รางวัลดีเด่น ปีการศึกษา 2565

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : KR 1.2.1, KR 1.2.3, KR 1.4.3, KR 1.4.5

ทำอย่างไรจึงจะได้ตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการ
ระดับนานาชาติ

VDO Credit : สำนักงาน Wisdom Media

ผู้จัดทำโครงการ​

รศ.ดร.อาภรณ์ ดีนาน
ผศ.ดร.รัชนี นามจันทรา
ผศ.ดร.วารินทร์ บินโฮเซ็น
ผศ.ดร.น้ำอ้อย ภักดีวงศ์
ผศ.ดร.ขนิตฐา หาญประสิทธิ์คำ

คณะพยาบาลศาสตร์​

หลักการและเหตุผล/ความสำคัญ/ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้​

         คณะผู้จัดทำการจัดการความรู้เป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต (พย.ม.) สาขาวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เน้นการผลิตผู้นำทางคลินิกที่สามารถพัฒนาคุณภาพการพยาบาลผู้ป่วยในวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพซับซ้อนทั้งในภาวะเฉียบพลัน วิกฤต และเรื้อรัง โดยบูรณาการศาสตร์ทางการพยาบาล ศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง และ
การทำวิจัย อาจารย์ประจำหลักสูตรจึงจำเป็นต้องพัฒนาตนเองด้านความเชี่ยวชาญทางคลินิก การวิจัย และตำแหน่งทางวิชาการ เพื่อให้สามารถสอนและให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาให้บรรลุ
ตามความมุ่งหวังของหลักสูตรได้ การประกันคุณภาพการศึกษาภายในระดับหลักสูตรที่ผ่านมา อาจารย์ประจำหลักสูตรมีผลงานวิชาการตีพิมพ์เผยแพร่สูงกว่าเกณฑ์คุณภาพตลอดมา แต่
เกือบทั้งหมดเป็นการเผยแพร่ในระดับชาติ จึงได้ข้อเสนอแนะให้พัฒนาการเผยแพร่ผลงานในระดับนานาชาติซึ่งแสดงถึงคุณภาพของผลงานที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติให้มากขึ้น
        ความรู้สำคัญที่นำมาใช้ คือ กระบวนการวิจัย การเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ และความรู้/แนวปฏิบัติจากคลังความรู้ของระบบการจัดการความรู้ KM Rangsit University ปีการศึกษา 2563

เรื่อง “ทำอย่างไรที่จะได้รับการเผยแพร่บทความในวารสารนานาชาติ” ของ ผศ.ดร.มนพร ชาติชำนิ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเสนอกระบวนการปฏิบัติ 7 องค์ประกอบ ได้แก่
1. มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่สนใจทางด้านคลินิก
2. กล้าและมีแนวคิดจะเขียนสื่อองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาของตนเองในรูปแบบเชิงบูรณาการระหว่าง art and science ในการใช้ภาษาอังกฤษที่จะนำความรู้ที่ได้จากการวิจัยและสื่อออกมาให้
คนอื่นได้เข้าใจด้วยภาษาอังกฤษ (To be valiantly accomplished)
3. มีทีมวิจัยและเครือข่ายส่วนบุคคล
4. แหล่งสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเผยแพร่บทความ
5. อย่ายอมแพ้และอย่าถอดใจ
6. Learning by doing
7. ฝึกเขียน cover letter

ประเภทความรู้และที่มาความรู้

ความรู้แบบชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) : ความรู้จากคลังความรู้ของเว็บไซต์ระบบการจัดการความรู้ KM Rangsit University (https://hrd.rsu.ac.th/km/)
ความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge) : เจ้าของความรู้

วิธีการดำเนินการ

1. วิธีการดำเนินการ
    ในปี พ.ศ. 2565 อาจารย์ประจำหลักสูตรมีการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการระดับนานาชาติมากขึ้น โดยใช้องค์ประกอบ 7 ประการข้างต้น ร่วมกับการดำเนินตามกระบวนการ ดังนี้
1. ดำเนินการวิจัยตามความเชี่ยวชาญของตน ต้องเป็นงานวิจัยที่มีกระบวนการวิจัยที่มีคุณภาพ ทำเป็นทีม โดยทำกับเครือข่ายนักวิจัยต่างชาติ ต่างสถาบัน หรือกับสหสาขาวิชาชีพ และควรมีแหล่งทุนสนับสนุน เพื่อสามารถใช้สนับสนุนการตีพิมพ์บทความวิจัยในวารสารที่มีคุณภาพในระดับนานาชาติ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง
2. มองหาวารสารเป้าหมายระดับนานาชาติ เลือกวารสารที่มีคุณภาพ อยู่ในฐานข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับ เข้ากับประเด็นการศึกษาของเรา และพิจารณาระยะเวลาที่ใช้ในการตีพิมพ์บทความในวารสาร
นั้น ๆ ซึ่งจะระบุไว้ในแต่ละบทความ การเลือกวารสารเป้าหมายสามารถดูใน website: Scimago Journal Rank และเลือก subject areas ที่ตรงกับ area ของตน เช่น Nursing, Health Profession เป็นต้น (รายละเอียดดังไฟล์แนบ) และเลือกวารสารที่มีระยะเวลาที่ใช้ในการตีพิมพ์ไม่นาน
3. เตรียมต้นฉบับบทความเป็นภาษาอังกฤษ การเตรียมต้นฉบับควรทำเป็นทีม และทำตามข้อกำหนด (guidelines) ของวารสารที่เลือก
4. มีผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบการใช้ภาษาอังกฤษและคุณภาพของต้นฉบับบทความ ควรมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาช่วยดูความถูกต้องของการใช้ภาษาอังกฤษ และมีผู้เชี่ยวชาญช่วยพิจารณาคุณภาพของบทความเบื้องต้น ก่อนการ submit
5. ติดตามแก้ไขบทความตามข้อเสนอแนะของ peer review ตามกรอบเวลาที่วารสารกำหนด ผู้วิจัยควรติดตามผลการพิจารณาบทความจากวารสารอย่างสม่ำเสมอ และจัดสรรเวลาในการปรับแก้ไขบทความตามข้อเสนอแนะของ peer review ให้เสร็จทันภายในกรอบเวลาที่วารสารกำหนด ให้มองข้อเสนอแนะและการปรับแก้ไขเป็นสิ่งท้าทาย ทำให้เกิดการเรียนรู้ และพัฒนาตนเอง
อย่ายอมแพ้หรือถอดใจ

2. ผลการดำเนินการ การนำไปใช้ หรือการลงมือปฏิบัติจริง อุปสรรคหรือปัญหาในการทำงาน    
    ปี พ.ศ. 2565 อาจารย์ประจำหลักสูตร พย.ม. มีผลงานตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารระดันานาชาติที่อยู่ในฐานข้อมูล SCOPUS มากขึ้น โดยมีจำนวน 5 เรื่อง (ดังไฟล์ที่แนบมา) ดังนี้

1. Chatchumni, M., Maneesri, S., & Yongsiriwit, K. (2022). Performance of the Simple Clinical Score (SCS) and the Rapid Emergency Medicine Score (REMS) to predict severity level and mortality rate among patients with sepsis in the emergency department. Australasian Emergency Care, 25(2), 121-125. https://doi.org/10.1016/j.auec.2021.09.002i
2. Sirikulchayanonta, C., Sirikulchayanonta, V., Suriyaprom, K., and Namjuntra, R. (2022). Changing trends of obesity and lipid profiles among Bangkok school children after comprehensive management of the bright and healthy Thai kid project. BMC Public Health, 22, 1-10.
3. Chatchumni, M., Eriksson, H., Mazaheri, M. (2022). Core components of an effective pain management education programme for surgical nurses: A Delphi technique. Int J Qual Stud Health Well-being, 17:1, 2110672. https://doi.org/10.1080/17482631.2022.2110672
4. Khuntee, W., Hanprasitkam, K., & Sumdaengrit, B. (2022). Effect of music therapy on postembolization syndrome in Thai patients with hepatocellular carcinoma: A quasi-experimental crossover study. Belitung Nursing Journal, 8(5), 396-404. http://doi.org/10.33546/bnj.2210
5. Witheethammasak, P., Deenan, A., Masingboon, K. (2022). A Causal Model of Asthma Control in Adults. Pacific Rim Int J Nurs Res, 26(4), 613-626.

    ปัญหาและอุปสรรคที่พบ ได้แก่ ข้อจำกัดทางด้านการใช้ภาษาอังกฤษ ข้อจำกัดด้านเวลา ค่าใช้จ่ายในการตีพิมพ์สูง และการมีเครือข่ายจำกัด

    ได้ความรู้เชิงกระบวการในการเลือกวารสารเป้าหมายระดับนานาชาติที่จะลงตีพิมพ์ และกระบวนการในการตีพิมพ์ผลงานวิชาการในระดับนานาชาติให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งกระบวนการประกอบด้วยขั้นตอน ดังนี้
1. ดำเนินการวิจัยตามความเชี่ยวชาญของตน
2. มองหาวารสารเป้าหมายระดับนานาชาติ
3. เตรียมต้นฉบับบทความเป็นภาษาอังกฤษ
4. มีผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบการใช้ภาษาอังกฤษและคุณภาพของต้นฉบับบทความ
5. ติดตามแก้ไขบทความตามข้อเสนอแนะของ peer review ตามกรอบเวลาที่วารสารกำหนด กระบวนการในการตีพิมพ์บทความ ประยุกต์องค์ประกอบที่จะช่วยให้การเผยแพร่ผลงานในระดับวิชาการประสบความสำเร็จ ได้แก่ การมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่สนใจทางด้านคลินิก กล้าและมีแนวคิดจะเขียนสื่อองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาของตนเองด้วยภาษาอังกฤษ (To be valiantly accomplished) มีทีมวิจัยและเครือข่ายส่วนบุคคล มีแหล่งสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเผยแพร่บทความ อย่ายอมแพ้และอย่าถอดใจ และเรียนรู้พัฒนาตนเองจากการปฏิบัติ

ข้อเสนอแนะในการดำเนินการในอนาคต หรือการดำเนินการเพื่อสามารถนำไปสู่การเป็น Good Practice

         1. การเลือกวารสารเป้าหมายในฐานข้อมูลระดับนานาชาติ อาจพิจารณาวารสารที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีอยู่หลายฉบับ ในสาขา Nursing ได้แก่ Pacific Rim International Journal of Nursing Research วารสารเล่มนี้พยายามช่วยเหลือนักวิจัยให้ได้ตีพิมพ์ โดยช่วยพิจารณาทั้งคุณภาพของงานวิจัย และความถูกต้องของภาษา มีผู้ทรงคุณวุฒิต่างชาติที่สามารถดูความถูกต้องทั้งเนื้อหาและภาษาได้ ใช้เวลาไม่นาน และค่าใช้จ่ายในการตีพิมพ์ไม่สูง ควรรวบรวมรายชื่อวารสารใน area ที่เกี่ยวข้อง ที่อยู่ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติ และตั้งอยู่ในประเทศไทย เพื่อช่วยให้นักวิจัยในสาขามองหาวารสารเป้าหมายง่ายขึ้น
        2. สถาบันควรให้การสนับสนุนการเผยแพร่ผลงานในวารสารระดับนานาชาติ โดยควรจัดให้มีหน่วยงานช่วยเหลือเรื่องการใช้ภาษาและการเขียนบทความเป็นภาษาอังกฤษ เช่น มี Writing Center เพื่อดูคุณภาพของผลงาน ก่อน submit และควรมีเงินทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการตีพิมพ์เผยแพร่
        3. การทำวิจัยควรทำเป็นทีม โดยสร้างเครือข่ายกับนักวิจัยต่างชาติ ต่างสถาบัน หรือกับสหสาขาวิชาชีพ ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ ควรสร้างและคงเครือข่ายความร่วมมือในการทำวิจัยกับอาจารย์ที่ปรึกษาและเพื่อนที่เป็นนักวิจัยต่างชาติ

Scroll to Top