้ารับบริการบางรายบอกว่า
“ตอนแรกมาถึงหน้าห้องแล้วไม่อยากเข้ามา รู้สึกกลัวและไม่มั่นใจว่าที่นี่จะช่วยได้ไหม แต่พอเข้ามาแล้วรู้สึกว่าที่นี่คือพื้นที่ปลอดภัย” หลายคนบอกว่า “ไม่รู้จะเล่าให้ใครฟังดี อยากหาใครสักคนที่มืออาชีพพอในการฟัง ไม่ตัดสิน ไม่เอาไปพูดต่อ ที่นี่ทำให้รู้สึกพึ่งได้” “หนูออกไปหนูเก่งขึ้นนะ รับมือกับอะไรหลายๆอย่างที่เข้ามาได้ แต่รอบนี้หนูแค่เหนื่อย เลยอยากมาขอพักแป๊บ อยากมาขอพลังใจ แล้วเดี๋ยวจะกลับไปสู้ใหม่” “ที่นี่คือ safe zone อย่างน้อยก็มีที่ที่นึงที่สามารถรับฟังหนูได้ทุกเรื่อง” หรือบางรายบอกว่า “ผมไม่เคยมีเวลาได้ทบทวนตัวเองเลยครับ ทุกครั้งต้องเข้มแข็งเพื่อแม่มาตลอด เพิ่งเข้าใจว่าที่บอกว่าเข้มแข็งแต่ผมก็ทำร้ายตัวเองทางอ้อมด้วย” และเกือบทุกคน “รู้สึกขอบคุณพี่ที่ไม่ถามแม้แต่ชื่อ แต่ทำให้รู้สึกดีและประทับใจที่สุด” เป็นต้น ด้านผู้ให้บริการ เกิดการเรียนรู้และเพิ่มประสบการณ์ในการบริการให้คำปรึกษา
อุปสรรคหรือปัญหาในการทำงาน
1. มีข้อจำกัดในการบันทึกข้อมูลการให้คำปรึกษา เนื่องจากต้องระมัดระวังการรักษาความลับของผู้รับบริการ การบันทึกเป็นแบบนิรนาม วิเคราะห์และสรุปปัญหาในภาพรวม
2. มีข้อจำกัดเรื่องเวลาการให้และการรับบริการ เนื่องจากอาจารย์ผู้ให้บริการคำปรึกษามีภารกิจด้านการสอนมาก บางครั้งต้องสอนภาคปฏิบัติที่โรงพยาบาล ส่วนผู้รับบริการติดเรียนและทำงาน เวลานัดหมายจึงมักเป็นเวลาเย็นถึงค่ำ อาจารย์ต้องเดินทางกลับจากการสอนภาคปฏิบัติในแหล่งฝึกเพื่อมาให้บริการคำปรึกษาที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
3. Proven through successful mission operation, Objectives and Key Results for Knowledge Management – CHECK
ความรู้ที่ค้นพบใหม่ เรียนรู้ว่าการดำเนินการบริการให้คำปรึกษาของ Healing Heart Center สามารถช่วยเยียวยาผู้ที่มีประสบการณ์ทุกข์ใจในชีวิต โดยเสริมสร้างความตระหนักรู้ในตนเอง ความเข้าใจตนเอง เสริมภูมิคุ้มกันทางจิตใจ เพิ่มทักษะการเผชิญปัญหา และปรับเปลี่ยนมุมมองต่อตัวเองและคนรอบข้างในทางสร้างสรรค์ ทำให้ผู้รับบริการเกิดสุขภาวะ (Well-being) ดังภาพที่ 1

ภาพที่ 1 Healing heart from stressful life experiences to well-being
ข้อเสนอแนะในการดำเนินการในอนาคต หรือการดำเนินการเพื่อสามารถนำไปสู่การเป็น Good Practice
1. คงการให้บริการคำปรึกษาแก่นักศึกษา บุคลากร
และประชาชนในชุมชนใกล้เคียงที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต ให้มีสุขภาวะทั้งทางกายและจิตใจ
เพื่อร่วมสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยรังสิตเป็น Health Promotion University ที่เข้มแข็งต่อไป
2. พัฒนาและประชาสัมพันธ์ application ที่นักศึกษา บุคลากร และประชาชน
สามารถเข้าถึงการบริการให้คำปรึกษาได้ง่ายและทั่วถึง
3. พัฒนาระบบบันทึกข้อมูลการให้บริการคำปรึกษาเพื่อสามารถติดตามการให้บริการได้ต่อเนื่อง
โดยคงยึดหลักการรักษาความลับของผู้รับบริการ