กระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนา Soft Skills
ให้กับนักศึกษาหลักสูตรบัญชีบัณฑิต

ยุทธศาสตร์ที่ 1 : KR 1.2.4

รางวัลดีเด่น ปี2566

ผู้จัดทำโครงการ​

อ.วัฒนา ศรีถาวร รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา

คณะบัญชี

หลักการและเหตุผล/ความสำคัญ/ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้​

คุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ของหลักสูตรบัญชีบัณฑิต พ.ศ. 2563  นอกจากเป็นผู้มีความรู้ด้านเทคนิคทางวิชาชีพบัญชี สามารถประยุกต์และบูรณาการศาสตร์สาขาวิชาการบัญชีกับศาสตร์สาขาวิชาอื่นๆ ในการทำงานในสายงานบัญชีแล้ว บัณฑิตทุกคนจะต้องมีความตระหนักรู้ในคุณค่าวิชาชีพ มีทัศนคติที่ดี และรู้ว่าการรักษาไว้ซึ่งจรรยาบรรณวิชาชีพมีความสำคัญอย่างไร รวมทั้งมีทักษะด้าน Soft Skills ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญของคนยุคใหม่ แม้จะถูกเรียกว่า “Soft Skill” แต่กลับเป็นทักษะที่มีความสำคัญเหนือกว่า Hard Skills เพราะเป็นพลังบวกภายในที่จะช่วยให้การพัฒนาในทักษะด้านอื่น ๆ ดีขึ้นได้อย่างมั่นใจ ซึ่งจะทำให้สามารถดำรงชีวิตในสังคมและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ทักษะดังกล่าวประกอบด้วยทักษะสำคัญในด้านต่างๆ ต่อไปนี้ การสื่อสาร การแก้ไขปัญหา การทำงานแบบเป็นทีม การเจรจาต่อรอง การจัดการเวลาหรือจัดการตนเอง และภาวะผู้นำ
Soft Skills เป็นทักษะที่ช่วยให้นักศึกษาและบัณฑิตเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับผู้อื่นไปพร้อมกับการสร้างสัมพันธภาพที่ดีในการทำงาน ซึ่งบริษัทและองค์กรชั้นนำทั่วโลกใช้เป็นข้อพิจารณาในการคัดเลือกคนเข้าทำงาน
โดยเฉพาะนักบัญชีในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงบทบาทความรับผิดชอบจากการทำงานหลังสำนักงาน
(Back Office) ไปสู่งานระดับบริหารเป็นหุ้นส่วนหรือทำงานเคียงคู่กับผู้บริหารระดับสูงในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลจึงทำให้ความรู้ด้านเทคนิควิชาชีพและทักษะเฉพาะงาน (Hard Skills) อย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะทำให้การทำงานเติบโตก้าวหน้าได้อย่างมั่นคง จำเป็นต้องใช้ Soft Skills ในการทำงานร่วมกันผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพสูงและมีความสุข

หลักสูตรบัญชีบัณฑิต ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนา Soft Skills ให้กับนักศึกษาจึงได้มุ่งเน้น พัฒนาคุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ในด้านความรับผิดชอบต่อตนเอง วิชาชีพ และสังคม  มีความรับผิดชอบสูงต่อการทำงานและสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างดี มีความคิดสร้างสรรค์และการนำการเปลี่ยนแปลง    และสามารถติดต่อสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้เป็น Soft skills ที่สำคัญของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีในปัจจุบันและต่อไป

ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้ 
10 Soft Skills ที่สำคัญกับการทำงานในยุคปัจจุบัน

  1. การบริหารจัดการเวลา (Time Management) ในบางครั้ง การทำงานจำเป็นต้องทำอะไรหลาย ๆ อย่างพร้อม ๆ กัน การวางแผนระยะเวลาในการทำงานและการจัดลำดับความสำคัญ เป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะหากไม่สามารถบริหารเวลาได้ อาจส่งผลต่อผลการเรียนและต่องานที่ตนรับผิดชอบไม่สามารถเสร็จตามกำหนดเวลาได้นั่นเอง
  2. การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-Long Learning) ในปัจจุบันสังคมและเทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้นักศึกษาต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-Long Learning) จึงเป็นทักษะที่สำคัญในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งจะเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ เพื่อสร้างความก้าวหน้า ความมั่นคง และพร้อมรับมือสำหรับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
  3. การสื่อสาร (Communication) แน่นอนว่างานทุกงานต้องอาศัยการสื่อสารร่วมกับผู้อื่น ไม่ว่าจะทั้งกับลูกค้าหรือเพื่อนร่วมงาน แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทำให้นักศึกษาไม่กล้าที่จะสื่อสารทำให้เกิดปัญหาตามมาในการชีวิต การเรียน และการงาน ซึ่งการสื่อสารนั้นก็มีหลากหลายรูปแบบ ตามแต่ละบริบท
    เราจะต้องรู้ก่อน ว่าเราจะสื่อสารเรื่องอะไร กับใคร และเลือกวิธีการสื่อสารให้เหมาะสมกับสถานการณ์นั้น ๆ
  4. ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ความสามารถในการคิดสิ่งใหม่ ๆ ในแนวทางที่หลากหลาย ซึ่งทักษะนี้จะต้องอาศัยการเป็นคนช่างสังเกตุ เปิดกว้าง และศึกษาหาข้อมูลอย่างหลากหลาย เพื่อนำมาต่อยอดเป็นไอเดียใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์ในการต่อยอดธุรกิจ
  5. ความสามารถในการปรับตัว (Adaptability) จากผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะรูปแบบและวิธีการทำงานที่หลาย ๆ องค์กรต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ดังนั้นความสามารถในการปรับตัว และเตรียมพร้อมกับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลง จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
  6. การฟังอย่างตั้งใจ (Active Listening) การเป็นผู้ฟังที่ดี ช่วยให้การทำงานเป็นไปด้วยความราบรื่นกว่าที่คิด ช่วยให้เราสามารถรับสารต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง และสื่อสารกลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการตั้งใจฟังนั้น หมายรวมถึง การรับฟังอย่างเข้าใจ และการที่พยายามเข้าใจผู้อื่น (Empathy) 
  7. การทำงานร่วมกับผู้อื่น (Collaboration) ในสังคมของการทำงานนั้น เรามักจะเจอผู้คนหลากหลายรูปแบบ ที่มีความแตกต่างกัน ในด้านต่าง ๆ บางคนอาจจะสามารถคุยกันได้อย่างถูกคอ หรือสื่อสารได้อย่างง่ายดาย แต่ในบางคนเราจำเป็นจะต้องอาศัยทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ปรับรูปแบบวิธีการทำงานเพื่อให้เข้ากับคนนั้น ๆ ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  8. การเจรจาต่อรอง (Negotiation) ทักษะนี้ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นสายอาชีพงานขายเท่านั้น แต่สามารถนำมาใช้ในการทำงานด้านอื่น ๆ ได้อีกด้วย อย่างเช่น การเจรจาต่อรองเพื่อให้โปรเจคที่คิดมา ได้รับการอนุมัติ หรือ การเจรจาไกล่เกลี่ยเมื่อทีมมีปัญหาที่เข้าใจผิดกัน เป็นต้น
  9. การทำหลายสิ่งพร้อม ๆ กัน (Multitasking) ทักษะสำคัญที่หลายองค์กรกำลังมองหานั่นก็คือความสามารถในการทำงานที่หลากหลาย ทักษะนี้จะช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้น ลดขั้นตอนและเวลาในการส่งผ่านงานไปสู่คนอีกคนหนึ่ง และทำให้พนักงานได้พัฒนาตนเองได้อย่างรวดเร็ว 
  10. จรรยาบรรณในการทำงาน (Work Ethic) การปฏิบัติตามกฎระเบียบของบริษัทฯ ความรับผิดชอบต่องานที่ทำและสังคม เป็นสิ่งที่พนักงานทุกคนควรมี เพื่อเป็นการสร้างนิสัยที่ดีในการทำงาน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้พนักงานอีกด้วย 

อ้างอิง :
https://www.urbinner.com/post/what-are-soft-skills
https://blog.jobthai.com/career-tips
https://novoresume.com/career-blog/soft-skills 

 

ประเภทความรู้และที่มาความรู้

ความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge) :

เจ้าของความรู้/สังกัด อาจารย์วัฒนา ศรีถาวร คณะบัญชี มหาวิทยาลัยรังสิต จากเป็นคณะกรรมการฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะกรรมการฝ่ายวิชาการ และอาจารย์ที่ปรึกษาในการฝึกซ้อมนักศึกษาเข้าสู่การแข่งขันและการทำกิจกรรมทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย โดยได้รับรางวัลด้านการพูด การเขียน การแข่งกรณีศึกษาระดับประเทศอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี 

(www.tfac.or.th และ https://apheit.org)

วิธีการดำเนินการ

1. วิธีการดำเนินการ

หลักสูตรได้จัดให้มีการประชุมและวางแผนการปรับปรุงกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนานักศึกษาด้าน Soft Skills โดยบรรจุลงในแผนปฏิบัติการประจำปีการศึกษา มาโดยตลอดตั้งแต่ระยะแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาคณะฉบับเดิม ปี 2559-2564 จนถึงปีการศึกษา 2566 ซึ่งอยู่ในช่วงปี 2 ของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาคณะ ปี 2565 – 2569  โดยมีวัตถุประสงค์ที่2 คือ กระบวนการจัดการเรียนการสอนและการพัฒนาศึกษามีคุณภาพและเป็นนวัตกรรมที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ผู้เรียน โดยกำหนดเป้าหมายผลลัพธ์ ไว้ในข้อ 1.2.4 กิจกรรม/โครงการพัฒนาคุณลักษณะบัณฑิตพึ่งประสงค์ จะบรรลุผลตามตัวชี้วัดความสำเร็จและวัตถุประสงค์ทุกข้อ  ผลการดำเนินงานปรากฏในรายงานผลการดำเนินงานของหลักสูตร  ในองค์ประกอบ 3 นักศึกษา ตัวบ่งชี้ 3.1 ระบบและกลไกการรับนักศึกษาและการเตรียมความพร้อม ตัวบ่งชี้ 3.2 การพัฒนานักศึกษา และตัวบ่งชี้ 3.3 อัตราการคงอยู่
อัตราสำเร็จการศึกษา และความพึงพอใจของนักศึกษาที่มีต่อหลักสูตร ซึ่งปรากฏผลในระดับดีมากอย่างต่อเนื่องตลอดระยะ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2565 โดยเฉลี่ยองค์ประกอบนี้มีแนวโน้มค่าอันดับคะแนนสูงขึ้น ในระดับดีมากมาโดยตลอด สร้างความเชื่อมั่นให้กับองค์การธุรกิจโดยจะเห็นได้จากภาวะการได้งานทำภายใน 1 ปีหลังสำเร็จการศึกษา มีค่าเท่ากับ 86.67%, 100.00%, 87.63%, 100% และ 100.00% ตามลำดับ และความพึงพอใจของนายจ้างต่อบัณฑิตจบใหม่ มีค่าเท่ากับ 4.36, 4.42, 4.37, 4.64, และ 4.61 ตามลำดับ

การดำเนินงานมีขั้นตอนพอสรุปได้ดังนี้

  1. การปรับทัศนคติในการเรียนในระบบการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาและทำความรู้จักคณะบัญชีเพื่อให้นักศึกษามีความเข้าใจในระบบการจัดการเรียนการสอน และการปรับตนให้เข้ากับระบบการศึกษาของมหาวิทยาลัยรังสิต และรู้จักหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนอาจารย์ประจำหลักสูตร ด้วยการเตรียมความพร้อมของนักศึกษาด้านการสร้างเสริมคุณลักษณะภายใน (Soft Skills) ที่ดี
  2. คณะกรรมการนักศึกษาและวินัยทำงานร่วมกับคณะกรรมการนักศึกษาคณะบัญชี จัดกิจกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนักศึกษาใหม่ด้วยกัน ระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง และระหว่างนักศึกษากับอาจารย์ พร้อมกับเซ็นรับรองการสะสมจำนวนชั่วโมงการเข้าร่วมกิจกรรมด้านกิจการนักศึกษา เพื่อประเมินการพัฒนาทักษะด้าน Soft Skills 
  3. การสอดแทรกกิจกรรมการพัฒนาทักษะด้าน Soft Skills ในรายวิชาต่าง ๆ เช่น รายวิชา ACC331 การพัฒนาทักษะเทคนิควิชาชีพบัญชี วางแผนการจัดกระบวนการเรียนรู้ Soft Skills ไว้ทั้งหมด 12 ชั่วโมง วิชา ACC327 การบัญชีและภาษีอากรสำหรับธุรกิจ ใช้กิจกรรมฐานบัญชีภาษีอากรเคลื่อนที่ จัดโดยผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ซึ่งได้สอดแทรกประสบการณ์การแก้ไขปัญหาการปฏิบัติทางภาษีของธุรกิจของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี หรือ Practitioner ลงในฐานกิจกรรมต่างๆ  ตามประเภทของภาษีอากร ที่นักศึกษาจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขกรณีศึกษาและอภิปรายกับผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีที่ประจำอยู่ในแต่ละฐาน และวิชา ACC255 จรรยาบรรณและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี โดยการจัดกิจกรรมการแข่งขันสุนทรพจน์และเรียงความ เรื่อง การเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาชีพบัญชี พร้อมจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เป็นคลิปวีดีโอกรณีศึกษาการกระทำผิดจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีโดยจัดทำเป็นงานกลุ่ม วิชา ACC253 หลักการบัญชีต้นทุน ACC254 การจัดการระบบสารสนเทศทางการบัญชี สองวิชานี้ใช้กิจกรรมที่บูรณาการโครงงานพัฒนาระบบบัญชีต้นทุนการผลิตให้กับวิสาหกิจชุมชน ACC498 สหกิจศึกษา เป็นต้น การจัดการเรียนรู้ในรูปแบบนี้ทำให้นักศึกษามีความแตกฉานในความรู้ด้านเทคนิควิชาชีพควบคู่ไปกับการพัฒนา Soft Skills ในด้านการทำงานเป็นทีม ความรับผิดชอบต่อตนเองและงานที่ทำร่วมกับผู้อื่น ความคิดสร้างสรรค์ การติดต่อสื่อสาร การเจรจาต่อรอง และการแก้ไขปัญหา รวมทั้งการจัดการตนเอง
  4. การส่งเสริมนักศึกษาเข้าร่วมการแข่งขันทั้งระดับมหาวิทยาลัยและระดับประเทศ เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ตอบโจทย์ความท้าทายความสามารถและศักยภาพของนักศึกษา หลักสูตรจะทำการประชาสัมพันธ์ข่าวสารเกี่ยวกับการแข่งขัน ผ่านสื่อออนไลน์ เช่น Facebook Instagram และ line Group ของคณะบัญชี ช่องทางออฟไลน์ผ่านท่านอาจารย์ที่ปรึกษาและอาจารย์ผู้สอนประจำรายวิชา  เพื่อรับสมัครนักศึกษาเข้าร่วมโครงการแข่งขัน หลังจากนั้นดำเนินการคัดเลือกนักศึกษาโดยคณะกรรมการฝ่ายวิชาการและอาจารย์ประจำหลักสูตรบัญชีบัณฑิต เมื่อได้นักศึกษาเข้าร่วมโครงการการแข่งขันแล้ว ทางคณะจะจัดอาจารย์ที่ปรึกษาการแข่งขันอาจารย์ผู้สอนติว เริ่มต้นด้วยการปฐมนิเทศการแข่งขันในเวทีต่างๆ โดยคณบดี เพื่อให้นักศึกษาได้เข้าใจจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการเข้าแข่งขันที่ไม่ใช่มีเพียงเพื่อชิงรางวัล แต่เป็นโอกาสในการสร้าง Profile ที่ดีให้กับตนเอง เพื่อใช้ประโยชน์ในการสมัครงาน เพราะจะได้รับการพัฒนาเป็นระยะนานนอกเหนือจากการเรียนในชั้นเรียนของวิชาต่างๆ ทางคณะโดย อ.วัฒนา ศรีถาวร ใช้การสร้างสถานการณ์จำลองของรูปแบบการแข่งขันเพื่อให้นักศึกษาคุ้นชินโดยมีรุ่นพี่และคณาจารย์ที่มีประสบการณ์มาถ่ายทอดบรรยากาศและถอดองค์ความรู้จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง การสร้างแรงกดดันให้กับนักศึกษาในการที่จะต้องค้นคว้าข้อมูลจากแหล่งต่างๆ การใช้เทคโนโลยี การวิเคราะห์ข้อมูล การนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาหรือกลยุทธ์ทางธุรกิจ จะจบลงที่การนำเสนอด้วยวาจาในทุกเวทีที่เข้าร่วม ดังนั้นกระบวนการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้การคิดวิเคราะห์ สถานการณ์ การค้นหาปัญหาทางธุรกิจ การวางกลยุทธ์เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหา สุดท้ายนักศึกษาจะต้องเขียนรายงาน และนำเสนอด้วยวาจา ซึ่งพบว่าด้วยขั้นตอนที่ดำเนินการพัฒนานักศึกษาที่ใช้ ทำให้คณะบัญชีประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องโดยนักศึกษาได้รับรางวัลจากทุกเวทีการแข่งขันที่จัดโดยองค์การภายนอก ดังแสดงในรายงานผลการดำเนินงานของหลักสูตรบัญชีบัณฑิต
  5. ถอดบทเรียนจากการดำเนินงานของคณะกรรมการหลักสูตรบัญชีบัณฑิตที่ผ่านมาเพื่อนำอุปสรรคปัญหามาปรับปรุงแผนการพัฒนานักศึกษาในปีถัดไป จะเป็นกิจกรรมที่ดีมากเพราะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่มีต่อผลประเมินการดำเนินงานทั้งหมดที่มุ่งสู่การพัฒนา Soft Skills ให้กับนักศึกษา และการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของนักศึกษา

 

  1. Prototype testing in an operational environment – DO 

ผลการดำเนินการ การนำไปใช้ หรือการลงมือปฏิบัติจริง อุปสรรคหรือปัญหาในการทำงาน 

ผลการดำเนินการตลอดระยะเวลาที่ผ่าน 5 ปี ของนักศึกษาคณะบัญชีระดับปริญญาตรี

  1. การแข่งขันการประกวดพูดเพื่อสังคมที่ยั่งยืน “พจนศิลป์” จัดโดย มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) 

– รางวัลชนะเลิศ “พจนศิลป์” ครั้งที่ 3 ถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 

– รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 2 “พจนศิลป์” ครั้งที่ 4

  1. โครงการประกวดสุนทรพจน์และการเขียนเรียงความเรื่อง “การเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาชีพบัญชี” จัดโดยสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท)

– รางวัลชนะเลิศการประกวดสุนทรพจน์และการเขียนเรียงความทางบัญชี โครงการ “การเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมทางวิชาชีพบัญชี” ครั้งที่ 6 ครั้งที่ 7 ครั้งที่ 8 และ ครั้งที่ 10 

– รองรางวัลชนะเลิศการประกวดสุนทรพจน์และการเขียนเรียงความทางบัญชี โครงการ “การเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมทางวิชาชีพบัญชี” ครั้งที่ 9 

  1. การแข่งขันกรณีศึกษาทางบัญชีระดับประเทศ จัดโดย สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์

– รางวัลชนะเลิศการแข่งขันกรณีศึกษาทางบัญชีระดับประเทศ ครั้งที่ 5 ประจำปี 2564

– รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 การแข่งขันกรณีศึกษาทางบัญชีระดับประเทศ ครั้งที่ 7 ประจำปี 2566

– รางวัลชนะเลิศอันดับ 3 การแข่งขันกรณีศึกษาทางบัญชีระดับประเทศ ครั้งที่ 6 ประจำปี 2565

– รางวัลชนะเลิศอันดับ 3 การแข่งขันกรณีศึกษาทางบัญชีระดับประเทศ ครั้งที่ 4 ประจำปี 2563

– รางวัลชนะเลิศอันดับ 4 การแข่งขันกรณีศึกษาทางบัญชีระดับประเทศ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2562

  1. การแข่งขันตอบปัญหาทางวิชาการด้านการบัญชี ระดับมหาวิทยาลัย จัดโดย สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท)

– รางวัลชนะเลิศการแข่งขันตอบปัญหาทางวิชาการด้านการบัญชี ระดับมหาวิทยาลัยครั้งที่ 14 ถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

– รางวัลชนะเลิศการแข่งขันตอบปัญหาทางวิชาการด้านการบัญชี ระดับมหาวิทยาลัยครั้งที่ 16 ถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

– รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 การแข่งขันตอบปัญหาทางวิชาการด้านการบัญชี ระดับมหาวิทยาลัยครั้งที่ 15

– รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 การแข่งขันตอบปัญหาทางวิชาการด้านการบัญชี ระดับมหาวิทยาลัยครั้งที่ 13

– รางวัลชมเชย การแข่งขันตอบปัญหาทางวิชาการด้านการบัญชี ระดับมหาวิทยาลัยครั้งที่ 12

  1. รางวัลนักศึกษาพระราชทาน

– รางวัลนักศึกษาทุนพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และปีการศึกษา 2562

– รางวัลเยาวสตรีไทยดีเด่น ประจำปี 2562

– รางวัลชมเชยนักศึกษาพระราชทานระดับอุดมศึกษา ภาคกลาง สถานศึกษาขนาดใหญ่ ประจำปีการศึกษา 2563

  1. Proven through successful mission operation, Objectives and Key Results for Knowledge Management – CHECK

การตรวจสอบผลการดำเนินการ การนำเสนอประสบการณ์การนำไปใช้ สรุปและอภิปรายผล บทสรุปความรู้หรือความรู้ที่ค้นพบใหม่ 

การตรวจสอบผลลัพธ์ที่เกิดจากกระบวนการพัฒนานักศึกษาด้าน Soft Skills ในระดับปริญญาตรี ใช้ระบบการประเมินคุณภาพการศึกษา เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบ เพื่อสร้างความมั่นใจในผลลัพธ์ที่เกิดจากผลการดำเนินงาน ณ ปัจจุบัน ได้ตรวจสอบผลของการดำเนินการตามขั้นตอนมาเป็นระยะเวลา 5 ปี พบว่าได้รับรางวัลระดับประเทศอย่างต่อเนื่องเป็นไปตามแผนงานของหลักสูตรที่วางไว้ และได้ความรู้เชิงกระบวนการในเลือกเวทีการแข่งขันระดับประเทศให้ประสบความสำเร็จ โดยใช้ความเชี่ยวชาญของคณะกรรมการในหลักสูตร คณาจารย์ในคณะ และความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอก เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้จากการแข่งขัน โดยไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคปัญหาที่จะเข้ามาโดยใช้ทักษะด้าน Soft Skills ในการบริหารจัดการตนเองและการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ

ผลการดำเนินงานด้านการประกันคุณภาพ องค์ประกอบที่ 2 คุณภาพบัณฑิต และองค์ประกอบที่ 3 ด้านนักศึกษา ย้อนหลัง 3 ปีมีดังนี้

ปีการศึกษา

องค์ประกอบที่ 2

องค์ประกอบที่ 3

2.1 
คุณภาพ
บัณฑิต

2.2
ภาวะ
การได้งานทำ

3.1
การรับ
นักศึกษา

3.2
การส่งเสริมและ
พัฒนานักศึกษา

3.3
ผลที่เกิด
กับนักศึกษา

2563

4.40

4.37

4.00

4.00

3.00

2564

4.65

5.00

4.00

4.00

4.00

2565

4.63

5.00

4.00

4.00

4.00

การดำเนินงานของหลักสูตรบัญชีบัณฑิตที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากกระบวนการจัดการความรู้ภายในหลักสูตรและคณะวิชาจากการประชุมระดมสมองอาจารย์ทุกครั้งก่อนที่จะดำเนินโครงการและหลังดำเนินการโครงการ  ข้อมูลที่ได้จากการประเมินผลการดำเนินงานโครงการพัฒนานักศึกษา ความเห็นของอาจารย์ที่ปรึกษา และการติดตามผลการดำเนินงานตามเป้าหมายแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาคณะ หลักสูตรฯ ได้นำข้อมูลเหล่านี้มาพิจารณาทบทวนกระบวนการดำเนินงานต่างๆ เพื่อค้นหาสิ่งที่สมควรปรับปรุงแก้ไข หรือสิ่งที่ควรเสริมสร้างความเข้มแข็งต่อไป ซึ่งนำไปสู่การจัดทำแผนการปรับปรุงการดำเนินงาน

ข้อเสนอแนะในการดำเนินการในอนาคต หรือการดำเนินการเพื่อสามารถนำไปสู่การเป็น Good Practice

ข้อเสนอแนะในการดำเนินการในอนาคต หรือการดำเนินการเพื่อสามารถนำไปสู่การเป็น Good Practice 

จากการทบทวนกระบวนการที่มีต่อกระบวนการพัฒนานักศึกษาด้าน Soft Skills ในระดับปริญญาตรีทางหลักสูตรนำมาใช้ประกอบการพิจารณาในการวางแผนการจัดกระบวนการเรียนรู้สำหรับปีการศึกษาต่อไป ดังนี้

  1. ด้านการปรับปรุงรูปแบบกิจกรรม ทางหลักสูตรบัญชีบัณฑิตจะต้องปรับเป้าหมายการพัฒนานักศึกษาด้าน Soft Skills ให้เหมาะสมผลลัพธ์การเรียนรู้ของแต่ละชั้นปี เพื่อให้การปรับปรุงรูปแบบกิจกรรมที่จะบูรณาการในการสอนรายวิชาต่างๆ มีความทันสมัยและน่าสนใจมากขึ้น โดยขยายความร่วมมือกับองค์การวิชาชีพบัญชี หรือองค์การภาคธุรกิจและภาครัฐในการพัฒนานักศึกษา กระตุ้นให้เกิดการใฝ่รู้และความต้องการในการพัฒนาตนเองให้มากขึ้น เพื่อให้นักศึกษาทุกคนที่จบหลักสูตรบัญชีบัณฑิตได้รับการพัฒนาทักษะด้าน Soft Skills และจะต้องทำการสำรวจความคิดเห็นจากนักศึกษาเพื่อสะท้อนความต้องการของนักศึกษาการพัฒนาตนเอง ความคิดเห็นของหัวหน้างานจากสถานประกอบที่ได้ให้การฝึกหัดงาน นำข้อมูลมาใช้การปรับปรุงกิจกรรมโครงการพัฒนานักศึกษาให้ตรงกับความต้องการของตลาด
  2. ด้านการพัฒนาอาจารย์ประจำหลักสูตร โดยเปิดโอกาสให้อาจารย์ประจำหลักสูตรทุกท่านเข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาในการแข่งขันต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเริ่มจากการเข้าสังเกตการณ์จากเวทีการแข่งขัน การศึกษาพัฒนาความรู้ของตนเองเพื่อเตรียมตัวเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาต่อไป
  3. ด้านวิทยากรผู้นำกิจกรรม ทางหลักสูตรบัญชีบัณฑิตจำเป็นต้องพัฒนาอาจารย์ประจำหลักสูตรให้สามารถดำเนินกิจกรรมด้วยตนเองให้ได้มากขึ้น เพื่อจะได้สามารถจัดกิจกรรมได้เองในอนาคต
  4. ด้านการพัฒนารูปแบบการเข้าร่วมการแข่งขัน ควรให้นักศึกษาทุกคนได้เข้าสู่กระบวนการแข่งขันในระดับประเทศเพื่อเป็นพัฒนาทักษะด้าน Soft Skills เช่น การแข่งขันกรณีศึกษาทางบัญชีระดับประเทศที่แต่ละสถาบันสามารถส่งเข้าร่วมการแข่งขันกี่ทีมก็ได้อย่างไม่จำกัดจำนวน เนื่องจากการแข่งขันกรณีศึกษาทางบัญชีเป็นการพัฒนานักศึกษาทั้งด้าน Soft Skills เพื่อฝึกการทำงานเป็นทีม การสื่อสาร การบริหารจัดการเวลา และความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอกลยุทธ์ทางธุรกิจ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาด้าน Hard Skills ที่สามารถนำความรู้จากวิชาที่เรียนมาประยุกต์ใช้ในการจัดทำกรณีศึกษาไม่ว่าจะเป็นวิชาการเงินและการลงทุน วิชาการวิเคราะห์งบการเงิน และวิชาการตลาด เป็นต้น
Scroll to Top