การนำระบบสารสนเทศเข้ามาใช้ในกระบวนการทำงาน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 : KR3.3.1/1
รางวัลดีเด่น ปี 2567

ผู้จัดทำโครงการ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วุฒิพงษ์ ชินศรี นายธงชัย บุญเกิด นายพสุ กุนทีกาญจน์ นางสาวนิตยา ป้องศรี นายขุนคำ ปองรักษาชีวิต นางสาวไพวัลย์ ปัญญามูล
สำนักงานทะเบียน สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานการเงิน
หลักการและเหตุผล/ความสำคัญ/ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้
ในปัจจุบัน ระบบสารสนเทศได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากสามารถช่วยให้การดำเนินงานต่างๆ มีประสิทธิภาพ เช่น ลดระยะเวลา ประหยัดทรัพยากร การดำเนินงานแบบดั้งเดิมที่ใช้ระบบเอกสารและการจัดการข้อมูลด้วยมือ (Manual) มักประสบปัญหาหลายประการ เช่น ความล่าช้าในการค้นหาและประมวลผลข้อมูล ความผิดพลาดจากการป้อนข้อมูลซ้ำซ้อน การสูญหายของเอกสารสำคัญ และการสิ้นเปลืองทรัพยากรกระดาษจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดในการแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ทำให้เกิดการทำงานที่แยกส่วนและขาดการบูรณาการ
ด้วยเหตุนี้ การนำระบบสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการทำงาน จึงเป็นแนวทางสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยจะช่วยยกระดับประสิทธิภาพการทำงานในหลายมิติ ได้แก่ การจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบในรูปแบบดิจิทัล การประมวลผลข้อมูลที่รวดเร็วและแม่นยำ การแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานแบบเรียลไทม์ การลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน ตลอดจนการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหาร
ผู้ให้ความรู้เล็งเห็นว่างานบางส่วนของสำนักงานทะเบียน สามารถนำระบบสารสนเทศเข้ามาใช้และจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานดังที่กล่าวไว้ข้างต้นได้ ในการถอดความรู้ครั้งนี้ จึงจะขอนำเสนอตัวอย่างงาน 2 ตัวอย่าง ได้แก่ 1) งานระบบคำร้องขอเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัล 2) งานระบบคำร้องขอเงินคืนกรณีสำเร็จการศึกษา
ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้
- การวิเคราะห์และออกแบบระบบ
- การพัฒนาระบบ
- ความเข้าใจในกระบวนการทำงาน
ประเภทความรู้และที่มาความรู้
ความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge) :
- ความรู้แบบชัดแจ้ง (Explicit Knowledge)
ความรู้จากคลังความรู้ของเว็บไซต์ระบบการจัดการความรู้ KM Rangsit University
(http://lc.rsu.ac.th/km/Knowledgebase และ https://rkms.rsu.ac.th/)
เจ้าของความรู้/สังกัด แนวทางการพัฒนาระบบฐานข้อมูลระดับมหาวิทยาลัย (กรณีศึกษาฐานข้อมูลบริการวิชาการ)
- ความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge)
เจ้าของความรู้/สังกัด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วุฒิพงษ์ ชินศรี นายธงชัย บุญเกิด นายพสุ กุนทีกาญจน์ นางสาวนิตยา ป้องศรี นายขุนคำ ปองรักษาชีวิต นางสาวไพวัลย์ ปัญญามูล
วิธีการดำเนินการ
- ศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการทำงานต่างๆ ให้เข้าใจลำดับขั้นตอนการทำงาน รวมไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
- พิจารณาความเป็นไปได้ในการนำระบบสารสนเทศเข้ามาใช้ในขั้นตอนต่างๆ ขั้นตอนไหนทำได้ผ่านระบบ ขั้นตอนไหนต้องทำนอกระบบ ขั้นตอนไหนจำเป็นต้องมีหรือตัดออกได้
- หากจำเป็นต้องมี จะปรับปรุงหรือเอาระบบสารสนเทศเข้ามาช่วยอย่างไรเพื่อให้สามารถ 1) ลดระยะเวลา 2) เพิ่มความสะดวก 3) ประหยัดทรัพยากร
- หากตัดออก ให้พิจารณาว่าตัดออกได้จริงๆ เพราะไม่จำเป็น หรือ ตัดออกแต่ต้องเพิ่มขั้นตอนอื่นหรือเอาระบบสารสนเทศมาทดแทน เพื่อให้สามารถส่งผลลัพธ์ต่อไปยังขั้นตอนถัดไปได้โดย 1) ลดระยะเวลา 2) เพิ่มความสะดวก 3) ประหยัดทรัพยากร
- พิจารณาความคุ้มค่าในมุมต่างๆ เช่น ด้านการเงิน ด้านทรัพยากร ด้านความพึงพอใจ (ลดระยะเวลา เพิ่มความสะดวก)
- สื่อสาร ทำความเข้าใจ และประสานงานเพื่อให้เกิดการใช้งานระบบสารสนเทศดังกล่าว
2.Prototype testing in an operational environment – DO
ผลการดำเนินการ การนำไปใช้ หรือการลงมือปฏิบัติจริง อุปสรรคหรือปัญหาในการทำงาน
การดำเนินงานในส่วนของงานระบบคำร้องขอเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัล และงานระบบคำร้องขอเงินค่าประกันคืนกรณีสำเร็จการศึกษา มีแนวทางในการดำเนินการตามวิธีการดำเนินการที่กล่าวไว้ แต่มีความแตกต่างกันในขั้นตอนต่างๆ เช่น
ในการพิจารณาเกี่ยวกับระบบคำร้องขอเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัล ระบบที่ใช้อยู่มีการรับคำร้องผ่านระบบออนไลน์อยู่แล้ว แต่พบว่ายังไม่สามารถชำระเงินค่าคำขอได้ทันที ประกอบกับเอกสารสำคัญทางการศึกษา มีขั้นตอนในการผลิตพอสมควร ตั้งแต่การเข้าไปค้นหาข้อมูล ตรวจสอบข้อมูล พิมพ์เอกสาร เซ็นรับรอง ประทับตรา ซึ่งทำให้การขอเอกสารสำคัญทางการศึกษาต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ดังนั้น จึงมีแนวคิดในการนำ LINE OA: RSU Connect ซึ่งใช้ในการตรวจสอบผลการเรียน มาใช้เป็นช่องทางในการยื่นคำร้องขอเอกสารสำคัญทางการศึกษา และชำระเงินออนไลน์ได้ทันที จากนั้นเมื่อได้รับคำร้องมาที่ระบบ ทางเจ้าหน้าที่เพียงทำการตรวจสอบข้อมูล และยืนยัน ระบบจะทำการสร้างเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัลพร้อมลงลายมือชื่อดิจิทัล และส่งกลับไปให้นักศึกษาได้เลย ซึ่งจะตอบโจทย์เรื่อง 1) ลดระยะเวลา 2) เพิ่มความสะดวก 3) ประหยัดทรัพยากร ซึ่งระบบดังกล่าวหลังจากพัฒนาได้ใช้งานอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แต่พบปัญหาในส่วนของนักศึกษาที่เกรดพึ่งออกครบแล้วอยากขอใบรับรองว่าจบการศึกษาในทันที กรณีนี้ สถานะในระบบยังไม่ได้ปรับเปลี่ยน เมื่อขอเข้ามาจึงยังมีสถานะกำลังศึกษาอยู่ แต่ปัจจุบันได้มีพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อให้รองรับการดำเนินการในกรณีดังกล่าวแล้ว
สำหรับในส่วนของระบบคำร้องขอเงินค่าประกันคืนกรณีสำเร็จการศึกษา ขั้นตอนที่ใช้ก่อนหน้านี้ นักศึกษาจะต้องไปหาอาจารย์ที่ปรึกษาและผู้บริหารคณะเพื่อให้เซ็นใบคำร้อง จากนั้นจะมาที่สำนักงานทะเบียนเพื่อมาตรวจสอบว่าจบการศึกษาจริง ไม่มีหนี้ค้างหรือเงื่อนไขอื่นๆ เมื่อเรียบร้อยจะต้องไปติดต่อที่สำนักงานการเงินเพื่อให้ข้อมูลบัญชีเพื่อรอการโอนเงินค่าประกันคืน ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วพบว่า ขั้นตอนการไปพบอาจารย์ที่ปรึกษาและผู้บริหารคณะนั้น ไม่มีความเกี่ยวโยงกับเงื่อนไขในการพิจารณาขอเงินค่าประกันคืน ประเด็นสำคัญคือ นักศึกษาจบการศึกษาจริงหรือไม่ และมีหนี้ค้างหรือเงื่อนไขอื่นๆ ที่ต้องจัดการก่อนไหม โดยข้อมูลเหล่านี้มีจัดเก็บอยู่ในระบบแล้ว การมาติดต่อสำนักงานทะเบียนเพื่อตรวจสอบข้อมูลเหล่านี้จึงไม่จำเป็นเช่นกัน ดังนั้นนักศึกษาสามารถเข้าสู่ระบบคำร้องและระบบจะตรวจสอบได้ทันที หากไม่ติดอะไรสามารถให้ข้อมูลบัญชีเพื่อรอการโอนเงินค่าประกันคืน ซึ่งระบบจะส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับทางสำนักงานการเงินโดยตรง ซึ่งระบบดังกล่าวหลังจากพัฒนาได้ใช้งานอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
3. Proven through successful mission operation, Objectives and Key Results for Knowledge Management – CHECK
การตรวจสอบผลการดำเนินการ การนำเสนอประสบการณ์การนำไปใช้ สรุปและอภิปรายผล บทสรุปความรู้หรือความรู้ที่ค้นพบใหม่
ระบบคำร้องขอเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัลมีการใช้งานมาประมาณ 8 เดือน มีการขอใช้งานมาไม่น้อยกว่า 4,415 รายการ แบ่งเป็น ใบรับรอง 2,087 รายการ ใบแสดงผลการเรียน 2,028 รายการ รวมมูลค่าไม่น้อยกว่า 400,000 บาท ซึ่งหลังจากนำระบบดังกล่าวเข้ามาใช้ จากการสอบถามนักศึกษา พบว่านักศึกษารู้สึกสะดวก กระบวนการขอเอกสารสำคัญมีความรวดเร็ว ในส่วนของผู้ปฏิบัติงาน สามารถให้บริการได้สะดวกและรวดเร็ว ลดขั้นตอนการทำงานได้ แต่อย่างไรก็ตามปริมาณการใช้งานระบบดังกล่าวในปัจจุบันยังใช้เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นเมื่อเทียบกับการขอเอกสารสำคัญในรูปแบบกระดาษ ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมเพื่อสร้างความรับรู้และความมั่นใจให้กับนักศึกษาในการขอเอกสารสำคัญในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งล่าสุดทางวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ ปกติจะมีการขอเอกสารสำคัญในรูปแบบกระดาษให้กับนักศึกษาทั้งวิทยาลัย แต่ในตอนนี้มีการขอเป็นรูปแบบดิจิทัลแทนแล้ว ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับคณะ/วิทยาลัย อื่นๆ ต่อไปได้ อันจะส่งผลให้ปริมาณการใช้งานเอกสารสำคัญในรูปแบบดิจิทัลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
โดยขั้นตอนการทำงานก่อนหลังนำระบบคำร้องขอเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัลมาใช้แสดงดังภาพที่ 1

ภาพที่ 1 ขั้นตอนการทำงานก่อนหลังนำระบบคำร้องขอเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัลมาใช้
ระบบคำร้องขอเงินค่าประกันคืนกรณีสำเร็จการศึกษามีการใช้งานมาประมาณ 7 เดือน มีการใช้งานมาไม่น้อยกว่า 2,100 รายการ ซึ่งจากการสอบถามนักศึกษา พบว่านักศึกษาค่อนข้างพึงพอใจ เนื่องจากได้รับเงินคืนรวดเร็ว และลดขั้นตอนไปได้หลายขั้นตอน ในส่วนของผู้ปฏิบัติงานนั้น ระบบดังกล่าวช่วยลดการจัดเก็บเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถสืบค้นข้อมูลและดำเนินการคืนเงินให้นักศึกษาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น บทสรุปความรู้หรือสิ่งที่ค้นพบจากการนำระบบสารสนเทศเข้ามาใช้ในกระบวนการทำงาน คือ สามารถช่วยให้การดำเนินงานต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น และส่งผลไปถึงความพึงพอใจของผู้ใช้งาน ซึ่งการที่ระบบดังกล่าวสามารถตอบโจทย์การทำงานได้เป็นอย่างดี เป็นผลมาจากการเข้าใจกระบวนการทำงาน เมื่อวิเคราะห์และพิจารณาความเป็นไปได้รวมถึงผลลัพธ์และความคุ้มค่าที่จะเกิดขึ้น จะสามารถทราบได้ขั้นตอนไหนควรปรับหรือเปลี่ยนหรือนำระบบสารสนเทศเข้ามาใช้งาน
โดยขั้นตอนการทำงานก่อนหลังนำระบบคำร้องขอเงินค่าประกันคืนกรณีสำเร็จการศึกษามาใช้แสดงดังภาพที่ 2

โดยขั้นตอนการทำงานก่อนหลังนำระบบคำร้องขอเงินค่าประกันคืนกรณีสำเร็จการศึกษามาใช้แสดงดังภาพที่ 2
ข้อเสนอแนะในการดำเนินการในอนาคต หรือการดำเนินการเพื่อสามารถนำไปสู่การเป็น Good Practice
ปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้การดำเนินการครั้งนี้สำเร็จ คือ ความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง แต่ก่อนที่จะตัดสินใจเปลี่ยนแปลงจริงๆ ควรดำเนินการดังนี้
- ศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการทำงานต่างๆ ให้เข้าใจลำดับขั้นตอนการทำงาน รวมไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
- พิจารณาความเป็นไปได้ในการนำระบบสารสนเทศเข้ามาใช้ในขั้นตอนต่างๆ ขั้นตอนไหนทำได้ผ่านระบบ ขั้นตอนไหนต้องทำนอกระบบ ขั้นตอนไหนจำเป็นต้องมีหรือตัดออกได้
- หากจำเป็นต้องมี จะปรับปรุงหรือเอาระบบสารสนเทศเข้ามาช่วยอย่างไรเพื่อให้สามารถ 1) ลดระยะเวลา 2) เพิ่มความสะดวก 3) ประหยัดทรัพยากร
- หากตัดออก ให้พิจารณาว่าตัดออกได้จริงๆ เพราะไม่จำเป็น หรือ ตัดออกแต่ต้องเพิ่มขั้นตอนอื่นหรือเอาระบบสารสนเทศมาทดแทน เพื่อให้สามารถส่งผลลัพธ์ต่อไปยังขั้นตอนถัดไปได้โดย 1) ลดระยะเวลา 2) เพิ่มความสะดวก 3) ประหยัดทรัพยากร
- พิจารณาความคุ้มค่าในมุมต่างๆ เช่น ด้านการเงิน ด้านทรัพยากร ด้านความพึงพอใจ (ลดระยะเวลา เพิ่มความสะดวก)
- สื่อสาร ทำความเข้าใจ และประสานงานเพื่อให้เกิดการใช้งานระบบสารสนเทศดังกล่าว
ซึ่งเมื่อดำเนินการตามขั้นตอนข้างต้นแล้ว ควรตัดสินใจร่วมกันทั้งในส่วนของผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน เพราะการเปลี่ยนแปลงย่อมสร้างผลกระทบบางอย่างทั้งในเชิงบวกและลบ ซึ่งเมื่อทุกคนเข้าใจและพร้อมจะเปลี่ยนแปลง แม้จะพบปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ ทุกคนจะร่วมด้วยช่วยกันในการแก้ไขต่อไป เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่ได้ตั้งเอาไว้ โดยประเด็นสำคัญ ที่ต้องพิจารณาหลังจากนำระบบสารสนเทศมาใช้ คือ ความสเถียรของระบบสารสนเทศ ต้องสามารถทำให้ผู้ใช้งานมั่นใจในความถูกต้องแม่นยำ ไม่เกิดข้อผิดพลาด ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมาให้ต้องแก้ไข โดยหากเกิดประเด็นดังกล่าว ต้องรีบแก้ไขปรับปรุงระบบสารสนเทศให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่อย่างไรก็ตามนโยบาย ระเบียบ ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเอื้อหรือสนับสนุนสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลง หากยังมีระเบียบหรือเงื่อนไขใดที่เป็นอุปสรรคต้องรีบดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกัน ซึ่งผู้ให้ความรู้เชื่อว่าแนวปฏิบัติดังกล่าวจะสามารถเป็นแนวปฏิบัติที่ดีให้กับหน่วยงานอื่นๆ สามารถนำขั้นตอนวิธีนี้ไปประยุกต์ใช้เพื่อตัดสินใจในการนำระบบสารสนเทศเข้ามาใช้ในกระบวนการทำงาน