รางวัลดีเด่น ปีการศึกษา 2567

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : KR 2.3.1/1

“ซุปเปอร์ อสม.” นวัตกรชุมชนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนบนพื้นที่สูง

ผู้จัดทำโครงการ​

รศ.ดร.วิมลรัตน์ บุญเสถียร อาจารย์ปราณี ทัดศรี
ผศ.วิลาวัลย์ อุดมการเกษตร

คณะพยาบาลศาสตร์

หลักการและเหตุผล/ความสำคัญ/ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้​

          การเข้าถึงระบบสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ทุรกันดาร เป็นปัญหาสำคัญที่มีมายาวนาน เนื่องจากลักษณะพื้นที่ที่ทุรกันดาร เข้าถึงยาก รวมถึงความยากลำบากในการติดต่อสื่อสารกับสถานพยาบาลเนื่องจากปัญหาด้านการเดินทางและสัญญาณโทรศัพท์/อินเตอร์เน็ต แม้ทุกพื้นที่สูงจะมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพประชาชน แต่ช่วงฤดูฝนหลายพื้นที่ถูกตัดขาดจากเส้นทางสัญจรหลัก ทำให้ อสม. มีความลำบากในการปฏิบัติงาน ประกอบกับขาดโอกาสในการเพิ่มเติมความรู้และทักษะที่จำเป็นตามที่กระทรวงสาธารณสุขจัดให้ เมื่อประชาชนเจ็บป่วยจึงต้องดูแลตนเองตามวัฒนธรรมและความเชื่อของตน ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา

          จากประเด็นปัญหาดังกล่าว นำมาสู่การพัฒนาโครงการวิจัยแรก ในปี พ.ศ. 2565 “การพัฒนาสมรรถนะซุปเปอร์ อสม. บนพื้นที่สูง” ซึ่งเป็นการวิจัยร่วมระหว่าง 3 สถาบัน ได้แก่ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (มรส.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี (มจธ.) และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จฬ.) โดยแต่ละสถาบันใช้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาของตนร่วมกันออกแบบการวิจัย โดยคณะพยาบาลศาสตร์ มรส. ออกแบบหลักสูตร ชุดความรู้ในการพัฒนาสมรรถนะเพื่อยกระดับ อสม. ให้เป็น “ซุปเปอร์ อสม.” โดยต่อยอดความรู้และทักษะพื้นฐานที่มีความจำเพาะกับปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยบนพื้นที่สูง ประกอบด้วยชุดความรู้และทักษะด้านสุขภาพ 6 ด้าน ได้แก่ 1) การอนามัยแม่และเด็ก 2) การปฐมพยาบาล 3) การประเมินและการช่วยเหลือผู้ป่วยวิกฤติ 4) การดูแลผู้ป่วยติดเตียง/ผู้ป่วยเรื้อรัง 5) การดูแลผู้สูงอายุ และ 6) การรับมือกับโรคระบาด มจธ. ออกแบบกระเป๋าซุปเปอร์ อสม. สำหรับใส่เครื่องมือและยาจำเป็นพื้นฐาน รวมทั้งติดตั้งเสาสัญญาณวิทยุสื่อสารบนพื้นที่ที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ และ จฬ. พัฒนาสื่อวิดิทัศน์ความรู้และทักษะปฏิบัติที่ใช้บ่อยสำหรับให้ซุปเปอร์ อสม. เรียนรู้ได้ตลอดเวลา ผลการวิจัยทำให้ได้รูปแบบการพัฒนาซุปเปอร์ อสม. ที่เหมาะสมในการปฏิบัติงานบนพื้นที่สูง และได้นวัตกรชุมชนจำนวน 27 คนจากพื้นที่ 11 ตำบล ที่มีสมรรถนะเหมาะสมตอบโจทย์สุขภาพในพื้นที่ รวมทั้งได้นวัตกรรมกระเป๋าเวชภัณฑ์ที่เหมาะกับการทำงานของซุปเปอร์ อสม.

          ผลลัพธ์จากการวิจัยระยะแรก นำสู่การเปลี่ยนผ่านกระบวนการพัฒนาซุปเปอร์ อสม. จากนักวิจัยนอกพื้นที่สู่บุคลากรสุขภาพในพื้นที่ในการวิจัยระยะถัดมาในปี พ.ศ. 2566 “การศึกษากลไกในพื้นที่สำหรับขยายผลการพัฒนาซุปเปอร์ อสม. ในพื้นที่ทุรกันดาร” เพื่อสร้างนวัตกรชุมชนรูปแบบ “ซุปเปอร์ อสม.” ให้ครอบคลุมหมู่บ้านบนพื้นที่สูงให้มากที่สุด มีเป้าหมายเพื่อสร้างกลไกการพึ่งตนเองในการดูแลด้านสุขภาพอย่างมีคุณภาพ ผ่านการพัฒนาบุคลากรสุขภาพในพื้นที่ให้มีสมรรถนะในการพัฒนาซุปเปอร์ อสม. ได้ด้วยตนเองโดยมีทีมนักวิจัยเป็นพี่เลี้ยง ช่วยให้นวัตกรชุมชน “ซุปเปอร์ อสม.” มีสมรรถนะและปฏิบัติงานได้อย่างต่อเนื่องยั่งยืน และมีการพัฒนาซุปเปอร์ อสม. รุ่นใหม่ ๆ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการด้านสุขภาพของชุมชน นำไปสู่การพึ่งตนเองและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของประชาชนบนพื้นที่สูง

ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้ 

  1. ความรู้ทางการพยาบาล ด้านการพยาบาลอายุรกรรมและศัลยกรรม การพยาบาลมารดาและทารก การพยาบาลเด็ก การปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการพยาบาลผู้สูงอายุ
  2. แนวคิด ทฤษฎีการเรียนรู้ ได้แก่ ทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์ (Experiential Learning Theory) ของ David A. Kolb พีระมิดแห่งการเรียนรู้ (Cone of Learning) ของ Edgar Dale และระบบพี่เลี้ยงตามโมเดล Mentoring for development

ประเภทความรู้และที่มาความรู้

ความรู้แบบชัดแจ้ง (Explicit Knowledge)

  • อื่น ๆ (โปรดระบุ) ความรู้ทางการพยาบาล แนวคิด และทฤษฎีของการเรียนรู้

ความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge)

  • เจ้าของความรู้/สังกัด  หลักสูตร ชุดความรู้ และทักษะการพยาบาล ของอาจารย์พยาบาล (ผู้วิจัย) 
  • อื่น ๆ (ระบุ) ประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ ของพยาบาลวิชาชีพในรพ.สต.

วิธีการดำเนินการ

ระยะแรก ปี พ.ศ. 2565 ดำเนินการโดยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory action research) และนำแนวคิดจากทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์ของ David A. Kolb ร่วมกับพีระมิดแห่งการเรียนรู้ (Cone of Learning) ของ Edgar Dale มาใช้ในการยกระดับ อสม. ให้เป็น ซุปเปอร์ อสม. ผ่านกระบวนการพัฒนา 2 ระยะ ดังนี้

         ระยะที่ 1 ขั้นเตรียมการและพัฒนาสมรรถนะ อสม. เป็นระยะการทำความเข้าใจปัญหา ร่วมวางแผน สร้างความร่วมมือในพื้นที่ และร่วมพัฒนาสมรรถนะของ อสม. ผ่านการเรียนรู้ภาคทฤษฎีและการฝึกทักษะปฏิบัติ ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1) ประสานงานเพื่อทำความเข้าใจปัญหา และสร้างกลไกและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ 2) การสำรวจพื้นที่จริง ระดมความคิด/แลกเปลี่ยนกับภาคีเครือข่าย เพื่อกำหนดขอบเขตเนื้อหาและกิจกรรมการพัฒนาสมรรถนะ อสม. 3) สร้างหลักสูตรการพัฒนาสมรรถนะ อสม. และ 4) ดำเนินการพัฒนาสมรรถนะ อสม. โดยการอบรมเชิงปฏิบัติการ การฝึกทักษะที่ได้รับการอบรม และศึกษาดูงาน/ฝึกทักษะบางด้านในโรงพยาบาลอำเภอ

         ระยะที่ 2 เป็นการพัฒนาต่อยอดสมรรถนะด้านความรู้ ทัศนคติ ทักษะปฏิบัติ และทักษะการตัดสินใจผ่านการเรียนรู้จากการปฏิบัติในสถานการณ์และบริบทจริง ภายใต้การดูแลของพี่เลี้ยง (พยาบาลวิชาชีพ/นักวิชาการสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานที่ รพ.สต.) เพื่อพัฒนา อสม. ให้เป็นนวัตกรชุมชน (ซุปเปอร์ อสม.) ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1) ปฏิบัติงานในสถานการณ์และพื้นที่จริงในฐานะ อสม. 2) เรียนรู้ขณะปฏิบัติงานในพื้นที่จริงกับพี่เลี้ยงหลังการฝึกปฏิบัติ และเรียนรู้จากประสบการณ์ของเพื่อน อสม. พี่เลี้ยง และทีมวิจัย ทางออนไลน์ผ่านไลน์กลุ่ม 3) อภิปราย/ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ร่วมกับพี่เลี้ยงและทีมวิจัยทุก 2-3 เดือน ทางออนไซด์และออนไลน์ 4) เวที แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่าง อสม. และ 5) ถอดบทเรียนกระบวนการเรียนรู้ของ อสม. และพี่เลี้ยง และการประเมินสมรรถนะของ อสม. ด้านความรู้ ทัศนคติในการดูแล และทักษะปฏิบัติเมื่อสิ้นสุดกระบวนการพัฒนาสมรรถนะ

         ระยะที่ 2 ปี พ.ศ. 2566 สร้างกระบวนการบ่มเพาะซุปเปอร์ อสม. โดยบุคลากรสุขภาพในพื้นที่ โดยประยุกต์ใช้ระบบพี่เลี้ยงตามโมเดล Mentoring for development โดยทีมวิจัยทำหน้าที่ Mentor บุคลากรสุขภาพในพื้นที่ทำหน้าที่ Mentee ในขณะเดียวกับบุคลากรสุขภาพจะรับหน้าที่เป็น Mentor ให้ซุปเปอร์ อสม. ด้วย การบ่มเพาะพี่เลี้ยงและซุปเปอร์ อสม. ผ่านการดำเนินงาน 4 กระบวนการ ได้แก่ 1) กำหนดเป้าหมายและวางแผนร่วมกันผ่านการมีสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกัน 2) สร้างพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันเพื่อส่งเสริมความเข้าใจผ่านไลน์กลุ่ม 3) พัฒนาสมรรถนะแบบองค์รวมผ่านวิธีการหลากหลายต่อเนื่องตามรูปแบบการพัฒนาสมรรถนะซุปเปอร์ อสม. ที่ได้จากการถอดบทเรียนระยะแรก  และ 4) เชื่อมโยง ประสานเครือข่ายและแหล่งประโยชน์ในพื้นที่เพื่อร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

2.Prototype testing in an operational environment – DO 

ผลการดำเนินการ การนำไปใช้ หรือการลงมือปฏิบัติจริง อุปสรรคหรือปัญหาในการทำงาน

ผลลัพธ์ของการดำเนินงานทั้ง 2 ระยะ มีดังนี้

  1. ยกระดับ อสม. ให้เป็นซุปเปอร์ อสม. จำนวน 57 คน ครอบคลุม 50 หย่อมบ้าน (ชุมชนบนพื้นที่สูง) จาก 17 ตำบลของจังหวัดเชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน
  2. เกิดทีมพี่เลี้ยงที่สามารถรับช่วงการดำเนินงาน และมีสมรรถนะในการพัฒนาซุปเปอร์ อสม. จำนวน 15 คน
  3. ผลการให้บริการของซุปเปอร์ อสม. พบว่า ให้บริการประชาชนที่เจ็บป่วยทั้งหมด 2,383 ครั้ง (นับเฉพาะช่วงเวลาของโครงการ) ส่งผลให้ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมายัง รพ.สต. ที่อยู่บนพื้นราบ คิดเป็น 1,211,863.70 บาท นอกจากนั้นซุปเปอร์ อสม. สามารถดำเนินการคัดกรองกลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วยโรคเรื้อรังซึ่งได้รับมอบหมายจากบุคลากรสุขภาพ รพ.สต. จำนวน 2,135 ครั้ง ตัดสินใจติดตามวัดความดันโลหิต เจาะเลือดปลายนิ้วในประชาชนกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มป่วย และทำแผลให้ประชาชนก่อนรายงานผลให้บุคลากรสุขภาพทราบ ซึ่งช่วยลดภาระงานบางด้านให้บุคลากรสุขภาพ รวมถึงสามารถประเมินสภาพและประสานส่งต่อผู้ป่วยวิกฤตไปยังโรงพยาบาลแม่ข่ายทางรถ Ambulance และ Sky doctor ได้ทันเวลา จำนวน 13 ครั้ง ส่งผลให้ผู้ป่วยรอดชีวิต
  4. ซุปเปอร์ อสม. สามารถพัฒนาโครงการดูแลสุขภาพที่สอดคล้องกับปัญหา บริบท และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ร่วมกับบุคลากรสุขภาพจำนวน 17 โครงการ ตัวอย่างเช่น โครงการลดการติดจอเพิ่มพัฒนาการ โครงการดูแลสุขภาพเบื้องต้นเด็กอายุ 0-5 ปี (มุ่งเน้นที่การมีความรู้และทักษะในการเช็ดตัวลดไข้อย่างถูกวิธี) โครงการดูแลเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ด้วยตัวเรา (เป็นโครงการร่วมของซุปเปอร์ อสม. และบุคลากรสุขภาพจาก 2 รพ.สต.) โครงการส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดี “มึสุมึสะ” (เน้นปัญหาซึมเศร้า) เป็นต้น
  5. เกิด Learning Innovation Platform (LIP) ที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ในบริบทพื้นที่สูง ในระยะเริ่มต้นทีมวิจัยรับผิดชอบเป็นผู้จัดการ (นายสถานี) เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และปัจจุบันมีบุคลากรสุขภาพในพื้นที่เข้ามามีส่วนเป็นผู้บริหารจัดการแทนทีมนักวิจัย
  6. ผลงานด้านชุดการเรียนรู้ ได้แก่
  • หนังสือ “รวมเรื่องเล่า เล่าเรื่องราว” จากการถอดบทเรียนประสบการณ์การทำงานในฐานะซุปเปอร์ อสม. จำนวน 25 คน ที่มาจาก 20 หมู่บ้าน 10 ตำบล ในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอสบเมย และอำเภอแม่สะเรียงจังหวัดแม่ฮ่องสอน
  • คู่มือ “หลักสูตร ซุปเปอร์ อสม.” ซึ่งรวบรวมแนวคิด ความเป็นมา วัตถุประสงค์และโครงสร้างหลักสูตร รวมถึงแผนการเรียนรู้ และเนื้อหาสาระสำคัญที่จำเป็นของหลักสูตร
  • สื่อสุขภาพ 3 ภาษา 6 ประเด็นโจทย์สุขภาพ จำนวน 40 คลิป 6 เพลง
  • นวัตกรรม “ซุปเปอร์กระเป๋าเวชภัณฑ์” พร้อมคู่มือยาสามัญประจำบ้านและภูมิปัญญา

                     ด้านปัญหาอุปสรรคในการทำงาน ได้แก่ ข้อจำกัดในการหาแหล่งทุนสนับสนุนการเติมยาและวัสดุทางการแพทย์ในกระเป๋าเวชภัณฑ์ของซุปเปอร์ อสม. เนื่องจากยังไม่อยู่ในระบบการเบิกจ่ายของ สปสช. และสัญญาณโทรศัพท์/อินเตอร์เน็ตในบางพื้นที่ซึ่งส่งผลต่อการสื่อสารและการติดต่อประสานงานระหว่างกันซึ่งทีมวิจัยแก้ไขโดยการติดเสาสัญญาณวิทยุสื่อสาร อย่างไรก็ตามกรณีมีเคสผู้ป่วยจะยังไม่สามารถส่งภาพหรือวิดีโอเพื่อให้บุคลากรสุขภาพร่วมประเมินสภาพผู้ป่วยได้

3. Proven through successful mission operation, Objectives and Key Results for Knowledge Management – CHECK

    บทสรุปความรู้ที่ค้นพบจากการดำเนินงาน

          ได้ความรู้เชิงกระบวนการในการสร้างความยั่งยืน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนบนพื้นที่สูงที่เป็นรูปธรรม ดังนี้

  1. การดูแลสุขภาพประชาชนต้องเริ่มจากความต้องการของคนในพื้นที่ โดยมีคนในพื้นที่ที่เข้าใจบริบทและวัฒนธรรมของพื้นที่เป็นผู้ดำเนินการหลัก เพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้
  2. การสร้างสมรรถนะในการดูแลสุขภาพจำเป็นต้องใช้หลายวิธี ผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงสะท้อนคิดสิ่งที่ปฏิบัติ และปรับปรุงการปฏิบัติ หมุนวนเป็นวงจรต่อเนื่อง จะทำให้ได้ประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรมใหม่ทุกครั้ง ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง
  3. การดูแลสุขภาพประชาชนบนพื้นที่สูงเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงบริการสุขภาพ จำเป็นต้องประสานงานและได้รับการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายทุกระดับ ที่มีความรับผิดชอบแตกต่างกันแต่มีเป้าหมายเดียวกัน และจำเป็นต้องผลักดันเข้าสู่ระดับนโยบายเพื่อได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

เกียรติยศและรางวัลที่ได้รับ

  1. รางวัล Big Impact สร้างผลกระทบสูงต่อชุมชน ระดับดีเยี่ยม จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ในงานนิทรรศการปิดโครงการวิจัยและเสนอผลงาน Appropriate Technology “เรียนรู้ เติบโต แบ่งปันเทคโนโลยีเพื่อชุมชน ขยายผลสู่การพัฒนายั่งยืน” เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2567 จัดที่โรงแรมเซ็นทาราฯ
  2. ซุปเปอร์ อสม. 2 คน ได้รับรางวัล “นวัตกรชุมชน” ระดับดี จากงานประกวดและนิทรรศการ “ชุมชนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้” ครั้งที่ 2 “เสริมพลังนวัตกร ด้วยนวัตกรรมเด่นสู่ชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 16 – 17 กันยายน 2567 จัดที่โรงแรม The Berkley Hotel Pratunam
  3. นักวิจัยจาก มจธ. 2 คน ได้รับรางวัลบุคลากรดีเด่น ปีการศึกษา 2566 จากการดำเนินโครงการซุปเปอร์ อสม.
  4. มีการเผยแพร่ข่าวสารด้านสมรรถนะและความจำเป็นที่ต้องผลิต “ซุปเปอร์ อสม.” ในหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันเสาร์ที่ 21 กันยายน 2567 หน้าเว็บหมวด “Likeสาระ”

 ความต่อเนื่องยั่งยืนหลังเสร็จสิ้นโครงการ

  1. Learning innovation platform ยังคงมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยมีบุคลากรสุขภาพในพื้นที่ (พี่เลี้ยง) เป็นผู้จัดการ (นายสถานี) มีการใช้ประโยชน์จาก platform ในการปรึกษาเคสผู้ป่วยที่พบประกอบการตัดสินใจให้บริการหรือส่งต่อ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้ป่วยที่ดูแล ส่งข้อมูลความรู้ให้ซุปเปอร์ อสม. เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเสนอข่าวสารการยกระดับบ้านของซุปเปอร์ อสม. เป็นสถานีสุขภาพ เป็นต้น
  2. เกิดความร่วมมือในการหาแหล่งสนับสนุนเวชภัณฑ์และยาสามัญประจำบ้านจากวัด โบสถ์ โรงเรียน และ รพ.สต. ที่สามารถเบิกจ่ายเวชภัณฑ์ได้
  3. มีการขยายผลจากนโยบายของสาธารณสุขอำเภอ กำหนดให้บ้านซุปเปอร์ อสม. แต่ละหย่อมบ้าน เป็นสถานีสุขภาพชุมชน ซึ่งปัจจุบันจัดตั้งแล้วจำนวน 8 แห่ง เพื่อเป็นศูนย์กลางการดูแลสุขภาพสำหรับประชาชนบนพื้นที่สูง

ข้อเสนอแนะในการดำเนินการในอนาคต หรือการดำเนินการเพื่อสามารถนำไปสู่การเป็น Good Practice

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การดำเนินการประสบความสำเร็จ

  1. ความรับผิดชอบและความร่วมมือของภาคีเครือข่ายต่างระดับ และต่างสาขาวิชาชีพในทุกขั้นตอนของการดำเนินงาน ได้แก่ ภาคประชาชน (ผู้นำชุมชน และ อสม.) บุคลากรของหน่วยงานสุขภาพในพื้นที่ (สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบุคลากรจากสถาบันการศึกษาและนักวิจัยในพื้นที่ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะที่แตกต่างกัน
  2. การผลักดันการดำเนินงานเข้าสู่ระดับนโยบาย เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของงานประจำที่มีแผนการดำเนินงานรองรับชัดเจน มีการกำหนดผู้รับผิดชอบ รวมทั้งมีงบประมาณสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
  3. การมีแหล่งทุนวิจัยสนับสนุนและให้โอกาสในการดำเนินงานระยะเริ่มต้นก่อนเปลี่ยนผ่านสู่บุคลากรสุขภาพในพื้นที่เพื่อความยั่งยืนต่อไป

Link เอกสาร ภาพ สื่อ ที่เป็นผลจากการดำเนินงาน

https://drive.google.com/drive/folders/1Ov-rlBWCnMWBfVOd7DiKkckB0U23L1n2?usp=sharing

Link การเผยแพร่ ซุปเปอร์ อสม. ในสกู๊ปข่าวหนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/likesara/830450

Link VDO เผยแพร่โครงการ ซุปเปอร์ อสม. โดย บพท.

https://youtu.be/ODTfIK4bZC8?feature=shared

https://youtu.be/yEqTrYlrf-A?feature=shared

https://youtu.be/yGlxffMdmpA?feature=shared

Scroll to Top