สอนอย่างไรจึงจะทำให้นักศึกษา
นำความรู้สู่การปฏิบัติได้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 : KR 1.2.1

รางวัลดีเด่น ปี2566

ผู้จัดทำโครงการ​

ผศ. สมหญิง โควศวนนท์, อาจารย์ดวงใจ ลิมตโสภณ, อาจารย์ธนัสมัญญ์ เหลืองกิตติก้อง, อาจารย์วิมลวัลย์ วโรฬาร,
อาจารย์ศศิพินทุ์ ศุภมนตรี บัวพล

คณะพยาบาลศาสตร์

หลักการและเหตุผล/ความสำคัญ/ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้​

สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์เป็นสาขาวิชาทางวิชาชีพ การศึกษาสาขาพยาบาลศาสตร์จึงมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความสามารถในการปฏิบัติการพยาบาลโดยใช้ศาสตร์ทางการพยาบาลและศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง วิชาที่กลุ่มวิชาการพยาบาลเด็กและวัยรุ่นรับผิดชอบหลัก ได้แก่ วิชา  BNS 234 การพยาบาลเด็กและวัยรุ่น เป็นวิชาภาคทฤษฎี และ BNS 388 ปฏิบัติการการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น เป็นวิชาภาคปฏิบัติ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจแนวคิดและทฤษฎีพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น สามารถให้การพยาบาลเด็กและวัยรุ่นที่มีภาวะสุขภาพดีและมีปัญหาสุขภาพได้ครอบคลุมถึงการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การดูแลสุขภาพ และการฟื้นฟูสุขภาพ โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของครอบครัว การพิทักษ์สิทธิเด็ก รวมทั้งประเด็นปัญหากฎหมายและประเด็นจริยธรรมที่เกี่ยวข้อง และสามารถนำความรู้จากการเรียนทฤษฎีไปใช้ในการปฏิบัติการพยาบาลเด็กและวัยรุ่นได้ สามารถวิเคราะห์ข้อมูลภาวะสุขภาพของผู้ป่วยเด็ก วางแผนการพยาบาล และปฏิบัติการพยาบาลเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพของผู้ป่วยเด็กได้ ซึ่งนักศึกษาจำเป็นต้องมีทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณและทักษะในการแก้ปัญหา นอกจากนั้นนักศึกษายังจำเป็นต้องมีทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และมีภาวะผู้นำ ในการจัดการการพยาบาล ทักษะเหล่านี้เป็นสมรรถนะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และถูกกำหนดให้เป็นวัตถุประสงค์ของหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต

          การจัดการเรียนการสอนวิชาการพยาบาลเด็กและวัยรุ่นที่ผ่านมา ในภาคทฤษฎีจะเน้นการบรรยายเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากมีเนื้อหาค่อนข้างมาก แต่ก็พบปัญหาว่าการจัดสอบเพื่อวัดความรู้เพียงอย่างเดียว มีนักศึกษาสอบไม่ผ่าน 60% เป็นจำนวนมาก เมื่อนักศึกษาไปเรียนในวิชาปฏิบัติ ก็พบปัญหาว่า นักศึกษาไม่สามารถนำความรู้จากการเรียนภาคทฤษฎีไปใช้ในการปฏิบัติการพยาบาลได้  

ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้

         แนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น การประยุกต์กระบวนการพยาบาลในการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น แนวคิดสมรรถนะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และการเรียนรู้ด้วยกรณีศึกษา

          การเรียนรู้ด้วยกรณีศึกษา (Case studies) เป็นเทคนิคการสอนที่กระตุ้นให้ผู้เรียนทำความเข้าใจและเชื่อมโยงเหตุการณ์สมมติหรือเหตุการณ์ที่มีเค้าโครงจากเรื่องจริงกับความรู้หรือทักษะที่ได้เรียนรู้ในรายวิชา โดยมีการกำหนดประเด็นคำถามเกี่ยวกับกรณีศึกษาและองค์ความรู้ที่ต้องนำมาใช้อย่างชัดเจน แต่ไม่มีการจำกัดคำตอบที่ถูกผิดหรือคำตอบที่แน่นอนเพียงคำตอบเดียว การเรียนรู้ด้วยกรณีศึกษา (Case studies) ช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกการคิดวิเคราะห์และการอภิปรายสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น ได้สังเคราะห์และประเมินแนวทางการตอบสนองต่อเหตุการณ์สมมติอย่างมีหลักการ ได้พัฒนามุมมองความคิดของตนเองจากการแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดของผู้อื่น อีกทั้งช่วยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนคิดสร้างสรรค์คำตอบที่หลากหลายได้ ทำให้ผู้เรียนกล้าคิดกล้าเปิดเผยมุมมองของตนเอง

          คณาจารย์ในกลุ่มวิชาการพยาบาลเด็กและวัยรุ่นจึงเลือกใช้การเรียนรู้ด้วยกรณีศึกษามาใช้ในการจัดการเรียนการสอนวิชาการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น โดยสร้างกรณีศึกษาที่มีเค้าโครงจากกรณีผู้ป่วยจริงที่สำคัญ พบบ่อย และต้องใช้ความรู้การพยาบาลเด็กและวัยรุ่นในส่วนที่สำคัญร่วมกับการใช้กระบวนการพยาบาลในการแก้ปัญหากรณีศึกษา ซึ่งนักศึกษาต้องใช้ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณและทักษะในการแก้ปัญหา โดยให้นักศึกษาทำงานร่วมกันเป็นทีม มีการแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดของผู้อื่น และร่วมกันวางแผนแก้ปัญหาของกรณีศึกษา ด้วยวิธีการนี้ผู้สอนเชื่อว่าเมื่อนักศึกษาขึ้นฝึกปฏิบัติวิชาปฏิบัติการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น นักศึกษาจะสามารถนำความรู้ทางทฤษฎีไปใช้ในการปฏิบัติการพยาบาลแก่ผู้ป่วยเด็กได้

ประเภทความรู้และที่มาความรู้

ความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge) :

แนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น การประยุกต์กระบวนการพยาบาลในการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น แนวคิดสมรรถนะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และการเรียนรู้ด้วยกรณีศึกษา

วิธีการดำเนินการ

1. วิธีการดำเนินการ

  1. อาจารย์ในกลุ่มวิชาประชุมประเมินและสรุปปัญหาการจัดการเรียนการสอนวิชาการพยาบาลเด็กและวัยรุ่นที่ผ่านมา และร่วมกันพิจารณาปรับรูปแบบการเรียนการสอนวิชา BNS 234 การพยาบาลเด็กและวัยรุ่น ซึ่งเดิมเน้นการบรรยายเป็นหลัก มาเป็นการเรียนรู้ด้วยกรณีศึกษา ด้วยเห็นว่าเป็นวิธีการที่นักศึกษาได้ฝึกการคิดวิเคราะห์ปัญหาของผู้ป่วยกรณีศึกษา และได้เชื่อมโยงความรู้ทางทฤษฎีมาอธิบายกรณีศึกษาและวางแผนการพยาบาลเพื่อแก้ปัญหาของผู้ป่วยกรณีศึกษา ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้การเชื่อมโยงความรู้ทางทฤษฎีสู่การปฏิบัติการพยาบาล โดยจะแบ่งสัดส่วนเวลาของการเรียน ร้อยละ 50 (15 ชั่วโมง) เป็นการสรุปสาระสำคัญของแนวคิดทฤษฎีของการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น และอีกร้อยละ 50 (15 ชั่วโมง) เป็นการแบ่งกลุ่มนักศึกษาเพื่อวิเคราะห์กรณีศึกษา โดยอาจารย์ในทีมผู้สอนทุกคนเข้าสอนประจำกลุ่ม
  2. อาจารย์ในกลุ่มวิชาร่วมกันสร้างกรณีศึกษาที่สำคัญ พบบ่อย และครอบคลุมสาระสำคัญของการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น จำนวน 5 เรื่อง โดยใช้เค้าโครงเรื่องมาจากผู้ป่วยจริง พร้อมประเด็นคำถามให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์ ค้นหาคำตอบ ประเด็นคำถามจะครอบคลุมการประเมินสภาพผู้ป่วย พยาธิสรีรวิทยาของโรค อธิบายการเกิดอาการ อาการแสดง และการตรวจพบ วิเคราะห์ปัญหาของผู้ป่วย (ข้อวินิจฉัยการพยาบาล) การวางแผนการพยาบาล และการประเมินผล ทีมผู้สอนร่วมกันพิจารณาความถูกต้องเหมาะสมของกรณีศึกษา
  3. อาจารย์ในกลุ่มวิชาร่วมกันสร้างคู่มือการสอนโดยใช้กรณีศึกษา แนวคำตอบของประเด็นคำถามทั้ง 5 กรณี เพื่อใช้เป็นแนวทางในการสอนการวิเคราะห์กรณีศึกษา
  4. แบ่งนักศึกษาออกเป็น 5 กลุ่ม ๆ ละประมาณ 17 คน ต่ออาจารย์ 1 คน แต่ละกลุ่มแบ่งนักศึกษาเป็น 3 กลุ่มย่อย ให้นักศึกษาทุกคนอ่านกรณีศึกษาและทบทวนความรู้ที่ต้องใช้มาล่วงหน้าก่อนเข้าห้องเรียน
  5. นักศึกษาอภิปรายกรณีศึกษาในชั้นเรียน แต่ละกรณีศึกษาใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง โดยจัดการเรียนรู้ ดังนี้
  • ผู้สอนนำเสนอกรณีศึกษาและประเด็นคำถาม กระตุ้นให้ผู้เรียนค้นหาคำตอบ
  • นักศึกษาแต่ละกลุ่มย่อยคิดหาคำตอบตามประเด็นคำถามของแต่ละกรณีศึกษา โดยใช้ความรู้ที่ได้เรียนรู้ และค้นหาความรู้เพิ่มเติม
  • นักศึกษาแต่ละคนนำเสนอคำตอบและข้อคิดเห็นต่อกลุ่มและอภิปราย แต่ละกลุ่มย่อยนำเสนอคำตอบต่อกลุ่มใหญ่ (17 คน) โดยผู้สอนเน้นย้ำกับผู้เรียนว่า การเรียนรู้ด้วยกรณีศึกษาไม่ได้มุ่งหาคำตอบที่ถูกผิดเพียงคำตอบเดียว แต่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้มุมมองและเหตุผลที่หลากหลายจากผู้เรียนคนอื่นๆ
  • ผู้สอนรวบรวมคำตอบของผู้เรียน และหยิบยกคำตอบหรือเหตุผลที่น่าสนใจของผู้เรียนขึ้นมาอภิปรายร่วมกับผู้เรียน และสรุปคำตอบร่วมกัน
  • ผู้สอนสรุปประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา การเชื่อมโยงความรู้ที่ได้เรียนรู้กับกรณีศึกษา และเพิ่มเติมประเด็นที่ผู้เรียนยังไม่เข้าใจหรือยังเข้าใจไม่ครอบคลุม
  • ผู้เรียนทำการสะท้อนคิดการเรียนรู้ (Reflection) ในประเด็นสำคัญ เช่น ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหา ทักษะที่ได้รับจากกิจกรรม แนวทางการนำความรู้และทักษะไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติการพยาบาล เป็นต้น
  • ผู้เรียนสรุปรายงานกรณีศึกษาแต่ละเรื่องเป็นงานกลุ่ม

 

  1. Prototype testing in an operational environment – DO

ผลการดำเนินการ การนำไปใช้ หรือการลงมือปฏิบัติจริง อุปสรรคหรือปัญหาในการทำงาน

ผลการดำเนินการ

  1. ด้านนักศึกษา จากการให้นักศึกษาได้สะท้อนคิด พบว่าส่วนใหญ่มีความพึงพอใจ ได้เรียนรู้การ

ทำงานเป็นทีม การแบ่งหน้าที่กันทำงาน การแสดงความคิดเห็นและการรับฟังความเห็นของผู้อื่น การสืบค้น และเกิดความสามัคคี ได้ฝึกวิเคราะห์ผู้ป่วยในกรณีศึกษา ทำให้เข้าใจพยาธิสภาพ อาการ การรักษา และการดูแลผู้ป่วยเด็กแต่ละโรคมากขึ้น และสามารถนำไปใช้ในขณะฝึกปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยได้ นักศึกษาพึงพอใจในผลงานของกลุ่ม และเห็นว่าการทำงานเป็นทีมทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวอย่างการสะท้อนคิดของนักศึกษา

“จากการศึกษาทั้ง 5 สถานการณ์ มีการแบ่งเป็นกลุ่ม โดยมีอาจารย์เป็นที่ปรึกษาประจำกลุ่ม

พบว่า ได้เขา้ใจถึงการวิเคราะห์โรคและอาการและอาการแสดงของโรคนั้น ๆ มากขึ้น สามารถแยกได้ว่า โรคนี้น่าจะเป็นโรคอะไรจากอาการและอาการแสดง การตรวจร่างกาย ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้เขา้ใจถึงกลไกของการเปลี่ยนแปลงของร่างกายมากยิ่งขึ้น โดยมีอาจารย์คอย

แนะนำ และให้คำปรึกษา ให้ข้อมูล และความรู้ระหว่างเรียน และได้ทำงานร่วมกับเพื่อนในกลุ่ม มีการแบ่งหน้าที่ โดยมีประธาน รองประธาน สมาชิกในกลุ่มช่วยกันสืบค้นข้อมูลเป็นอย่างดี”

“สิ่งที่ได้คือการทำงานเป็นทีมร่วมกับเพื่อนและอาจารย์ เป็นสิ่งที่ดีมากค่ะ อาจารย์ให้แนวทางการทำงานกลุ่ม คือ ให้นักศึกษาแบ่งหน้าที่กัน มีประธาน และคนเรียบเรียงเนื้อหา ให้นักศึกษาทุกคนมีส่วนร่วมในการทำงาน และสมาชิกในกลุ่มได้ช่วยกันหาข้อมูล เสนอความคิดเห็น เพื่อตัดสินใจร่วมกัน ทำให้งานออกมาได้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ และมีอาจารย์ที่ปรึกษาประจำกลุ่มคอยให้ความรู้ ข้อมูล และแนะแนวทางให้นักศึกษาทำงานได้ถูกต้อง”

  1. ด้านอาจารย์ผู้สอน ในการสอนสถานการณ์แรก นักศึกษาจะยังไม่คุ้นเคยกับการเรียนวิธีนี้ อาจารย์

เริ่มสอนให้วิเคราะห์หาความผิดปกติของผู้ป่วย เชื่อมโยงกับพยาธิสภาพของโรค นำสู่ปัญหาของผู้ป่วย การวางแผนการพยาบาล โดยนักศึกษาจะช่วยกันนำเสนอ อาจารย์สรุปและเพิ่มเติมให้ และ ให้นักศึกษาทำรายงานกรณีศึกษา นักศึกษาทุกคนจะมีรายงานทั้ง 5 เรื่อง เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการเรียนรู้ขณะขึ้นฝึกปฏิบัติการพยาบาล

 

ปัญหาและอุปสรรคที่พบ

  1. นักศึกษาบางคนไม่ได้เตรียมตัวในการอ่านสถานการณ์มาก่อน ทำให้ไม่สามารถมีส่วนร่วมในการ

อภิปรายกลุ่มได้

  1. ห้องเรียนในการทำกลุ่ม คับแคบเกินไป
  2. จำนวนนักศึกษาในแต่กลุ่มค่อนข้างมาก กลุ่มละ17 คน ทำให้การอภิปรายแลกเปลี่ยนไม่ทั่วถึง
  1. Proven through successful mission operation, Objectives and Key Results for Knowledge Management – CHECK

การตรวจสอบผลการดำเนินการ การนำเสนอประสบการณ์การนำไปใช้ สรุปและอภิปรายผล บทสรุปความรู้หรือความรู้ที่ค้นพบใหม่

การตรวจสอบผลการดำเนินการ การนำเสนอประสบการณ์การนำไปใช้ สรุปและอภิปรายผล

          การประเมินผลการจัดการเรียนรู้โดยใช้กรณีศึกษาโดยนักศึกษา พบว่า นักศึกษาเกิดการเรียนรู้มากขึ้น มีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มขึ้น มีความพร้อมในการขึ้นฝึกภาคปฏิบัติมากขึ้น และพึงพอใจกับการเรียนการสอนในรายวิชาเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับการเรียนในรูปแบบเดิมที่เน้นการบรรยาย ดังข้อมูลในตาราง

หัวข้อ

รูปแบบบรรยาย (ปี64)

Case studies (ปี65)

Case studies (ปี66)

Mean+SD

ระดับ

Mean+SD

ระดับ

Mean+SD

ระดับ

1.นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ทั้งในแนวคิด เนื้อหา และกระบวนการ

4.5 + 0.57

ดี

4.6+0.53

ดีมาก

4.8+0.40

ดีมาก

2.นักศึกษามีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มนอกเหนือจากชั้นเรียน

4.4 + 0.61

ดี

4.6+0.54

ดีมาก

4.7+0.4

ดีมาก

3.การเข้าเรียนวิชานี้ทำให้มีความพร้อมในการขึ้นฝึกภาคปฏิบัติ

4.4 + 0.64

ดี

4.6+0.55

ดีมาก

4.8+0.40

ดีมาก

4.ในภาพรวมนักศึกษาพึงพอใจกับการเรียนการสอนในรายวิชานี้

4.5 + 0.55

ดี

4.6+0.58

ดีมาก

4.8+0.40

ดีมาก

ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมต่อการเรีนรู้โดยกรณีศึกษา

– ดีมาก ๆ ค่ะเป็นวิชาที่ชอบมาก แต่อยากให้เพิ่มเวลาเรียนมากกว่านี้ค่ะ

– การสอนแบบวิเคราะห์สถานการณ์โดยให้ผู้เรียนอภิปรายในกลุ่มย่อย และนำเสนอความคิดของกลุ่มย่อย และอาจารย์ช่วยสรุป ทำให้เข้าใจมากขึ้น นักศึกษาเสนอให้มีการสลับและเปลี่ยนกลุ่มพบอาจารย์ทุกคนเพื่อให้นักศึกษาได้เกิดการเรียนรู้ในมุมมองและวิธีคิดที่หลากหลายมากขึ้น

การจัดการเรียนรู้โดยใช้กรณีศึกษาทำให้นักศึกษาเกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ดีขึ้น รูปแบบนี้ได้เริ่มนำมาใช้ในปีการศึกษา 2565 ซึ่งพบว่าผลการประเมินการเรียนรู้ของนักศึกษาสูงขึ้นจากระดับดีในปีการศึกษา 2564 (ค่าเฉลี่ย 4.4-4.5) เป็นระดับดีมาก (ค่าเฉลี่ย 4.6) และในปีการศึกษา 2566 ผลการประเมินการเรียนรู้ของนักศึกษาสูงขึ้นอีก มีค่าเฉลี่ย 4.7-4.8 ซึ่งอาจเป็นผลจากทีมอาจารย์มีทักษะการจัดการเรียนการสอนโดยใช้กรณีศึกษาสูงขึ้น       

 

บทสรุปความรู้หรือความรู้ที่ค้นพบใหม่    

          การจัดการเรียนรู้โดยใช้กรณีศึกษาเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักศึกษา ดังนี้

  1. นักศึกษาเกิดการเรียนรู้แนวคิด ทฤษฎีที่สำคัญเกี่ยวกับการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น สามารถประยุกต์ทฤษฎีในการวิเคราะห์เปรียบเทียบกรณีศึกษา และวิเคราะห์ปัญหาของกรณีศึกษา นำสู่การวางแผนการพยาบาลที่สอดคล้องกับปัญหาของกรณีศึกษาได้
  2. นักศึกษาสามารถศึกษา ค้นคว้าหาความรู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาให้ในการอธิบายและวิเคราะห์กรณีศึกษาได้
  3. การนำกรณีศึกษาที่มีเค้าโครงเรื่องมาจากผู้ป่วยจริง สอดคล้องกับสถานการณ์จริงในการปฏิบัติการพยาบาล จึงเป็นแนวทางในการดูแลผู้ป่วยในสถานการณ์จริงเมื่อขึ้นฝึกปฏิบัติบนหอผู้ป่วย สร้างความมั่นใจแก่นักศึกษาในการฝึกปฏิบัติการพยาบาลเด็กและวัยรุ่นต่อไป
  4. นักศึกษาได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม การแสดงความคิดเห็น และการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น นักศึกษาทุกคนมีส่วนร่วมในการทำงานในทีม และเรียนรู้ว่าการทำงานเป็นทีมนำสู่ความสำเร็จและประสิทธิภาพของงานที่สูงขึ้น
  5. นักศึกษาได้พัฒนาทักษะการใช้ข้อมูลสารสนเทศ จากการสืบค้นหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อนำมาสนับสนุนการวิเคราะห์ ตัดสินใจ วินิจฉัยปัญหาทางการพยาบาล และออกแบบการพยาบาลให้เหมาะสมกับกรณีศึกษา

ข้อเสนอแนะในการดำเนินการในอนาคต หรือการดำเนินการเพื่อสามารถนำไปสู่การเป็น Good Practice

  1. สร้างกรณีศึกษาให้มีความหลากหลาย ครอบคลุมสาระสำคัญของการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น และมีความซับซ้อนมากขึ้น เพื่อให้เกิดความคิดวิเคราะห์ในหลายมิติ
  2. พัฒนารูปแบบการนำเสนอกรณีศึกษาให้น่าสนใจ เช่น คลิป VDO, Simulation
  3. ปรับเปลี่ยนการนำเสนอผลการวิเคราะห์กรณีศึกษา เป็น one page / mapping / infographic
  4. จัดหาห้องเรียนที่มีขนาดเหมาะสมสำหรับการทำงานกลุ่มของนักศึกษา

 

Scroll to Top