รางวัลชมเชย ปีการศึกษา 2565
ยุทธศาสตร์ที่ 2 : KR 2.3.2
“คนต่างรุ่นในสังคมสูงวัย”
สู่งานวิจัยกระดาษสาผักตบชวา
ผู้จัดทำโครงการ
ดร.เริงศักดิ์ แก้วเพ็ชร
นางสาวกัญญ์กานต์ กุญโคจร
นางสาวชวัลรัศมิ์ จตุเทน
นายกิตติธัช ช้างทอง
สถาบันศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาสังคม
ฝ่ายพัฒนาสังคมศิลปวัฒนธรรมและสิทธิประโยชน์
หลักการและเหตุผล/ความสำคัญ/ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้
มหาวิทยาลัยรังสิตจัดตั้งรายวิชาเรียน RSU184 คนต่างรุ่นในสังคมสูงวัย ทางสถาบันศิลปวัฒนธรรม และพัฒนาสังคม ร่วมกับสถาบัน GEN.ED. มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยรังสิต โดยมุ่งเน้นให้นักศึกษาเรียนรู้การเตรียมตัวสำหรับคนต่างรุ่น ในการเข้าสู่วัยสูงอายุ และสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ของประเทศไทย และสังคมโลก เข้าใจแนวคิดสูงวัยเชิงรุก (Active Aging) ซึ่งเป็นกรอบแนวนโยบายที่สร้างโดยองค์การอนามัยโลก ที่มุ่งเน้นในด้านสุขภาพกายและจิตที่ดี การมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและครอบครัว และการมีส่วนร่วมในสังคมเพื่อให้ผู้สูงอายุและคนต่างรุ่นได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในสังคมสูงวัยและสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในอนาคต พร้อมมีพื้นฐานในการเตรียมตัวทำธุรกิจ การเป็นผู้ประกอบการ มุ่งเน้นให้เกิดความรู้ ความเข้าใจด้านกระบวนการคิด วิเคราะห์ การออกแบบธุรกิจด้วยความคิดสร้างสรรค์ สามารถเชื่อมโยงประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม นำไปประกอบการใช้งานได้จริง และมีเข้าใจในปรับตัวให้เข้ากับทุกสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจและสามารถมีการจัดการการวางแผนอย่างเป็นระบบได้ดี แม้ท่ามกลางกระแสขอความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวมแย่ลง รวมทั้งปัญหาโรคระบาดโควิค 19 โดยภาครัฐบาล มีมาตรการควบคุมการระบาดทั้งมาตรการปิดเมือง มาตรการรักษาระยะห่าง และภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซายาวนาน ผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อยรวมไปถึงพ่อค้ารายเล็กรายน้อยประเภทหาบเร่แผงลอยต้องเลิกขาย เนื่องจากขายไม่ได้เหตุเพราะกำลังซื้อไม่มี และส่วนหนึ่งต้องเลิกกิจการไปส่งผลกระทบหนักต่อกลุ่มคนเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่ขาดทักษะและผู้มีรายได้น้อย ขาดเงินออม มีภาระหนี้สูง จึงทำให้คนกลุ่มนี้ซึ่งโดยปกติมีรายได้น้อยอยู่แล้วก็ขาดรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงวิธีการรับมือกับวิกฤติและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ และไม่มีความพร้อมในด้านเทคโนโลยี
ผลการสำรวจจำนวนคนจนในปทุมธานี “คนจนเป้าหมาย” ในปทุมธานี คือ คนจนที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน เนื่องจากเป็นคนที่ได้รับการสำรวจว่าจน (survey-based) จาก ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และยังมาลงทะเบียนว่าจนอีกด้วย (register-based) จากข้อมูลผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ กระทรวงการคลัง สำหรับข้อมูลปี 2565 เป็นการบูรณาการข้อมูลระหว่าง จปฐ 2564 และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 จะพบว่า ความยากจนสามารถวัดได้ 5 มิติ ความยากจนสามารถวัดได้จากดัชนีความยากจนหลายมิติ หรือ ดัชนี MPI (Multidimensional Poverty Index) ที่พิจารณาจาก 5 มิติ ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านความเป็นอยู่ ด้านการศึกษา ด้านรายได้ และด้านการเข้าถึงบริการรัฐ ซึ่งจะพบว่า ปัญหาของชุมชนตำบลหลักหก ยังคงเป็นเรื่องสุขภาพ และรายได้ คณะทำงานเร่งเห็นในการสร้างเสริม อาชีพ รายได้ ให้แก่ชุมชน โดยเริ่มจากชุมชนหลักหก จากการสำรวจปัญหา และวัตถุดิบรอบๆ ชุมชน คณะทำงานนักศึกษา มีความสนใจในกลุ่มชุมชนหลักหก จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่รอบมหาวิทยาลัยรังสิต ปัญหาส่วนหนึ่งที่ค้นพบคือ ผักตบชวาในลำคลองของชุมชนตำบลหลักหกมีเป็นจำนวนมาก จนทำให้น้ำเกิดปัญหา น้ำเน่าเสีย มลภาวะทางอากาศ ชาวบ้านสูดดมเข้าไปทุก ๆ วัน ทำให้มีปัญหาในระบบการหายใจได้ คณะทำงานนักศึกษาจึงมุ่งเน้นในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤติครั้งนี้ ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต ส่งเสริม อาชีพ รายได้ การกระจายโอกาสให้กับชุมชนหลักหก ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและลดความเสี่ยงด้านอาชญากรรมต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งการทำกระดาษสาจากผักตบชวาปลอดสารเคมี สีธรรมชาติ เพื่อใช้ในงานประดิษฐ์ ตกแต่งและงานฝีมือ จากการทำกระดาษสาผักตบชวาปลอดสารเคมีที่มีคุณภาพต่องานประดิษฐ์ มีความเหนียว ขนาดไม่บางหรือหนามาก เนื่องจากการขึ้นรูปเป็นดอกไม้ในการประดิษฐ์ จะต้องมีความเหนียว และขนาดพอดี ต่อยอดมาเป็นผลงานสร้างสรรค์ที่สามารถสร้างรายได้ และสร้างแนวคิดเศรษฐกิจฐานรากเพื่อสร้างสุขภาวะ สามารถดำเนินธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤติครั้งนี้ โดยมุ่งเน้นทิศทางของการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ของแต่ละท้องถิ่นให้มีคุณภาพและสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค
ประเภทความรู้และที่มาความรู้
ความรู้แบบชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) : รายวิชา RSU184 คนต่างรุ่นในสังคมสูงวัย
ความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge) : เจ้าของความรู้
วิธีการดำเนินการ
1. วิธีการดำเนินการ
1. ทีมอาจารย์ผู้สอนและนักศึกษาร่วมระดมความคิดดำเนินโครงการที่สอดคล้องกับเป้าประสงค์ของรายวิชาเรียนและให้สามารถเป็นโครงการที่ใช้งานได้จริง เกิดผลสัมฤทธิ์ระยะยาว จึงเริ่มต้นศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นจากรอบข้าง จึงได้เล็งเห็นปัญหาของชุมชนที่อยู่โดยรอบมหาวิทยาลัยรังสิต คือ ชุมชนหลักหก ได้เกิดปัญหา ผักตบชวาล้นคลอง ตามบทนำที่กล่าวไว้ข้างต้น การดำเนินงานของกลุ่มนักศึกษาได้เริ่มปรึกษาหารือเรื่องการจัดหาแกนนำชุมชนหลักหก โดยแกนนำนักศึกษาต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง แกนนำชุมชนหลักหกมีคุณสมบัติเบื้องต้นอย่างไรบ้าง คณะทำงานนักศึกษาได้กำหนดคุณสมบัติดังนี้ แกนนำนักศึกษาและแกนนำชุมชนหลักหก ต้องมีคุณสมบัติพร้อมที่จะทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ดี และสามารถทำงานกับแกนนำของชุมชนได้ และต้องพร้อมที่จะเสืยสละเวลาทำเพื่อสังคมส่วนร่วมให้เกิดผลดีต่อชุมชนเป้าหมายได้อย่างสำเร็จ
2. จัดตั้งกลุ่มแกนนำ นำทีมนักศึกษา และกลุ่มแกนนำชุมชนหลักหกคณะทำงานนักศึกษาปรึกษาหารือเรื่องการคัดเลือกแกนนำนักศึกษา และแกนนำชุมชนหลักหก เพื่อที่จะดำเนินโครงการต่อเนื่อง
3. ลงพื้นที่ศึกษาปัญหาจากผักตบชวาร่วมกันระหว่างคณะทำงานกับชุมชน จากนั้นอาจารย์ผู้สอนและนักศึกษานำปัญหามาวิเคราะห์ว่าอยากจะทำอะไร แก้ไขปัญหานี้อย่างไร จึงได้เกิดเป็นแนวคิด “กระดาษสาจากผักตบชวา” เนื่องจากกระดาษสาเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ง่าย และมีต้นทุนวัตถุดิบที่ต่ำ หาได้ง่าย และยังสามารถต่อยอดจากกระดาษสาได้หลากหลาย
4. เริ่มประชาสัมพันธ์โครงการเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับนักศึกษาและชุมชนหลักหกให้เป็นวงกว้างในมหาวิทยาลัยรังสิต คณะทำงานลงมติในการจัดทำโปสเตอร์ เพื่อเป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ให้กับนักศึกษาและชุมชนหลักหก โดยการจัดหาคนในวิชาเรียนออกแบบโปสเตอร์เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับแกนนำนักศึกษาและแกนนำชุมชนหลักหก
5. คณะทำงานกลุ่มนักศึกษากำหนดบทบาทหน้าที่ของกลุ่มแกนนำนักศึกษาและแกนนำชุมชนหลักหก มีการพูดคุยถึงความถนัดของแต่ละแกนนำนักศึกษาและแกนนำชุมชนหลักหก ความพร้อม ความสนใจในการดำเนินโครงการ และตอบข้อซักถามและทำการทดสอบในการทำกระดาษสาผักตบชวาของกลุ่มแกนนำทั้ง 2 กลุ่ม เพื่อวางกรอบการทำงาน ออกแบบกิจกรรมร่วมกับ
6. คณะทำงานกลุ่มนักศึกษาและแกนนำชุมชนหลักหก ร่วมศึกษาดูงานขั้นตอนการจัดทำกระดาษสาผักตบชวา พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างแกนนำนักศึกษา แกนนำชุมชน ณ ศูนย์ฝึกอาชีพมีชีวิต กศน. ต.หนองน้ำใจ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อนำมาทดลองทำกระดาษสาผักตบชวา และทำการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนหลักหกต่อไป
7. คณะทำงานกลุ่มนักศึกษา เข้ารับการการอบรมการให้องค์ความรู้ในด้านที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ระหว่างนักศึกษาและแกนนำชุมชนเบื้องต้น เพื่อนำมาปฏิบัติและถ่ายทอดต่อให้แก่ชุมชน โดยการอบรมการต่อยอดงานประดิษฐ์จากกระดาษสาผักตบชวา ให้เป็นดอกไม้ที่สวยงาม และมีความเป็นธรรมชาติปลอดสารพิษ พร้อมทั้งอบรมการจัดทำแผนธุรกิจเบื้องต้น ใน
การคำนวนหาต้นทุนของวัตถุดิบ อาทิ อุปกรณ์ที่จัดทำกระดาษสาผักตบชวา ค่าแรงต่างๆ จากการอบรม เรื่องการประดิษฐ์ดอกไม้จากกระดาษสาผักตบชวา กลุ่มแกนนำนักศึกษา
และแกนนำชุมชนหลักหก
8. จัดทำกระดาษสาผักตบชวา หัวหน้าโครงการทำการชี้แจงการจัดทำกระดาษสาผักตบชวา โดยอธิบายถึงขั้นตอนการทำกระดาษสาผักตบชวา รวมถึงการแบ่งหน้าที่การดำเนินงานตามขั้นตอนการจัดทำกระดาษสาผักตบชวาร่วมกัน คณะทำงานนักศึกษา แกนนำชุมชน ชี้แจงขั้นตอนการทำกระดาษสาผักตบชวาให้ทุกคนได้รับทราบขบวนการแล้วนั้น ได้ทำการแบ่งหน้าที่ และลงมือทำ
9. การขึ้นรูปกระดาษสาจากผักตบชวาสำเร็จไปได้ด้วยดี ผลเป็นที่นักศึกษาและแกนนำชุมชนตั้งเป้าหมายไว้ เมื่อได้รูปร่างของกระดาษสาจากผักตบชวาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อาจารย์ผู้สอนและนักศึกษาหารือร่วมกันถึงข้อเสนอแนะ ข้อบกพร่องต่างๆ ในขั้นตอนการทำ รวมถึงวัตถุดิบที่ใช้ผสมในการขึ้นเป็นรูปกระดาษสาจากผักตบชวา ผลสรุปว่าทุกคนพอใจกับกระบวนการขั้นตอนการทำ รวมถึงวัตถุดิบที่ใช้ ทำให้การทดลองครั้งนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
10. กลุ่มนักศึกษาร่วมกันประสานงานกับแกนนำชุมชนหลักหก ทำการประสานงานร่วมกับภาคท้องถิ่นในการจัดอบรมวิธีการทำกระดาษสาผักตบชวา การหารือร่วมกับตัวแทนชุมชนท้องถิ่น
ในการจัดอบรม ตามแผนการดำเนินงาน เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ การใช้อุปกรณ์ สถานที่ และสร้างอาชีพ รายได้ให้กับท้องถิ่นจากการอบรม การหาภาคีเครือข่าย ประสานงานร่วมกับวัดบริเวณพื้นที่โดยรอบมหาวิทยาลัยรังสิต โดยมีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
11. อาจารย์ผู้สอน กลุ่มนักศึกษา แกนนำชุมชน สรุปผลสัมฤทธิ์ที่ได้จากการดำเนินโครงการ พร้อมส่งมอบโมเดลต้นแบบ กระดาษสาจากผักตบชวา พร้อมอุปกรณ์การขึ้นรูปกระดาษให้แก่ชุมชนได้ดำเนินงานต่อเป็นการสร้างสรรค์งานทางด้านงานวิจัยอีกทั้งสร้างสุขภาวะที่ดีแก่ชุมชนให้มีความยั่งยืนต่อไป
2. ผลการดำเนินการ การนำไปใช้ หรือการลงมือปฏิบัติจริง อุปสรรคหรือปัญหาในการทำงาน
จากการดำเนินงานโครงการการแก้ปัญหา ร่วมสร้างรายได้ แก่ชุมชนหลักหก ขับเคลื่อนโดยกลุ่มแกนนำนักศึกษาจากรายวิชาเรียน RSU184 คนต่างรุ่นในสังคมสูงวัย และกลุ่มแกนนำชุมชนหลักหก ผลการดำเนินการ นักศึกษาได้เรียนการทำงานร่วมกันของกลุ่มคน 3 วัย ซึ่งได้ผลสัมฤทธิ์ตรงตามวัตถุประสงค์ของรายวิชาเรียนเป็นอย่างมาก นักศึกษาและคนในชุมชนส่วนใหญ่มีความถนัดในสิ่งประดิษฐ์ รวมทั้งมีความสนใจในการต่อยอดธุรกิจต่างๆ จึงมีความเข้าใจและเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว ในการจัดทำกระดาษสาผักตบชวา มีการสังเกตุ และการอยากทดลอง ในรูปแบบต่างๆ มีความคิดสร้างสรรค์
จากการทดลองกระดาษสาผักตบชวาประสบผลสำเร็จ แกนนำชุมชนหลักหก มีความสนใจในการประดิษฐ์ดอกกุหลาบ มากกว่าการจัดทำกระดาษสาผักตบชวา ตามความสนใจและความถนัดของตัวบุคคล โดยภาพรวมแกนนำนักศึกษา และแกนนำชุมชนหลักหก สามารถผลิตกระดาษสาผักตบชวาได้ในคุณสมบัติที่ต้องการ อาทิ ความเหนียว สี และลวดลายของกระดาษสา สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างขั้นตอนการผลิตกระดาษผักตบชวาจากการสังเกตุ การหาข้อบกพร่องต่างๆ จนสามารถทำกระดาษสาผักตบชวาสำเร็จสมบูรณ์พร้อมที่จะนำองค์ความรู้สู่ชุมชนท้องถิ่นต่อไป คณะทำงานกลุ่มนักศึกษาทำการลงภาคสนามเพื่อทำการอบรมให้แก่ชาวบ้านชุมชนหลักหก ให้มีความรู้ความเข้าใจทุกขั้นตอน ให้ได้มาตรฐานกระดาษตามที่ต้องการ ได้รับความสนใจจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน และสื่อต่าง ๆ อย่างมากมาย ด้านของปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินโครงการ คือระยะเวลาในการดำเนินโครงการน้อยเกินไปเนื่องจากรายวิชาเรียนในภาคการศึกษาที่ 1 มีระยะเวลาการเรียนการสอนเพียง 4 เดือน ทำให้ระยะเวลาการดำเนินโครงการขาดความต่อเนื่องในระยะยาวนักศึกษาส่วนใหญ่ไม่สามารถดำเนินโครงการต่อได้ อีกทั้งความร่วมมือภาคท้องถิ่น ในเรื่องของผลประโยชน์ซับซ้อนในชุมชน
3. การตรวจสอบผลการดำเนินการ การนำเสนอประสบการณ์นำไปใช้ สรุปและอภิปรายผล บทสรุปความรู้หรือความรู้ที่ค้นพบใหม่
การเรียนรู้ของผู้เล่าเรื่องจากประสบการณ์ความสำเร็จดังกล่าว
การค้นคว้า ศึกษาการทำกระดาษสาจากผักตบชวาได้ผลสัมฤทธิ์ตรงตามวัตถุประสงค์ นักศึกษาและชุมชนสามารถแปรรูปผักตชวาที่เป็นปัญหาของชุมชนหลักหกออกมาได้อย่างเป็นรูปธรรม ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ เมื่อดำเนินการอย่างต่อเนื่อง นักศึกษาได้มองเห็นวัตถุดิบของชุมชนอีกอย่างหนึ่งคือ ต้นกล้วย ที่มีจำนวนมากในชุมชนหลักหก เมื่อนักศึกษามีความรู้ในการผลิตกระดาษสาแล้ว จึงได้ทำการทดลองนำเยื่อกล้วยมาเป็นกระดาษสาจากเยื่อกล้วยเพื่อสามารถเสร้างสรรค์ป็นงานประดิษฐ์ต่อไปได้ ผลสรุป ต้นกล้วย เยื่อกล้วย สามารถทำเป็นกระดาษสาได้ นักศึกษาจึงค้นพบองค์ความรู้ใหม่จากการทำวิจัยครั้งนี้คือ กระดาษสาจากเยื่อกล้วย
ข้อเสนอแนะในการดำเนินการในอนาคต หรือการดำเนินการเพื่อสามารถนำไปสู่การเป็น Good Practice
โครงการสร้างสรรค์ของนักศึกษาที่เกิดขึ้นจากรายวิชาเรียนควรได้รับความร่วมมือการสนับสนุนเริ่มจาก อาจารย์ บุคคลากรในคณะ/วิทยาลัย จนไปถึงระดับมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง และเป็นรูปธรรม เพื่อการดำเนินกิจกรรมนักศึกษาให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลต่อการพัฒนานักศึกษา และมหาวิทยาลัยสามารถนำผลการวิจัยไปใช้เป็นแนวทางในการวางแผนพัฒนาในด้านต่าง ๆ ต่อไป