รางวัลดีเด่น ปีการศึกษา 2567

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : KR 1.3.2, 2.1.1

การผลักดันงานวิจัยของนักศึกษาระดับปริญญาตรีเข้าสู่การตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ

ผู้จัดทำโครงการ​

ผศ.ดร.ภก.เชาวลิต มณฑล

วิทยาลัยเภสัชศาสตร์

หลักการและเหตุผล/ความสำคัญ/ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้​

          รายวิชา ปัญหาพิเศษ เป็นหนึ่งในรายวิชาในหลักสูตรระดับปริญญาตรี วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต โดยถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาได้พัฒนาทั้งความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่จำเป็นในด้านการวิจัยทางเภสัชศาสตร์ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นการลงมือปฏิบัติจริงอย่างเป็นระบบ ในรายวิชานี้ นักศึกษาจะได้มีโอกาสศึกษา วิเคราะห์ และค้นคว้าประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะประเด็นสำคัญทางด้านเภสัชศาสตร์ นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้พัฒนาความเข้าใจอย่างรอบด้านผ่านการเรียนรู้จากแหล่งความรู้ที่หลากหลาย เช่น ตำรา หนังสือ วารสารวิชาการ ฐานข้อมูล และเอกสารคำสอนต่าง ๆ กระบวนการเหล่านี้ช่วยให้นักศึกษาไม่เพียงแต่มีความเข้าใจเชิงลึกในศาสตร์ที่ศึกษา แต่ยังได้เรียนรู้ การตั้งสมมติฐาน การออกแบบงานวิจัย การวางแผนการทดลอง รวมถึงการแปลผลข้อมูล กระบวนการดังกล่าวยังช่วยปลูกฝังทักษะการแก้ปัญหา การคิดวิเคราะห์ และการสื่อสารเชิงวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นทักษะที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในวิชาชีพเภสัชกรรม นอกจากนี้ ผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นจากรายวิชานี้ยังมีศักยภาพที่จะถูกพัฒนาต่อยอดสู่การตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ซึ่งช่วยสร้างชื่อเสียงและเพิ่มขีดความสามารถของนักศึกษาในเวทีวิชาการ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนานักศึกษาให้เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีศักยภาพ รายวิชา ปัญหาพิเศษ จึงไม่ได้เป็นเพียงการเรียนรู้ในห้องเรียน แต่เป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้สร้างผลงานที่มีคุณค่า สร้างองค์ความรู้ใหม่ และเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นบุคลากรทางการแพทย์ในวิชาชีพกรรมอย่างแท้จริง

ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้ 

          ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้ในรายวิชา ปัญหาพิเศษ ประกอบด้วยความรู้พื้นฐานด้านเภสัชศาสตร์ เช่น การคำนวณทางเภสัชกรรม เทคนิคการชั่ง ตวง วัด ทฤษฎีต่าง ๆ ทางเภสัชศาสตร์ และความรู้ขั้นสูง เช่น เทคโนโลยีเภสัชกรรม เภสัชเคมี เภสัชเวท เภสัชวิทยา และเภสัชกรรมคลินิก ซึ่งเป็นฐานสำคัญในการตั้งสมมติฐานและออกแบบงานวิจัย ตลอดจนกระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เน้นการตั้งสมมติฐาน การออกแบบงานวิจัย การวางแผนการทดลอง การทำการทดลอง การแปลผลข้อมูล และการสรุปข้อมูลอย่างเป็นระบบ นักศึกษายังได้พัฒนาทักษะการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล รวมถึงการค้นคว้าข้อมูลจากแหล่งความรู้ที่หลากหลาย เช่น ตำรา หนังสือ วารสารวิชาการ ฐานข้อมูล และเอกสารคำสอน นอกจากนี้ รายวิชายังส่งเสริมการแก้ปัญหา การคิดวิเคราะห์ และการพัฒนาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อแก้ปัญหาและสร้างองค์ความรู้ทางเภสัชศาสตร์ พร้อมทั้งฝึกทักษะการสื่อสารเชิงวิทยาศาสตร์ เช่น การเขียนรายงานผลการวิจัยและการนำเสนอผลงานให้แก่คณาจารย์และนักศึกษาด้วยกันเอง รวมถึงการพัฒนาผลงานวิจัยให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล โดยกระบวนการเรียนรู้เชิงบูรณาการที่ใช้ความรู้จากหลากหลายสาขาวิชานี้ช่วยให้นักศึกษาได้รับการพัฒนาในทุกมิติ ทั้งความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการทำงานในวิชาชีพเภสัชกรรมและการวิจัยในอนาคตอย่างแท้จริง

ประเภทความรู้และที่มาความรู้

ความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge)

  • เจ้าของความรู้/สังกัด วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต                                

วิธีการดำเนินการ

  1. คัดเลือกอาจารย์ที่ปรึกษาและหัวข้อวิจัย

          นักศึกษาคัดเลือกอาจารย์ที่ต้องการทำวิจัยด้วย และเข้าพูดคุยปรึกษาเพื่อคัดเลือกหัวข้อวิจัยที่ทั้งนักศึกษาและอาจารย์มีความสนใจร่วมกัน ก่อนเริ่มต้นการวิจัย จะต้องสืบค้นข้อมูล (ภาคการศึกษาที่ 2 ของชั้นปีที่ 4) เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่างานวิจัยที่จะดำเนินการไม่ซ้ำซ้อนกับงานวิจัยที่มีอยู่เดิม

  1. การเตรียมทรัพยากรสำหรับวิจัย

          อาจารย์จัดหาและเตรียมสารเคมี อุปกรณ์ และทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนงานวิจัยให้นักศึกษา ก่อนเริ่มดำเนินการในภาคการศึกษาที่ 1 (ของชั้นปีที่ 5) ตลอดจนขอรับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยงานภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย

  1. การดำเนินการวิจัย

          ก่อนเริ่มการวิจัย อาจารย์ชี้แจงขั้นตอนการวิจัย รวมถึงเน้นประเด็นด้านความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ (lab safety) เพื่อให้นักศึกษาสามารถทำการวิจัยได้อย่างปลอดภัย จากนั้นนักศึกษาดำเนินการวิจัยตามแผนที่วางไว้ โดยมีอาจารย์ควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด และสามารถเข้าปรึกษาอาจารย์ได้ตลอดเวลา

          ในขั้นตอนที่สำคัญ เช่น การเตรียมและเจือจางสารมาตรฐาน การใช้งานเครื่องมือที่มีความละเอียดสูง เช่น HPLC หรือการใช้ไมโครปิเปต จะมีอาจารย์ดูแลเพื่อป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของผลการวิจัย

          เมื่อนักศึกษาทำการวิจัยในแต่ละหัวข้อเสร็จสิ้น ต้องจัดการข้อมูลการทดลองให้เรียบร้อยภายในเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์เพื่อป้องกันการตกหล่นของข้อมูล และก่อนเริ่มการทดลองในหัวข้อถัดไป อาจารย์และนักศึกษาจะพูดคุยวางแผนและแนวทางแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงเชื่อมโยงข้อมูลจากการทดลองที่ผ่านมาเพื่อให้นักศึกษาเข้าใจภาพรวมของการวิจัย

  1. รายงานความก้าวหน้า การจัดทำรายงาน และการนำเสนอผลการวิจัย

          นักศึกษารายงานความก้าวหน้าของงานวิจัยในช่วงปลายภาคการศึกษาที่ 1 ของชั้นปีที่ 5 พร้อมจัดทำรายงานและเตรียมการนำเสนอในปลายภาคการศึกษาที่ 2

  1. การจัดทำบทความวิจัย

          อาจารย์รับผิดชอบหลักในการร่างบทความวิจัย โดยใช้ข้อมูลที่จัดทำร่วมกับนักศึกษา พร้อมคัดเลือกวารสารสำหรับการตีพิมพ์และประสานงานจนบทความได้รับการตีพิมพ์ โดยนักศึกษาจะได้รับการระบุชื่อเป็นผู้ร่วมวิจัยในทุกบทความที่เกิดจากรายวิชานี้ เพื่อเสริมสร้างความภาคภูมิใจในตนเองของนักศึกษา

2.Prototype testing in an operational environment – DO 

ผลการดำเนินการ การนำไปใช้ หรือการลงมือปฏิบัติจริง อุปสรรคหรือปัญหาในการทำงาน

          ผลการดำเนินการนี้ แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการสร้างผลงานวิจัยที่มีคุณภาพของนักศึกษาในระดับปริญญาตรี ซึ่งสามารถตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูล Scopus ได้อย่างต่อเนื่อง โดยในทุกปีการศึกษา นักศึกษามีผลงานที่ได้รับการเผยแพร่ในระดับนานาชาติ ตัวอย่างเช่น ในปีการศึกษา 2562 เกิดบทความวิจัยจำนวน 2 เรื่องจากการวิจัยของนักศึกษาเพียงกลุ่มเดียว และในปีการศึกษา 2563 ได้บทความวิจัยจำนวน 2 เรื่องจากการดำเนินงานของนักศึกษา 2 กลุ่ม ขณะที่ปีการศึกษาอื่น ๆ มีผลงานตีพิมพ์อย่างสม่ำเสมอปีละ 1 เรื่อง ยกเว้นปีการศึกษา 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้นักศึกษาไม่สามารถเข้ามาดำเนินงานวิจัยในมหาวิทยาลัยได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้ไม่สามารถผลิตบทความวิจัยในปีการศึกษาดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม ในปีการศึกษา 2567 นักศึกษาได้ดำเนินการวิจัยเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว และอยู่ในขั้นตอนการจัดทำรายงานและการเตรียมนำเสนอ ซึ่งผลการวิจัยที่ได้ถูกส่งไปยังวารสารวิชาการระดับนานาชาติในฐานข้อมูล Scopus เพื่อรอการพิจารณาตีพิมพ์ต่อไป

          อุปสรรคสำคัญที่พบในการดำเนินงานวิจัย นอกจากข้อจำกัดด้านสถานการณ์ภายนอก เช่น การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว ยังรวมถึงภาระทางการเรียนของนักศึกษาเภสัชศาสตร์ที่มีเนื้อหาวิชาการปริมาณมาก ซึ่งส่งผลให้มีเวลาในการทำวิจัยอย่างจำกัด โดยเฉพาะในช่วงปลายภาคการศึกษาที่ 1 ของชั้นปีที่ 5 ที่นักศึกษาต้องเตรียมตัวสอบใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ทำให้สูญเสียเวลาสำหรับการทำวิจัยบางส่วน ส่งผลให้ต้องเร่งดำเนินงานวิจัยเพิ่มเติมในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เพื่อให้สามารถทำวิจัยได้อย่างต่อเนื่อง และช่วยให้งานวิจัยมีความคืบหน้าอย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันก็ยังคงมีเวลาเพียงพอสำหรับการเตรียมตัวสอบใบประกอบวิชาชีพ การสนับสนุนและการปรับแผนงานอย่างเหมาะสมจากอาจารย์ที่ปรึกษามีบทบาทสำคัญในการช่วยลดผลกระทบจากข้อจำกัดดังกล่าว และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานวิจัยจนประสบความสำเร็จ

หลักฐานประกอบ

ปีการศึกษา 2562

ปีการศึกษา 2562

ปีการศึกษา 2563

ปีการศึกษา 2563

ปีการศึกษา 2565

ปีการศึกษา 2566

3. Proven through successful mission operation, Objectives and Key Results for Knowledge Management – CHECK

          การตรวจสอบผลการดำเนินการวิจัย ได้รับการดำเนินการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยมีการติดตามความก้าวหน้าของงานวิจัยเป็นระยะ ทั้งในรูปแบบการรายงานความคืบหน้า การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลในแต่ละขั้นตอน ตลอดจนการนำเสนอผลการวิจัยในรูปแบบรายงานฉบับสมบูรณ์และการนำเสนอปากเปล่าในช่วงปลายภาคการศึกษา กระบวนการดังกล่าวไม่เพียงช่วยให้นักศึกษาได้พัฒนาคุณภาพของผลงานวิจัย แต่ยังส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงวิชาการกับคณาจารย์และเพื่อนร่วมชั้นเรียน อันนำไปสู่มุมมองที่กว้างขวางและรอบด้าน

          ในด้านประสบการณ์การนำไปใช้ งานวิจัยที่นักศึกษาดำเนินการแสดงถึงศักยภาพในการต่อยอดทั้งในเชิงวิชาการและการปฏิบัติ ตลอดจนการสร้างสรรค์องค์ความรู้ที่สามารถนำไปพัฒนานวัตกรรมทางเภสัชศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถผลิตบทความวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติได้

ผลการสรุปและอภิปรายพบว่า ผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นมีความน่าเชื่อถือและมีคุณภาพ สามารถตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติในฐานข้อมูล Scopus อย่างต่อเนื่องในทุกปีการศึกษา อุปสรรคสำคัญที่พบระหว่างการดำเนินงาน คือภาระทางการเรียนของนักศึกษา ส่งผลให้เวลาในการทำวิจัยมีข้อจำกัด อย่างไรก็ตาม อุปสรรคดังกล่าวได้รับการแก้ไขผ่านการสนับสนุนจากอาจารย์ที่ปรึกษา รวมถึงการจัดสรรเวลาเพิ่มเติมในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เพื่อให้งานวิจัยดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง

          บทสรุปของการดำเนินการนี้ คือ การสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่มีคุณค่าและศักยภาพในเชิงวิชาการ นอกจากนี้ กระบวนการเรียนรู้ในรายวิชายังช่วยพัฒนาทักษะที่สำคัญ เช่น การคิดวิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์ การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ และการสื่อสารเชิงวิชาการ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีศักยภาพและความเชี่ยวชาญในอนาคต นอกจากนี้ บทความวิจัยที่ผลิตขึ้นยังช่วยเสริมสร้างความภาคภูมิใจในตนเองของนักศึกษา และเป็นตัวชี้วัดคุณภาพที่สามารถใช้รับรองมาตรฐานของวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดี

ข้อเสนอแนะในการดำเนินการในอนาคต หรือการดำเนินการเพื่อสามารถนำไปสู่การเป็น Good Practice

เพื่อให้การดำเนินงานวิจัยประสบความสำเร็จตามเป้าหมายและผลลัพธ์ที่กำหนดไว้ในอนาคต ควรให้ความสำคัญกับปัจจัยสนับสนุนและข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้:

  1. การวางแผนล่วงหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ

          ควรเริ่มกระบวนการวางแผนหัวข้อวิจัยร่วมกันระหว่างนักศึกษากับอาจารย์ที่ปรึกษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้นักศึกษามีเวลาเพียงพอในการสืบค้นข้อมูล จัดเตรียมทรัพยากร และลดความเร่งรีบในช่วงเวลาการดำเนินการ

  1. การสนับสนุนทรัพยากรและเครื่องมือที่ทันสมัย

          การจัดหาเครื่องมือวิทยาศาสตร์ อุปกรณ์ทดลอง สารเคมี และฐานข้อมูลที่ทันสมัย รวมถึงการอัพเดตซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือของผลการวิจัย

  1. การจัดสรรเวลาอย่างยืดหยุ่น

          ควรพิจารณาจัดตารางเวลาที่เอื้ออำนวยต่อนักศึกษา เพื่อให้นักศึกษาสามารถดำเนินการวิจัยได้อย่างต่อเนื่องและไม่มีข้อจำกัดด้านเวลา

  1. การสนับสนุนเชิงจิตวิทยา

          การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เป็นมิตรและส่งเสริมความมั่นใจในตนเองของนักศึกษา รวมถึงการให้คำปรึกษาและคำแนะนำจากอาจารย์อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้นักศึกษามีแรงบันดาลใจและความมุ่งมั่นในการดำเนินการวิจัย

  1. การกำหนดเป้าหมายและการติดตามผลที่ชัดเจน

          การกำหนดเป้าหมายในแต่ละช่วงของการวิจัย พร้อมทั้งติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้นักศึกษาเห็นความก้าวหน้าของงานวิจัยและสามารถปรับปรุงการทำงานได้ทันท่วงที

  1. การต่อยอดงานวิจัยเพื่อเพิ่มความสมบูรณ์

          บางงานวิจัยที่นักศึกษาดำเนินการยังไม่สมบูรณ์หรือมีข้อจำกัดในบางประการ ซึ่งอาจารย์ผู้รับผิดชอบสามารถขยายขอบเขตงานวิจัยให้กว้างขึ้น เพื่อตอบโจทย์ประเด็นวิจัยที่ยังคงค้างอยู่ ในกรณีเช่นนี้ ทีมวิจัยและคณาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการต่อยอดงานวิจัยดังกล่าว เพื่อเสริมสร้างความสมบูรณ์และความลึกซึ้งของผลงาน ตลอดจนพัฒนาให้งานวิจัยมีคุณภาพเหมาะสมต่อการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติต่อไป

          ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้นักศึกษาและอาจารย์สามารถสร้างผลงานวิจัยที่มีคุณภาพและประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังช่วยยกระดับคุณภาพของนักศึกษาในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ที่มีศักยภาพในอนาคต และบทความวิจัยที่พัฒนาขึ้นยังเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการตอบสนองนโยบายมหาวิทยาลัยที่จะเข้าสู่การจัดอันดับ QS World University Rankings ได้เป็นอย่างดี

Scroll to Top