การศึกษา พัฒนา ออกแบบสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี: บทบาทในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่นักศึกษาและมหาวิทยาลัยรังสิต ตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบัน
รางวัลดีเด่น ปีการศึกษา 2567 ยุทธศาสตร์ที่ 5 : KR 5.1.2/1 การศึกษา พัฒนา ออกแบบสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี : บทบาทในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่นักศึกษาและมหาวิทยาลัยรังสิต ตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบัน ผู้จัดทำโครงการ นางสาวกัญญ์กานต์ กุญโคจร นายกิตติธัช ช้างทอง นางสาวชวัลรัศมิ์ จตุเทน และ นางสาววิลาวัณย์ แดนสีแก้ว สถาบันศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาสังคม หลักการและเหตุผล/ความสำคัญ/ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้ ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยรังสิต ที่มุ่งเน้นการพัฒนา สังคม ชุมชน และวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของชุมชนอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรม วัตถุดิบท้องถิ่น และความหลากหลายทางวัฒนธรรม อันควรค่าแก่การอนุรักษ์และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผ้าทอพื้นเมืองจากฝ้ายย้อมคราม ซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่น ทั้งในด้านลวดลายโบราณ เทคนิคการถักทอด้วยมือ เส้นฝ้ายแท้ และกระบวนการย้อมสีจากพืชธรรมชาติในท้องถิ่น ซึ่งสะท้อนถึงภูมิปัญญาของชุมชน ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยรังสิตจึงมุ่งมั่น ยกระดับผ้าทอพื้นเมืองให้มีทั้งมูลค่าและคุณค่า พร้อมส่งเสริมให้เป็นอัตลักษณ์สำคัญของชุมชน และต่อยอดสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ได้ เพื่อให้ชุมชนสามารถพัฒนา เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยอาศัยทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ถือเป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าและความสำคัญในด้านศิลปะวัฒนธรรมการทอผ้า ซึ่งสะท้อนถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาหลายรุ่น ของทางภาคอีสาน โดยตั้งแต่ปีการศึกษา พ.ศ. 2558 การศึกษาและพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองอำเภอเขมราฐ ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยรังสิตในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของนักศึกษาและบุคลากร ผ่านการลงพื้นที่ศึกษากระบวนการผลิตผ้าทอพื้นเมืองของชุมชนอำเภอเขมราฐ โดยเน้นการศึกษาและลงมือปฏิบัติในด้านการพัฒนาลวดลาย การใช้สีธรรมชาติ และเส้นใยธรรมชาติ พืชเศรษฐกิจที่นำใช้ในกระบวนการทอผ้า จากลวดลายดั้งเดิมสู่นวัตกรรมองค์ความรู้จากนักศึกษาและสาขาวิชาที่มหาวิทยาลัยเปิดสอนไปบูรณาการร่วมกับชุมชน ในการสร้างลวดลาย โทนสี เส้นใยใหม่ เป็นกระบวนการที่สำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองให้ตอบสนองต่อความต้องการและรสนิยมของตลาดในปัจจุบัน โดยการนำลวดลายดั้งเดิมที่สะท้อนถึงความงามและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับปรุงและพัฒนาให้มีความทันสมัยและหลากหลายมากยิ่งขึ้น การศึกษาและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เริ่มต้นขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2558 โดยการสำรวจพื้นที่เพื่อศึกษาความเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะ วัฒนธรรม และวัตถุดิบที่ใช้ในชุมชน ซึ่งตรงตามจุดประสงค์ของการศึกษาเพื่อสร้างความร่วมมือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองให้มีคุณค่าและสามารถนำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับชุมชนในระยะยาว ช่วงปี พ.ศ. 2559 – 2560 ได้ดำเนินการศึกษาลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องและพัฒนาลวดลายผ้าพื้นเมือง รวมถึงการออกแบบเครื่องแต่งกายที่ใช้ผ้าพื้นเมือง ซึ่งเน้นการประยุกต์ใช้ลวดลายดั้งเดิมให้เข้ากับเทรนด์และความต้องการของตลาดสมัยใหม่ โดยมีการออกแบบที่สามารถดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคคนเมืองให้มีความน่าสนใจในรูปแบบที่ร่วมสมัย การวิเคราะห์และการออกแบบเครื่องแต่งกายจากลวดลายผ้าไทยในกระบวนการนี้มีความสำคัญต่อการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เพียงแต่รักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม แต่ยังสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย และสามารถรักษาคุณค่าและความหมายทางวัฒนธรรมที่มีความสำคัญต่อชุมชนได้อย่างยั่งยืน พร้อมจัดแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าทอพื้นเมืองอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นครั้งแรกในงานเปิดฤดูกาลการท่องเที่ยวอำเภอเขมราฐ “ฤดูกาลบอกรัก (ษ์) เขมราษฎร์ธานี” โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิตร่วมกับชุมชน ภายใต้ความร่วมมือด้านวิชาการและศิลปวัฒนธรรม ระหว่างเทศบาลตำบลเขมราฐและมหาวิทยาลัยรังสิต ช่วงปี พ.ศ. 2561 สถาบันศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ทำการศึกษาและพัฒนาผ้าทอพื้นเมืองเขมราฐ ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ เช่น กระเป๋า รองเท้า เครื่องประดับ หมวก และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ตามวิถีชีวิตชุมชน ได้ถูกออกแบบโดยนักศึกษาให้มีความสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์และความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงการใช้ผ้าพื้นเมืองอำเภอเขมราฐให้เป็นส่วนสำคัญในกระบวนการผลิต เพื่อสร้างความหลากหลายในการนำเสนอผ้าพื้นเมืองในรูปแบบใหม่ที่ทันสมัยและมีคุณค่าเชิงวัฒนธรรม สนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมเสริมการท่องเที่ยวเมืองเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยรังสิต ช่วงปี พ.ศ. 2562 – 2564 การถ่ายทอดกระบวนการทอผ้าพื้นเมืองและการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ในมิติต่างๆ ผ่านการสร้างสรรค์สื่อมัลติมีเดียทางด้านศิลปวัฒนธรรม โดยมีการนำเสนอในมิติการท่องเที่ยวและรูปแบบสารคดี ผ่านช่อง YouTube สถาบันศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ สื่อมัลติมีเดียที่สร้างขึ้นในปีดังกล่าวได้รวบรวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับประเพณีการทอผ้าพื้นเมือง ลวดลายผ้าที่มีเอกลักษณ์ กระบวนการผลิตผ้าแบบดั้งเดิมไปถึงการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมโยงระหว่างวิถีชีวิตชุมชนและการพัฒนาในยุคปัจจุบัน การนำเสนอในรูปแบบสารคดีช่วยให้ผู้ชมเข้าใจถึงกระบวนการทางศิลปะและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการทอผ้า และยังเสริมสร้างการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ในพื้นที่อำเภอเขมราฐ ซึ่งถือว่าเป็นการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับศิลปะการทอผ้าและวัฒนธรรมท้องถิ่นไปสู่สาธารณะชนในวงกว้าง อีกทั้งได้เสริมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองสู่ผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ ที่ตอบโจทย์ทั้งด้านการตลาดและการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมในยุคปัจจุบัน ช่วงปี พ.ศ. 2565 – 2566 การพัฒนา การออกแบบลวดลายผ้าพื้นเมืองอำเภอเขมราฐ โดยการนำมาประยุกต์เข้ากับแพทเทิร์นที่ทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม ซึ่งได้ศึกษา ทดสอบร่วมกับเทคโนโลยีและวัสดุใหม่ๆ มาใช้ในการพัฒนา คือ การนำหนังแท้จาก ที่ผลิตโดยโรงผลิตในเขตพื้นที่ชุมชนหลักหก จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นการสนับสนุนและสร้างความร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่นโดยรอบมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งชาวชุมชนได้มีส่วนร่วมในการผลิตหนังแท้ที่ใช้ร่วมกับผ้าพื้นเมืองในการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทำให้ผลงานมีความทันสมัยสู่สากล และคงคุณค่าทางวัฒนธรรมสูงสุด ต่อมาช่วงปี พ.ศ. 2566 ได้มีการสร้างสรรค์พัฒนารูปแบบจากผ้าพื้นเมืองลวดลายโบราณสู่ลวดลายผ้าขาวม้า ที่ปรับเปลี่ยนตามบริบทของสังคมให้มีความทันสมัยมากขึ้น แต่ยังคงในเรื่องของ concept การถักทอด้วยมือ ลวดลายและสีธรรมชาติ จากชุมชน ลงพื้นที่ ณ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีพัฒนาบ้านโพธิ์เมือง “เฮือนชูฮัก โฮมสตังค์” บ้านโพธิ์เมือง ตำบลนาแวง อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อร่วมศึกษาผลิตภัณฑ์ที่มาจากวิถีชีวิตชุมชนสะท้อนผ่านบนพื้นผ้าผ้าขาวม้าทอมือ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจากกระบวนการ การเลือกใช้วัตถุดิบ การใช้สี ใช้เส้นใย การถักทอผ้า จนถึงขั้นตอนการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ซึ่งครั้งนี้มหาวิทยาลัยรังสิต เข้าร่วมโครงการ eisa อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 จัดขึ้นโดยบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และบริษัทประชารัฐรักสามัคคีวิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) เตรียมพร้อมสนับสนุนผ้าขาวม้าทอมือทั่วประเทศไทย เพื่อการส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่ความยั่งยืน ภายใต้โครงการ Creative Young Designers Season 3 เข้าผนึกกำลังช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผ้าขาวม้า พร้อมการจัดกิจกรรม Workshop ต่าง ๆ ที่เกิดประโยชน์ต่อนักศึกษาและชุมชน ก่อนไปสู่กระบวนการความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบตัดเย็บชุดแฟชั่นจากผ้าขาวม้า ให้มีความเป็นสากล เข้าถึงคนเมืองมากขึ้น จนได้โมเดลผลงานสร้างสรรค์ต้นแบบชุดแฟชั่นจากผ้าขาวม้าส่งมอบให้แก่ชุมชน อีกทั้งเพื่อส่งเสริม การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากผ้าทอมือของชุมชน และการสร้างโอกาสในการขยายตลาดประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากผ้าทอมือให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับชุมชน และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดอุบลราชธานี สู่การผลิตสื่อจากโครงการ eisa ผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย ของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่มาร่วมลงพื้นที่และบันทึกเทปการถ่ายทำสื่อวิดีโอ ประชาสัมพันธ์เผยแพร่โครงการผ่านสื่อต่างๆ อาทิ รายการบันทึกไทยเบฟ และ ช่อง Amarin TV 34HD สุดท้ายทางมหาวิทยาลัยรังสิตได้มอบลวดลายสร้างสรรค์ผ้าขาวม้าอำเภอเขมราฐให้กับชุมชนได้ไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ต่อไป ในเทศกาลเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวอำเภอเขมราฐ ตลาดบกสืบสานวัฒนธรรมไทย สัมผัสวิถีชุมชนเขมราษฎร์ธานี ดินแดนแห่งความสุข ประจำปี 2566 จากกิจกรรม “10 ตลาดบก 6 ตลาดน้ำ สืบสานวัฒนธรรมไทย” โดยกระทรวงวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ 2566 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชน จากการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม และความร่วมมือด้านทางวิชาการ ช่วงปี พ.ศ. 2567 – ปัจจุบัน การออกแบบ ผลิตภัณฑ์กางเกง “บอกรักษ์เขมราฐ” จากลวดลายวิถีชีวิตเขมราฐได้รับแรงบันดาลใจจากลวดลายผ้าพื้นเมือง วิถีชีวิต สถาปัตยกรรม และประติมากรรมที่เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นที่มีความโดดเด่นชุมชนอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี และสะท้อนถึงวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย ภายใต้กระบวนการออกแบบที่ได้รับการพัฒนาผ่านการวาดลายเส้นอย่างละเอียด โดยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งได้ศึกษา คิดค้นและออกแบบลวดลาย การผสมผสานระหว่างการออกแบบลวดลายผ้าด้วยเทคนิค การพิมพ์สกรีนสี ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ทันสมัย ทำให้ผลงานมีความหลากหลายและทันสมัยมากขึ้น คงรักษาคุณค่าและเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชน และมอบลวดลายผ้าที่ออกแบบนี้ให้กับชุมชน เพื่อให้สามารถนำไปต่อยอดและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนในอำเภอเขมราฐ และยังเป็นการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างภาคการศึกษาและชุมชนในการอนุรักษ์และส่งเสริมการใช้วัสดุพื้นบ้านที่มีคุณค่าอย่างยั่งยืน การศึกษานี้ ถือเป็นการช่วยเสริมสร้างความเข้าใจลึกซึ้งกับภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ และเป็นการรวบรวมข้อมูลสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอที่สามารถพัฒนาต่อยอดนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า ในด้านของเรื่องราววิถีชีวิตชุมชน ความงาม และคุณภาพของวัตถุดิบชุมชน โดยการผสมผสานเทคนิคดั้งเดิมเข้ากับการออกแบบร่วมสมัย การลงพื้นที่ศึกษาและปฏิบัติพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกับชุมชนตลอดระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ. 2558 – พ.ศ.2568) จึงเป็นกระบวนการที่เสริมสร้างการเรียนรู้และพัฒนาทักษะของนักศึกษา บุคลากร และสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างมหาวิทยาลัยและชุมชน ตลอดจนสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้ การใช้ความรู้ในการพัฒนาและออกแบบสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองนั้น โดยเริ่มต้นจากการเข้าใจและศึกษาลักษณะเฉพาะของวัสดุท้องถิ่นและภูมิปัญญาของชุมชน การออกแบบลวดลายผ้าเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีความงดงามและสะท้อนเอกลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่น การศึกษาและวิจัยลวดลายดั้งเดิมของชุมชนอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี มีบทบาทสำคัญในการรักษาและสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าให้คงอยู่ ลวดลายเหล่านี้มักมีความหมายทางสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ วิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ของชุมชน ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาต่อเป็นลวดลายที่ทันสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งความหมายและเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมท้องถิ่น สร้างสรรค์ลวดลายผ้าให้คงเอกลักษณ์ของชุมชน ทั้งด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมและการนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ในรูปแบบที่ทันสมัยและมีความหมายทางสังคม โดยกระบวนการศึกษาลงมือปฏิบัติ มีการพัฒนาองค์ความรู้สำคัญ ดังนี้ 1.องค์ความรู้ด้านการออกแบบลวดลายผ้า การศึกษาและเข้าใจลวดลายดั้งเดิมของชุมชน โดยลวดลายและสัญลักษณ์ที่มีความสำคัญ ในวัฒนธรรมท้องถิ่นและสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ ความเชื่อ และประวัติศาสตร์ของชุมชน รวมถึงคำนึงการใช้สีธรรมชาติในการออกแบบ เรียนรู้การใช้สีจากธรรมชาติที่ได้จากพืช แร่ธาตุในชุมชนท้องถิ่น ซึ่งมีผลต่อลวดลายผ้า สีที่ได้จากธรรมชาติมักจะมีเอกลักษณ์และให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างจากสีสังเคราะห์ รวมถึงการผสมผสานระหว่างลวดลายดั้งเดิมและการออกแบบสมัยใหม่ เพื่อให้เกิดความสวยงามร่วมสมัย ซึ่งแนวทางการออกแบบ ที่สามารถนำมาใช้ในการสร้างสรรค์ลวดลายผ้าได้ นักศึกษาและบุคลากรได้เรียนรู้และนำโมเดลมาปรับใช้ครั้งนี้ ดังนี้ Design Thinking กระบวนการออกแบบที่มุ่งเน้นผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง โดยประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ มีกระบวนการดังนี้ การเข้าใจปัญหา, การกำหนดปัญหา, การระดมความคิด, การสร้างต้นแบบ และการทดสอบ Sustainable Design Model การออกแบบที่สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมความยั่งยืนในการใช้วัสดุและกระบวนการผลิต Modular Design การออกแบบที่สามารถนำส่วนต่างๆ มาเชื่อมโยงและใช้งานร่วมกันได้ โดยมีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนและพัฒนา Cultural Design Model การออกแบบที่ใช้แรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมและประเพณีของท้องถิ่น ซึ่งช่วยในการสื่อสารเรื่องราวและความเป็นเอกลักษณ์ Innovation Design Model เน้นการคิดสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในการออกแบบเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างจากเดิม The Four Pillars of Sustainability การนำ เศรษฐกิจ, สังคม, สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม มาเชื่อมโยงกัน องค์ความรู้ด้านกระบวนการทอผ้า การเรียนรู้เทคนิคการทอผ้าแบบดั้งเดิมในชุมชน เกี่ยวกับเทคนิคการทอ ซึ่งกี่ทอผ้าของแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน การถ่ายทอดเทคนิคเฉพาะตัวของมันจะช่วยให้สามารถสร้างลวดลายที่สวยงามและคงความเอกลักษณ์ของชุมชนไว้ได้ และต้องคำนึงถึงการคัดสรรวัสดุที่ใช้ในการทอผ้า การเลือกวัสดุทอผ้าที่มีความเหมาะสม เช่น ไหม ฝ้าย หรือใยจากธรรมชาติพืชท้องถิ่น อีกทั้งการพัฒนาเทคนิคการทอให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ ปรับปรุง พัฒนาเทคนิคการทอในรูปแบบใหม่ๆ โดยการผสมผสานระหว่างเทคนิคดั้งเดิมกับเทคโนโลยีใหม่เพือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต นักศึกษาและบุคลากรได้เรียนรู้และนำโมเดลมาปรับใช้ครั้งนี้ ดังนี้ Biomimicry Design การนำแนวคิด Biomimicry มาประยุกต์ในการออกแบบการทอผ้า ในการศึกษาธรรมชาติในการทอรวมถึงการเลือกใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับธรรมชาติ Sustainability Design การออกแบบที่มุ่งเน้นความยั่งยืนในทุกด้าน โดยเฉพาะการเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การออกแบบที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากร การเลือกใช้วัสดุธรรมชาติหรือการใช้เทคนิคการทอที่ช่วยประหยัดพลังงานและลดการปล่อยสารพิษ องค์ความรู้ด้านการใช้สีธรรมชาติ การเรียนรู้วิธีการสกัดและใช้งานสีจากธรรมชาติ เช่น คราม, ฝาง, ครั่ง, ใบไม้กิ่งไม้ และอื่นๆ ที่เป็นธรรมชาติในการย้อมสีผ้า โดยเลือกใช้สีที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงผลกระทบต่อธรรมชาติและวิธีการย้อมที่เป็นมิตรต่อโลก นักศึกษาและบุคลากรได้เรียนรู้และนำโมเดลมาปรับใช้ครั้งนี้ ดังนี้ Color Wheel Model โมเดลวงล้อสีเป็นเครื่องมือพื้นฐานในการเลือกสี Cultural Color Significance การเลือกใช้สีในแต่ละวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้น ๆ Pantone Matching System การจับคู่สีมาตรฐานที่ใช้ในอุตสาหกรรมการพิมพ์และการออกแบบ องค์ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้งานได้จริง การนำผ้าที่ทอมาออกแบบให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า และสามารถใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ที่มีความสวยงามและประโยชน์ใช้สอย รวมไปถึงการรักษาคุณภาพและความคงทนของผ้า โดยผ่านการทดสอบและพัฒนาเทคนิคการทอและการย้อมสีเพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพสูง นักศึกษาและบุคลากรได้เรียนรู้และนำโมเดลมาปรับใช้ครั้งนี้ ดังนี้ Sustainable Design Framework (การออกแบบที่ยั่งยืน) การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โดยใช้วัสดุ ที่ยั่งยืนและกระบวนการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งการใช้แนวทางนี้ ช่วยให้กระบวนการผลิตสีธรรมชาติ มีความยั่งยืน Cradle to Cradle Design (C2C) โมเดลการออกแบบนี้ มุ่งเน้นการผลิตที่ไม่มีขยะโดยใช้วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นในด้านวัสดุหรือในกระบวนการผลิต โดยเฉพาะการใช้วัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ การใช้สีจากธรรมชาติที่ไม่ทิ้งสารพิษและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ในกระบวนการผลิตอื่น ๆ Brand Identity Model มุ่งเน้นการสร้างและการจัดการภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่สะท้อนถึงคุณค่าหลักและเอกลักษณ์ของแบรนด์เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถจดจำและเชื่อมโยงกับแบรนด์ได้ องค์ความรู้ด้านความยั่งยืน การเลือกใช้วัสดุที่ยั่งยืน โดยการเลือกใช้วัสดุที่มีความยั่งยืน เช่น วัสดุธรรมชาติที่สามารถผลิตและใช้ใหม่ได้และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม องค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์เอกลักษณ์ชุมชน การให้ความสำคัญกับการเรียนรู้จากนักปราชญ์ในชุมชน การสัมภาษณ์ผู้มีประสบการณ์ในการทอผ้าและการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่สำคัญ โดยร่วมมือกับชุมชนให้มีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบ การผลิต และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้การสร้างสรรค์งานยังคงสะท้อนอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ ความคิดของชุมชน นักศึกษา และบุคลากรได้เรียนรู้และนำโมเดลมาปรับใช้ครั้งนี้ ดังนี้ Community-Based Sustainable Development การพัฒนาโดยมีการมีส่วนร่วมจากชุมชนในการตัดสินใจและดำเนินการ โดยให้ชุมชนเป็นเจ้าของกระบวนการพัฒนาและการอนุรักษ์สิ่งที่มีค่าในท้องถิ่น Cultural Heritage Preservation การอนุรักษ์และปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมของเป็นวัตถุและที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น จัดการและดูแลมรดกทางวัฒนธรรมให้มีความยั่งยืนในด้านการศึกษาและการปกป้อง Cultural Capital Model ทุนทางวัฒนธรรม ที่มีค่าของชุมชน Cultural Identity Model ส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตามประเพณีท้องถิ่นและการสร้างความเข้าใจในวัฒนธรรมเพื่อสร้างอัตลักษณ์ที่สอดคล้องกับค่านิยมและวิถีชีวิตของชุมชน Heritage and Legacy Model การสร้างอัตลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับการอนุรักษ์และการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมเพื่อให้คงอยู่ในเยาวชนไทยรุ่นหลัง 7.องค์ความรู้ด้านช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน การจัดการด้านของจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน ถือเป็นกระบวนการที่ช่วยให้ผลิตภัณฑ์จากชุมชนสามารถเข้าถึงตลาดทุกมิติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจท้องถิ่น นักศึกษา และบุคลากรได้เรียนรู้และนำโมเดลมาปรับใช้ครั้งนี้ ดังนี้ ทฤษฎีเศรษฐกิจฐานราก โดยมุ่งเน้นให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองและสร้างรายได้ผ่านการผลิตและจำหน่ายสินค้าของตนเอง โดยช่องทางการจัดจำหน่ายที่ใช้เครือข่ายในท้องถิ่น ถนนคนเดินสายวัฒนธรรมประจำทุกสัปดาห์ ตลาดชุมชน ศูนย์สินค้า OTOP หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ซึ่งได้เน้นแนวคิด “การตลาดเพื่อชุมชน” ที่ช่วยให้ชุมชนสามารถแข่งขันในตลาดได้ ประเภทความรู้และที่มาความรู้ ความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge) เจ้าของความรู้/สังกัด ทีมอาจารย์และบุคลากรสถาบันศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับชาวบ้าน นักปราชญ์ชุมชนอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี อื่น ๆ (ระบุ) หนังสือ ตำรา บทความวิจัย วิชาการ ด้านศิลปะการออกแบบ ศิลปวัฒนธรรม และคติชนสร้างสรรค์ วิธีการดำเนินการ ระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ. 2558 – พ.ศ.2568) ได้ถอดบทเรียนจากการศึกษา พัฒนา ออกแบบสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี บทบาทในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี แก่นักศึกษา บุคลากร และมหาวิทยาลัยรังสิต ตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบัน โดยเริ่มต้นจาก การศึกษาคุณค่าและเอกลักษณ์ของผ้าท้องถิ่น การศึกษากระบวนการทอผ้าเริ่มต้นด้วยการเข้าใจถึงเอกลักษณ์ของผ้าท้องถิ่นในแต่ละชุมชน เช่น การศึกษาลวดลาย เทคนิคการทอ วัสดุที่ใช้ และการเล่าเรื่องราวที่ผ้าสื่อถึง ผ้าไหม ผ้าฝ้ายในแต่ละท้องถิ่น รวมถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่สะท้อนผ่านลวดลายผ้า สำรวจและเก็บข้อมูลจากชุมชน การที่นักศึกษาและบุคลากรลงพื้นที่ไปเยี่ยมชมพร้อมศึกษาเรียนรู้ชุมชนที่อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีเรื่องเล่าและตำนาน ทอผ้าและมีประวัติศาสตร์ทอผ้าอันยาวนาน โดยใช้กระบวนการสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลจากชาวบ้านหรือช่างทอผ้า ปราชญ์ชวบ้าน ผู้มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการทอผ้าและลวดลายเฉพาะของชุมชนท้องถิ่นนั้น ๆ ศึกษาลวดลายและสัญลักษณ์ การศึกษาเกี่ยวกับลวดลายที่สำคัญของชุมชน เช่น ลายดอกไม้, ลายสัตว์, ลายธรรมชาติ หรือสัญลักษณ์ที่มีความหมายทางศาสนา วัฒนธรรม หรือประเพณีของชุมชน ให้สามารถรักษาความหมายและความสำคัญของลวดลายในผืนผ้า ซึ่งผ้าฝ้ายทอเมืองเขมราษฎร์ธานี อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี มีเรื่องเล่าและตำนานผ่านลวดลายบนผืนผ้าทอจำนวน 14 ลวดลาย ดังนี้ 1) ลายช่อเทียน เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 5 ของเมืองสยาม ชาวบ้านโคกกงพะเนียงอยู่ในศีลกินในธรรมมาโดยตลอด ผู้ชายก็ออกรบอยู่ไม่ขาด ถ้าทางราชการต้องการก็จะส่งคนที่เก่งฟันดาบคาถาอาคมไปช่วยอยู่มิขาด เมื่อนางนวลตั้งท้องได้ 3 เดือน สามีของนางถูกส่งไปช่วยเหลือราชการแดนไกล เมื่อไปแล้วถูกส่งไปเรื่อย ๆ จนถึงเมืองหลวง เพราะสามีนางเก่งกาจวิชาอาคมบู๊บุ๋น นางสวดมนต์ภาวนาเสมอ นางเป็นผู้นำชาวบ้านลงวัดผู้นำขึ้นบทสวด ผู้นำร้องสรภัญญะ เสียงของนางไพเราะ ใสเหมือนระฆัง นางเลี้ยงลูกได้ 9 – 10 ปี มีทหารขี่ม้าส่งข่าวสารเขียนว่า “ข้าสบายดี จะได้กลับบ้านเราแล้ว ให้นำข่าวไปบอกญาติๆ ข้าด้วย คิดถึงทุกชั่วทุกยาม” ข้าคำหาญ นางดีใจจนสุดที่จะบรรยาย นางได้จุดเทียนสวดมนต์ด้วยน้ำตาและตั้งใจว่าจะมัดหมี่ลายช่อเทียนเป็นครั้งแรก โดยจำลองเอาเทียนที่ตนไหว้พระสวดมนต์มาทำแนวลายมัดหมี่ นางมัดหมี่เพื่อจะใส่อวดสามีตอนกลับมา นางมัดเวลาพลบค่ำจนถึงไก่ขันจึงเสร็จ แสงเทียนนางสว่างทั้งคืน นางมัดเสร็จภายในคืนเดียว ตื่นเช้ามานางย้อมคราม นางมีเจตนาว่าถ้าผู้ใดได้ใส่ผ้ามัดหมี่ลายนี้ นางขออวยพร 2) ลายดาวเคียงเดือน เมื่อราวรักสามเศร้าที่ไม่สมหวัง เมื่อชายหนุ่มหลงรักหญิงสาวคือนางเดือนเต็มและนางแสงดาวลูกสาวเศรษฐี พ่อแม่ฝ่ายชายจะยกขันหมากไปสู่ขอนางเดือนเต็มให้ แต่ด้วยความกลัวว่าทั้งสองนางจะเสียใจชายหนุ่มจึงเข้าไปขวางขบวนขันหมาก ฝ่ายพ่อโมโหมาก จึงเนรเทศลูกออกจากเมืองด้วยกลัวเสียหน้าจึงยกขบวนขันหมากไปสู่ขอลูกสะใภ้เช่นเดิม แต่ไม่มีแม้แต่ร่องรอยของเจ้าบ่าว ฝ่ายหญิงจึงคิดค่าปรับเป็นทองคำ 10 บาท วันหนึ่งขณะที่สองนางไปเที่ยวป่าของชายทุ่ง ชายหนุ่มได้เขียนจดหมายไปบอกลาว่าเขาไม่สามารถที่จะแต่งงานกับใครได้เลย เพราะทั้งคู่ต่างดีกับเขา ไม่อยากให้ใครต้องมาทุกข์ใจ เขาจึงขอบวชตลอดชีวิตเพื่อชดเชยความผิดในครั้งนี้ 3) ลายนาคน้อย เกิดขึ้นพร้อมกับมีชาววงศ์ปัดสาสร้างวัดกลางเมื่อนานมาแล้ว ข่าวเล่าขานกันอยู่มิขาดระยะ คือชาวบ้านโคกกงพะเนียงได้พบเห็นนางสองนางมายืมฟืม ในเวลาบ่ายคล้อยเกือบค่ำ วันศีล 5 พอดี วันนั้นมีลมพัดโชยมาเยือกเย็นผิดปกติ นางฟางนั่งทอผ้าอยู่ใต้ถุนบ้าน นางทั้งสองสวยผิวขาวเหลือง มีปิ่นปักผม 3 ช่อ ข้างหูทั้งสองข้าง ผมยาวกลางหลัง นางยิ้มและพูดว่า “ข้ามาขอยืมฟืมเจ้าไปทอผ้าสัก 5 – 6 วันแล้วจะเอามาส่งคืน” นางฟางตอบว่า “ทำไมเร็ว จะทออะไรถึงได้ทอ 5 – 6 วัน” นางบอกว่า “ข้าจะทอผ้ามัดหมี่ลายนาคน้อย” “เจ้าให้ยืมเถิด ข้าจะทอลายนาคน้อยมาให้เจ้าดู” แล้วนางฟางก็ถามว่า บ้านเจ้าอยู่ที่ใด นางตอบ “อยู่ฝั่งห้วยใกล้ นี่เอง” นางฟางคิดว่าเป็นชาวบ้านท่าปัดซุมฝั่งลาวนั่งเรือมายืมจึงให้ไป โดย 5 วันต่อมาอากาศอึมครึม ลมเย็น ๆ เช่นเดิม เวลาเดิม นางทั้งสองเดินเข้ามา “ข้าเอาฟืมมาส่งแล้ว” นางก็อวดผ้าซิ่น นางฟางรีบเดินมาขอดูใกล้ ๆ ก็ตกใจ ลายผ้าเป็นตัวนาคน้อยจริงๆ นางบอกว่า “เจ้าทอลายนี้นะ ข้าจะอวยพร ใส่แล้วชาวบ้านจะอยู่เย็นเป็นสุข” ถ้าเจ้าเห็นบั้งไฟผุดขึ้นเหนือน้ำ เจ้าอย่าพากันตกใจ คือพญานาคท่านมาอวยพรให้เจ้าอยู่เย็นเป็นสุข อายุมั่นขวัญยืน แล้วนางก็เดินจากไป นางฟางคิดว่าทำไมจึงอวยพรอย่างนี้ จึงรีบชวนนางจันนางยืนแอบตามไปส่องทางดูว่า จะกลับไปบ้านใด นางย่องไปจนถึงฝั่งโขงเห็นสองนางโบกมือลา นางฟางตกใจว่ากูอยู่ในป่ากล้วยแท้ ๆ ทำไมนางถึงได้เห็น ภาพที่นางฟางได้เห็นคือ นางเดินลงน้ำ เห็นแต่เส้นผมฟูน้ำหายไป…ฯ” 4) ลายเม็ดข้าวสาร ลายนี้กล่าวถึงพิธีกรรมไหว้ผีนา หรือที่อีสานเรียนกว่าผีตาแฮก จะกระทำในวันแรกที่จะเริ่มเพาะปลูกข้าวพร้อม ๆ กับพิธีแรกนาขวัญ เชื่อว่าการทำเช่นนี้จะทำให้ข้าวกล้าบริบรูณ์ดี ได้ข้าวเม็ดงาม แม้หากใครได้สวมใส่จะมีกินมีใช้ไม่ขาดมือ 5) ลายดอกหญ้า อัญญาวังวงศ์ปัดสา เห็นชาวกรุงเดินผ่านชาวบ้าน พวกเขาแต่งตัวสวยงาม วาจาไพเราะ ขณะที่ชาวบ้านแต่งตัวธรรมดา ๆ และรู้สึกขัดเขินเมื่อต้องพูดจากับชาวกรุง จึงเกิดความน้อยใจ และเปรียบว่าชาวเขมราฐเป็นเหมือนเช่น “ดอกหญ้า” แต่ดอกหญ้าสามารถออกดอกผลิบานได้ทุกหนแห่ง คนอีสานก็มีดีเช่นกัน มีที่ดินไร่นามากมาย มีข้าวกล้าอุดมสมบรูณ์ สักวันหนึ่งคนทั้งหลายจะได้พึ่งพาชาวอีสานขอให้ชาวอีสานได้ภูมิใจในตนเองเถิด นางหนึ่งเกิดเป็นลมล้มลง แล้วลุกขึ้นมาฟ้อนรำอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ชาวบ้านจึงถามว่า รำอะไรสวยงามมาก นางจึงตอบว่า รำตุ้มพาง 7) ลายหมี่เอื้อสองคอง กาลครั้งนั้นในทุก ๆ ปีของฤดูการเก็บเกี่ยวข้าว ผู้นำชุมชนหรือหมู่บ้านจะตีกลองเรียกประชุมที่ลานวัดเพื่อถามสารทุกข์ความเป็นอยู่ในแต่ละครอบครัว อัญญา บุญทอง วงศ์ปัดสา ได้พบว่า มีครอบครัวผู้หนึ่ง ไม่มีที่ดินทำนา ต้องอาศัยรับจ้างทำนาช่วยผู้อื่น ท่านจึงแบ่งปันที่ดินให้ประมาณ 5 ไร่ เป็นบริเวณชายป่าเพื่อใช้ทำนา โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทนใด ๆ หลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าวขึ้นลาน ผู้นำชุมชนจะตีกลองประชุมที่ลานวัด เพื่อไต่ถามทุกข์สุขของคนในหมู่บ้าน ครอบครัวของผู้ยากไร้ที่ได้รับการช่วยเหลือได้ทอผ้ามัดหมี่มามอบให้ท่าน ท่านจึงถามว่า “มันคือผ้าอะไร”เจ้าของผ้าจึงตอบว่า “ข้าน้อยได้มัดหมี่เอื้อสองคองมามอบให้ท่าน คองที่หนึ่ง คือ บุญบารมีผู้สูงส่ง คองที่สอง การให้ทานโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ข้าน้อยจึงตั้งชื่อว่า หมี่เอื้อสองคอง” คือที่มาของหมี่เอื้อสองคอง จึงมีความหมายว่า ถ้าใครชื่นชอบผ้าลายนี้จะเป็นผู้มีบุญบารมีสูงส่งจะให้ทานโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน ผู้มีจิตใจประเสริฐงดงาม 8) ลายพญานาคคู่ เป็นเรื่องราวของความเชื่อเกี่ยวกับพญานาค ผู้ดูแลความสงบสุขของดินแดนสองฝั่ง ลำน้ำโขง ชาวเขมราฐมีความเชื่อเรื่องพญานาคเป็นอย่างมาก และนำมาทำเป็นลายผ้าซิ่นมงคล มีคำทำนายเกี่ยวกับคนที่ชอบนุ่งผ้าซิ่นลายนาคคู่ว่า หญิงที่เลือกผ้าลายนี้แสดงว่าเป็นคนที่รักในศักดิ์ศรี หากตนเองไม่ได้ทำผิดสิ่งใดแล้วมีผู้มากล่าวหาก็จะสู้อย่างถึงที่สุด 9) ลายพานไหว้ครู อัญญาวัง วงศ์ปัดสา ได้จำลองเอาพานไหว้ครูที่ปั้นด้วยดินเหนียวเสียบด้วยดอกรัก และดอกจำปี ธูปเทียน ดอกเข็ม เพื่อให้ลูกชายนำไปไหว้ครู ท่านจึงมัดขึ้น 2 ผืน ให้บุตรชายอาจารย์ไพศาล วงศ์ปัดสานำไปไหว้ครู ซึ่งก่อนท่านเสียชีวิต บุตรสาวถามว่าข้าน้อยอยากได้ผ้ามัดหมี่ผืนนี้เพื่อนำไปใส่จะได้ไหม แม่ตอบว่า “ลูกใส่มิได้ดอก ลูกมิคู่ควรแม่ตั้งใจมัดให้ผู้มีวิชาความรู้ เป็นครูบาอาจารย์ สั่งสอนผู้อื่นได้เท่านั้น” ผู้เป็นลูกได้ยินจึงเกิดความรักผ้ามัดหมี่ลายนี้เอาไว้ว่า ตัวเองมิคู่ควร จึงยกให้น้องชายผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์ จึงมีความหมายว่า หากผู้ใดชอบผ้าลายนี้เกิดมาจะเป็นผู้มีความรู้แตกฉานสามารถอบรมสั่งสอนผู้อื่นได้ด้วยสติปัญญา 10) ลายฮั้วอ้อมบ้าน/ลายรั้วล้อมบ้าน