KR 1.4.5

ศาสตร์การสอนและการเรียนรู้ : เสริมพลังอาจารย์ใหม่ สู่การจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ

รางวัลชมเชย ปีการศึกษา 2566 ยุทธศาสตร์ที่ 1 : KR 1.4.4, KR 1.4.5 ศาสตร์การสอนและการเรียนรู้: เสริมพลังอาจารย์ใหม่ สู่การจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ผู้จัดทำโครงการ​ ดร.ชิดชไม วิสุตกุล และ ดร.พิบูลย์ ตัญญบุตร วิทยาลัยครูสุริยเทพ หลักการและเหตุผล/ความสำคัญ/ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้​           การศึกษาเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ ครูมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษาให้บรรลุเป้าหมาย คุณภาพการศึกษาจึงผูกพันกับคุณภาพของครูโดยตรง ครูใหม่เปรียบเสมือนต้นกล้าแห่งอนาคตของการศึกษา การเสริมพลังครูใหม่ให้มีศักยภาพและพร้อมสำหรับการสอนที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเป้าหมายของสถาบันอุดมศึกษาคือการผลิตกำลังคนที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ โดยมีภารกิจหลัก คือ การสร้างคนให้เปี่ยมด้วยความรู้ และมุ่งพัฒนาสร้างความรู้สู่ความเป็นเลิศ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา สังคมให้พึ่งตนเองได้ พัฒนาได้และแข่งขันได้ การสอน (Teaching) และการวิจัย (Research) จึงเป็นสองด้านของเหรียญอันเดียวกัน ทิศทางการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 เน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ (learning outcomes) การจัดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากตามภารกิจหลักของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศสู่การศึกษายุค Thailand 4.0 ซึ่งส่งผลต่อรูปแบบกระบวนการจัดการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาเป็นอย่างมาก ผนวกกับสถานการณ์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดขึ้นและแพร่กระจาย ของเชื้อไวรัส Covid-19 ที่นำมาสู่วิถีใหม่ในการดำรงชีวิต การจัดการศึกษาจำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยยึดมั่นอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์เยาวชนให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศ จึงนำมาสู่การปรับและการสร้างโครงสร้างใหม่ในทุกมิติของมหาวิทยาลัยรังสิต ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยรังสิต พ.ศ.2565-2569 เพื่อให้บัณฑิตมีความเป็นเลิศทั้ง “วิชาการ  วิชางาน  และวิชาคน”  โดยสอดคล้องกับวิสัยทัศน์หลัก คือ “การศึกษาคือนวัตกรรมที่ไม่มีที่สิ้นสุด” มหาวิทยาลัยรังสิตมุ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีมาตรฐานระดับนานาชาติ เน้นคุณภาพและสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล มีความเป็นเลิศทางด้านการเรียนการสอนที่อยู่บนพื้นฐานของการค้นคว้าวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ และแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหา ชี้แนะทางเลือก และสนองตอบความต้องการของชุมชน สังคม และประเทศ (มหาวิทยาลัยรังสิต, 2564)           คณาจารย์เปรียบเสมือนหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษา บทบาทของคณาจารย์มหาวิทยาลัยรังสิตไม่ได้จำกัดอยู่แค่การถ่ายทอดความรู้ แต่ต้องมุ่งเน้นไปที่การพัฒนา “สมรรถนะด้านความเป็นอาจารย์” บนพื้นฐานของการค้นคว้าวิจัย สิ่งนี้จะช่วยสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพ  มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งพัฒนาบุคลากรทุกระดับ โดยเฉพาะบุคลากรสายการสอน ด้วย “กรอบมาตรฐานวิชาชีพอาจารย์” ตามแนวทางการพัฒนาคุณภาพอาจารย์เพื่อส่งเสริมการบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา โดยซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ องค์ประกอบที่ 1 ความรู้ (Knowledge) มี 2 องค์ประกอบย่อย คือ (1.1) ความรู้ในศาสตร์สาขาวิชาของตน (1.2) ความรู้ในศาสตร์การสอนและการเรียนรู้ องค์ประกอบที่ 2 สมรรถนะ (Competencies) มี 4 องค์ประกอบย่อย คือ (2.1) ออกแบบและวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพ (2.2) ดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิผล (2.3) เสริมสร้างบรรยากาศการเรียนรู้และสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียน (2.4) วัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน พร้อมทั้งสามารถให้ข้อมูลป้อนกลับอย่างสร้างสรรค์ และองค์ประกอบที่ 3 ค่านิยม (Values) มี 2 องค์ประกอบย่อย คือ (3.1) คุณค่าในการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์ และการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง (3.2) ธำรงไว้ซึ่งจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพอาจารย์ ซึ่งคุณภาพการจัดการเรียนการสอนในแต่ละองค์ประกอบได้ กำหนดให้มีระดับของคุณภาพของแต่ละองค์ประกอบ จำนวน 4 ระดับ โดยในระดับที่ 1 ได้กล่าวถึงครูที่มีคุณภาพ (Beginner/Fellow Teacher) หมายถึง อาจารย์ที่เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ของตนและประยุกต์ใช้ได้ มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์การเรียนรู้เบื้องต้น สามารถออกแบบกิจกรรม จัดบรรยากาศ ใช้ทรัพยากรและสื่อการเรียนรู้ โดยคำนึงถึงผู้เรียนและปัจจัยที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ สามารถวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนนำผลประเมินมาใช้ปรับปรุงพัฒนาการจัดการเรียนรู้ พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เปิดใจรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพอาจารย์ขององค์กร (สมาคมเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และองค์กรระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (ควอท), 2566)  ในยุคสมัยที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว บทบาทของอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเป็นผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์เฉพาะทางเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ ทักษะ และสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษา ซึ่งหมายความว่าอาจารย์จำเป็นต้องมี “สมรรถนะด้านความเป็นอาจารย์” ควบคู่ไปกับ “ความเชี่ยวชาญในศาสตร์วิชาชีพ” ในระดับอุดมศึกษาอันจะเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จให้สอดรับกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยรังสิต           ศาสตร์การสอนและการเรียนรู้ เป็นรากฐานสำคัญในการส่งเสริมสมรรถนะด้านความเป็นอาจารย์ พัฒนาศักยภาพของอาจารย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์ใหม่ในระดับอุดมศึกษาที่ต้องเผชิญความท้าทายหลายประการ หนึ่งในนั้นคือ การขาดทักษะและความรู้ในศาสตร์การสอนและการเรียนรู้ ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้และผลการเรียนรู้ของนักศึกษา ดังนั้น อาจารย์ใหม่จึงจำเป็นต้องพัฒนาทักษะและความรู้ในการจัดการเรียนรู้ เพื่อช่วยให้เข้าใจหลักการและวิธีการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย ส่งเสริมให้นักศึกษามีส่วนร่วม คิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา และสร้างสรรค์ผลงาน ด้วยหลักการนี้จึงเป็นที่มาของหลักสูตร “ศาสตร์การสอนและการเรียนรู้” ในความร่วมมือของสำนักงานพัฒนาบุคคล และวิทยาลัยครูสุริยเทพ โดยในหัวข้อ “การจัดการเรียนรู้” และ “การวัดและประเมินผล” มีจุดมุ่งหมายให้ผู้สอนใช้วิธีการสอนที่หลากหลาย เหมาะสมกับเนื้อหาและผู้เรียน เน้นการเรียนรู้ตามหลักการ Active Learning ส่งเสริมให้อาจารย์ใหม่มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ คิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา และสร้างสรรค์ผลงาน และเน้นการวัดผลเชิงพัฒนาการ ประเมินทั้งความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ โดยใช้เครื่องมือที่หลากหลายและทันสมัย เหมาะสมกับวัตถุประสงค์และเนื้อหา โดยนำผลประเมินผลไปพัฒนาผู้เรียน ปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ และพัฒนาระบบการวัดประเมินผลให้มีประสิทธิภาพ           การพัฒนาศักยภาพอาจารย์ใหม่ ในศาสตร์การสอนและการเรียนรู้ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของมหาวิทยาลัยรังสิต โดยหลักสูตรนี้มุ่งเน้นพัฒนาอาจารย์ใหม่ให้นำความรู้และทักษะใหม่ไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาสู่การเป็นนักวิจัย โดยเน้นในเรื่อง การจัดการเรียนรู้และการวัดประเมินผลผู้เรียน จะส่งผลดีต่อทั้งอาจารย์ใหม่ นักศึกษา และสถาบันอุดมศึกษาโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์ใหม่จะได้พัฒนาทักษะและความรู้ในการจัดการเรียนรู้ เพิ่มประสิทธิภาพการสอน ส่งเสริมให้นักศึกษามีผลลัพธ์การเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ รวมถึงพัฒนาทักษะการวัดผลและประเมินผลอย่างเป็นระบบ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจในการสอน สำหรับนักศึกษาจะได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีคุณภาพ มีส่วนร่วมในการเรียนรู้มากขึ้น สามารถสร้างผลงาน หรือแก้ปัญหาด้วยทักษะการคิดขั้นสูงได้อย่างสร้างสรรค์ผลงานดียิ่งขึ้น อีกทั้งเกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้ สำหรับมหาวิทยาลัยรังสิตจะได้พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดี           “อาจารย์” คือ หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนอนาคตในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น “อาจารย์” จึงไม่ใช่เพียงผู้สอน แต่คือ “ผู้นำทางปัญญา” มหาวิทยาลัยรังสิตจึงให้ความสำคัญกับพัฒนา “สมรรถนะด้านความเป็นอาจารย์” ผ่านการค้นคว้าวิจัย พัฒนาทักษะการสอน ตลอดจนสร้างกลยุทธ์การเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน ด้วยความมุ่งมั่น “เพื่อพัฒนาอนาคตของชาติต่อไป”   ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้                    องค์ความรู้ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการนำมาใช้เพื่อในการพัฒนาหลักสูตรศาสตร์การสอนและการเรียนรู้ : เสริมพลังอาจารย์ใหม่ สู่การจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ หรือ V-I-M-P-S Model (จากความหมายในภาษาอังกฤษของแต่ละองค์ประกอบ มีความหมายในภาษาอังกฤษว่า Very important แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า  “สำคัญที่สุด” โมเดลนี้ มุ่งหวังที่จะสร้าง “อาจารย์ยุคใหม่” ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษาไทยไปสู่คุณภาพ จากการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่เสมอ มีที่มาจากหลักการ หรือองค์ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้ ดังนี้ วิสัยทัศน์ : Vision : คือ การให้ความสำคัญกับการมุ่งพัฒนา “อาจารย์” ให้เป็น “ผู้นำทางปัญญา” ที่ขับเคลื่อนอนาคตการศึกษาไทย ผ่านการสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพ เปี่ยมด้วยความรู้ ทักษะ และพร้อมรับมือกับทุกความท้าทายทุกสภาพปัญหา อุดมการณ์: Intention : คือ การให้ความสำคัญกับการพัฒนา “สมรรถนะด้านความเป็นอาจารย์” บนพื้นฐานการค้นคว้าวิจัย ฝึกฝนทักษะการสอนที่ทันสมัยที่สอดคล้องกับหลักการ Active Learning พร้อมทั้งศึกษาและสร้างแนวทางการเรียนรู้ในยุคศตวรรษที่ 21 สำหรับผู้เรียน ผ่านการส่งเสริมการเรียนรู้ในลักษณะของการค้นคว้าวิจัยสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการศึกษา โดยให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย แบบแผน: Method : คือ การให้ความสำคัญกับกระบวนการพัฒนาหลักสูตรอย่างเป็นระบบ เพื่อพัฒนา “อาจารย์ยุคใหม่” ที่เน้นการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning) และถ่ายทอดผ่านการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาทักษะการสอนที่ทันสมัย สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมทางการศึกษา และจัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างเครือข่ายความร่วมมือในรูปแบบของวารสาร RJES วิทยาลัยครูสุริยเทพ มหาวิทยาลัยรังสิต ระยะเวลาการศึกษา: Period: คือ การให้ความสำคัญกับการออกแบบการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนที่เหมาะสมกับระยะเวลา เนื่องจากความรู้ที่สมบูรณ์นั้นจะเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาที่เหมาะสม                    5. ตัวชี้วัดความสำเร็จ: Success: คือ การให้ความสำคัญกับความพึงพอใจของนักศึกษาที่มีต่อการสอนของคณาจารย์ ความสำเร็จในการศึกษาของผู้เรียน ส่งเสริมให้คณาจารย์งานพัฒนาตนเองผ่านการทำผลงานทางวิชาการสู่ความเป็นเลิศทางการศึกษา สำหรับรายงานฉบับนี้ ขอนำเสนอแนวทางจาก 2 หัวข้อ คือ หัวข้อที่ 3 การจัดการเรียนรู้ และหัวข้อที่ 4 การวัดและประเมินผล ดังนี้ หัวข้อที่ 3 การจัดการเรียนรู้           อาจารย์ ดร.ชิดชไม วิสุตกุล ผู้รับผิดชอบ ได้ใช้หลักการของ V-I-M-P-S Model ในการออกแบบการฝึกอบรม ซึ่งพิจารณาแล้วว่าสอดคล้องกับกรอบแนวคิด 4C ที่ใช้สำหรับการจัดการเรียนรู้ให้เกิดประสิทธิภาพ ได้แก่ Context (บริบท) Content (เนื้อหา) Curriculum (หลักสูตร) และ Conduct (การจัดการ) ผู้สอนสามารถใช้กรอบแนวคิดนี้เพื่อออกแบบและจัดการการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับบริบท เนื้อหา หลักสูตร และผู้เรียน ดังนี้ Context (บริบท) เข้าใจบริบทของการเรียนรู้ในระดับอุดมศึกษา หมายถึง การเข้าใจปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ในระดับอุดมศึกษา เช่น วัฒนธรรมของมหาวิทยาลัย ลักษณะของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา เทคโนโลยีที่มีอยู่ ทรัพยากรที่มีอยู่ วิเคราะห์ลักษณะของผู้เรียนในระดับอุดมศึกษา หมายถึง การเข้าใจความต้องการ ความสนใจ จุดแข็ง และข้อจำกัดของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา เข้าใจธรรมชาติของเนื้อหาวิชา หมายถึง การเข้าใจโครงสร้าง เนื้อหา และวิธีการคิดวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาวิชา Content (เนื้อหา) ออกแบบเนื้อหาวิชาให้เหมาะสมกับผู้เรียนและบริบท หมายถึง การออกแบบเนื้อหาวิชาให้ตรงกับความต้องการ ความสนใจ จุดแข็งและข้อจำกัดของนักศึกษา คัดเลือกสื่อการสอนที่หลากหลายและเหมาะสม หมายถึง การเลือกใช้สื่อการสอนที่เหมาะสมกับเนื้อหาวิชา รูปแบบการเรียนรู้ และลักษณะของนักศึกษา จัดลำดับเนื้อหาการสอนอย่างมีตรรกะ หมายถึง การจัดลำดับเนื้อหาการสอนให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องและเข้าใจง่าย Curriculum (หลักสูตร) ออกแบบหลักสูตรที่สอดคล้องกับเป้าหมายการเรียนรู้ หมายถึง การนำผลลัพธ์การเรียนรู้ของหลักสูตรมาออกแบบการเรียนการสอนในรายวิชาให้สอดคล้องกับเป้าหมายการเรียนรู้ กำหนดวิธีการประเมินผลที่หลากหลาย หมายถึง การเลือกใช้เครื่องมือการประเมินผลที่หลากหลาย บริหารจัดการเวลาและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ หมายถึง การจัดสรรเวลาและทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด Conduct (การจัดการ) ดำเนินการจัดการเรียนรู้โดยใช้กลยุทธ์ที่หลากหลาย หมายถึง การเลือกใช้กลยุทธ์การสอนที่หลากหลาย สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เอื้ออำนวย หมายถึง การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ ประเมินผลและปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ หมายถึง การประเมินผลการจัดการเรียนรู้และปรับปรุงให้ดีขึ้น   หัวข้อที่ 4  การวัดและประเมินผล                    อาจารย์ ดร.พิบูลย์ ตัญญบุตร ผู้รับผิดชอบ ได้ใช้หลักการของ V-I-M-P-S Model ในการออกแบบการฝึกอบรม ซึ่งพิจารณาแล้วว่าสอดคล้องกับแนวคิดของ สมคิด บางโม (2553) ที่กล่าวว่า ระบบ (system) ถูกนำมาใช้กันอย่างกว้างขวาง การวิเคราะห์การฝึกอบรมในรูปของระบบจะช่วยให้มองเห็นว่าการจัดการฝึกอบรมนั้นมุ่งประโยชน์โดยส่วนรวม มิใช่มุ่งประโยชน์ของตัวบุคคล แนวความคิดเชิงระบบเชื่อว่าระบบประกอบด้วยปัจจัย5 ประการ โดยสามารถสรุปได้ว่า คือ 1) ปัจจัยนำเข้า 2) กระบวนการ 3) ผลิตผล 4) ข้อมูลย้อนกลับ 5) สิ่งแวดล้อมภายนอก ซึ่งผู้รับผิดชอบได้ศึกษาและวิเคราะห์ระบบดังกล่าว สำหรับใช้ในการออกแบบการฝึกอบรม พบว่า สามารถใช้ในการออกแบบการฝึกอบรมให้เกิดประสิทธิภาพได้ ดังนี้1. ปัจจัยนำเข้า           1.1 พิจารณาข้อมูลพื้นฐานของผู้เข้ารับการอบรม (อาจารย์ใหม่) ดังนี้           ความรู้พื้นฐาน: ระดับความรู้และประสบการณ์ของอาจารย์ใหม่เกี่ยวกับการวัดและประเมินผล เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นอาจารย์ที่ไม่ได้มีประสบการณ์ หรือองค์ความรู้เกี่ยวกับศาสตร์การสอนและการเรียนรู้ และเป็นอาจารย์ใหม่ที่มีอายุงาน 1-5 ปี แรงจูงใจ: ความตั้งใจจริงและความสนใจในการเรียนรู้ทักษะการวัดและประเมินผล ความตั้งใจจริง: อาจารย์ใหม่ควรมีความตั้งใจจริงในการเรียนรู้ทักษะการวัดและประเมินผล เพราะเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับการสอนที่มีประสิทธิภาพ เข้าใจถึงความสำคัญของการวัดและประเมินผล เพื่อนำมาพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน และต้องการใช้วิธีการวัดและประเมินผลที่หลากหลาย เหมาะสมกับเนื้อหาและรูปแบบการเรียนรู้ ความสนใจ: อาจารย์ใหม่ควรมีความสนใจใฝ่รู้เกี่ยวกับวิธีการวัดและประเมินผลที่หลากหลาย ต้องการศึกษาและทดลองใช้วิธีการวัดและประเมินผลใหม่ๆ และสนใจที่จะพัฒนาทักษะการวัดและประเมินผลของตนเองอยู่เสมอ ทักษะการคิดวิเคราะห์: ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลและตีความผลลัพธ์ ทักษะการสื่อสาร: ความสามารถในการอธิบายและสื่อสารผลการวัดและประเมินผล           1.2 วิทยากร           ความรู้: ความเชี่ยวชาญและความรู้ที่ลึกซึ้งด้านการวัดและประเมินผล ประสบการณ์: ประสบการณ์การสอนและการฝึกอบรมเกี่ยวกับการวัดและประเมินผล ทักษะการสอน: ความสามารถในการถ่ายทอดความรู้และทักษะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทักษะการสื่อสาร: ความสามารถในการสื่อสารที่ชัดเจนและน่าสนใจ           1.3 สื่อการสอน           ความทันสมัย: เนื้อหาและตัวอย่างที่ทันสมัยและสอดคล้องกับแนวทางการวัดและประเมินผลปัจจุบัน ความหลากหลาย: การใช้สื่อการสอนที่หลากหลาย เช่น บทบรรยาย การอภิปราย การศึกษากรณีตัวอย่าง การฝึกปฏิบัติ ความเหมาะสม: สื่อการสอนที่ตรงกับความต้องการและระดับความรู้ของผู้เข้ารับการอบรม           1.4 สถานที่           บรรยากาศ: สถานที่อบรมที่สะดวกสบาย และเอื้อต่อการเรียนรู้ อุปกรณ์: อุปกรณ์ที่ทันสมัยและเพียงพอต่อการฝึกปฏิบัติ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ โปรเจคเตอร์           1.5 ปัจจัยสนับสนุน           นโยบายของมหาวิทยาลัย: นโยบายที่สนับสนุนการพัฒนาทักษะการวัดและประเมินผลของอาจารย์ งบประมาณ: งบประมาณที่เพียงพอสำหรับการจัดอบรม ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักงานพัฒนาบุคคล มหาวิทยาลัยรังสิต การสนับสนุนจากหน่วยงาน หรือวิทยาลัย: วิทยาลัยครูสุริยเทพสนับสนุนและส่งเสริมในการให้บริการวิชาการ อีกทั้งสนับสนุนให้ส่งอาจารย์ใหม่เข้ารับการอบรมเช่นกัน 2. ทักษะการคิดวิเคราะห์           ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล: อาจารย์ใหม่ควรมีทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการวัดและประเมินผล วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน และความต้องการของนักเรียนระบุปัญหาและอุปสรรคในการเรียนรู้ ประเมินประสิทธิภาพของการสอน ความสามารถในการตีความผลลัพธ์: อาจารย์ใหม่ควรมีทักษะการตีความผลลัพธ์ของการวัดและประเมินผล อธิบายความหมายของข้อมูล สรุปผลการวัดและประเมินผล นำผลการวัดและประเมินผลไปใช้เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ 3.ทักษะการสื่อสาร           ความสามารถในการอธิบายผลการวัดและประเมินผล: อาจารย์ใหม่ควรมีทักษะการอธิบายผลการวัดและประเมินผลให้นักเรียน ผู้ปกครอง และผู้บริหารเข้าใจ อธิบายผลการวัดและประเมินผลอย่างชัดเจน สื่อสารผลการวัดและประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ ความสามารถในการสื่อสารผลการวัดและประเมินผล: อาจารย์ใหม่ควรมีทักษะการสื่อสารผลการวัดและประเมินผล เพื่อใช้เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ นำเสนอผลการวัดและประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ผลการวัดและประเมินผลเพื่อปรับปรุงการสอน 4. กระบวนการ           4.1 วิธีการและเทคนิคการสอนที่หลากหลาย ประกอบด้วย การบรรยาย: นำเสนอเนื้อหาทฤษฎีและแนวทางการวัดและประเมินผล การอภิปราย: แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์เกี่ยวกับการวัดและประเมินผล การศึกษากรณีตัวอย่าง: วิเคราะห์กรณีตัวอย่างการวัดและประเมินผลในสถานการณ์จริง การฝึกปฏิบัติ: ฝึกฝนการออกแบบและใช้เครื่องมือวัดและประเมินผล           4.2 ระยะเวลา โดยกำหนดระยะเวลาในการฝึกอบรมที่เพียงพอสำหรับการเรียนรู้เนื้อหา ฝึกฝนทักษะ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์           4.3 บรรยากาศ บรรยากาศการอบรมที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการคิดวิเคราะห์ 5. ผลลัพธ์           การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม อาจารย์ใหม่สามารถออกแบบและใช้เครื่องมือวัดและประเมินผลได้อย่างเหมาะสม สามารถวิเคราะห์ข้อมูลและตีความผลลัพธ์การวัดและประเมินผลได้อย่างถูกต้อง และสามารถนำผลการวัดและประเมินผลไปพัฒนาการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาความรู้ ทักษะ และทัศนคติ  อาจารย์ใหม่มีทักษะการวัดและประเมินผลที่ทันสมัยและตรงกับความต้องการของผู้เรียน อาจารย์ใหม่มีทัศนคติที่ดีต่อการวัดและประเมินผล มองเห็นความสำคัญของการวัดและประเมินผลต่อการพัฒนาการเรียนการสอน ผลลัพธ์ต่อองค์กร คุณภาพการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยดีขึ้น ผู้เรียนได้รับการวัดและประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม มหาวิทยาลัยมีระบบการวัดและประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ  6. ข้อมูลย้อนกลับ           การประเมินผลการอบรม เก็บรวบรวมข้อมูลย้อนกลับจากผู้เข้ารับการอบรมเกี่ยวกับเนื้อหา วิทยากร สื่อการสอน กระบวนการ และผลลัพธ์ การติดตามผล ติดตามผลการนำความรู้และทักษะไปใช้จริงของอาจารย์ใหม่ เก็บรวบรวมข้อมูลย้อนกลับจากนักศึกษาเกี่ยวกับการวัดและประเมินผล 7. สิ่งแวดล้อมภายนอก           สภาพการแข่งขัน มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องพัฒนาทักษะการวัดและประเมินผลของอาจารย์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สภาพขององค์กรวัฒนธรรมขององค์การ วัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนการเรียนรู้และการพัฒนา ส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการอบรม           การจัดอบรมอาจารย์ใหม่ด้านการวัดและประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ทั้งปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผลลัพธ์ ข้อมูลย้อนกลับ และสิ่งแวดล้อมภายนอก การออกแบบและจัดการอบรมอย่างรอบคอบ จะช่วยพัฒนาทักษะการวัดและประเมินผลของอาจารย์ใหม่ ส่งผลดีต่อคุณภาพการเรียนการสอนและ อีกทั้งส่งผลดีต่อภาพรวมของมหาวิทยาลัย ประเภทความรู้และที่มาความรู้ ความรู้แบบชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) : ความรู้จากคลังความรู้ของเว็บไซต์ระบบการจัดการความรู้ KM Rangsit University (http://lc.rsu.ac.th/km/Knowledgebase)เจ้าของความรู้/สังกัด  ดร.ชิดชไม วิสุตกุล และ ดร.พิบูลย์ ตัญญบุตร สังกัด  วิทยาลัยครูสุริยเทพ อื่น ๆ (โปรดระบุ)  วิทยากรรับเชิญ ศ.ดร.จินตวีร์ คล้ายสังข์ ความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge) : เจ้าของความรู้/สังกัด ดร.ชิดชไม วิสุตกุล และ ดร.พิบูลย์ ตัญญบุตร สังกัด  วิทยาลัยครูสุริยเทพ วิธีการดำเนินการ สำนักงานพัฒนาบุคคล มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับ วิทยาลัยครูสุริยเทพ โดยหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน จัดอบรมหลักสูตร “ศาสตร์การสอนและการเรียนรู้” ให้กับอาจารย์ใหม่ที่มีอายุงาน 1-5 ปี  ได้กำหนดกรอบเวลาไว้ภายในปีการศึกษา 2566 มีการดำเนินการดังนี้ กำหนดวิทยากรและหัวข้อของหลักสูตรให้ครอบคลุมสมรรถนะด้านความเป็นอาจารย์ โดยคำนึงถึงความสอดคล้องของกลุ่มเป้าหมาย โดยกำหนดกรอบเนื้อหาทั้งหมด 5 หัวข้อ ได้แก่ (1) ทฤษฎีการเรียนรู้ (2) จิตวิทยาความเป็นครู และจรรยาบรรณวิชาชีพครู (3) การจัดการเรียนรู้ (4) การวัดและประเมินผล และ (5) เทคโนโลยีการจัดการเรียนรู้ กำหนดลำดับของหัวข้อให้เป็นไปตามกรอบเนื้อหา “ศาสตร์การสอนและการเรียนรู้” โดยหัวข้อที่ 1 ทฤษฎีการเรียนรู้ หัวข้อที่ 2 จิตวิทยาความเป็นครู และจรรยาบรรณวิชาชีพครู มีกำหนดการจัดอบรมในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2566 และหัวข้อที่ 3 การจัดการเรียนรู้ และหัวข้อที่ 4 การวัดและประเมินผล มีกำหนดการจัดอบรมในช่วงพักระหว่างเทอม (Term Break) วันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2567 (สำหรับหัวข้อที่ 5 อยู่ในกระบวนการกำหนดวิทยากร) สำนักงานพัฒนาบุคคลประสานกับสำนักงานฝ่ายบุคคล เพื่อขอรายชื่ออาจารย์ใหม่ที่มีอายุงาน 1-5 ปี ของทุกวิทยาลัย/คณะวิชาทั้งมหาวิทยาลัย แล้วส่งบันทึกข้อความไปยังวิทยาลัย/คณะวิชาต่างๆ เพื่อทราบและดำเนินการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ กำหนดจำนวนผู้อบรมแบ่งเป็นหัวข้อละ 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ซึ่งในแต่ละรุ่นมีผู้เข้าอบรมประมาณ 30-40 คน และจัดเตรียมห้องที่ใช้ในการอบรม ทำ QR code ไฟล์ที่ใช้ในการอบรมในแต่ละหัวข้อ แล้วส่งอีเมล์แจ้งไปยังผู้เข้าร่วมอบรม ดำเนินการอบรมตามวันและเวลาที่กำหนด ประเมินผลการดำเนินงานหลังเสร็จสิ้นการอบรม สรุปประเมินผลโครงการและรับข้อเสนอแนะในการปรับปรุง 2. Prototype testing in an operational environment – DO ผลการดำเนินการ การนำไปใช้ หรือการลงมือปฏิบัติจริง อุปสรรคหรือปัญหาในการทำงาน หัวข้อที่ 3 การจัดการเรียนรู้           จัดอบรมวันที่ 28-29 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้อง 1-705 ชั้น 7 อาคารอาทิตย์ อุไรรัตน์ วิทยากรคือ อ.ดร.ชิดชไม วิสุตกุล และวิทยากรรับเชิญคือ ศ.ดร.จินตวีร์ คล้ายสังข์ โดยแบ่งเป็น 2 รุ่น คือ รุ่นที่ 1 จัดอบรมวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 9.00-16.00 น. รุ่นที่ 2 จัดอบรมวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 9.00-16.00 น. มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้และทักษะในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ผู้เข้าอบรมสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาตนเองและผู้อื่นให้เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประกอบด้วยเนื้อหา ได้แก่ หลักการและทฤษฎีการจัดการเรียนรู้ การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง การจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่สนุกสนาน การใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งประโยชน์ที่ผู้เข้าอบรมจะได้รับ คือ มีความรู้และทักษะในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ สามารถออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ สามารถเลือกใช้วิธีการสอนและกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย สามารถสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่สนุกสนาน สามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หัวข้อที่ 4 การวัดและประเมินผล           จัดอบรมวันที่ 27 กุมภาพันธ์ และ 1 มีนาคม 2567 ณ ห้อง 1-702 ชั้น 7 อาคารอาทิตย์ อุไรรัตน์ วิทยากรคือ อ.ดร.พิบูลย์ ตัญญบุตร  โดยแบ่งเป็น 2 รุ่น คือ รุ่นที่ 1 จัดอบรมวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 9.00-16.00 น. รุ่นที่ 2 จัดอบรมวันที่ 1 มีนาคม 2567 เวลา 9.00-16.00 น. มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้และทักษะในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาตนเองและผู้อื่นให้เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประกอบด้วยเนื้อหา ได้แก่ หลักการและทฤษฎีการวัดและประเมินผล การประเมินผลรูปแบบต่างๆ การให้ข้อเสนอแนะแก่ผู้เรียน การใช้ผลการประเมินเพื่อปรับปรุงการเรียนรู้ การประเมินผลการเรียนรู้ตามมาตรฐาน ซึ่งประโยชน์ที่ผู้เข้าอบรมจะได้รับ คือ มีความรู้และทักษะในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน สามารถออกแบบการประเมินผลที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้ สามารถให้ข้อเสนอแนะแก่ผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถใช้ผลการประเมินเพื่อปรับปรุงการเรียนรู้ของผู้เรียน สามารถประเมินผลการเรียนรู้ตามมาตรฐาน 3. Proven through successful mission operation, Objectives and Key Results for Knowledge Management – CHECK การตรวจสอบผลการดำเนินการ การนำเสนอประสบการณ์การนำไปใช้ สรุปและอภิปรายผล บทสรุปความรู้หรือความรู้ที่ค้นพบใหม่ โครงการจัดอบรมหลักสูตร “ศาสตร์การสอนและการเรียนรู้” หัวข้อที่ 3 การจัดการเรียนรู้ จัดขึ้นในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 และ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้อง 1-705 ชั้น 7 อาคารอาทิตย์ อุไรรัตน์ มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 61 คน และมีผู้ตอบแบบประเมินผลจำนวน 52 คน คิดเป็นร้อยละ 85.25 จากผลการประเมิน ผู้เข้าร่วมการอบรมมีความพึงพอใจต่อโครงการโดยรวมในระดับมากที่สุด มีรายละเอียดดังนี้  เนื้อหาการอบรมตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะทางการสอน (4.85) เนื้อหาการบรรยายมีความเหมาะสม (4.77) ระยะเวลาในการอบรมเหมาะสม (4.63) ได้รับความรู้ เรื่องทฤษฎีการจัดการเรียนการสอน

ศาสตร์การสอนและการเรียนรู้ : เสริมพลังอาจารย์ใหม่ สู่การจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ Read More »

การเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้

รางวัลดีเด่น ปีการศึกษา 2565 ยุทธศาสตร์ที่ 1 : KR 1.2.1, KR 1.2.3, KR 1.4.3, KR 1.4.5 การเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้วิชาชีพบัญชียุคดิจิทัลของนักศึกษาหลักสูตรบัญชีบัณฑิตด้วยการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning VDO Credit : สำนักงาน Wisdom Media ผู้จัดทำโครงการ​ อ.วัฒนี รัมมะพ้อ คณะบัญชี ​ หลักการและเหตุผล/ความสำคัญ/ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้​          การจัดกระบวนการเรียนรู้เชิงรุก (Active learning) ในรายวิชาต่างๆ เพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้วิชาชีพบัญชีในยุคดิจิทัลเทคโนโลยีและศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้องของนักศึกษา ทำให้นักศึกษาเกิดผลลัพธ์การเรียนรู้และสามารถสะท้อนคิดแนวทางการประยุกต์ความรู้ในสถานการณ์เสมือนจริงก่อนที่จะไปปฏิบัติงานจริงในวิชาสหกิจศึกษา หรือฝึกประสบการณ์วิชาชีพบัญชี การพัฒนากระบวนการเรียนรู้มีความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้ ดังนี้1. เทคนิคการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้เรียน ในการใช้กระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีโดยตรงผ่านกิจกรรมที่บูรณาการเข้าไปในการสอนรายวิชาต่างๆ ด้วยการชี้แจงถึงประโยชน์ที่ได้รับนอกเหนือจากประสบการณ์วิชาชีพ เช่น นักศึกษาจะได้รับรางวัลหากมีผลงานโดดเด่น การให้คะแนนที่ท้าทายและรวมคำนวณเป็นคะแนนการวัดและประเมินผลรายวิชา การได้รับวุฒิบัตรจากการเข้าร่วมเพื่อเป็น Profile ในการสมัครงานในโครงการสหกิจศึกษา การให้ข้อมูลป้อนกลับเพื่อให้นักศึกษาใช้ในการพัฒนาศักยภาพตนเองต่อไป รวมทั้งการทำ PLC หลังกิจกรรม2. การออกแบบการสอนแบบบูรณาการกิจกรรมอย่างสนุก ที่มุ่งสู่ผลลัพธ์การเรียนรู้ เช่น รายวิชา ACC332 ผู้ประกอบการสำนักงานบัญชี มีผลลัพธ์ที่คาดหวังว่านักศึกษามีความรู้ต่อไปนี้เมื่อเรียนวิชานี้ การจัดตั้งสำนักงานบัญชี ประเภทของบริการที่ตลาดต้องการจากสำนักงานบัญชี การวางแผนธุรกิจ คุณภาพการบริการ การบริหารทรัพยากรบุคคล กฎหมายที่เกี่ยวข้อง การเจรจาต่อรอง เป็นต้นดังนั้นการออกแบบกิจกรรมต้องสร้างสภาพแวดล้อมและสถานการณ์เสมือนจริงให้กับนักศึกษาสวมบทบาทเป็นผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ได้ขบคิดแนวทางการเจรจาต่อรองและการนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาทางบัญชีของธุรกิจออนไลน์ เพื่อจัดเป็นกระบวนเรียนรู้การนำความรู้ไปใช้ประโยชน์แก่นักศึกษา3. รูปแบบกิจกรรมที่ใช้ จะต้องมีบรรยากาศสนุกคล้ายสอดแทรกเกมส์แข่งขัน เพื่อสร้างแรงกดดันให้กับผู้เล่นเล็กน้อย โดยใช้เกณฑ์เวลา การมีส่วนร่วมในการทำงาน และคุณภาพผลงานกลุ่ม โดยจัดให้มีการประเมินความรู้ที่ได้ด้วยตนเอง และแบ่งปันระหว่างกลุ่มนักศึกษาซึ่งถูกแบ่งเป็นกลุ่มย่อย4. อาจารย์ผู้รับผิดชอบรายวิชาจะต้องวางแผนการดำเนินกิจกรรมร่วมกับผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี โดยเริ่มตั้งแต่การทำแผนการจัดการเรียนรู้ กลยุทธ์การสอนและการประเมินผลการเรียนรู้ และการเตรียมอุปกรณ์สถานที่ กำหนดการ เพื่อให้การดำเนินการเรียนการสอนเป็นไปตามแผน และสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินการ ประเภทความรู้และที่มาความรู้ ความรู้แบบชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) : ความรู้จากคลังความรู้ของเว็บไซต์ระบบการจัดการความรู้ KM Rangsit University (https://hrd.rsu.ac.th/km/)ความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge) : เจ้าของความรู้, สมาคมสำนักงานบัญชีไทย ชมรมสำนักงานบัญชีจังหวัดปทุมธานี บริษัทพีพียูเอ็น อินเทลลิเจนท์ จำกัด และบริษัท ฟินันเซียไซรัส จำกัด (มหาชน) วิธีการดำเนินการ 1. วิธีการดำเนินการ   หลักสูตรได้วางแผนการปรับปรุงกระบวนการเรียนรู้ และการพัฒนาทักษะการเรียนรู้วิชาชีพบัญชียุคดิจิทัลไว้ในแผนปฎิบัติการประจำปีการศึกษา 2565 โดยมุ่งให้การดำเนินงานหลักสูตรบรรลุเป้าหมายผลลัพธ์ (KRs) ตามวัตถุประสงค์ของแผนยุทธศาสตร์ ตามที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น นอกจากนี้หลักสูตรมีความคาดหวังที่จะให้นักศึกษามีความพร้อมในการทำงานมากที่สุดก่อนจะเข้าสู่การเรียนรู้แบบสหกิจศึกษา และสร้างความเชื่อมั่นให้กับองค์กรภายนอกที่ให้การฝึกหัดงานและร่วมมือกับคณะในสหกิจศึกษา ซึ่งจะทำให้ผลการปฏิบัติงานของนักศึกษาออกมามีคุณภาพในระดับที่องค์กรดังกล่าวยอมรับได้ และมีความตั้งใจที่จะรับนักศึกษาเข้าทำงานหลังเสร็จสิ้นสหกิจศึกษา การดำเนินงานมีขั้นตอนพอสรุปได้ดังนี้1. พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการกับองค์กรวิชาชีพบัญชี ซึ่งในปีการศึกษา 2565 ได้ทำความร่วมมือกับสมาคมสำนักงานบัญชีไทย ชมรมสำนักงานบัญชีจังหวัดปทุมธานี บริษัท พี พี ยูเอ็นอินเทลลิเจนท์ จำกัด และบริษัท ฟินันเซียไซรัส จำกัด (มหาชน) โดยทำความเข้าใจในข้อตกลงเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะเทคนิคทางวิชาชีพบัญชีให้กับนักศึกษา2. คณบดี ได้จัดประชุมผู้บริหารขององค์กรวิชาชีพภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการข้างต้น เพื่อทำความเข้าใจเป้าหมายผลลัพธ์การเรียนรู้ และหารือแนวทางการสอนที่จะทำให้นักศึกษาการเกิดการเรียนรู้ทักษะเทคนิคทางวิชาชีพ ทั้ง 5 ด้าน ตามมาตรฐานการศึกษาระหว่างประเทศ สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี (IES) กำหนดโดยสภาวิชาชีพบัญชี ได้แก่ คุณธรรมและจริยธรรมทางวิชาชีพบัญชี ความรู้ทางบัญชีและศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้อง การประยุกต์ความรู้ในการปฎิบัติและสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงทางวิชาชีพบัญชี ความรับผิดชอบในงานและการทำงานเป็นทีม การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และทำอย่างไรให้นักศึกษามีความพร้อมมากที่สุดก่อนการปฏิบัติงานจริงในสหกิจศึกษา (จัดประชุมรวม 1 ครั้ง และแยกเป็นคู่ระหว่างหลักสูตรกับผู้บริหารองค์กรวิชาชีพ 2 ครั้ง) ซึ่งได้ข้อสรุปว่าต้องใช้กรณีศึกษาหรือโจทย์ที่พัฒนาจากการประสบการณ์จริง และการสร้างสภาพแวดล้อมในชั้นเรียนที่เอื้อต่อการใช้กระบวนการเรียนรู้โดยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมให้มากที่สุด นอกจากนี้ทางหลักสูตรโดยหัวหน้าหลักสูตร ได้ประสานขอความอนุเคราะห์จากคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา ในการจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะผู้นำและการทำงานเป็นทีม เพื่อบูรณาเข้าไปในรายวิชาที่กำหนดด้วย3. คณะกรรมการหลักสูตร และคณบดี ได้ประชุมกำหนดรายวิชาที่เหมาะสมที่จะจัดให้มีการเรียนการสอนแบบเชิงรุก (Active Learning) ที่มีการบูรณาการกิจกรรมการเรียนรู้วิชาชีพบัญชียุคดิจิทัลเข้าไปในรายวิชา โดยอาศัยความร่วมมือทางวิชาการที่มีกับองค์กรวิชาชีพบัญชีดังกล่าวทั้งหมด สรุปได้ดังนี้ วิชา ACC357 การอำนวยการทางการเงิน วิชา ACC327 การบัญชีและภาษีอากรสำหรับธุรกิจ และวิชา ACC332 ผู้ประกอบการสำนักงานบัญชี และได้รับความร่วมมือจากคณะกายภาพบำบัดในวิชา ACC331 การพัฒนาทักษะเทคนิควิชาชีพบัญชี โดยเน้น Soft Skills ตามผลลัพธ์การเรียนรู้รายวิชา ซึ่งก่อนหน้าปีการศึกษานี้ทางหลักสูตรได้พยายามขับเคลื่อนนโยบายการจัดการเรียนการสอนแบบ Active learning โดยลดการบรรยายและเพิ่มการเรียนรู้ โดยใช้การถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี หรือ Practitioner เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 ใช้เทคนิคการทลายกำแพงวิชาด้วยการทำ Integrated Courses วิชาภาษีอากร 2 กับวิชาการใช้โปรแกรมสำเร็จทางบัญชีด้วยการใช้กรณีศึกษาที่ร่วมกันพัฒนาขึ้นระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีกับอาจารย์ผู้รับผิดชอบรายวิชา ต่อมาในปีการศึกษา 2563 ได้ใช้ผลการประเมินจากการทำ Integrated Courses ในการปรับปรุงหลักสูตรโดยพัฒนารายวิชาใหม่ ได้แก่ วิชา ACC327 การบัญชีและภาษีอากรสำหรับธุรกิจ โดยมุ่งให้นักศึกษารู้และเข้าใจการทำบัญชีธุรกิจด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปและการปฏิบัติทางภาษีถูกต้อง นอกจากนี้ใช้กิจกรรมกลุ่มย่อยในการสอนวิชา ACC332 ผู้ประกอบการสำนักงานบัญชี เพื่อสร้างประสบการณ์การเป็นผู้ประกอบการ และวิชา ACC457 การอำนวยการทางการเงิน โดยนำ Fintech ในรูปของแอพพลิเคชั่นทางการเงินที่นำมาใช้ในตัดสินใจลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ด้วยความร่วมมือทางวิชาที่ทำกับบริษัท ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ในปัจจุบันโปรแกรมสำเร็จรูปที่นำมาใช้ในการสอนมีทั้ง ERP และระบบ รวมทั้งการพัฒนา Soft Skills ในรายวิชา ACC331 การพัฒนาทักษะเทคนิควิชาชีพบัญชี4. การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ จะดำเนินการร่วมกันระหว่างคณบดี อาจารย์ผู้รับผิดชอบรายวิชา และผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีที่ได้รับมอบหมายจากองค์กรวิชาชีพบัญชีที่ได้ทำความร่วมมือทางวิชาการกับคณะบัญชี โดยจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ (มคอ. 3) ของรายวิชา ACC357 การอำนวยการทางการเงิน วิชา ACC327 การบัญชีและภาษีอากรสำหรับธุรกิจ วิชา ACC332 ผู้ประกอบการสำนักงานบัญชี และACC331 การพัฒนาทักษะเทคนิควิชาชีพบัญชี ประกอบด้วยเนื้อหาสาระรายวิชาและกิจกรรมการเรียนรู้ที่มุ่งให้นักศึกษามีผลลัพธ์การเรียนรู้ตามที่หลักสูตรกำหนด รวมทั้งวิธีการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ข้อสรุปอื่นในการจัดทำแผนการเรียนรู้ของนักศึกษาคือ บทบาทและความรับผิดชอบของทีมสอน (อาจารย์ผู้รับผิดชอบรายวิชากับผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี และทีมงานจากคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา) แต่ละรายวิชา ซึ่งประชุมกันทั้งหมดเฉลี่ย 3 ครั้งต่อรายวิชา5. ผู้รับผิดชอบรายวิชาจะเป็นผู้ประสานงานกับทีมสอน และอำนวยความสะดวกในการจัดกิจกรรม โดยมีอาจารย์ผู้ช่วยปรมินทร์ งามระเบียบ และอาจารย์ประจำหลักสูตรที่ได้รับมอบหมายให้มีส่วนร่วมในดำเนินงานกิจกรรมการเรียนรู้ และใช้งบประมาณโครงการพัฒนาในแผนปฏิบัติการ ประจำปี 2565 ซึ่งคณะได้วางแผนไว้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 2. ผลการดำเนินการ การนำไปใช้ หรือการลงมือปฏิบัติจริง อุปสรรคหรือปัญหาในการทำงาน        ผลการดำเนินงานแผนการจัดการเรียนรู้รายวิชาต่างๆ ที่กล่าวข้างต้น2.1 วิชา ACC357 การอำนวยการทางการเงิน (ภาค2/2565) 3 (3-0-6) หน่วยกิต จำนวนนักศึกษา 74 คน แบ่งการสอน สำหรับภาคทฤษฎีเกี่ยวกับการบริหารเงินและการลงทุน และการนำไปใช้ในการตัดสินใจ รวม 30 ชั่วโมง โดยที่ปรึกษาทางธุรกิจอิสระคือท่านอาจารย์เหรียญชัย นำชัยศรีค้า และ อาจารย์วัฒนี รัมมะพ้อ เป็นผู้รับผิดชอบรายวิชา และ อีก 15 ชั่วโมง สำหรับฝึกการใช้แอพพลิเคชั่น Finansia HERO Version ใหม่ล่าสุด (เป็นโปรแกรมช่วยนักลงทุนในหลักทรัพย์) และการสร้างแรงบันดาลใจการทำ Personal Financial Management โดยที่ปรึกษาทางการเงินจากบริษัท ฟินันเซียไซรัส จำกัด (มหาชน) 2 ท่าน คือ คุณอภิสิทธิ์ ทรัพย์ทวีธนกิจ และคุณยุทธพล ศิริพานิชวัฒนา จากนั้นให้เวลานักศึกษาในการทดลอง Trade หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ 20 วัน โดยใช้ข้อมูลจริงในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเงินอีเล็กทรอนิกส์ ที่นักศึกษาสามารถทำการซื้อขายหุ้นเพื่อทำกำไรได้จริงในตลาดทุนเสมือนในวงเงินจำกัด 10 ล้านบาท และใช้ผลกำไรจากการ Trade เป็นตัววัดผลการเรียนรู้ในด้านทักษะปัญญา ความรับผิดชอบในงาน การติดตามผลงานของตนเอง และทักษะการคำนวณและการใช้เทคโนโลยี โดยจัดให้แต่ละคนที่มีผลกำไรดีมาถ่ายทอดการวางแผนการลงทุนให้กับเพื่อนๆ ในชั้นเรียน ทางบริษัทจัดรางวัลมามอบให้5 รางวัล วิชานี้จะประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ด้านที่ 2 และ 3 จากการสอบ 50% และผลการเรียนรู้ด้านอื่นที่เหลือ 50%2.2 วิชา ACC332 ผู้ประกอบการสำนักงานบัญชี (ภาค 2/2565) 3 (3-0-6) หน่วยกิต จำนวนนักศึกษา61 คน สอนโดยคณะกรรมการบริหารสมาคม สำนักงานบัญชีไทย ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสำนักงานบัญชีคุณภาพจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และอาจารย์วัฒนี รัมมะพ้อ เป็นผู้รับผิดชอบรายวิชา สอนโดยใช้กิจกรรมการบ่มเพาะการเป็นผู้ประกอบการสำนักงานบัญชี 45 ชั่วโมง บวก 3 ชั่วโมง รวม 8 วันเริ่มตั้งแต่ทำความรู้จักกับสำนักงานบัญชี การจัดตั้งสำนักงาน การบริการทางวิชาชีพ การวางแผนธุรกิจ การเจรจาต่อรอง การบริการบุคลากร และคุณภาพการบริการทางวิชาชีพบัญชี มีการวัดผลการเรียนรู้ของแต่ละหัวข้อสอนที่กำหนดในแผนการจัดการเรียนรู้ทุกครั้ง รวม 100 คะแนนด้วยวิธีการหลากหลาย เช่น การทดสอบความรู้ การทำงานกลุ่มย่อยและการนำเสนอข้อสรุปของกลุ่ม การมีส่วนร่วมในกิจกรรมระหว่างเรียน เป็นต้น และคุณภาพผลงานคือแผนธุรกิจสำนักงานบัญชี ซึ่งทางหลักสูตรจัดให้มีการนำเสนอทุกกลุ่ม ใน 1 วัน และทางสมาคมสำนักงานบัญชีไทย จัดกรรมการสมาคมฯ มาเป็นกรรมการตัดสิน มอบรางวัลให้กับกลุ่มที่มีผลงานดีที่สุด2.3 วิชา ACC327 การบัญชีและภาษีอากรสำหรับธุรกิจ (ภาค 1/2565) 5 (3-4-8) หน่วยกิต จำนวนนักศึกษา 62 คน ประยุกต์ใช้กรณีศึกษาที่พัฒนาร่วมกันระหว่างอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรกับผู้สอบบัญชี ซึ่งเป็นกรรมการในสมาคมสำนักงานบัญชีไทย และสมาคมผู้สอบบัญชีภาษีอากร จึงแบ่งเนื้อหาสาระรายวิชาเป็นการสอนและฝึกทักษะการทำบัญชีธุรกิจแบบครบวงจรจนถึงการส่งงบการเงินเพื่อยื่นภาษีออนไลน์ให้กรมสรรพากร ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปทางการบัญชีทั้งระบบคลาวด์ และระบบ ERP ในการจัดทำบัญชีใช้เวลา รวม 60 ชั่วโมง ผู้สอน คือ อ.วัฒนี รัมมะพ้อ อ.ผู้ช่วยสอน ปรมินทร์ งามระเบียบและสอนเนื้อหาสาระสำคัญการปฏิบัติทางภาษีธุรกิจถูกต้อง ใช้เวลา 30 ชั่วโมง โดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต จากสมาคมฯ และ อีก 12 ชั่วโมงในการใช้กิจกรรมฐานปัญหาภาษีและบัญชีเคลื่อนที่ (การเตรียมพร้อมนักศึกษา 3 ชั่วโมง การเข้าฐานแรลลี่ 7 ชั่วโมง และ PLC 2 ชั่วโมง) โดยผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีจากชมรมสำนักงานบัญชีจังหวัดปทุมธานี คณบดี และผู้รับผิดชอบรายวิชา ได้ร่วมกันออกแบบและดำเนินกิจกรรมฐานปัญหาภาษีและบัญชีธุรกิจแบบเคลื่อนที่ บูรณาการเข้ามาในแผนการเรียนรู้รายวิชา มีวัตถุประสงค์ที่จะให้นักศึกษาเรียนรู้ปัญหาในทางปฏิบัติทางบัญชีและภาษีอากรจากผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี โดยแบ่งเป็น 7 ฐาน แบ่งเป็นฐานภาษีอากรทางธุรกิจ 6 ด้าน และฐานภาษีรวม 1 ฐาน มีการให้คะแนนในด้านความรู้ที่นำมาใช้ถูกต้อง ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหาทางภาษีและทางบัญชี การทำงานร่วมกันเป็นทีม การนำเสนอเชิงโต้ตอบกับวิทยากรประจำฐาน ทางชมรมได้ส่งผู้สอบบัญชี และนักบัญชีประจำฐาน ๆ ละ 2 คน บางฐานจะมีอาจารย์วัฒนี และทางชมรมได้จัดผู้ดำเนินรายการ และอาจารย์ผู้ช่วยสอนทำหน้าที่อำนวยการการดำเนินกิจกรรมและจับเวลาที่ใช้ในแต่ละฐาน รวบรวมคะแนนจากฐานต่างๆ โดยผ่าน Google Sheet การดำเนินงานจบลงด้วยการทำ PLC และมอบรางวัลให้กับทุกทีม รวม 6 ทีม ตามลำดับคะแนน2.4 วิชา ACC331 การพัฒนาทักษะเทคนิควิชาชีพบัญชี (ภาค 1/2565) 3 (2-2-5) หน่วยกิต จำนวนนักศึกษา 52 คน สาระรายวิชาจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนแรก เป็นทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่นPOWER BI การใช้ภาษาวิชัวร์เบสิก การเขียนโค้ชคำสั่งใน Excel เป็นต้น โดยได้รับความอนุเคราะห์จากอาจารย์ณัฐธงชัย ตรีทวีวงศ์กุล ใช้เวลา 48 ชั่วโมงในห้องปฏิบัติการสารสนเทศทางการบัญชีของคณะบัญชี กับ อีกส่วนเป็น Soft Skills เน้นการพัฒนาภาวะผู้นำกับการทำงานเป็นทีมให้เป็นผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ โดยได้รับความอนุเคราะห์จากทีมงานคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา 6 ท่านด้วยกัน โดยมีอาจารย์พิมลวรรณ ตรีพัฒนสิทธิ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยศวินกาญจน์ กอบกาญจนพฤติ และอาจารย์ผู้ช่วยปรมินทร์ งามระเบียบ เป็นผู้ร่วมดำเนินกิจกรรมกับทางทีมงาน การวัดผลแบ่งเป็นการสอบวัดผลความรู้ ทักษะปัญญา และทักษะทางเทคโนโลยีดิจิทัล 80% และทักษะการทำงานเป็นทีม ภาวะผู้นำ 20% 3. การตรวจสอบผลการดำเนินการ การนำเสนอประสบการณ์นำไปใช้ สรุปและอภิปรายผล บทสรุปความรู้หรือความรู้ที่ค้นพบใหม่        ผลการดำเนินงาน ณ ปัจจุบัน เป็นผลการดำเนินงานในรายวิชา ACC327 การบัญชีและภาษีอากรสำหรับธุรกิจ  ACC331 การพัฒนาทักษะเทคนิควิชาชีพบัญชี ทั้งหมด 2 วิชาที่ดำเนินการสอนแล้วในภาค 1/2565  (รายงานไว้แล้วในมคอ. 5) นักศึกษามีผลสัมฤทธิ์ตามมาตรฐานผลการเรียนรู้รายวิชาดังนี้ 1. ผลลัพธ์การเรียนรู้ของรายวิชา ACC327 การบัญชีและภาษีอากรสำหรับธุรกิจ  การเรียนรู้ด้าน : คุณธรรม จริยธรรม จากการสังเกตและติดตามพฤติกรรมของนักศึกษา  พบว่า นักศึกษาทุกคนทำได้ตามข้อกำหนดได้ตลอดภาคการศึกษา มีบางข้อน้อยกว่า 100% และมีเหตุผลแจ้งผู้สอน  ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินผลสัมฤทธิ์ถือว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดการเรียนรู้ด้าน : ความรู้ และ ทักษะทางปัญญา  สรุปได้ว่า นักศึกษาสามารถทำข้อสอบข้อเขียนได้คะแนนเกินครึ่งส่วนใหญ่  (90.16%) และการตอบคำถามหรือแสดงความเห็นในการอภิปรายกลุ่มได้  และโครงงานที่นักศึกษาได้รับมอบหมาย อยู่ในระดับดีขึ้นไปทุกกลุ่ม  ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินผลสัมฤทธิ์ถือว่าได้ตามมาตรฐานที่กำหนดการเรียนรู้ด้าน : ทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข  การสื่อสาร  และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ      สรุปได้ว่า จากการประเมินคุณภาพจากผลงานของนักศึกษา และการนำเสนอทางวาจา ให้คะแนน  (≥ 80%)  ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินผลสัมฤทธิ์ถือว่าสูงกว่ามาตรฐานที่กำหนด2. ผลลัพธ์การเรียนรู้ของรายวิชา ACC331 การพัฒนาทักษะเทคนิควิชาชีพบัญชีการเรียนรู้ด้าน : คุณธรรม จริยธรรม  นักศึกษาส่วนใหญ่นักศึกษาปฏิบัติตามข้อตกลงในชั้นเรียน มีการตอบคำถามและแสดงความคิดเห็น ส่งงานตรงต่อเวลาการเรียนรู้ด้าน : ความรู้ และ ทักษะทางปัญญา  นักศึกษาส่วนใหญ่เข้าทดสอบย่อยทั้ง 2 ครั้ง และสอบผ่านการทดสอบ  ในส่วนของรายงานและผลการเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาทักษะการสื่อสารการเจรจาต่อรอง และภาวะผู้นำของนักศึกษามีคุณภาพเป็นไปตามผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวังของรายวิชาการเรียนรู้ด้าน : ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ  ดูจากรายงานและผลการเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาทักษะการสื่อสารการเจรจาต่อรอง และภาวะผู้นำของนักศึกษามีคุณภาพเป็นไปตามผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวังของรายวิชาการเรียนรู้ด้าน : ทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข  การสื่อสาร  และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ดูจากรายงานและผลการเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาทักษะการสื่อสารการเจรจาต่อรอง และภาวะผู้นำของนักศึกษามีคุณภาพเป็นไปตามผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวังของรายวิชา       การสัมภาษณ์นักศึกษาเพิ่มเติม จากการเรียนการสอนในรายวิชา รายวิชา ACC327 การบัญชีและภาษีอากรสำหรับธุรกิจ  จากการที่รายวิชาจัดกิจกรรมในรายวิชา นักศึกษามีความพึงพอใจระดับดีมาก (4.71) และได้แสดงทัศนคติและความพึงพอใจโดยรวม ดังนี้1) เป็นกิจกรรมที่ดีมากค่ะ เพราะเป็นการทดสอบความเข้าใจของเราที่เรียนมา+กับประสบการณ์ในการทำงานของพี่ๆที่มาถ่ายทอดให้รับรู้และเข้าใจเพิ่มขึ้นค่ะ 2) ได้มีการทบทวนเรื่องที่ผ่านไปแล้ว ได้กลับมาเรียนรู้อีกรอบ 3) ชอบกิจกรรมนี้มาก ทำให้ปลดล็อคในสิ่งที่สงสัยที่ไม่กล้าถามในคลาส 4) ขอบคุณอาจารย์ประจำวิชาที่เล็งเห็นประโยชน์ และจัดกิจกรรมดี ๆ แบบนี้ ให้กับนักศึกษา ดีใจและพึงพอใจในกิจกรรมมากมาก เป็นประโยชน์และความรู้ ได้ความรู้ใหม่ ๆ ได้ทวนความรู้เดิม พี่ ๆ ที่มาใจดีและมีใจที่อยากจะแบ่งความรู้สู่น้องๆจริงๆ ขอบคุณมากๆค่ะ 5) อาจารย์และวิทยากรทุกท่าน อธิบายความรู้ใหม่ๆ อธิบายเรื่องภาษีได้เข้าใจง่ายมากๆค่ะ แล้วก็สนุกมากๆค่ะ ของรางวัลเยอะมากด้วยค่ะ ประทับใจ 6) ขอบคุณที่จัดกิจกรรมทำให้รู้อะไรเยอะมากขึ้นเลยครับ 7) ดีเยี่ยมครับ 8) สนุกมากคะ 9) เป็นโครงการที่ดีมากๆ ช่วยส่งเสริมความรู้นอกคลาสเรียนที่เพิ่มมากขึ้น, ชอบมาก, ได้ความรู้ดีมากค่ะ, ได้ความรู้ในการมาสอบเพิ่มค่ะ รายวิชา ACC331 การพัฒนาทักษะเทคนิควิชาชีพบัญชี จากการที่รายวิชาจัดกิจกรรมในรายวิชา นักศึกษามีความพึงพอใจระดับดีมาก (4.66) และได้ให้ข้อเสนอแนะดังนี้ 1) รู้สึกดีที่ได้มาทำกิจกรรมนี้ค่ะได้คุยกับเพื่อนๆ ในคณะมากขึ้น 2) สนุกและได้รับความรู้เยอะมากๆ ดีใจที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ๆ ด้วย         สำหรับรายวิชา ACC332 ผู้ประกอบการสำนักงานบัญชี และ ACC357 การอำนวยการทางการเงินอยู่ในระหว่างการดำเนินการสอนในภาค 2/2565  ยังไม่แล้วเสร็จ แต่คาดว่านักศึกษาจะมีผลลัพธ์การเรียนรู้ตามที่กำหนดไว้ 100%        นอกจากนี้ ทางหลักสูตรได้มอบหมายให้อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรทำการประเมินความคิดเห็นของนักศึกษาเกี่ยวกับความทันสมัย ความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้การทำกิจกรรมที่บูรณาการเข้าไปในการสอน ความพึงพอใจที่ได้เรียนรู้แบบนี้  ซึ่งได้ข้อสรุปดังนี้  1) อยากให้อาจารย์แนะนำรุ่นน้องให้เลือกเรียนวิชาผู้ประกอบการสำนักงานบัญชีมากขึ้นค่ะ เพราะส่วนตัวคิดว่าอาจารย์ทุกท่านที่มาสอนล้วนมีประสบการณ์ตรงและความชำนาญสูง สามารถนำประสบการณ์จากการทำงานจริง ๆ มาถ่ายทอดความรู้ให้นักศึกษาได้อย่างเข้าใจ และเทคนิคในการสอนดีมาก 2) ได้ปฏิบัติจริงทำให้เรียนสนุก  เห็นด้วยกับการเชิญอาจารย์ที่ทำงานโดยตรงจากการเป็นผู้ประกอบการสำนักงานบัญชีมาสอนค่ะ  3) ขอให้ทำการสอนที่ดีแบบนี้ต่อไปค่ะ  ดีแล้วค่ะ  คิดว่าหลักสูตรที่ได้ศึกษามาเป็นประโยชน์มาก สามารถนำไปต่อยอดในชีวิตจริงได้ทันที  4) เป็นการเรียนการสอนที่สนุกและได้รู้จักแอฟทำบัญชีมากขึ้น  อาจารย์สอนเข้าใจและสอนสนุกมากค่ะ   ข้อเสนอแนะในการดำเนินการในอนาคต หรือการดำเนินการเพื่อสามารถนำไปสู่การเป็น Good Practice          จากการทบทวนกระบวนการ และข้อสรุปความคิดเห็นของนักศึกษาที่มีต่อการจัดกิจกรรมบูรณาการกับการสอน ทางหลักสูตรนำมาใช้ประกอบการพิจารณาในการวางแผนการจัดการเรียนรู้เชิงรุกรายวิชาดังกล่าว รวมทั้งการขยายไปสู่รายวิชาอื่นๆ ในปีการศึกษา 2566 แบ่งเป็นด้านต่างๆ มีดังนี้ 1. ด้านงบประมาณ ทางหลักสูตรบัญชีบัณฑิตได้บรรจุลงในแผนประจำปี ในปีต่อไป เนื่องจากในปี 2565 ไม่ได้ตั้งงบประมาณในบางกิจกรรม แต่จำเป็นต้องใช้เงิน จึงต้องโยกงบประมาณ  ดังนั้นในปี 2566 จะต้องวางแผนกิจกรรมที่จะต้องใช้เงินงบประมาณจะต้องบรรจุลงในแผนปฏิบัติการโดยดูจำนวนเงินใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงจากปี 2565 เป็นเกณฑ์2. ด้านการจัดแผนการเรียนรู้รายวิชา ทางหลักสูตรบัญชีบัณฑิตพิจารณาผลการประเมินการสอนและประเมินการเข้าร่วมกิจกรรมของนักศึกษาจาก มคอ.5 และสรุปโครงการเพื่อนำมาวางแผนและปรับปรุงในการจัดทำมคอ.3 ปีต่อไป3. ด้านการปรับปรุงรูปแบบกิจกรรม ทางหลักสูตรบัญชีบัณฑิตพิจารณารูปแบบของกิจกรรมที่บรรจุลงในรายวิชาว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ โดยดูจากการสะท้อนคิดของนักศึกษาว่ามีความพึงใจในรูปแบบกิจกรรมต่าง ๆ อย่างไร เพื่อนำมาปรับปรุงเพื่อให้ตรงกับความต้องการหรือความสนใจของนักศึกษา อีกทั้งเพื่อเป็นการเสริมสร้างสมรรถนะและศักยภาพของนักศึกษาในการผลิตบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการตลาดงานในสถานการณ์ปัจจุบัน 4. ด้านวิทยากรผู้นำกิจกรรม ทางหลักสูตรบัญชีบัณฑิตคาดว่าจะให้อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่บรรจุลงในรายวิชาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ/ผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อพัฒนาศักยภาพของอาจารย์ในการจัดกิจกรรมได้เองในภายหน้า5. ด้านการพัฒนาอาจารย์ประจำหลักสูตร ทางคณะได้เปิดโอกาสให้อาจารย์ประจำแสดงความสนใจที่จะสอนในรายวิชาใหม่ในหลักสูตร เพื่อพัฒนาขึ้นเป็นผู้สอนร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก โดยเริ่มจากการเข้าสังเกตการณ์การสอน การศึกษาพัฒนาความรู้ของตนเองเพื่อเตรียมตัวในการสอนต่อไป ซึ่งทางคณะจะพิจารณาความพร้อมในการเตรียมตัวของอาจารย์ประจำก่อนที่จะมอบหมายให้เป็นผู้สอน 6. ด้านการพัฒนากรณีศึกษาทางบัญชี ทางคณะได้ทำความร่วมมือทางวิชาการกับองค์กรวิชาชีพบัญชี 4 แห่งในปีการศึกษา 2565 โดยจัดให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างอาจารย์ประจำกับผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีจากองค์กรดังกล่าว เพื่อพัฒนากรณีศึกษาและพัฒนาคุณภาพตามเกณฑ์การขอดำรงตำแหน่งทางวิชาการ เพื่อให้กรณีศึกษาสามารถนับเป็นผลงานทางวิชาการได้ และนำมาใช้ในการสอนนักศึกษาต่อไป ดูรูปภาพ/กิจกรรมเพิ่มเติมที่นี่

การเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ Read More »

ทำอย่างไรจึงจะได้ตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการระดับนานาชาติ

รางวัลดีเด่น ปีการศึกษา 2565 ยุทธศาสตร์ที่ 2 : KR 1.2.1, KR 1.2.3, KR 1.4.3, KR 1.4.5 ทำอย่างไรจึงจะได้ตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการระดับนานาชาติ VDO Credit : สำนักงาน Wisdom Media ผู้จัดทำโครงการ​ รศ.ดร.อาภรณ์ ดีนาน ผศ.ดร.รัชนี นามจันทรา ผศ.ดร.วารินทร์ บินโฮเซ็น ผศ.ดร.น้ำอ้อย ภักดีวงศ์ ผศ.ดร.ขนิตฐา หาญประสิทธิ์คำ คณะพยาบาลศาสตร์​ หลักการและเหตุผล/ความสำคัญ/ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้​          คณะผู้จัดทำการจัดการความรู้เป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต (พย.ม.) สาขาวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เน้นการผลิตผู้นำทางคลินิกที่สามารถพัฒนาคุณภาพการพยาบาลผู้ป่วยในวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพซับซ้อนทั้งในภาวะเฉียบพลัน วิกฤต และเรื้อรัง โดยบูรณาการศาสตร์ทางการพยาบาล ศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง และการทำวิจัย อาจารย์ประจำหลักสูตรจึงจำเป็นต้องพัฒนาตนเองด้านความเชี่ยวชาญทางคลินิก การวิจัย และตำแหน่งทางวิชาการ เพื่อให้สามารถสอนและให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาให้บรรลุตามความมุ่งหวังของหลักสูตรได้ การประกันคุณภาพการศึกษาภายในระดับหลักสูตรที่ผ่านมา อาจารย์ประจำหลักสูตรมีผลงานวิชาการตีพิมพ์เผยแพร่สูงกว่าเกณฑ์คุณภาพตลอดมา แต่เกือบทั้งหมดเป็นการเผยแพร่ในระดับชาติ จึงได้ข้อเสนอแนะให้พัฒนาการเผยแพร่ผลงานในระดับนานาชาติซึ่งแสดงถึงคุณภาพของผลงานที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติให้มากขึ้น        ความรู้สำคัญที่นำมาใช้ คือ กระบวนการวิจัย การเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ และความรู้/แนวปฏิบัติจากคลังความรู้ของระบบการจัดการความรู้ KM Rangsit University ปีการศึกษา 2563เรื่อง “ทำอย่างไรที่จะได้รับการเผยแพร่บทความในวารสารนานาชาติ” ของ ผศ.ดร.มนพร ชาติชำนิ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเสนอกระบวนการปฏิบัติ 7 องค์ประกอบ ได้แก่1. มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่สนใจทางด้านคลินิก2. กล้าและมีแนวคิดจะเขียนสื่อองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาของตนเองในรูปแบบเชิงบูรณาการระหว่าง art and science ในการใช้ภาษาอังกฤษที่จะนำความรู้ที่ได้จากการวิจัยและสื่อออกมาให้คนอื่นได้เข้าใจด้วยภาษาอังกฤษ (To be valiantly accomplished)3. มีทีมวิจัยและเครือข่ายส่วนบุคคล4. แหล่งสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเผยแพร่บทความ5. อย่ายอมแพ้และอย่าถอดใจ6. Learning by doing7. ฝึกเขียน cover letter ประเภทความรู้และที่มาความรู้ ความรู้แบบชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) : ความรู้จากคลังความรู้ของเว็บไซต์ระบบการจัดการความรู้ KM Rangsit University (https://hrd.rsu.ac.th/km/)ความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge) : เจ้าของความรู้ วิธีการดำเนินการ 1. วิธีการดำเนินการ    ในปี พ.ศ. 2565 อาจารย์ประจำหลักสูตรมีการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการระดับนานาชาติมากขึ้น โดยใช้องค์ประกอบ 7 ประการข้างต้น ร่วมกับการดำเนินตามกระบวนการ ดังนี้1. ดำเนินการวิจัยตามความเชี่ยวชาญของตน ต้องเป็นงานวิจัยที่มีกระบวนการวิจัยที่มีคุณภาพ ทำเป็นทีม โดยทำกับเครือข่ายนักวิจัยต่างชาติ ต่างสถาบัน หรือกับสหสาขาวิชาชีพ และควรมีแหล่งทุนสนับสนุน เพื่อสามารถใช้สนับสนุนการตีพิมพ์บทความวิจัยในวารสารที่มีคุณภาพในระดับนานาชาติ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง2. มองหาวารสารเป้าหมายระดับนานาชาติ เลือกวารสารที่มีคุณภาพ อยู่ในฐานข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับ เข้ากับประเด็นการศึกษาของเรา และพิจารณาระยะเวลาที่ใช้ในการตีพิมพ์บทความในวารสารนั้น ๆ ซึ่งจะระบุไว้ในแต่ละบทความ การเลือกวารสารเป้าหมายสามารถดูใน website: Scimago Journal Rank และเลือก subject areas ที่ตรงกับ area ของตน เช่น Nursing, Health Profession เป็นต้น (รายละเอียดดังไฟล์แนบ) และเลือกวารสารที่มีระยะเวลาที่ใช้ในการตีพิมพ์ไม่นาน3. เตรียมต้นฉบับบทความเป็นภาษาอังกฤษ การเตรียมต้นฉบับควรทำเป็นทีม และทำตามข้อกำหนด (guidelines) ของวารสารที่เลือก4. มีผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบการใช้ภาษาอังกฤษและคุณภาพของต้นฉบับบทความ ควรมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาช่วยดูความถูกต้องของการใช้ภาษาอังกฤษ และมีผู้เชี่ยวชาญช่วยพิจารณาคุณภาพของบทความเบื้องต้น ก่อนการ submit5. ติดตามแก้ไขบทความตามข้อเสนอแนะของ peer review ตามกรอบเวลาที่วารสารกำหนด ผู้วิจัยควรติดตามผลการพิจารณาบทความจากวารสารอย่างสม่ำเสมอ และจัดสรรเวลาในการปรับแก้ไขบทความตามข้อเสนอแนะของ peer review ให้เสร็จทันภายในกรอบเวลาที่วารสารกำหนด ให้มองข้อเสนอแนะและการปรับแก้ไขเป็นสิ่งท้าทาย ทำให้เกิดการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองอย่ายอมแพ้หรือถอดใจ 2. ผลการดำเนินการ การนำไปใช้ หรือการลงมือปฏิบัติจริง อุปสรรคหรือปัญหาในการทำงาน        ปี พ.ศ. 2565 อาจารย์ประจำหลักสูตร พย.ม. มีผลงานตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารระดันานาชาติที่อยู่ในฐานข้อมูล SCOPUS มากขึ้น โดยมีจำนวน 5 เรื่อง (ดังไฟล์ที่แนบมา) ดังนี้1. Chatchumni, M., Maneesri, S., & Yongsiriwit, K. (2022). Performance of the Simple Clinical Score (SCS) and the Rapid Emergency Medicine Score (REMS) to predict severity level and mortality rate among patients with sepsis in the emergency department. Australasian Emergency Care, 25(2), 121-125. https://doi.org/10.1016/j.auec.2021.09.002i2. Sirikulchayanonta, C., Sirikulchayanonta, V., Suriyaprom, K., and Namjuntra, R. (2022). Changing trends of obesity and lipid profiles among Bangkok school children after comprehensive management of the bright and healthy Thai kid project. BMC Public Health, 22, 1-10.3. Chatchumni, M., Eriksson, H., Mazaheri, M. (2022). Core components of an effective pain management education programme for surgical nurses: A Delphi technique. Int J Qual Stud Health Well-being, 17:1, 2110672. https://doi.org/10.1080/17482631.2022.21106724. Khuntee, W., Hanprasitkam, K., & Sumdaengrit, B. (2022). Effect of music therapy on postembolization syndrome in Thai patients with hepatocellular carcinoma: A quasi-experimental crossover study. Belitung Nursing Journal, 8(5), 396-404. http://doi.org/10.33546/bnj.22105. Witheethammasak, P., Deenan, A., Masingboon, K. (2022). A Causal Model of Asthma Control in Adults. Pacific Rim Int J Nurs Res, 26(4), 613-626.    ปัญหาและอุปสรรคที่พบ ได้แก่ ข้อจำกัดทางด้านการใช้ภาษาอังกฤษ ข้อจำกัดด้านเวลา ค่าใช้จ่ายในการตีพิมพ์สูง และการมีเครือข่ายจำกัด 3. การตรวจสอบผลการดำเนินการ การนำเสนอประสบการณ์นำไปใช้ สรุปและอภิปรายผล บทสรุปความรู้หรือความรู้ที่ค้นพบใหม่          ได้ความรู้เชิงกระบวการในการเลือกวารสารเป้าหมายระดับนานาชาติที่จะลงตีพิมพ์ และกระบวนการในการตีพิมพ์ผลงานวิชาการในระดับนานาชาติให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งกระบวนการประกอบด้วยขั้นตอน ดังนี้1. ดำเนินการวิจัยตามความเชี่ยวชาญของตน2. มองหาวารสารเป้าหมายระดับนานาชาติ3. เตรียมต้นฉบับบทความเป็นภาษาอังกฤษ4. มีผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบการใช้ภาษาอังกฤษและคุณภาพของต้นฉบับบทความ5. ติดตามแก้ไขบทความตามข้อเสนอแนะของ peer review ตามกรอบเวลาที่วารสารกำหนด กระบวนการในการตีพิมพ์บทความ ประยุกต์องค์ประกอบที่จะช่วยให้การเผยแพร่ผลงานในระดับวิชาการประสบความสำเร็จ ได้แก่ การมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่สนใจทางด้านคลินิก กล้าและมีแนวคิดจะเขียนสื่อองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาของตนเองด้วยภาษาอังกฤษ (To be valiantly accomplished) มีทีมวิจัยและเครือข่ายส่วนบุคคล มีแหล่งสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเผยแพร่บทความ อย่ายอมแพ้และอย่าถอดใจ และเรียนรู้พัฒนาตนเองจากการปฏิบัติ ข้อเสนอแนะในการดำเนินการในอนาคต หรือการดำเนินการเพื่อสามารถนำไปสู่การเป็น Good Practice          1. การเลือกวารสารเป้าหมายในฐานข้อมูลระดับนานาชาติ อาจพิจารณาวารสารที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีอยู่หลายฉบับ ในสาขา Nursing ได้แก่ Pacific Rim International Journal of Nursing Research วารสารเล่มนี้พยายามช่วยเหลือนักวิจัยให้ได้ตีพิมพ์ โดยช่วยพิจารณาทั้งคุณภาพของงานวิจัย และความถูกต้องของภาษา มีผู้ทรงคุณวุฒิต่างชาติที่สามารถดูความถูกต้องทั้งเนื้อหาและภาษาได้ ใช้เวลาไม่นาน และค่าใช้จ่ายในการตีพิมพ์ไม่สูง ควรรวบรวมรายชื่อวารสารใน area ที่เกี่ยวข้อง ที่อยู่ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติ และตั้งอยู่ในประเทศไทย เพื่อช่วยให้นักวิจัยในสาขามองหาวารสารเป้าหมายง่ายขึ้น        2. สถาบันควรให้การสนับสนุนการเผยแพร่ผลงานในวารสารระดับนานาชาติ โดยควรจัดให้มีหน่วยงานช่วยเหลือเรื่องการใช้ภาษาและการเขียนบทความเป็นภาษาอังกฤษ เช่น มี Writing Center เพื่อดูคุณภาพของผลงาน ก่อน submit และควรมีเงินทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการตีพิมพ์เผยแพร่        3. การทำวิจัยควรทำเป็นทีม โดยสร้างเครือข่ายกับนักวิจัยต่างชาติ ต่างสถาบัน หรือกับสหสาขาวิชาชีพ ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ ควรสร้างและคงเครือข่ายความร่วมมือในการทำวิจัยกับอาจารย์ที่ปรึกษาและเพื่อนที่เป็นนักวิจัยต่างชาติ ดูรูปภาพ/กิจกรรมเพิ่มเติมที่นี่

ทำอย่างไรจึงจะได้ตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการระดับนานาชาติ Read More »

อาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษา

รางวัลชมเชย ปีการศึกษา 2565 ยุทธศาสตร์ที่ 1 :KR 1.4.1, KR 1.4.2, KR 1.4.5 อาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษา ผู้จัดทำโครงการ​ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัลลภา เฉลิมวงศาเวช วิทยาลัยครูสุริยเทพ หลักการและเหตุผล/ความสำคัญ/ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้​          ตามหลักการอาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษานับเป็นหนึ่งในมาตรฐานหลักของการบริหารหลักสูตรตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติรวมไปถึงมาตรฐานของสมาคมพัฒนาวิชาชีพการบริหารการศึกษาแห่งประเทศไทย ทั้งยังสอดคล้องกับกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัยรังสิตในการพัฒนาสมรรถนะอาจารย์ให้มีความเป็นมืออาชีพทั้งในทางด้านวิชาการ การจัดการเรียนการสอนและการประเมินผล โดยกำหนดไว้ว่าอาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษานั้นนอกจากจะต้องเป็นอาจารย์ที่มีคุณภาพสูง มีความสามารถเป็นเลิศในการจัดการเรียนและการสอน และมีผลการประเมินประสิทธิผลการสอนโดยนักศึกษาในระดับ 4.01 ขึ้นไปแล้วนั้น ยังต้องได้รับการพัฒนาทางวิชาการและวิชาชีพ โดยเน้นกระบวนการทำงานและการสร้างมาตรฐานที่นำไปสู่ความสำเร็จตามได้ตามความคาดหมาย         ความสำคัญในการพัฒนาตนเองสู่การเป็นอาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษาไม่เพียงแต่เป็นการสนองนโยบายหลักของการบริหารหลักสูตรตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ มาตรฐานของสมาคมพัฒนาวิชาชีพการบริหารการศึกษาแห่งประเทศไทย รวมทั้งกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัยรังสิตในการพัฒนาสมรรถนะอาจารย์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยรังสิต ปี พ.ศ.2565-2569 (แผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่) แต่ยังเป็นวิธีการประเมินตนเองอย่างเป็นเป็นรูปธรรมในกระบวนการการทำงานว่าได้ทำสิ่งใดบ้าง อย่างไร และได้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่         ดังนั้น ประเด็นสำคัญของการพัฒนาตนเองสู่การเป็นอาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษานั้นขึ้นอยู่กับการทบทวนวิธีการและและสะท้อนประสบการณ์ในกระบวนการสร้างและรักษามาตรฐานของการทำงานสู่ระดับการยอมรับในความเป็นมืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษาตั้งแต่ในระดับสถาบันจนถึงระดับชาติ ซึ่งรวมถึงการสร้างการยอมรับและความน่าเชื่อถือให้กับวิชาชีพ สาขาวิชา รวมไปถึงหลักสูตรที่รับผิดชอบในทุกๆด้าน ตั้งแต่การจัดการเรียนการสอน การวิจัย การเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ตลอดจนการพัฒนาหลักสูตรให้เป็นไปตามกรอบมาตรฐานฯและสาขาวิชาชีพ ดังนั้นอาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษาจึงจำเป็นต้องพัฒนาตเองสู่ความเป็นเลิศในการพัฒนา ความรู้ ทักษะและความสามารถที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน ประเภทความรู้และที่มาความรู้ ความรู้แบบชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) : เจ้าของความรู้ความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge) : – วิธีการดำเนินการ 1. วิธีการดำเนินการ   การพัฒนาตนเองสู่ความเป็นอาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษาต้องอาศัยการสร้างความเข้าใจในความเป็นตัวตน บทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบในฐานะอาจารย์ผู้สอน การเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา การทำวิจัย และการบริการวิชาการ ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสอบถามความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับอาจารย์ในหลักสูตรและสาขาวิชา เพื่อสร้างความสัมพันธ์และบรรยากาศที่ดีในการการทำงานร่วมกันให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล ซึ่งการปฏิบัติภาระหน้าที่และการวางแผนการพัฒนาตนเองให้เข้ากับเกณฑ์ต่างๆนั้นจำเป็นต้องทำควบคู่กันไป อาทิ การสร้างผลงานด้านการบริหารหลักสูตร ด้าการสอน ด้านการส่งเสริมหรือการให้การสนับสนุนผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาและผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษา โดยพิจารณาเกณฑ์ต่างๆไปทีละประเด็น จัดลำดับความสำคัญของงาน โดยประยุกต์งานประจำให้เหมาะสมกับเกณฑ์เหล่านั้น และดำเนินงานตามแผนการพัฒนาตนเองที่ได้กำหนดไว้ให้สำเร็จลุล่วง โดยวิธีการดำเนินการสามารถแบ่งงานออกเป็นด้านๆ ดังนี้   1. งานด้านการสอน อาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษาอาจารย์ต้องมีความรู้ความเข้าใจและมีความสามารถในการออกแบบการสอน การวางแผนการสอน การประเมินผลการสอน ตามเกณฑ์ TQF และจัดการเรียนการสอนโดยใช้รูปแบบและวิธีการสอนที่เหมาะสมโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ   2. งานด้านการเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษาต้องทำหน้าที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้แก่นักศึกษา โดยหน้าที่หลักคือการดูแลนักศึกษาตั้งแต่เริ่มต้นทำวิทยานิพนธ์จนเสร็จสิ้นกระบวนการที่นักศึกษาสามารถยื่นจบการศึกษาได้ อาจารย์ต้องวางแผนการทำวิทยานิพนธ์ให้แก่นักศึกษาในความรับผิดชอบอย่างเป็นระบบ มีการให้คำปรึกษา แนะนำ เสนอแนะแนวทาง ตรวจสอบและปรับปรุงแก้ไขวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาให้เป็นไปตามระเบียบวิธีวิจัยที่ถูกต้อง พร้อมทั้งให้คำปรึกษาหรือเสนอแนะแหล่งตีพิมพ์เผยแพร่บทความวิจัยของนักศึกษา ตลอดจนการสร้างขวัญและกำลังใจให้ผู้เรียนอย่างสม่ำเสมอและการให้ความสำคัญแก่นักศึกษาทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน   3. งานด้านการบริหารหลักสูตร อาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษาต้องบริหารจัดการ กำกับดูแล ในฐานะผู้อำนวยการหลักสูตร ตลอดจนพัฒนาหลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษาให้มีประสิทธิภาพ โดยศึกษาเกณฑ์ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ให้ชัดเจน รู้แจ้ง ทำความเข้าใจองค์ประกอบของหลักสูตร จัดการเรียนการสอน และมาตรฐานการรับรองหลักสูตรปริญญาโททางการบริหารการศึกษาของคุรุสภา   4. งานด้านการบริการทางวิชาการ อาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษาต้องมีการบริการทางวิชาการ เป็นส่งเสริมหรือการให้การสนับสนุนผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาและผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษา โดยอาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษาต้องสละเวลา อุทิศตน สร้างเครือข่ายโดยให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมในการทำงานกับหน่วยงานอื่นทั้งภายในและภายนอกสถาบัน โดยการใช้ความรู้ ความสามารถของตนในการช่วยเหลือ ส่งเสริม และให้การสนับสนุนแก่หน่วยงานต่างๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นการพัฒนาศักยภาพการทำงานของตัวอาจารย์เองแล้วนั้น ยังเป็นการสร้างความร่วมมือ และการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับหน่วยงานภายในและภายนอกอื่นๆ 2. ผลการดำเนินการ การนำไปใช้ หรือการลงมือปฏิบัติจริง อุปสรรคหรือปัญหาในการทำงาน    การเป็นอาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษาที่มีคุณภาพสูง มีความสามารถเป็นเลิศในการจัดการเรียนและการสอน มีผลการประเมินประสิทธิผลการสอนโดยนักศึกษาในระดับ 4.01 ขึ้นไปนั้น จะต้องมีผลงานด้านการบริหารหลักสูตร ด้านการสอน ด้านการส่งเสริมหรือการให้การสนับสนุนผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาและผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษา ด้วยเหตุผลที่ว่าหลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษาเป็นหลักสูตรที่ต้องพัฒนาประสบการณ์ทางวิชาการชีพเฉพาะด้านที่ลุ่มลึก โดยมุ่งหวังให้ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้ด้วยตนเองจากการศึกษาค้นคว้าวิจัย และสามารถนำองค์ความรู้และผลของการวิจัยไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการประกอบวิชาชีพ ไปจนถึงการพัฒนาเยาวชน และสร้างความเข้มแข็งให้สังคม และประเทศชาติ โดยผลการดำเนินการสามารถแบ่งงานออกเป็นด้านๆ ดังนี้    1. งานด้านการสอน อาจารย์จะต้องมีความรู้ความเข้าใจและมีความสามารถในการออกแบบการสอน การวางแผนการสอน การประเมินผลการสอน และจัดการเรียนการสอนโดยใช้รูปแบบและวิธีการสอนที่เหมาะสมโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยอาจารย์จะต้องกระตุ้นผู้เรียนให้มีความรู้และทักษะที่นำไปใช้ได้จริงในการประกอบวิชาชีพ ผลที่ได้คือนักศึกษาทุกคนสามารถวัดผลการประเมินรายวิธิผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานระดับบัณฑิตศึกษา และอาจารย์มีผลการประเมินประสิทธิผลการสอนโดยนักศึกษาในระดับ 4.01 ขึ้นไป    2. งานด้านการเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา การทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาอย่างมีคุณภาพเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในบางกรณีที่นักศึกษามีข้อจำกัดบางประการ ยกตัวอย่างเช่น นักศึกษาชาวจีนที่เข้ามาศึกษาต่อในหลักสูตรจะต้องเรียนและทำวิทยานิพนธ์เป็นภาษาไทย การเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาซึ่งนอกจากจะต้องให้ความรู้ ความเข้าใจ และคอยชี้แนะ แนะนำการทำวิทยานิพนธ์ที่ต้องเขียนเป็นภาษาไทยให้เป็นไปตามมารตฐานการวิจัยแล้วนั้น อาจารย์ที่ปรึกษาจะต้องคอยให้กำลังใจ กระตุ้น และคอยติดตามนักศึกษาอย่างสม่ำเสมอไม่ให้ขาดการติดต่อซึ่งส่งผลให้นักศึกษาสามารถสอบผ่านวิทยานิพนธ์ได้ในระดับดีเยี่ยม สามารถนำบทความไปตีพิมพ์เผยแพร่วิทยานิพนธ์ในฐานข้อมูลที่ได้รับการยอมรับในระดับ TCI 1 จนได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น จากบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรังสิต ปีการศึกษา 2565 ทำให้นักศึกาสามารถจบการศึกษาตามกำหนดภายในระยะเวลา 2 ปีการศึกษา   3. งานด้านการบริหารหลักสูตร งานสำคัญของการบริหารหลักสูตรนอกเหนือจากการวางแผนการดำเนินงาน การจัดการดูแลหลักสูตรให้สามารถดำเนินงานไปอย่างราบรื่นแล้วนั้น หน้าที่ที่สำคัญคือการเป็นผู้พัฒนาหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา ของมหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อให้ได้รับการรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษาจากคุรุสภา ทั้งนี้การได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบพัฒนาหลักสูตรปีปรับปรุงปีการศึกษา 2560 และหลักสูตรปรับปรุงปีการศึกษา 2565 เพื่อให้ได้รับการรับรองอย่างต่อเนื่องถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุด โดยการที่หลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากคุรุสภาเท่านั้นที่จะทำให้นักศึกษาที่เข้าเรียนในหลักสูตร สามารถขอรับใบประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา/ผู้บริหารการศึกษาได้ เมื่อจบการศึกษาจากหลักสูตร โดยกระบวนการการพัฒนาหลักสูตรทั้งหมดนั้นจะต้องศึกษากฎเกณฑ์ระเบียบและข้อบังคับเพื่อชี้แจงและสร้างความเข้าใจแก่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์การขอรับรองหลักสูตรเพื่อขอรับใบประกอบวิชาชีพจากคุรุสภา ซึ่งปัจจุบันนี้หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษาได้รับการรับรองหลักสูตรฯ จากคุรุสภาเป็นรอบที่ 2 เป็นที่เรียบร้อย โดยที่รอบที่ 1 เป็นการรับรองหลักสูตรฉบับปรับปรุงปี 2560 (ครอบคลุมปีการศึกษา 2560 – 2564) และรอบที่ 2 หลักสูตรฉบับปรับปรุงปีการศึกษา 2565 (ครอบคลุมปีการศึกษา 2565 – 2569) นั่นหมายถึงมหาบัณฑิตที่จบการศึกษาจากหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา แผน ก ทุกคนจะมีสิทธิ์ได้รับใบประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา/ผู้บริหารการศึกษาจากคุรุสภา เพื่อไปสอบชิงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาในอนาคตอย่างแน่นอน  4. งานด้านการบริการทางวิชาการ การบริการทางวิชาการเป็นการส่งเสริมหรือการให้การสนับสนุนผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาและผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษา อาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษาต้องสละเวลา อุทิศตน สร้างเครือข่ายโดยให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมในการทำงานกับหน่วยงานอื่นทั้งภายในและภายนอกสถาบัน โดยการใช้ความรู้ ความสามารถของตนในการช่วยเหลือ ส่งเสริม และให้การสนับสนุนแก่หน่วยงานต่างๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นการพัฒนาศักยภาพการทำงานของตัวอาจารย์เองแล้วนั้น ยังเป็นการสร้างความร่วมมือ และการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับหน่วยงานภายในและภายนอกอื่นๆ อีกด้วย อาทิ การได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการฝ่ายวิชาการของสมาคมพัฒนาวิชาชีพการบริหารการศึกษาแห่งประเทศไทย (ภาคกลาง) เพื่อร่วมมือกันพัฒนาวิชาชีพการบริหารการศึกษาทั้งองค์ ความรู้ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม เป็นการสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาวิชาชีพการบริหารการศึกษาของประเทศไทย การได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2565 ของมหาวิทยาลัยรังสิต การได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับหลักสูตร และการได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินรายการงานรังสิตวิชาการ ในการเสวนาเรื่อง นวัตกรรมการศึกษาของครูยุคใหม่ เพื่อพัฒนาผู้เรียนในยุคปัจจุบัน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อส่งเสริม และสนับสนุนผู้ร่วมวิชาชีพให้มีการพัฒนาวิชาชีพและการบริหารงานทางด้านการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นอาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษาควรจะต้องพัฒนาตนเองให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมวิชาการ ดังนี้    1. การให้บริการวิชาการในฐานะการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการพิจารณาบทความในวารสารต่างๆ อาทิ การเป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความของวารสารต่างๆ ในฐาน TCI อาทิ วารสารวิชาการธรรมทรรศน์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (TCI1), วารสารการบริหารและนวัตกรรมการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (TCI1), วารสาร ASEAN Journal of Management & Innovation มหาวิทยาลัยสแตมฟอร์ด (TCI2), การประชุมวิชาการและเผยแพร่ผลงานวิจัยคัดสรร สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ สสอท., การนำเสนอผลงานทางวิชาการระดับชาติและระดับนานาชาติและงานบริหารการศึกษาสัมพันธ์ ของสมาคมพัฒนาวิชาชีพการบริหารการศึกษาแห่งประเทศไทย    2. การเป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาโครงร่างการวิจัยเพื่อในการรับรองจริยธรรมการวิจัย     3. การได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตัดสินผลงานทางการศึกษาต่างๆ การตัดสินผลงานของครู เพื่อนำเสนอในงานรังสิตวิชาการ (RSU Academic Expo/Conference) ซึ่งการให้บริการทางวิชาการเหล่านี้นั้นถือเป็นการสร้างความร่วมมือทางวิชาชีพ และการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับสถาบันและหน่วยงานอื่นๆ อันก่อให้เกิดเครือข่ายทางวิชาชีพที่เข้มแข็ง การให้บริการวิชาการโดยเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อดําเนินแผนงานร่วมทุนสนับสนุนการพัฒนาสุขภาวะจังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นกิจกรรมเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพภายในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์และภารกิจตามมาตรา 5 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 โดยการจัดบริการวิชาการ โครงการโรงเรียนสุขภาวะ ตําบลหลักหก จังหวัดปทุมธานี เพื่อพัฒนาโรงเรียนสุขภาวะ โดยเริ่มต้นพัฒนาจากผู้เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) กับโรงเรียนก่อน คือ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง และชุมชน เป็นใช้องค์ความรู้และความสามารถของอาจารย์ในการพัฒนาและสร้างการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทํางานให้แก่กลุ่มเป้าหมาย ให้เกิดการเรียนรู้ที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันใน 3 ประเด็นหลักคือ    1) ร่วมสร้างแผนพัฒนาโรงเรียน (School Improvement Plan/ SIP)    2) ร่วมออกแบบกระบวนการทํางานในโรงเรียนให้เกิดความยั่งยืน และ    3) ร่วมเรียนรู้การทํางานเป็นทีมโดยใช้ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community/ PLC) ซึ่งการร่วมมือกันดังกล่าวนี้จะช่วยใหกลุ่มเป้าหมายปรับเปลี่ยนวิธีคิดจากการรอรับนโยบาย และการสั่งการเป็นการมีส่วนร่วมรับผิดชอบการบริหารจัดการด้วยตัวเองมากขึ้น โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงพัฒนาโรงเรียนตามสภาพจริง ซึ่งโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะพัฒนาสุขภาวะของประชาชนในจังหวัดปทุมธานีให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ตําบลหลักหก เพื่อพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ให้เป็นโรงเรียนสุขภาวะ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่นักเรียนในพื้นที่ตําบลหลักหก อีกทั้งโครงการดังกล่าวยังมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการที่สถาบันอุดมศึกษาจะเป็นพี่เลี้ยงให้แก่สถานศึกษาขั้นพื้นฐานในการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา ตลอดจนการให้คำแนะนำ ปรึกษา และชี้แนะผู้บริหารสถานศึกษาให้การบริหารสถานศึกษาได้อย่างราบรื่นและมีคุณภาพ เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาของชาติอีกด้วย 3. การตรวจสอบผลการดำเนินการ การนำเสนอประสบการณ์นำไปใช้ สรุปและอภิปรายผล บทสรุปความรู้หรือความรู้ที่ค้นพบใหม่    สรุปประเด็นสำคัญที่ได้ ดังนี้คือ 1. อาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษาเป็นอาจารย์ที่มีคุณภาพ มีความทันสมัย ทันเหตุการณ์ และมีการพัฒนาตนเองทางวิชาการและวิชาชีพอย่างสม่ำเสมอ2. อาจารย์มีผลการประเมินประสิทธิผลการสอนโดยนักศึกษาในระดับ 4.01 ขึ้นไป3. อาจารย์มีเครือข่ายความร่วมมือในสาขาวิชาชีพ4. อาจารย์มีคุณสมบัติสอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานคุณวุฒิและมีผลงานเป็นไปตามเกณฑ์การประเมินผลประจำปีของมหาวิทยาลัย 5. อาจารย์ได้ใช้ความรู้ความสามารถในการกำกับดูแลช่วยเหลือนักศึกษาให้สำเร็จการศึกษาอย่างมีคุณภาพ6. อาจารย์ได้ใช้ความรู้ความสามารถในการกำกับดูแลช่วยเหลือสังคมวิชาการ7. อาจารย์ได้ใช้ความรู้ความสามารถในการทำโครงการช่วยเหลือครูในชุมชนและพัฒนาสังคมให้มีความรู้ ความเข้าใจ และมีคุณภาพในการทำงานได้ดีขึ้น8. การได้รับรางวัลนักบริหารการศึกษาดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2565 ของสมาคมพัฒนาวิชาชีพการบริหารการศึกษาแห่งประเทศไทย ประเภทอาจารย์ผู้สอนทางการบริหารการศึกษาดีเด่น ข้อเสนอแนะในการดำเนินการในอนาคต หรือการดำเนินการเพื่อสามารถนำไปสู่การเป็น Good Practice           การเป็นอาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษาต้องอาศัยความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่ค่อยๆ สั่งสม และปฏิบัติงานในหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง ต้องอาศัยเวลา กำลังกาย กำลังใจ และความอดทน และความเชื่อมั่นว่าอาจารย์ทุกคนจะเป็นอาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษาที่ประสบความสำเร็จได้หากมีความมุ่งมัน ตั้งใจ ขยัน อดทน และอุทิศตน

อาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษา Read More »

Scroll to Top