รางวัลดีเด่น ปีการศึกษา 2567

ยุทธศาสตร์ที่ 1 : KR 1.2.1

การเรียนการสอนด้วยสถานการณ์จำลองเสมือนจริง :
ความท้าทายของการศึกษาสาขาพยาบาลศาสตร์
(Simulation-based learning :
Challenges of nursing education)

ผู้จัดทำโครงการ​

ดร.ณัฐพล ยุวนิช อ. นัสมัญญ์ เหลืองกิตติก้อง
อ.ศศิพินทุ์ ศุภมนตรี บัวพล อ.นิธิมา คันธะชุมภู
อ.ระวินันธ์ ธัชศิรินิรัชกุล และ อ.จรัสศรี อัธยาศัย

คณะพยาบาลศาสตร์

หลักการและเหตุผล/ความสำคัญ/ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้​

          การจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์เป็นการเรียนการสอนแบบผสมผสานระหว่าง ทฤษฎีและการปฏิบัติโดยมุ่งเน้นให้นักศึกษาพยาบาลมีองค์ความรู้และทักษะทางการพยาบาลและนําไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติการพยาบาลเพื่อดูแลผู้รับบริการ ครอบครัว และชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพและเกิดความปลอดภัย สภาการพยาบาลจึงได้กําหนดให้หลักสูตรพยาบาลศาสตร์จัดการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎีโดยมีชั่วโมงบรรยายและชั่วโมงฝึกปฏิบัติในห้องปฏิบัติการพยาบาล และภาคปฏิบัติในสถานบริการสุขภาพ โรงพยาบาล และชุมชน ตลอดจนให้ความสําคัญกับการฝึกปฏิบัติในห้องปฏิบัติการพยาบาลมากขึ้น เพื่อเตรียมนักศึกษาให้มีความพร้อมในการฝึกปฏิบัติการพยาบาลในสถานการณ์จริง โดยเกณฑ์การรับรองคุณภาพสถาบันการศึกษาการพยาบาลและการผดุงครรภ์พ.ศ. 2568 ได้กําหนดเพิ่มเติมให้สถาบันการศึกษามีห้องปฏิบัติการพยาบาลเสมือนจริง  ให้นักศึกษาฝึกฝนทักษะการปฏิบัติการพยาบาล การแก้ไขปัญหา และการตัดสินใจทางคลินิก โดยใช้สถานการณ์จําลองเสมือนจริงทางการพยาบาลด้วยหุ่นจําลองผู้ป่วยเสมือนจริง ในแต่ละรายวิชาครอบคลุม 5 สาขาหลัก เพื่อให้เกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ตามที่หลักสูตรกําหนดและเป็นการเตรียมความพร้อมแก่นักศึกษาก่อนฝึกปฏิบัติจริงกับผู้ป่วย

          ในปัจจุบันการเรียนการสอนในห้องปฏิบัติการพยาบาลศาสตร์มีแนวโน้มการใช้สถานการณ์จําลองเสมือนจริง (Simulation-based scenario) โดยประยุกต์ใช้หุ่นจําลองทางการพยาบาลขั้นสูง (High-fidelity manikin) มาสร้าง
สถานการณ์จําลองในรูปแบบกรณีศึกษามากขึ้น ซึ่งการเรียนรู้โดยใช้สถานการณ์จําลองเสมือนจริงเป็นวิธีการเรียนการสอนที่ช่วยให้นักศึกษาพยาบาลได้ฝึกปฏิบัติทักษะต่างๆ ได้อย่างเต็มศักยภาพในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและควบคุมได้ ก่อนที่จะเข้าสู่การปฏิบัติจริงกับผู้ป่วย ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาได้พัฒนาทักษะที่จําเป็นในการประกอบวิชาชีพพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพ (Guerrero et al., 2024; Jiang et al., 2024; Nair et al., 2024) อีกทั้งยังมีประโยชน์ในแง่ของการเปิดโอกาสให้นักศึกษาพยาบาลได้ฝึกปฏิบัติการพยาบาลกับผู้ป่วยที่พบเจอได้น้อยในสถานการณ์จริง เช่น ผู้ป่วยวิกฤต ผู้ป่วยที่มีโรคที่พบได้ยาก และ ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง โดยนักศึกษาสามารถฝึกปฏิบัติการพยาบาลในสถานการณ์จําลองได้หลายครั้งโดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วย (Diaz-Navarro et al., 2024) ดังนั้นสามารถสรุปได้ว่าการเรียนการสอนแบบการใช้สถานการณ์จําลองเสมือนจริง (Simulation-based scenario) มีประโยชน์ในด้านต่างๆ ดังนี้ (Saragih et al.,2024)

  1. ลดความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดในการปฏิบัติจริงกับผู้ป่วย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้ป่วยได้
  2. เพิ่มความมั่นใจให้นักศึกษาพยาบาล โดยการฝึกฝนทักษะการพยาบาลที่จําเป็นต่างๆ หลายครั้งจนเกิดความชํานาญและความมั่นใจในการปฏิบัติการพยาบาล
  3. พัฒนาทักษะการแก้ปัญหาและการตัดสินใจทางคลินิก สถานการณ์จําลองเสมือนจริงจะถูกออกแบบมาให้มีความหลากหลายและซับซ้อน ทําให้นักศึกษาได้ฝึกฝนทักษะการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหาในสถานการณ์จริง
  4. ส่งเสริมการเรียนรู้แบบร่วมมือ การทํางานร่วมกันในสถานการณ์จําลองเสมือนจริง ช่วยให้นักศึกษาได้เรียนรู้การทํางานเป็นทีมและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
  5. ประหยัดค่าใช้จ่าย การใช้สถานการณ์จําลองเสมือนจริง ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดหาอุปกรณ์และวัสดุสิ้นเปลืองในการฝึกปฏิบัติจริง
  6. เพิ่มความน่าสนใจในการเรียนรู้ สถานการณ์จําลองเสมือนจริงที่ถูกออกแบบมาอย่างดี จะช่วยให้นักศึกษาเกิดความสนใจและมีส่วนร่วมในการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น

          คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เห็นความสําคัญของการจัดการเรียนการสอนโดยใช้สถานการณ์จําลองเสมือนจริง (Simulation-based scenario) และได้พัฒนามาโดยลําดับ ในปีการศึกษา 2566 คณะพยาบาลศาสตร์ได้ปรับการเรียนการสอนในบางสาขาวิชาจากวิธีบรรยายมาใช้กรณีศึกษาร่วมกับการอภิปรายในชั้นเรียนแบบกลุ่ม โดยได้รายงานเป็นแนวปฏิบัติที่ดีด้านการเรียนการสอน โดย ผศ. สมหญิง โควศวนนท์ และ คณะ เรื่อง “สอนย่างไรจึงจะทําให้นักศึกษานําความรู้สู่การปฏิบัติได้” ซึ่งได้ปรับรูปแบบการเรียนการสอนวิชา BNS 234 การพยาบาลเด็กและวัยรุ่น โดยมีวัตถุประสงค์ให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจแนวคิดและทฤษฎีพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น และสามารถให้การพยาบาลเด็กและวัยรุ่นที่มีภาวะสุขภาพดีและมีปัญหาสุขภาพได้ ผลการใช้การเรียนการสอนรูปแบบกรณีศึกษาร่วมกับการอภิปรายในชั้นเรียนแบบกลุ่ม พบว่า นักศึกษาเกิดการเรียนรู้มากขึ้น มีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มขึ้น มีความพร้อมในการขึ้นฝึกภาคปฏิบัติมากขึ้น และพึงพอใจกับการเรียนการสอนในรายวิชาเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามการเรียนการสอนรูปแบบนี้ยังมีข้อจํากัดในด้านการตัดสินใจทางคลินิก การปฏิบัติการพยาบาลเป็นทีม และการสื่อสาร 2 ทาง (Two-way communication) ระหว่างผู้ป่วยและนักศึกษา
พยาบาล จึงมีข้อเสนอให้นํากรณีศึกษามาสร้างสถานการณ์จําลองเสมือนจริง โดยใช้หุ่นจําลองทางการพยาบาลขั้น
สูง เพื่อให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้จากกรณีศึกษาได้สมจริงมากขึ้น เช่น เห็นการเปลี่ยนแปลงของสัญญาณชีพ การหายใจและการขยายของทรวงอก การหดตัวของรูม่านตาเมื่อมีปฏิกิริยาต่อแสง และอาการต่าง ๆ แบบ Real-time และสามารถพูดคุยกับหุ่นจําลองทางการพยาบาลขั้นสูงได้ส่งเสริมให้มีการคิดวิเคราะห์ การสื่อสารเชิงวิชาชีพ การตัดสินใจในการให้การพยาบาลที่เหมาะสมอย่างเต็มศักยภาพ และเกิดความมั่นใจในตนเองก่อนการขึ้นฝึกปฏิบัติ กับผู้ป่วยจริงในสถานบริการสุขภาพ โรงพยาบาล และชุมชน (Jiang et al., 2024; Nair et al., 2024) ในปีการศึกษา 2567 คณะได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาการเรียนการสอนโดยใช้สถานการณ์จําลองทางการพยาบาล และคณะผู้จัดทําได้ร่วมกับคณะกรรมการฯ พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนโดยใช้สถานการณ์จําลองเสมือนจริง (Simulation-based scenario) ด้วยหุ่นจําลองทางการพยาบาลขั้นสูง (High-fidelity manikin) ในการเรียนการสอน 3 สาขาวิชาหลัก ได้แก่ การพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ การพยาบาลมารดาทารก และการผดุงครรภ์ การพยาบาลเด็กและวัยรุ่น และ 1 สาขาวิชาเสริม คือ การพยาบาลพื้นฐานและเสริมการพยาบาล โดยมีเป้าประสงค์เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้จากสถานการณ์จําลองที่ใกล้เคียงกับสถานการณ์จริงให้ได้มากที่สุดและหวังผลให้เกิดองค์ความรู้จากการลงมือปฏิบัติ การคิดวิเคราะห์ การสื่อสารเชิงวิชาชีพ การตัดสินใจในการให้การพยาบาลที่เหมาะสมอย่างเต็มศักยภาพ และเกิดความมั่นใจในตนเองก่อนการขึ้นฝึกปฏิบัติกับผู้ป่วยจริงในสถานบริการสุขภาพ โรงพยาบาล และชุมชน

ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้ 

           การประยุกต์กระบวนการพยาบาล แนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ การพยาบาลมารดาทารกและการผดุงครรภ์ การพยาบาลเด็กและวัยรุ่น และการพยาบาลพื้นฐาน และแนวคิดรูปแบบสถานการณ์จําลองเสมือนจริงในการศึกษาทางการพยาบาล (Nursing Education Simulation Framework) ของ Jeffries (2005)

          กระบวนการพยาบาล (Nursing process) กระบวนการพยาบาลเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติการพยาบาล ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่ การประเมินสภาพ การวินิจฉัยการพยาบาลหรือการกําหนดปัญหาทางการพยาบาล การวางแผนการพยาบาล การปฏิบัติการพยาบาล และการประเมินผล กระบวนการพยาบาลช่วยให้พยาบาลมองปัญหาสุขภาพของผู้รับบริการรายบุคคลแบบองค์รวมตามหลักการทางวิทยาศาสตร์และเป็นการนําความรู้ทางทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติบนพื้นฐานของการใช้เหตุผล การตัดสินใจ และการแก้ปัญหาซึ่งส่งเสริมให้เกิดคุณภาพทางการพยาบาล (Toney-Butler &
Thayer, 2023)

Jeffries’s Nursing Education Simulation Framework (Jeffries, 2005)
เป็นแนวคิดจําลองการออกแบบและการประยุกต์ใช้สถานการณ์จําลองเสมือนจริงในการเรียนการสอนทางการพยาบาล ประกอบไปด้วย 5 องค์ประกอบ ได้แก่

  • การอํานวยความสะดวกในการเรียนของผู้สอน โดยผู้สอนมีหน้าที่หลักในการสังเกต อํานวยความสะดวกในกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน สะท้อนคิด และสรุปผล
  • การเรียนรู้ด้วยตนเองของผู้เรียน
  • การสอนในสถานการณ์จําลองเสมือนจริงที่มีการเรียนรู้อย่างมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียน-ผู้เรียน และผู้เรียน-ผู้สอน
  • การออกแบบสถานการณ์จําลองเสมือนจริง โดยคํานึงถึง การกําหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน การสร้างสถานการณ์จําลองที่มีรายละเอียดและครอบคลุม การออกแบบสภาพแวดล้อม และการออกแบบเนื้อหาสถานการณ์จําลองเพื่อให้เหมาะสมกับเป้าหมายและวัตถุประสงค์
  • ผลลัพธ์ที่คาดหวังจากการประยุกต์ใช้สถานการณ์จําลองเสมือนจริงในการเรียนการสอนทางการพยาบาล ได้แก่ องค์ความรู้ (Knowledge) ทักษะปฏิบัติการพยาบาล (Nursing skill) ความพึงพอใจของผู้เรียน (Learner’s satisfaction) การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical thinking) และความมั่นใจในตนเอง (Self-confidence)

การจัดการเรียนการสอนมี 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1) ขั้นนํา ขั้นปฐมนิเทศและชี้แจงรายละเอียด (Pre-
briefing) 2) ขั้นดําเนินสถานการณ์ตามฉากที่กําหนด (Running scenario) และ 3) ขั้นสรุปผลการเรียนรู้ (Debriefing)

          แนวคิดรูปแบบสถานการณ์จําลองเสมือนจริงในการศึกษาทางการพยาบาลของ Jeffries ช่วยให้นักศึกษาเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้และปฏิบัติการพยาบาลอย่างเต็มศักยภาพ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติการณ์ไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ต่อผู้ป่วย อีกทั้งยังช่วยให้นักศึกษาพยาบาลสามารถประเมินผลและปรับปรุงความสามารถของตนเองเพื่อให้มีผลลัพธ์ที่ดีขึ้น (Jeffries, 2005)

          จากแนวคิดทฤษฎีดังกล่าว ทางคณะผู้จัดทําจึงพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนด้วยกรณีศึกษาในรูปแบบ
สถานการณ์จําลองเสมือนจริง (Simulation-based scenario) โดยประยุกต์ใช้หุ่นจําลองทางการพยาบาลขั้นสูง (High-fidelity manikin) ดําเนินการเรียนการสอนตามแนวคิดของ Jeffries 3 ขั้นตอน คือ สถานการณ์ตามฉากที่กําหนด และ
กําหนดให้นักศึกษาบูรณาการใช้กระบวนการพยาบาล ร่วมกับการสื่อสารเชิงวิชาชีพ การทํางานเป็นทีม ทักษะปฏิบัติการพยาบาลที่จําเป็น และหลักจริยธรรมทางการพยาบาล มาใช้ในการให้การพยาบาลผู้ป่วยจําลองแบบองค์รวม ด้วยวิธีการนี้คณะผู้จัดทําเชื่อว่าเมื่อนักศึกษาขึ้นฝึกปฏิบัติวิชาปฏิบัติการการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ การพยาบาลมารดาทารกและการผดุงครรภ์ การพยาบาลเด็กและวัยรุ่น และการพยาบาลพื้นฐาน นักศึกษาจะสามารถนําความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติการพยาบาลแก่ผู้ป่วยแบบองค์รวมได้

ประเภทความรู้และที่มาความรู้

ความรู้แบบชัดแจ้ง (Explicit Knowledge)

  • ความรู้จากคลังความรู้ของเว็บไซต์ระบบการจัดการความรู้ KM Rangsit University
    (http://lc.rsu.ac.th/km/Knowledgebase และ https://rkms.rsu.ac.th/)
  • เจ้าของความรู้/สังกัด ผศ. สมหญิง โควศวนนท์ และคณะ คณะพยาบาลศาสตร์ เรื่อง “สอนอย่างไร
    จึงจะทําให้นักศึกษานําความรู้สู่การปฏิบัติได้”
  • อื่นๆ ได้แก่ 1) กระบวนการพยาบาลและแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการพยาบาลผู้ใหญ่และ ผู้สูงอายุ การพยาบาลมารดาทารกและการผดุงครรภ์ การพยาบาลเด็กและวัยรุ่น และการพยาบาลพื้นฐานและ เสริม
    การพยาบาล และ 2) แนวคิดรูปแบบสถานการณ์จําลองเสมือนจริงในการศึกษาทางการพยาบาลของJeffries

ความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge)

  • อื่น ๆ (ระบุ) Simulation-based knowledge skills ของอาจารย์

วิธีการดำเนินการ

วิธีการดําเนินการ แบ่งเป็น 4 ระยะ
ระยะที่ 1: การสร้างกรณีศึกษา และการตั้งค่าหุ่นจําลองทางการพยาบาลตามกรณีศึกษา (Scenario
creating and high-fidelity manikin setting up)
          ทีมผู้สอนสร้างกรณีศึกษา โดยคัดเลือกกรณีศึกษาจากผู้ป่วยจริงที่นักศึกษาได้ให้การดูแลในสถานบริการสุขภาพ โรงพยาบาล หรือชุมชน ในวิชาปฏิบัติการพยาบาลของปีการศึกษา 2566 เมื่อคัดเลือกกรณีศึกษาที่มีความเหมาะสมกับเนื้อหาหรือบทเรียนที่จะใช้ในการเรียนการสอนทางห้องปฏิบัติการแล้ว ขั้นตอนถัดไปจะเป็นการดัดแปลงและปรับแก้ไขกรณีศึกษาเพื่อให้ค่าการแสดงผลลัพธ์ต่างๆ เข้ากันได้กับหุ่นจําลองทางการพยาบาลขั้นสูง ตัวอย่างของกรณีศึกษาและบทเรียนในห้องปฏิบัติการที่มีความสอดคล้องกันแสดงในตารางที่ 1

          เมื่อได้กรณีศึกษาที่เหมาะสม ทางทีมผู้สอนจะนํามาเขียนสถานการณ์จําลองเสมือนจริง (ตัวอย่างของสถานการณ์จําลองเสมือนจริงแสดงในภาคผนวก ก) โดยใช้แบบฟอร์มของ the International Nursing Association of Clinical Simulation and Learning (INACSL), Thailand Regional Interest Groups (RIGs) โดยมีหัวข้อย่อยในการเขียนสถานการณ์จําลองเสมือนจริง 10 หัวข้อ มีรายละเอียดดังนี้

  1. ข้อมูลทั่วไป เป็นส่วนที่กําหนดข้อมูลทั่วไปของสถานการณ์จําลองเสมือนจริง เช่น ชื่อเรื่อง ภาควิชา ผู้เรียน ผู้พัฒนาบท คณะผู้วิพากษ์และให้ข้อเสนอแนะ และวันที่พัฒนาสถานการณ์จําลอง
  2. เป้าหมายการเรียนรู้ (Goal) เป็นส่วนที่กําหนดเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนทราบถึงวัตถุประสงค์ในการเรียน
    ด้วยสถานการณ์จําลองเสมือนจริง
  3. วัตถุประสงค์การเรียนรู้ (Objectives) เป็นส่วนที่กําหนดวัตถุประสงค์ย่อยในการเรียนด้วยสถานการณ์
    จําลองเสมือนจริง ซึ่งในแต่ละวัตถุประสงค์อาจสอดคล้องกับระยะของสถานการณ์จําลอง (หัวข้อ 8)
  4. ระยะเวลา ผู้สอนกําหนดระยะเวลาให้ชัดเจนในการสอนด้วยสถานการณ์จําลองเสมือนจริง โดยระยะเวลาจะแบ่งเป็น 3 ระยะตาม Jeffries’s Nursing Education Simulation Framework (Jeffries, 2005) ได้แก่ ขั้นปฐมนิเทศและชี้แจงรายละเอียด (Pre-briefing) 2) ขั้นดําเนินสถานการณ์ตามฉากที่กําหนด (Running scenario) และ 3) ขั้นสรุปผลการเรียนรู้ (Debriefing)
  5. บทบาทในสถานการณ์จําลอง เป็นการกําหนดบทบาทของผู้เรียน (Learner’s role) และบทบาทผู้ช่วยในสถานการณ์จําลอง (Consideration role)
  6. รายละเอียดทั่วไปของสถานการณ์จําลอง ในหัวข้อนี้จะกําหนดรายละเอียดข้อมูลต่างๆของกรณีศึกษาที่
    คัดเลือกมาใช้ในสถานการณ์จําลองเสมือนจริง เช่น อาการสําคัญนําส่ง ประวัติการเจ็บป่วยในปัจจุบันประวัติการเจ็บป่วยในอดีต และข้อมูลสําคัญอื่นที่เกี่ยวข้อง
  7. อุปกรณ์ที่ต้องตรียม เป็นการกําหนดอุปกรณ์ทางการแพทย์หรืออุปกรณ์อื่นที่เกี่ยวข้องในการใช้ใน
    สถานการณ์จําลองเสมือนจริง เช่น ถังออกซิเจน ท่อช่วยหายใจ อุปกรณ์เช็ดตัวลดไข้ Labor set เป็นต้น
  8. รายละเอียดในแต่ละระยะในสถานการณ์จําลอง เป็นการกําหนดระยะต่างๆ ของสถานการณ์จําลองเสมือนจริง ในระยะนี้จะมีการเขียนรายละเอียดของการแสดงผลลัพธ์ต่างๆ ในหุ่นจําลองทางการพยาบาลขั้นสูง โดยจะแบ่งเป็นหัวข้อย่อย 5 หัวข้อย่อย ได้แก่ 1) ระยะเวลาของสถานการณ์ 2) สภาวะผู้ป่วย (สภาพที่นักศึกษามองเห็นและสังเกตได้และจะนําไปปฏิบัติ 3) การปฏิบัติของผู้เรียน 4) บันทึกของ Facilitator 5) ระยะเวลาของการปฏิบัติ (นาที)
  9. ประเด็นการอภิปรายภายหลังสถานการณ์จําลอง (Debriefing) เป็นการกําหนดประเด็นในการอภิปราย
    และให้นักศึกษาสะท้อนคิดภายหลังเสร็จสิ้นสถานการณ์จําลองเสมือนจริง โดยใช้หลักการ GAS model 
    [G = Gathering information, A = Analyze, S = Summarize]
  10. References และแหล่งอ้างอิงหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เกี่ยวข้อง

ระยะที่ 2: การทดสอบความน่าเชื่อถือของสถานการณ์จําลองเสมือนจริง (Validity testing)

          เมื่อสร้างสถานการณ์จําลองเสมือนจริงและตั้งค่าแสดงผลลัพธ์ต่างๆ ในหุ่นจําลองทางการพยาบาลขั้นสูงแล้ว ผู้สอนจัดเตรียมอุปกรณ์และจัดสภาพแวดล้อมให้เสมือนหอผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด หลังจากนั้นจะนําสถานการณ์จําลองเสมือนจริงที่สร้างขึ้นไปทดสอบ Alpha test และ Beta test ตามลําดับโดยมีรายละเอียดดังนี้

  • Alpha test: นําสถานการณ์จําลองเสมือนจริงที่สร้างขึ้นไปทดสอบกับผู้เรียน ซึ่งเป็นคณาจารย์ต่าง สาขาวิชา เพื่อทดสอบการ Run scenario ของสถานการณ์จําลองที่สร้างขึ้น และหลังสิ้นสุดสถานการณ์ จะอภิปรายร่วมกันกับผู้เรียนเพื่อประเมินความน่าเชื่อถือของสถานการณ์ ความยากง่าย และการนําไปใช้ หากมีข้อเสนอแนะหรือปรับปรุงแก้ไข ทางผู้สอนจะพิจารณาปรับแก้ตามข้อเสนอแนะตามความเหมาะสม
  • Beta test: เมื่อปรับแก้สถานการณ์จําลองจากขั้น Alpha test แล้ว ผู้สอนจะนําไปทดสอบ Beta test โดยนําสถานการณ์จําลองเสมือนจริงที่ปรับปรุงไปทดสอบกับผู้เรียน ซึ่งเป็นนักศึกษาที่ไม่ใช่กลุ่มที่จะเรียนในห้องปฏิบัติการด้วยสถานการณ์จําลองที่สร้างขึ้น และหลังสิ้นสุดสถานการณ์จะอภิปรายร่วมกันกับผู้เรียนเพื่อประเมินความน่าเชื่อถือของสถานการณ์ ความยากง่าย และการนําไปใช้ เมื่อมีข้อเสนอแนะ หรือปรับปรุงแก้ไข ทางผู้สอนจะพิจารณาปรับแก้ตามข้อเสนอแนะตามความเหมาะสม หลังจากนั้นจะได้สถานการณ์จําลองเสมือนจริงที่พร้อมใช้ในการเรียนการสอน

ระยะที่ 3: การเตรียมความพร้อมและจัดสิ่งแวดล้อมในการดําเนินสถานการณ์จําลองเสมือนจริง (Scene setting up phase)
          ผู้สอนจัดสภาพแวดล้อมให้เสมือนหอผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด และจัดอุปกรณ์จําเป็นต่างๆ (ที่กําหนดในหัวข้อที่ 7 ของสถานการณ์จําลอง) ในการเรียนการสอนรูปแบบสถานการณ์จําลองเสมือนจริง (Simulation-based scenario) โดยประยุกต์ใช้หุ่นจําลองทางการพยาบาลขั้นสูง (High-fidelity manikin)

ระยะที่ 4: การนําไปใช้ในการสอนในห้องปฏิบัติการ (Implementing phase)
          ระยะนี้เป็นขั้นการนําสถานการณ์จําลองที่สร้างขึ้นมาใช้ในการเรียนการสอนในห้องปฏิบัติการพยาบาลศาสตร์ โดยแบ่งเป็น 3 ระยะตาม Jeffries’s Nursing Education Simulation Framework (Jeffries, 2005) ได้แก่ ขั้นปฐมนิเทศและชี้แจงรายละเอียด (Pre-briefing) 2) ขั้นดําเนินสถานการณ์ตามฉากที่กําหนด (Running scenario) และ 3) ขั้นสรุปผลการเรียนรู้ (Debriefing) ในระหว่างการ Run scenario ผู้สอนที่ทําหน้าที่ Facilitator จะหลีกเลี่ยงการแทรกแซงการปฏิบัติของนักศึกษา และจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมในกรณีจําเป็นเท่านั้น ยกตัวอย่างกรณีการตอบสนองบางอย่างที่หุ่นไม่สามารถตอบสนองได้ เช่น การยกแขน ขา เป็นต้น หลังจบการ Run scenario จะพูดคุย เปิดโอกาสให้สะท้อนคิด และอภิปรายกับผู้เรียนถึงประสบการณ์ที่ได้ปฏิบัติในสถานการณ์จําลองเสมือนจริง และตลอดการเรียนการสอนด้วยวิธีนี้ ผู้สอนต้องรักษาบรรยากาศความปลอดภัยทางจิตสังคม (Psychosocial Safety Climate) ตลอดเวลาเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์และมีการตัดสินใจทางคลินิกอย่างเต็มศักยภาพ (Diaz-Navarro et al., 2024)

ระยะที่ 5: การประเมินผล (Evaluating phase)
          หลังจากสิ้นสุดสถานการณ์ ผู้เรียนจะเข้าสู่ขั้นตอนการสรุปผลการเรียนรู้ (Debriefing) โดยผู้สอนจะใช้ คําถามในการกระตุ้นให้ผู้เรียนสะท้อนคิดและมีการอภิปรายเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างการ Run scenario โดยคําถามจะเป็นไปตามกรอบ GAS model นอกจากนี้จะมีการทดสอบความรู้โดยการสอบข้อเขียนในหัวข้อที่ได้เรียนรู้จากสถานการณ์จําลองอีกครั้ง

2.Prototype testing in an operational environment – DO 

ผลการดำเนินการ การนำไปใช้ หรือการลงมือปฏิบัติจริง อุปสรรคหรือปัญหาในการทำงาน

นอกจากนี้ยังพบว่าผลของการเรียนในห้องปฏิบัติการวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ การพยาบาลมารดาทารกและการผดุงครรภ์ การพยาบาลเด็กและวัยรุ่น และการพยาบาลพื้นฐาน มีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีการศึกษาก่อนที่ใช้กรณีศึกษาหรือการเรียนการสอนแบบฝึกทักษะปฏิบัติการพยาบาล (Nursing skill training) ในห้องปฏิบัติการพยาบาลตามรูปแบบเดิม ดังตารางที่ 2

ในรายวิชา BNS 342 การผดุงครรภ์ 2 หลังเสร็จสิ้นการเรียนการสอนและเว้นระยะเวลาการเรียนการสอนเป็นระยะเวลา 4 เดือน (เนื่องจากนักศึกษาขึ้นฝึกวิชาปฏิบัติการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ) เมื่อนำผลการสอบมาวิเคราะห์รายบทพบว่า มีร้อยละของนักศึกษาที่สอบผ่านในหัวข้อ การพยาบาลผู้คลอดที่มีภาวะแทรกซ้อนในระยะคลอด เพิ่มมากขึ้นจากเดิม 32.53% เป็น 62.50%

3. Proven through successful mission operation, Objectives and Key Results for Knowledge Management – CHECK

          การประเมินผลการจัดการเรียนรู้โดยใช้กรณีศึกษาในรูปแบบสถานการณ์จําลองเสมือนจริง (Simulation-
based scenario) โดยประยุกต์ใช้หุ่นจําลองทางการพยาบาลขั้นสูง (High-fidelity manikin) พบว่า นักศึกษาเกิดการเรียนรู้มากขึ้น มีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มขึ้น มีความพร้อมในการขึ้นฝึกภาคปฏิบัติมากขึ้น และพึงพอใจกับการเรียนการสอนในรายวิชาเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับการเรียนในรูปแบบเดิมที่ไม่มีการใช้สถานการณ์จําลองเสมือนจริง ดังข้อมูลในตารางที่ 3

ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมต่อการเรียนรู้โดยใช้กรณีศึกษาในรูปแบบสถานการณ์จําลองเสมือนจริง (Simulation-based scenario) โดยประยุกต์ใช้หุ่นจําลองทางการพยาบาลขั้นสูง (High-fidelity manikin)

  • อยากให้มีสถานการณ์หลายๆ สถานการณ์ค่ะ จะได้เรียนรู้ได้เพิ่มขึ้น
  • ถ้าเป็นไปได้ อยากมีเวลาในการทําสถานการณ์ซ้ําเพื่อดูว่าจะทําได้ดีขึ้นไหม

อภิปรายผลการจัดการเรียนการสอนโดยใช้กรณีศึกษาในรูปแบบสถานการณ์จําลองเสมือนจริง (Simulation- based scenario) โดยประยุกต์ใช้หุ่นจําลองทางการพยาบาลขั้นสูง (High-fidelity manikin)

          ผลจากการเรียนการสอนด้วยการใช้กรณีศึกษาในรูปแบบสถานการณ์จําลองเสมือนจริง (Simulation- based scenario) โดยประยุกต์ใช้หุ่นจําลองทางการพยาบาลขั้นสูง (High-fidelity manikin) ชี้ให้เห็นว่านักศึกษาเกิดความรู้ความเข้าใจมากขึ้น โดยค่าคะแนนเฉลี่ยของการเรียนในห้องปฏิบัติการพยาบาลของนักศึกษาเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีการศึกษาก่อนที่ใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบเดิม การเรียนการสอนด้วยวิธีนี้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติบนพื้นฐานขององค์ความรู้และมีการสะท้อนคิดเพื่อสรุปสาระสําคัญหรือปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติผ่านการ Debriefing ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนสะท้อนคิดถึงเหตุการณ์ในสถานการณ์ รวมถึงเหตุผลในการตัดสินใจในการปฏิบัติ ความรู้สึกขณะปฏิบัติ และมีภาพจดจําจากสถานการณ์ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ เกิดจากการลงมือปฏิบัติจริง ทําให้เกิดเป็นความรู้ที่คงทนมากกว่าการฟังการบรรยาย การดูการสาธิต และการสาธิตย้อนกลับ

          จากการสะท้อนคิดของนักศึกษาพบว่านักศึกษาเกิดความสนุกในการเรียน ไม่เครียดหรือกดดัน บรรยากาศในการเรียนการสอนเป็นไปอย่างราบรื่นและรู้สึกปลอดภัย ทั้งนี้สามารถอธิบายประเด็นนี้ได้ว่ารูปแบบของการเรียนการสอนด้วยสถานการณ์จําลองเสมือนจริง ผู้สอนต้องรักษาบรรยากาศความปลอดภัยทางจิตสังคม(Psychosocial Safety Climate) ตลอดเวลาเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์และมีการตัดสินใจทางคลินิกอย่างเต็มศักยภาพ (Diaz-Navarro et al., 2024) และอาจารย์ที่สอนด้วยสถานการณ์จําลองเสมือนจริงได้ รักษากฏระเบียบข้อนี้อย่างเคร่งครัดและปฏิบัติอย่างสม่ํา
เสมอจึงทําให้บรรยากาศน่าเรียนและนักศึกษาเกิดความสนุกในการเรียน และอาจส่งผลต่อความพึงพอใจต่อนักศึกษาในการเรียนด้วยวิธีนี้ (Saragih et al., 2024) จากการสํารวจหลังการสอนด้วยสถานการณ์จําลองเสมือนจริงพบว่านักศึกษาเกิดความพึงพอใจต่อรายวิชามากขึ้น โดยผลจากการบูรณาการวิธีการสอนด้วยสถานการณ์จําลองเสมือนจริงต่อความพึงพอใจของผู้เรียนสอดคล้องกับการศึกษาของ Gaspar และ Banayat (2024) โดยสนับสนุนว่าการใช้ High-fidelity manikin ในการเรียนการสอนแบบสถานการณ์จําลองเสมือนจริงส่งผลให้ผู้เรียนมีความพึงพอใจในระดับสูงและมีทัศนคติเชิงบอกต่อการเรียนการสอนในสาขาพยาบาลศาสตร์ นอกจากนี้นักศึกษายังสะท้อนคิดให้เห็นว่าการเรียนด้วยสถานการณ์จําลอง
เสมือนจริงทําให้มีทักษะการสื่อสารเชิงวิชาชีพ จรรยาบรรณวิชาชีพ และทักษะการตัดสินใจทางคลินิก ซึ่งสอดคล้องกับรายงานการวิจัยที่ผ่านมาหลายเรื่อง (Gaspar & Banayat, 2024; Jiang et al., 2024; Nair et al.,2024; Diaz-Navarro et al., 2024; Saragih et al., 2024) นอกจากนี้ยังส่งผลให้นักศึกษามีความมั่นใจขึ้นก่อนที่จะไปฝึกปฏิบัติจริงที่สถานบริการสุขภาพ ในโรงพยาบาล หรือในชุมชน ซึ่งอธิบายได้ว่าการสอนในรูปแบบสถานการณ์จําลองเสมือนจริงเปิดโอกาสให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์และใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจ โดยสามารถลองผิดลองถูกได้และไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยเมื่อเกิดข้อผิดพลาด (Saragih et al., 2024) และการได้ปฏิบัติซ้ํา จากการแก้ไขข้อผิดพลาดเดิมทําให้เกิดความรู้ความเข้าใจมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้เรียนมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น อาจารย์ผู้สอนด้วยวิธีการใช้กรณีศึกษาในรูปแบบสถานการณ์จําลองเสมือนจริง (Simulation-based scenario) โดยประยุกต์ใช้หุ่นจําลองทางการพยาบาลขั้นสูง (High-fidelity manikin) ในครั้งนี้ให้ข้อคิดเห็นผ่านการสะท้อนคิดว่าการสอนด้วยวิธีนี้มีความท้าทาย เป็นวิธีใหม่ที่ค่อนข้างดีและเห็นผลลัพธ์ชัดเจนจากคะแนนที่
เพิ่มขึ้นของนักศึกษา นอกจากการเตรียมสอนโดยวิธีการปกติแล้วอาจารย์ยังมีหน้าที่ในการจัดสิ่งแวดล้อมและตั้งค่าแสดงผลลัพธ์ต่างๆใน High-fidelity manikin ทั้งนี้ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาการเรียนการสอนให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น (Verkuyl et al., 2024) เป็นที่น่าสนใจว่าอาจารย์ที่ใช้วิธีการสอนด้วยสถานการณ์จําลองเสมือนจริงกล่าวถึงการควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น ใจเย็น ไม่ดุว่านักศึกษาในขณะที่กําลังปฏิบัติในสถานการณ์จําลอง ทั้งนี้เป็นข้อกําหนดของรูปแบบการเรียนการสอนด้วยสถานการณ์จําลองเสมือนจริงที่ต้องรักษาบรรยากาศ

          ความปลอดภัยทางจิตสังคม (Psychosocial Safety Climate) เพื่อให้นักศึกษากล้าคิดกล้าแสดงความคิดเห็น ลง
มือปฏิบัติอย่างตั้งใจ และเกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างอาจารย์และนักศึกษา (Ford et al., 2024) นอกจากนี้ยังเป็นการกระตุ้นให้นักศึกษาคิดวิเคราะห์และมีการตัดสินใจทางคลินิกอย่างเต็มศักยภาพ (Diaz-Navarro et al., 2024) 

บทสรุปความรู้หรือความรู้ที่ค้นพบใหม่
การเรียนการสอนด้วยสถานการณ์จําลองเสมือนจริงโดยใช้หุ่นจําลองทางการพยาบาลขั้นสูง เป็นรูปแบบที่ส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ ดังนี้

  1. นักศึกษาเกิดการพัฒนาองค์ความรู้จากการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ในสถานการณ์จําลอง ความรู้ที่เกิดขึ้น เป็นความรู้ที่คงทนมากกว่าการฟังจากการบรรยาย
  2. นักศึกษาเกิดการบูรณาการใช้กระบวนการพยาบาลร่วมกับความรู้เรื่องการสื่อสารเชิงวิชาชีพอย่างสร้างสรรค์ การเคารพสิทธิผู้ป่วยและจรรยาบรรณวิชาชีพ ทักษะจําเป็นทางการพยาบาล การทํางานเป็นทีมและการตัดสินใจทางคลินิก
  3. นักศึกษาเกิดความมั่นใจก่อนไปฝึกปฏิบัติการพยาบาลจริงในสถานบริการสุขภาพ โรงพยาบาล และชุมชน
  4. นักศึกษามีความสุขขณะเรียน บรรยากาศในการเรียนไม่กดดัน มีความปลอดภัยทางจิตสังคม และส่งผลต่อความพึงพอในในระดับดีมากของรายวิชาที่บูรณาการการสอนด้วยสถานการณ์จําลองเสมือนจริง
  5. อาจารย์ได้เรียนรู้วิธีการสอนที่แตกต่างหลากหลาย เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการจัดเตรียมสถานการณ์จําลองให้มีความเสมือนจริงมากที่สุด
  6. อาจารย์มีการจัดการอารมณ์ได้ดีขึ้น เป็นไปในเชิงบวก และเรียนรู้การรักษาความปลอดภัยทางจิตสังคมซึ่งเป็นประโยชน์ในการนําไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนอื่นๆ โดยเฉพาะวิชาปฏิบัติการพยาบาล

ข้อเสนอแนะในการดำเนินการในอนาคต หรือการดำเนินการเพื่อสามารถนำไปสู่การเป็น Good Practice

  1. สร้างกรณีศึกษาเพื่อใช้ในสถานการณ์จําลองให้มีความหลากหลาย ครอบคลุมสาระสําคัญของการพยาบาล 5 สาขาหลัก และสาขาพื้นฐานและเสริมการพยาบาล โดยมีทั้งสถานการณ์ที่ซับซ้อนและไม่ซับซ้อนตามวัตถุประสงค์ของรายวิชา เพื่อให้นักศึกษาการเรียนรู้ได้หลากหลายมิติ
  2. พัฒนาสถานการณ์จําลองแบบ Hybridge โดยอาจใช้ Standardized patient ร่วมกับการใช้หุ่นจําลองทางการพยาบาลขั้นสูง เพื่อให้สถานการณ์จําลองมีความเสมือนจริงมากขึ้นและน่าสนใจ
  3. จากการสังเกตพบว่านักศึกษาหลายคนมีความโดดเด่นในการคิดและตัดสินใจในการปฏิบัติการในสถานการณ์ ขณะเดียวกันก็สะท้อนว่า นักศึกษาบางคนไม่สามารถคิดและตัดสินใจได้ รวมทั้งพร่องทักษะการปฏิบัติดังนั้นก่อนจัดการเรียนการสอนด้วยสถานการณ์จําลองเสมือนจริง ควรจัดให้นักศึกษาได้ฝึกทักษะปฏิบัติการพยาบาลที่จําเป็นมาก่อน และมีกระบวนการเตรียมความพร้อมนักศึกษาก่อนเข้าเรียน
    ด้วยสถานการณ์จําลองเสมือนจริง เช่น ดู VDO การปฏิบัติทักษะต่าง ๆ ที่นักศึกษาต้องปฏิบัติในแต่ละฐานสถานการณ์จําลองเสมือนจริง และจัดเตรียมเอกสารความรู้ที่เกี่ยวข้อง
  4. จัดทําคู่มือปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอนด้วยสถานการณ์จําลองเสมือนจริงเพื่อให้ผู้สอนปฏิบัติได้ถูกต้องตาม Jeffries’s Nursing Education Simulation Framework
  5. จัดอบรมเชิงปฏิบัติการแก่อาจารย์ผู้สอนในเรื่องการเรียนการสอนด้วยสถานการณ์จําลองเสมือนจริง ทั้งในรายใหม่ที่ยังไม่เคยอบรมและ re-skill ในอาจารย์ที่ได้รับการอบรมมาแล้ว เพื่อให้เกิดทักษะการสอนด้วยสถานการณ์จําลองเสมือนจริง และมีทักษะในการใช้หุ่นจําลองทางการพยาบาลขั้นสูงมากยิ่งขึ้น
  6. ส่งเสริมและสนับสนุนให้อาจารย์มีส่วนร่วมในการเรียนการสอนด้วยสถานการณ์จําลองเสมือนจริงมากขึ้น โดยอาจให้จับคู่กับอาจารย์ที่มีประสบการณ์การสอนด้วยวิธีนี้ และให้ช่วยรับบทในสถานการณ์จําลองที่ไม่ซับซ้อน เช่น ญาติผู้ป่วย พยาบาลหัวหน้าเวร และแพทย์เวร เพื่อให้มีส่วนร่วมและเห็นกระบวนการในการเรียนการสอนตามหลักแนวคิดของ Jeffries’s Nursing Education Simulation Framework ซึ่งจะทํา
    ให้อาจารย์มีประสบการณ์และสามารถใช้วิธีการสอนนี้ได้ด้วยตนเองในครั้งถัดไป
  7. ควรมีการติดตามผลลัพธ์ของการเรียนการสอนด้วยสถานการณ์จําลองเสมือนจริงต่อความมั่นใจในการปฏิบัติการพยาบาลด้วยการวิจัยต่อไป

References
Diaz-Navarro, C., Armstrong, R., Charnetski, M., Freeman, K. J., Koh, S., Reedy, G., Smitten, J., Ingrassia, P. L., Matos, F. M., & Issenberg, B. (2024). Global consensus statement on simulation-based practice in healthcare. Advances in simulation (London, England), 9(1), 19. https://doi.org/10.1186/s41077-024-00288-1

Ford, N., Gomes, L., Lowe, E., & Harder, N. (2024). Embracing discomfort and vulnerability: cultivating brave learning spaces within simulation-based nursing education: International Journal of Healthcare Simulation. 1 – 7.
https://doi.org/10.54531/fokp9401

Gaspar, A. D., & Banayat, A. C. (2024). Undergraduate Student Nurses’ Satisfaction, Self- confidence, and Perception of High-fidelity Simulation-based Learning on Critically-ill Patients. Acta medica Philippina, 58(12), 110–117. https://doi.org/10.47895/amp.v58i12.10240

Guerrero, J. G., Attallah, D. M., Gomma, N. H., & Ali, S. A. (2024). Improvements in practicing nurses’ knowledge, skills, self-efficacy, confidence, and satisfaction after a simulated clinical experience of caring for a patient undergoing chemotherapy: a quasi-experimental study. BMC nursing, 23(1), 66.  https://doi.org/10.1186/s12912-024-01727-0

Hampton, D., Melander, S., Tovar, E., Falls, C., Makowski, A., Grubbs, A. B., Chitwood, H., & Scott, L. (2024). Value of Miller’s Pyramid for Clinical Skills Assessment in the Evaluation of Competency for Nurse Practitioner Students. The Journal for Nurse Practitioners, 20(4), https://doi.org/10.1016/j.nurpra.2024.104952.

Jeffries P. R. (2005). A framework for designing, implementing, and evaluating simulations used
as teaching strategies in nursing. Nursing education perspectives, 26(2), 96–103.

Jiang, M. H., Dou, L. W., Dong, B., Zhang, M., Li, Y. P., & Lin, C. X. (2024). Development and implementation of a high-fidelity simulation training course for medical and nursing collaboration based on the Fink integrated course design model. Frontiers in Medicine, 11, 1286582. https://doi.org/10.3389/fmed.2024.1286582

Nair, M. A., Muthu, P., & Abuijlan, I. A. M. (2024). The Effectiveness of High-Fidelity Simulation on Clinical Competence Among Nursing Students. SAGE open nursing, 10, 23779608241249357. https://doi.org/10.1177/23779608241249357

Saragih, I. D., Tarihoran, D. E. T. A. U., Lin, W. T., & Lee, B. O. (2024). Outcomes of scenario-based
simulation courses in nursing education: A systematic review and meta-analysis.
Nurse Education Today, 136, 106145. https://doi.org/10.1016/j.nedt.2024.106145

Singh-Pillay, A. (2024). Exploring Science and Technology Teachers’ Experiences with Integrating Simulation-Based Learning. Education Sciences, 14(8), 803. https://doi.org/10.3390/educsci14080803

Toney-Butler, T. J., & Thayer, J. M. (2023). Nursing Process. Retrieved from https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK499937/

Verkuyl, M., Harder, N., Southam, T., Lavoie-Tremblay, M., Ellis, W., Kahler, D., & Atack, L. (2024).
Advancing Virtual Simulation in Education: Administrators’ Experiences. Clinical
Simulation in Nursing, 90, 101533. https://doi.org/10.1016/j.ecns.2024.101533.

Scroll to Top