รางวัลชมเชย

โมเดลรูปแบบการจัดการสอบ Online สำหรับชั้นเรียน 3 ประเภท

รางวัลชมเชย ปีการศึกษา 2565 ยุทธศาสตร์ที่ 1 : KR 1.2.2, KR 1.4.4 โมเดลรูปแบบการจัดการสอบ Online สำหรับชั้นเรียน 3 ประเภท ผู้จัดทำโครงการ​ ณัฐพัชร์ หลวงพล ศูนย์บริการวิชาการ หลักการและเหตุผล/ความสำคัญ/ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้​           เนื่องด้วยมหาวิทยาลัยรังสิต ได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตในสังคมโดยทั่วไป นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล อินเตอร์เน็ต และอุปกรณ์สื่อสาร กลายเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานของคนในสังคม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ทั้งที่อยู่ในวัยเรียนถึงวัยทำงาน จำเป็นต้องมีทักษะทางดิจิทัล ในวงการศึกษาจำเป็นต้องปรับตัวและเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านระบบโครงสร้างพื้นฐาน และทักษะที่จำเป็นต่อบุคลากรของมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง การสอบเพื่อประเมินผลการเรียน เป็นกระบวนการส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในทุกสาขาวิชา ได้มีการนำนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้เพื่อลดระยะเวลาและขั้นตอนในการทำงานรวมถึงช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ในขบวนการนี้ได้มีวิวัฒนาการมาโดยตลอด   ปัญหาที่พบในยุคแรกๆ คือต้นทุนการลงทุนที่มีราคาสูง ระบบในขณะนั้นยังต้องอาศัยทักษะความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์การเขียนโปรแกรม และเทคโนโลยียังมีข้อจำกัดในการใช้งานอยู่มาก แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีด้านฮาร์ดแวร์และระบบเครือข่าย รวมถึงซอฟแวร์ต่างๆ มีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูง ประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว มีความน่าเชื่อถือสูง รองรับการประมวลผลบนคลาวน์ ระบบมีการออกแบบให้ง่ายในการเรียนรู้และใช้งาน มีเครื่องมือที่ตอบโจทย์การทำงาน สามารถใช้อุปกรณ์ต่างๆที่มีอยู่แล้ว ทำให้ต้นทุนในการนำมาประยุกต์ใช้ถูกลงอย่างมาก ประกอบกับข้อดีของระบบเหล่านี้เมื่อเทียบกับกระบวนการแบบดั้งเดิมคือ ความสะดวกรวดเร็ว ลดขั้นตอนการทำงาน ลดการใช้วัสดุสิ้นเปลือง และลดพื้นที่การจัดเก็บ ง่ายต่อการสืบค้น โครงการนี้เป็นการศึกษารูปแบบการจัดสอบผ่านระบบออนไลน์ เพื่อลดการใช้ทรัพยากรกระดาษ และลดขั้นตอนการทำข้อสอบ การคุมสอบ การจัดเก็บ และการจัดทำรายงานผลการสอบ โดยในการคุมสอบ (Proctoring) ใช้ระบบ SEB (Safe Exam Browser) เป็นตัวควบคุมสิทธิ์ในการใช้งานฟังก์ชั่นบนอุปกรณ์ในขณะสอบ ร่วมกับการใช้ระบบกล้องเพื่อช่วยการคุมสอบ (Proctoring) โดยเปรียบเทียบทั้งการใช้กล้องวงจรปิดภายในห้อง และกล้องจากจอคอมพิวเตอร์ เพื่อเปรียบเทียบมุมกล้อง คุณภาพของภาพ จุดเด่น และจุดด้อยของแต่ละวิธี รวมถึงความเสถียรของสัญญาณอินเตอร์เน็ต เมื่อใช้งานพร้อมกันทั้งระบบ VDO streaming จาก zoom (หรือ Jitsi) และการทำข้อสอบผ่านระบบออนไลน์ในแพลตฟอร์มต่างๆ ประเภทความรู้และที่มาความรู้ ความรู้แบบชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) : วิธีการใช้ SEB เพื่อลดการทุจริตในการสอบ Online (https://www.youtube.com/watch?v=B2tM2f-QKII)ความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge) : เจ้าของความรู้, จากการสำรวจความต้องการของอาจารย์ผู้สอน และข้อมูลจากการทดลองในกลุ่มตัวอย่าง   วิธีการดำเนินการ 1. วิธีการดำเนินการ   การสอบออนไลน์จะเกี่ยวข้องกับระบบหลักๆ 2 ระบบ ได้แก่1. ระบบสร้างข้อสอบ บริหารจัดการและดำเนินการสอบ ตรวจข้อสอบ และจัดทำรายงานสรุป อาทิ Google Form, MS Form, Socrative, LMS, Examplus เป็นต้น2. ระบบคุมสอบ (Proctoring) และระบบ lock screen เพื่อป้องกันการทุจริตในระหว่างสอบ    พารามิเตอร์ที่ใช้ทดสอบในครั้งนี้ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (ในห้องปฏิบัติการ) ที่ติดตั้งสาย LAN ระบบปฏิบัติการ Windows, MacOS, iOS iPad (อุปกรณ์ส่วนตัวของนักศึกษา) โปรแกรม SEB สำหรับติดตั้งบนเครื่องที่ใช้สอบ เพื่อจำกัดสิทธิ์การใช้งานบางฟังก์ชั่น โปรแกรม Zoom สำหรับติดตั้งบนเครื่องที่ใช้สอบ เพื่อ Proctoring แบบ online streaming กล้องวงจรปิดสำหรับ Proctoring แบบ local ระบบสอบด้วย MS Form ระบบสอบด้วย Socrative      ขั้นตอนการดำเนินงาน 1. ศึกษา features และ optons ของ SEB สำหรับควบคุมการเปิดปิดฟังก์ชั่นของระบบปฏิบัติการ และรันทดสอบกับระบบ Windows, MacOS และ iOS 2. ค้นหาและคัดเลือกรายวิชาที่มีความสนใจจะทดลองใช้ระบบ จำนวน 2-3 รายวิชา3. ค้นหาห้อง computer lab เพื่อใช้เป็นห้องสาธิต4. สำรวจสถานที่ และความเหมาะสมโดยพิจารณาจาก สภาพของอุปกรณ์ จำนวนเครื่อง และวันเวลาว่างที่สามารถขอใช้งานได้ 5. ทำเอกสารเพื่อขออนุญาตใช้ห้องให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแล 6. จัดทำ script สำหรับโปรแกรม SEB 7. ติดตั้งโปรแกรม SEB, Zoom และรันทดสอบ8. ประสานงาน Wisdom TV เพื่อขอยืมใช้กล้องวงจรปิด9. เก็บรวบรวมปัญหาที่พบ และดำเนินการแก้ไข10.ประสานอาจารย์ผู้สอน เพื่ออธิบายวิธีและขั้นตอนการสอบ ระบบที่ใช้ และนัดพบนักศึกษาในชั้นเรียนเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนสอบ 2. ผลการดำเนินการ การนำไปใช้ หรือการลงมือปฏิบัติจริง อุปสรรคหรือปัญหาในการทำงาน    รายวิชาที่เข้าร่วมการทดลองระบบ1. วิชา ACC100     1.1 กลุ่มเป้าหมาย นักศึกษาคณะบัญชี จำนวน 120 คน(โมเดลที่ 1) การสอบโดยใช้เครื่องมืออุปกรณ์ของมหาวิทยาลัย (ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์)   สถานที่   ห้อง 19-317       -ระบบปฏิบัติการ Windows จำนวน 60 เครื่อง (แบ่งสอบเป็น 3 รอบ)    ช่วงวัน-เวลา       -วันที่ 4-6 ตุลาคม 2565 เวลา 10.30-12.00 น.2. วิชา BIO131      2.1 กลุ่มเป้าหมาย นักศึกษาคณะเทคนิคการแพทย์ จำนวน 247 คน(โมเดลที่ 1) การสอบโดยใช้เครื่องมืออุปกรณ์ของมหาวิทยาลัย (ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์)     สถานที่     ห้อง 19-317       – ระบบปฏิบัติการ Windows จำนวน 60 เครื่อง     ห้อง 19-319       -ระบบปฏิบัติการ MacOS จำนวน 150 เครื่อง(โมเดลที่ 2) การสอบโดยใช้อุปกรณ์ส่วนตัวของนักศึกษา (Onsite)     สถานที่     ห้อง 19-305       – ระบบปฏิบัติการ iOS จำนวน 37 เครื่อง     ช่วงวัน-เวลา       -วันที่ 10 ตุลาคม 2565 เวลา 10.30-12.00 น.   2.2 กลุ่มเป้าหมาย นักศึกษาคณะทันตแพทย์ 117 คน        เนื่องจากมีนักศึกษาบางส่วนที่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้านจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด จึงต้องใช้รูปแบบการจัดสอบแบบผสมผสาน (โมเดลที่ 3)(โมเดลที่ 3) การสอบแบบ Onsite + Online      สถานที่สอบ      ห้อง 19-317 30 คน ระบบ Windows      ห้อง 19-319 86 คน ระบบ MacOS      Online 1 คน ระบบ iOS (iPad)      ช่วงวัน-เวลา        – วันที่ 11 ตุลาคม 2565 เวลา 13.00-15.00 น.โดยนศ.ที่สอบ online จะใช้ระบบ Zoom เพื่อให้อาจารย์สามารถสื่อสารกับนักศึกษาในระหว่างสอบ และใช้ SEB browser ควบคุมอุปกรณ์ในระหว่างสอบ เพื่อป้องกันการทุจริต  3. การตรวจสอบผลการดำเนินการ การนำเสนอประสบการณ์นำไปใช้ สรุปและอภิปรายผล บทสรุปความรู้หรือความรู้ที่ค้นพบใหม่   สรุปผลการดำเนินงานวันที่ 4-6 ตุลาคม ใช้ห้อง 19-317 เนื่องจากจำนวนนักศึกษามีไม่เกิน 60 คนวันที่ 10 ตุลาคม ใช้ห้อง 19-317, 19-319, 19-305วันที่ 11 ตุลาคม ใช้ห้อง 19-317, 19-319    มาตรการเฝ้าระวังการทุจริตในระหว่างการคุมสอบ– ในห้อง 19-317 ที่มีขนาด 150 เครื่องใช้กล้องวงจรปิด 2 ตัว ติดตั้งบริเวณด้านหน้า และด้านหลังของห้อง ร่วมกับการเดินตรวจโดยอาจารย์ผู้คุมสอบ– ในห้อง 19-319 และนศ.ที่สอบออนไลน์ ใช้กล้องหน้าของเครื่อง ตรวจจับพฤติกรรมในขณะสอบผ่านระบบ Zoom ร่วมกับการเดินตรวจโดยอาจารย์ผู้คุมสอบ– เครื่องที่ใช้สอบจะติดตั้ง script เพื่อสั่งงานให้เปิดโปรแกรม SEB browser พร้อมกับเข้าสู่ Kiosk mode เพื่อให้สามารถทำข้อสอบได้เพียงอย่างเดียว และจะปลดล็อคได้เมื่อสอบเสร็จ     ระบบสอบที่ใช้– MS Form ใช้ในรายวิชา ACC100– Socrative ใช้ในรายวิชา BIO131     ปัญหาและอุปสรรคที่พบ1. ในช่วงการทดสอบระบบ พบปัญหาทางเทคนิคในการ login เข้าหน้าข้อสอบของ MS Form เนื่องจาก SEB browser ป้องกันการย้ายไปเว็บเพจอื่นในขณะสอบ (ไม่พบปัญหานี้ใน Google Form หรือระบบอื่น) และได้ทำการแก้ไขด้วยการปรับพารามิเตอร์ใน script ที่ใช้ควบคุมอุปกรณ์2. ในการเตรียมความพร้อมของเครื่องในห้องปฏิบัติการ มีความยุ่งยากเนื่องจากไม่สามารถสั่งติดตั้งผ่านเครือข่ายได้ เพราะไม่มีข้อมูล Mac Address ในส่วนกลาง จึงต้องทำการติดตั้ง script ที่ละเครื่อง และเมื่อต้องการเปลี่ยนแปลง scipt ต้องทำการติดตั้งใหม่ที่ละเครื่อง3. ในขณะสอบ มีอุปกรณ์ที่ชำรุด เช่น คีย์บอร์ด หรือเมาส์ ใช้งานติดขัด4. การจองใช้ห้องปฏิบัติการล่วงหน้าช่วงก่อนเปิดเทอม มีข้อจำกัดเนื่องจากการจัดตารางการใช้ห้องจะทราบว่าห้องว่างหรือไม่ ต้องรอให้ทางคณะจัดตารางให้เสร็จก่อน ข้อเสนอแนะในการดำเนินการในอนาคต หรือการดำเนินการเพื่อสามารถนำไปสู่การเป็น Good Practice            ข้อเสนอแนะ1. ในโมเดลที่ 1 ผู้ดูแลห้องปฏิบัติการควรมีการเก็บข้อมูล Mac Address ของเครื่องในห้องปฏิบัติการ เพื่อใช้ระบบ remote เข้าไปติดตั้งชุดคำสั่งจากส่วนกลางให้ติดตั้ง scipt โดยอัตโนมัติ เพื่อลดขั้นตอนการเตรียมการ2. จากการทดลองครั้งนี้ ได้แนวคิดในการสร้างหน้าเว็บ portal ก่อนเข้าหน้าระบบสอบ จะทำให้ไม่ต้องแก้ไข scipt ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงหน้าเพจข้อสอบ และยังสามารถเก็บประวัติการเข้าของผู้สอบได้3. รูปแบบการสอบด้วยอุปกรณ์ส่วนตัวของนักศึกษา พบว่าเป็นโมเดลที่ดีที่สุด เนื่องจากนักศึกษามีความคุ้นเคยกับอุปกรณ์ และสามารถนำไปใช้กับสถานที่ใดก็ได้ กรณีที่ห้องปฏิบัติการไม่ว่าง และการติดตั้ง script ทำได้ง่ายโดยการใช้ QR code สแกนในห้องสอบได้ทันที           แผนดำเนินการ1. พัฒนาระบบเซิร์ฟเวอร์ SEB Server ขององค์กร สำหรับการควบคุมจากส่วนกลาง เพื่อรองรับการใช้งานในจำนวนมากพร้อมๆกัน โดยสามารถสร้าง script และเรียกใช้งานผ่านเซิร์ฟเวอร์นี้ได้ทันที2. พัฒนาระบบ Jitsi Server ขององค์กร เพื่อใช้ร่วมกับ SEB browser ในการคุมสอบ (Proctoring) และสามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นระบบ VDO conference (ฟรี)ในองค์กรได้ด้วย ดูรูปภาพ/กิจกรรมเพิ่มเติมที่นี่

โมเดลรูปแบบการจัดการสอบ Online สำหรับชั้นเรียน 3 ประเภท Read More »

รูปแบบการเรียนรู้ภาคปฏิบัติสู่การสร้างสมรรถนะจำเป็นในศตวรรษที่ 21​

รางวัลชมเชย ปีการศึกษา 2565 ยุทธศาสตร์ที่ 1 : KR 1.2.1, KR 1.2.3 รูปแบบการเรียนรู้ภาคปฏิบัติสู่การสร้างสมรรถนะจำเป็นในศตวรรษที่ 21 ผู้จัดทำโครงการ​ ผศ.ดร. วิมลรัตน์ บุญเสถียร คณะพยาบาลศาสตร์ หลักการและเหตุผล/ความสำคัญ/ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้​          วิชาชีพพยาบาลเป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการดูแลบุคคลซึ่งต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการปฏิบัติงานบนพื้นฐานของความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ต้องถูกต้องแม่นยำและเกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด การจัดการเรียนรู้ของวิชาชีพส่วนใหญ่จึงมีชั่วโมงการฝึกปฏิบัติทั้งในห้องปฏิบัติการและสถานการณ์จริงมากกว่าการเรียนภาคทฤษฎี โดยมุ่งหวังให้นักศึกษามีความความรู้ มีทักษะที่จำเป็นทางวิชาชีพ และมีจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพ รวมทั้งทักษะจำเป็นในศตวรรษที่ 21 ที่สอดคล้องกับคุณลักษณะของพยาบาลยุคปัจจุบันตามที่ปรากฎในหลักสูตรฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2565 ได้แก่ ทักษะการคิดวิเคราะห์และตัดสินใจทางคลินิก ทักษะการสื่อสารทั้งเชิงวิชาชีพและสังคม การเป็นผู้นำหรือผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพให้กับผู้รับบริการ และทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การจัดการเรียนรู้ภาคปฏิบัติที่ผ่านมาแม้จะมีการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติเป็นระยะ จนนักศึกษามีความรู้และทักษะจำเป็นทางวิชาชีพที่สามารถประกอบวิชาชีพได้ตามมาตรฐาน แต่การพัฒนาสมรรถนะจำเป็นในศตวรรษที่ 21 ตามที่ระบุไว้ในหลักสูตรยังไม่ชัดเจน นักศึกษาจำนวนมากเป็นผู้ตามที่ดี แม้มีความรู้ความคิดและตัดสินใจทางคลินิกในระดับหนึ่ง แต่ขาดความมั่นใจในการสะท้อนคิดหรืออภิปรายร่วมกับผู้อื่น เนื่องจากกังวลเรื่องความถูกผิดของความคิดเห็น นอกจากนี้ทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับด้านสังคมและความบันเทิง จึงจำเป็นต้องเพิ่มการเรียนรู้ดิจิทัลเพื่อให้เข้าใจ รู้เท่าทันข้อมูล รู้แหล่งค้นหา เลือกใช้ข้อมูลและใช้งานเทคโนโลยีเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้รับบริการได้อย่างเหมาะสม ประเภทความรู้และที่มาความรู้ ความรู้แบบชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) : บทความแนวคิดเกี่ยวกับทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์ (Experiential Learning Theory)ความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge) : เจ้าของความรู้  วิธีการดำเนินการ 1. วิธีการดำเนินการ  อาจารย์สอนภาคปฏิบัติคณะพยาบาลศาสตร์ได้ร่วมกันปรับรูปแบบการสอนภาคปฏิบัติ โดยมุ่งหวังให้นักศึกษามีสมรรถนะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เพิ่มเติมจากสมรรถนะที่จำเป็นทางวิชาชีพ ดังนี้1. นำเสนอแนวคิดและแผนการพัฒนารูปแบบการสอนภาคปฏิบัติ เพื่อพิจารณาที่ประชุมคณะกรรมการประจำคณะพยาบาลศาสตร์2. ชี้แจงรายละเอียด แผน การดำเนินงาน และบทบาทหน้าที่รับผิดชอบตามตำแหน่ง (รองคณบดีฝ่ายวิชาการ หัวหน้าหลักสูตร ผู้รับผิดชอบหลักสูตร และอาจารย์แต่ละสาขา) ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารหลักสูตร3. จัดเสวนาจำนวน 5 ครั้ง ดังนี้    ครั้งที่ 1 ย้อนรอยการจัดการเรียนการสอน เพื่อถอดบทเรียนการจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติที่ผ่านมา และวิเคราะห์ SWOT เพื่อหาแนวทางการพัฒนาต่อไป    ครั้งที่ 2 ติดปีก… การจัดการเรียนการสอน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิด วิธีการจัดการเรียนการสอน และนำประเด็นการจัดการเรียนการสอนที่ได้ไปพัฒนาการจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติของแต่ละสาขาวิชา    ครั้งที่ 3 การสร้าง competency และการวางกลยุทธ์การสอน เพื่อนำความรู้มาใช้ในการออกแบบการสอนภาคปฏิบัติ ให้นักศึกษามีสมรรถนะตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร    ครั้งที่ 4 โมเดลการเรียนรู้นอกกรอบ… สู่การสร้างสมรรถนะจำเป็นในศตวรรษที่ 21 เป็นการนำเสนอรูปแบบการสอนภาคปฏิบัติของแต่ละสาขา ที่มุ่งสร้างสมรรถนะด้านการตัดสินใจทางคลินิก การสื่อสารเชิงวิชาชีพและเชิงสังคม เทคโนโลยีดิจิทัล ภาวะผู้นำและการนำการเปลี่ยนแปลงให้แก่นักศึกษา หลังการนำเสนอมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำสู่การทดลองใช้รูปแบบที่พัฒนาขึ้นในวิชาที่สาขาเลือก 1 รายวิชา ที่เปิดสอนในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2565    ครั้งที่ 5 ผลลัพธ์การทดลองใช้รูปแบบการเรียนรู้… สู่การสร้างสมรรถนะจำเป็นในศตวรรษที่ 21 เป็นการนำเสนอผลการทดลองใช้รูปแบบการเรียนรู้ที่แต่ละสาขาพัฒนาขึ้น แลกเปลี่ยนเรียนรู้นำสู่การปรับ/พัฒนารูปแบบการสอนภาคปฏิบัติสำหรับนักศึกษา รวมทั้งปรับ/พัฒนาแบบประเมินผลที่เหมาะสมต่อไปก่อนการเสวนาแต่ละครั้งจะมีการดำเนินการ ดังนี้    3.1 ประชุมชี้แจงวัตถุประสงค์ ผลลัพธ์ที่คาดหวัง วิธีดำเนินการ กำหนดการ และผู้รับผิดชอบ ในคณะกรรมการบริหารหลักสูตร    3.2 ประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้อาจารย์ในคณะฯ ทราบผ่านที่ประชุมและไลน์กลุ่ม    3.3 มอบโจทย์ให้ผู้รับผิดชอบหลักสูตรและอาจารย์แต่ละสาขา ประชุมระดมความคิดเห็น หรือดำเนินการตามที่กำหนด    3.4 แต่ละสาขาสรุปข้อมูลและเตรียมการนำเสนอในการเสวนาเมื่อเสร็จสิ้นการเสวนาแต่ละครั้ง รองคณบดีฝ่ายวิชาการจะสรุปข้อมูลและผลการประเมินเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการประจำคณะฯ4. ถอดบทเรียนรูปแบบการจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติที่เหมาะสมในการสร้างสมรรถนะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 นำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการประจำคณะฯ ก่อนเผยแพร่ให้อาจารย์แต่ละสาขานำไปทดลองใช้ และประเมินผลเพื่อการพัฒนาในปีการศึกษาต่อไป  2. ผลการดำเนินการ การนำไปใช้ หรือการลงมือปฏิบัติจริง อุปสรรคหรือปัญหาในการทำงาน    ผลการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ของแต่ละสาขาที่นำเสนอในการเสวนาครั้งที่ 4 มีความหลากหลายเนื่องจากมีรากฐานการพัฒนามาจากหลายแนวคิด จึงมีจุดเด่น และประเมินผลในประเด็นต่างกัน ดังนี้1. กลุ่มวิชาพื้นฐานและเสริมการพยาบาล พัฒนารูปแบบการสอนจากแนวคิดการสร้างพลังอำนาจ โดยกำหนด Structure empowerment (รูปแบบการสอน การเสริมแรง/ให้กำลังใจ สื่อการเรียนรู้ การให้โอกาส) และกลยุทธ์ เพื่อสร้างพลังอำนาจให้แก่นักศึกษา (Psychological empowerment) นำสู่ผลลัพธ์ที่ตั้งเป้าหมายไว้ เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผล ได้แก่ แบบวัดเจตคติต่อการปฏิบัติการพยาบาล และแบบประเมินการรับรู้ความสามารถในการปฏิบัติของตนเอง ผลการประเมิน พบว่า คะแนนเจตคติต่อการปฏิบัติการพยาบาลก่อนและหลังทดลองใช้รูปแบบไม่แตกต่างกัน คะแนนเฉลี่ยการรับรู้ความสามารถในการปฏิบัติการพยาบาลของตนเองในภาพรวมและทักษะรายข้อ อยู่ในระดับดี (คะแนนระหว่าง 3.51-4.50) ในส่วนทักษะศตวรรษที่ 21 ตามที่กำหนดในหลักสูตรยังเกิดขึ้นไม่ชัดเจน จำเป็นต้องพัฒนาต่อเนื่องในรายวิชาอื่น2. สาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ พัฒนา TRIC-PRO model ซึ่งประยุกต์จากกรอบความคิดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 การดำเนินงานผ่านการสร้างสิ่งประดิษฐ์ทางการพยาบาลที่สามารถนำมาใช้ในการดูแลผู้ป่วย โดยอาจารย์มีบทบาทเป็นที่ปรึกษา และใช้เทคนิคสะท้อนคิด เพื่อเสริมสร้างให้นักศึกษามีสมรรถนะตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบประเมินการสร้างนวัตกรรมทางการพยาบาล ยังขาดเครื่องมือในการประเมินสมรรถนะอื่นตามที่หลักสูตรกำหนด ผลการประเมิน พบว่า มีสิ่งประดิษฐ์ทางการพยาบาลที่น่าสนใจเกิดขึ้นหลายชิ้น ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้จริง อย่างไรก็ตามการประเมินผลทักษะศตวรรษที่ 21 ตามที่กำหนดในหลักสูตรยังไม่ชัดเจน3. สาขาการพยาบาลมารดาทารกและผดุงครรภ์ พัฒนารูปแบบการสอนโดยใช้ Case method ในรายวิชาทฤษฎี ต่อเนื่องไปยังวิชาปฏิบัติ ลด Content-based มุ่งเน้นการคิดวิเคราะห์บนหลักการมากกว่ามุ่งวิธีการที่เป็นขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผล คือ แบบประเมินคุณธรรมจริยธรรมเชิงวิชาชีพ แบบประเมินทักษะการปฏิบัติเชิงวิชาชีพของคณะฯ ผลการประเมิน แม้การดำเนินงานจะเป็นไปตามรูปแบบที่วางไว้แต่ประสิทธิผลยังไม่ถึงเป้าหมายที่กำหนด (อยู่ระดับพอใช้ 60-69%) อย่างไรก็ตามการประเมินข้อมูลเชิงคุณภาพ พบว่า นศ.มีความมั่นใจ กล้าแสดงออก มีความเป็นผู้นำ สื่อสารเชิงวิชาชีพได้ดีขึ้น สามารถประสานและทำงานร่วมกับสหวิชาชีพได้เหมาะสม แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เหมาะสมมากขึ้น รวมทั้งปฏิบัติงานในวิถีใหม่ที่แตกต่างจากเดิมแต่ยังอยู่ภายใต้หลักการ เช่น การทำเตียงรับผู้ป่วยโดยพับผ้าห่มรูปหัวใจเพื่อให้กำลังใจผู้ป่วยหลังกลับจากการผ่าตัด การใช้ QR code ให้ผู้ป่วยดาวน์โหลดเอกสารการให้ความรู้ซึ่งสามารถทบทวนได้ทุกที่ทุกเวลาที่ผู้ป่วยต้องการ เป็นต้น4. สาขาการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น พัฒนารูปแบบการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง และสนับสนุนสื่อวิดิทัศน์ หุ่น Simulator และอุปกรณ์ที่จำเป็นแก่นักศึกษา โดยอาจารย์ใช้เทคนิคสะท้อนคิดเพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้และค้นหาคำตอบที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ประเมินผลการทดลองใช้รูปแบบจาก เกรด การแสดงความคิดเห็นและการอภิปรายของนักศึกษาในกลุ่มย่อย พบว่า ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เกรดของนักศึกษายังคงเดิม ยังต้องปรับปรุงเกี่ยวกับการพัฒนากระบวนการคิด วิเคราะห์ และเพิ่มสมรรถนะในการอภิปรายเชิงลึกให้กับนักศึกษา รวมทั้งการพัฒนาสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 ยังไม่ชัดเจน5. สาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช พัฒนารูปแบบการสอนโดยผสมผสานหลายแนวคิดกับประสบการณ์การสอนภาคปฏิบัติที่ผ่านมา กับกรอบแนวคิดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (4R+7C) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผลใช้แบบประเมินคุณธรรมจริยธรรมเชิงวิชาชีพ แบบประเมินทักษะการปฏิบัติเชิงวิชาชีพของคณะฯ โดยปรับข้อคำถามบางข้อให้เฉพาะเจาะจงในการประเมินสมรรถนะที่ต้องการ ผลการประเมินด้านสมรรถนะจำเป็นในศตวรรษที่ 21 ตามที่กำหนดในหลักสูตรยังเห็นผลไม่ชัดเจน ต้องพัฒนาต่อไป6. สาขาการพยาบาลอนามัยชุมชน พัฒนารูปแบบการสอนโดยใช้ Project-based learning ในงานการพัฒนาชุมชนที่ดูแล โดยปรับบทบาทนักศึกษาให้เป็นผู้ริเริ่ม ผู้เลือก/ผู้ตัดสินใจ และผู้สอนเป็นผู้กระตุ้น ผู้ใช้คำถามให้นักศึกษาสะท้อนคิด และผู้ให้คำปรึกษา เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบประเมินทักษะการปฏิบัติเชิงวิชาชีพของคณะฯ โดยปรับข้อคำถามบางข้อให้เฉพาะเจาะจงในการประเมินสมรรถนะที่ต้องการ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการทดลองใช้รูปแบบการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น ยังไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ด้านการเป็นผู้นำยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ นักศึกษายังคุ้นชินกับวัฒนธรรมที่มีอาจารย์เป็นผู้กำหนด/บริหารจัดการในการสอนภาคปฏิบัติ ยังไม่มั่นใจที่จะริเริ่ม แสดงความเห็น กังวลเรื่องความถูกผิดและการสร้างสิ่งใหม่ที่ยังไม่เคยทำมาก่อน แม้จะมีแนวคิดในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ทางกายพยาบาลที่เหมาะสมกับผู้รับบริการในชุมชนแต่ไม่สามารถเป็นผู้นำให้เกิดการเปลี่ยนความคิดในการปรับพฤติกรรมของคนในชุมชนได้ 3. การตรวจสอบผลการดำเนินการ การนำเสนอประสบการณ์นำไปใช้ สรุปและอภิปรายผล บทสรุปความรู้หรือความรู้ที่ค้นพบใหม่    แม้แนวคิดเริ่มต้นในการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ของแต่ละสาขาจะแตกต่างกันแต่ทุกรูปแบบมีแก่นของกระบวนการพัฒนาสมรรถนะนักศึกษาที่คล้ายคลึงกัน เมื่อพิจารณาแล้ว พบว่า แก่นของกระบวนการพัฒนานักศึกษาสอดคล้องตามแนวคิดทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์ (Experiential learning theory: ELT) ของ David A. Kolb ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างการเรียนรู้จากประสบการณ์การปฏิบัติ ทบทวนและสะท้อนคิดสิ่งที่ปฏิบัติจนตกผลึกความคิด รับรู้ถึงความรู้ใหม่ที่ตนเองได้รับ และนำไปต่อยอดความรู้เดิมที่มีหรือนำไปปรับใช้ในสถานการณ์อื่นๆ หมุนเวียนเป็นวงจรไม่สิ้นสุด ดังนั้น ความรู้ที่เกิดขึ้นจะถูกเปลี่ยนแปลง ขยาย ต่อยอดตลอดเวลา ทำให้นักศึกษาพบเจอความรู้ใหม่ๆ และเท่าทันการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การถอดบทเรียนเพื่อค้นหารูปแบบการเรียนรู้ภาคปฏิบัติที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของวิชาชีพในครั้งนี้ จึงมีรากฐานจากแนวคิดทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์ผสานกับแก่นข้อมูลความรู้ที่ได้จากการอภิปรายในการเสวนา     สามารถสรุปเป็นรูปแบบการสอนภาคปฏิบัติที่สอดคล้องกับบริบทของวิชาชีพซึ่งคณะฯ จำเป็นต้องนำไปทดลองใช้ซ้ำในปีการศึกษาต่อไป โดยรูปแบบการเรียนรู้ภาคปฏิบัติที่เหมาะสมสามารถวาดเป็นแผนภูมิ ประกอบด้วยวงกลม 3 ชั้น แต่ละชั้นมีความสัมพันธ์กัน1. วงกลมในสุด เป็นแก่นของกระบวนการจัดการเรียนรู้ภาคปฏิบัติ ที่จำเป็นต้องเน้นที่ Core concepts มากกว่าวิธีการปฏิบัติ เนื่องจากปัจจุบันการดำเนินของโรคมีการเปลี่ยนแปลงไป ร่วมกับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้วิธีการปฏิบัติมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามหลักการของการดูแลบุคคลทั้งในระยะส่งเสริม ป้องกัน ดูแล และฟื้นฟูยังคงเดิม นักศึกษาจึงจำเป็นต้องมีองค์ความรู้ที่เป็นแก่นของความรู้แท้จริงที่ถูกต้องแม่นยำ2. วงกลมชั้นที่ 2 เป็นกระบวนการพัฒนานักศึกษาจากประสบการณ์ที่ฝึกปฏิบัติ เพื่อให้นักศึกษาเข้าถึงแก่นความรู้ที่จำเป็นในวิชาชีพ และสร้างสมรรถนะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 (ทักษะการคิดวิเคราะห์และตัดสินใจทางคลินิก ทักษะการสื่อสารทั้งเชิงวิชาชีพและสังคม การเป็นผู้นำหรือผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพให้กับผู้รับบริการ และทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล) โดยกระบวนนี้ประยุกต์มาจากแนวคิดของทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์ กระบวนการประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่    2.1 Experiencing เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติ โดยอาจารย์ผู้สอนเลือก/กำหนดประสบการณ์ที่จำเป็นต้องได้รับซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของรายวิชา ประสานบุคลากรสุขภาพในแหล่งฝึก และเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติจริงทั้งในสถานการณ์จำลองและสถานการณ์จริง โดยอาจารย์มีบทบาทเป็นผู้ชี้แนะ/ผู้ให้คำปรึกษา/ผู้เอื้ออำนวย และใจเย็นอดทนรอ เพื่อให้นักศึกษาผ่านประสบการณ์ครั้งนี้ก่อนก้าวสู่ระยะที่ 2 ต่อไป    2.2 Reviewing and Reflecting เป็นขั้นตอนที่นำประสบการณ์การปฏิบัติที่ได้รับมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สะท้อนจุดเด่น จุดด้อย ความรู้สึกของการปฏิบัติ ค้นหาแนวทางในการปรับปรุงการปฏิบัติครั้งต่อไป ซึ่งนักศึกษาต้องดำเนินการทั้งในระดับของตนเอง และระดับกลุ่มเพื่อนที่ฝึกปฏิบัติผ่านช่องทางการ Post-conference ในแหล่งฝึก และสามารถสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ของกลุ่ม หากเป็นประเด็นที่ไวต่อความรู้สึกอาจพูดคุยกับอาจารย์ผู้สอนตามลำพัง ขั้นตอนนี้อาจารย์ผู้สอนมีบทบาทเป็นผู้กระตุ้นโดยใช้คำถามหรือใช้กระบวนการกลุ่มที่เหมาะสม ในบรรยากาศที่ยืดหยุ่น ผ่อนคลาย ไม่กดดัน ทำให้นักศึกษารู้สึกว่าอาจารย์เป็น safe zone ของนักศึกษา และแต่ละคนในกลุ่มเป็น safe zone ซึ่งกันและกัน เสริมพลังให้นักศึกษาด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ช่วยให้นักศึกษาตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ของตนเอง ชี้แนะช่องทางการไปถึงเป้าหมาย ยกตัวอย่างที่ดีเกี่ยวกับการปฏิบัติของนักศึกษา ช่วยให้นักศึกษารับรู้ว่า “การไม่รู้ ไม่ผิด” “การไม่รู้ ไม่ทำให้เสียหน้า” “ทุกวันที่ฝึกปฏิบัติ คือ วันแรกที่ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ” นอกจากนี้อาจารย์ต้องไม่ตัดสินนักศึกษาว่า ถูก/ผิด ได้/ตก แต่ควรสนับสนุนและเปิดโอกาสและเป็นผู้ฟังที่ดี สอดแทรกทัศนคติหรือจริยธรรมในการดูแลตามโอกาสที่เหมาะสม และสร้างวัฒนธรรมของการ Respect ซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างให้นักศึกษา “เกรงใจ แต่ไม่กลัว”    2.3 Thinking and Concluding เป็นขั้นตอนที่นักศึกษาต้องไตร่ตรอง แยกแยะ เปรียบเทียบกับสิ่งที่เคยเรียนรู้มา เพื่อตกผลึกองค์ความรู้ใหม่ที่ได้รับในครั้งนี้ ขั้นตอนนี้อาจารย์มีบทบาทน้อยเนื่องจากการจัดวางองค์ความรู้ใหม่ต้องกระทำด้วยตัวของนักศึกษาเอง แต่ละคนจะใช้เวลาแตกต่างกัน หรือบางคนอาจไม่สามารถสรุปความรู้ใหม่ที่เรียนรู้ได้เลย อาจารย์ควรติดตามความก้าวหน้าของนักศึกษาแต่ละคน และชี้แนะแนวทางให้นักศึกษาบางคนเพื่อให้สามารถตกผลึกองค์ความรู้ด้วยตนเองให้ได้    2.4 Acting (Tryout) เป็นขั้นตอนที่นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติซ้ำอีกครั้งบนพื้นฐานขององค์ความรู้ที่ตนเองค้นพบ จึงคล้ายกับเป็นการทดลองนำความรู้ที่ตนเองสร้างขึ้นไปใช้จริง เพื่อพิสูจน์ว่าเข้าใจถูกต้องหรือไม่ อาจมีการปรับเปลี่ยนความรู้ที่ใช้ให้เหมาะสมตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง หมุนวนเป็นวงจรไม่สิ้นสุด และเกิดองค์ความรู้ใหม่ตลอดเวลา แม้จะเป็นการปฏิบัติในทักษะเดิมก็ตาม3. วงกลมชั้นที่ 3 เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลในการส่งเสริมให้การจัดกระบวนการเรียนรู้ภาคปฏิบัติของนักศึกษามีประสิทธิภาพสูงสุด การถอดบทเรียนจากการเสวนาผลการนำรูปแบบการเรียนรู้ของแต่ละสาขาไปทดลองใช้ สรุปปัจจัยที่มีอิทธิพลได้ดังนี้    3.1 Flexibility หมายถึง การจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นมุ่งเน้นหลักการและผลลัพธ์ (เน้นหลักการ ไม่เน้นวิธีการ) ไม่ตัดสินถูกผิด เปิดโอกาสให้นักศึกษาตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ของตนและส่งเสริม/กระตุ้นให้นักศึกษาไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ โดยอาจารย์ช่วยปรับให้เป้าหมายของนักศึกษาเข้ากับวัตถุประสงค์ของวิชาและวิชาชีพ สร่างบรรยากาศให้ทุกคนทำงานประสาน ช่วยเหลือ เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษารู้สึกปลอดภัยที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ใหม่ในกระบวนการพัฒนาผู้เรียนจากประสบการณ์    3.2 Consistency อาจารย์อดทน ใจเย็น ให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ตรง อย่างไรก็ตามต้องมีเงื่อนเวลาและกำหนดระดับที่ชัดเจน ซึ่งอาจารย์ผู้สอนทุกคนต้องเข้าใจและปฏิบัติในแนวทางเดียวกันด้วยความสม่ำเสมอ จริงจัง จนกลายเป็นค่านิยมที่ยึดถือ    3.3 Empowerment อาจารย์สนับสนุนให้นักศึกษารับรู้สมรรถนะของตนเอง สนับสนุนให้คิดวิเคราะห์ เปิดโอกาสให้นักศึกษาตัดสินใจเกี่ยวกับการดูแลผู้รับบริการในเรื่องที่ไม่เป็นอันตรายเพื่อสร้างความภาคภูมิใจและความมั่นใจในความสามารถของตนเอง สนับสนุนแหล่งประโยชน์/สื่อ/เทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ผ่านวิธีการสอนที่หลากหลายเหมาะสมกับลักษณะวิชา เช่น การสร้างนวัตกรรม case method, project-based เพื่อสนับสนุนให้นักศึกษาได้คิด วิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ สื่อสารความคิด ให้ข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพ ฝึกตัดสินใจในขอบเขตของวิชาชีพ และการเป็นผู้นำ/ผู้ตามที่ดี โดยอาจารย์ใช้คำพูด ท่าที ในการสร้างพลัง/เสริมแรงให้นักศึกษาก้าวไปสู่เป้าหมายที่คาดหวัง    3.4 Safe zone creation ความรู้สึกปลอดภัยจะเกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศการเรียนรู้ที่ผ่อนคลาย ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับอาจารย์ผู้สอน อาจารย์สามารถสร้าง safe zone ระหว่างอาจารย์-นักศึกษา นักศึกษา-นักศึกษาที่ฝึกปฏิบัติงานร่วมกันได้โดย อาจารย์สนับสนุน/ชี้แนะ/ให้คำปรึกษา/ให้กำลังใจเพื่อสื่อให้นักศึกษารับรู้ว่า “อาจารย์ช่วยเหลือ ไม่ใช่ประเมินได้-ตก หรือตัดสินถูก-ผิด” เป็น role model ทั้งทางวิชาชีพและการ respect ซึ่งกันและกัน (อาจารย์-นักศึกษา นักศึกษา-นักศึกษา อาจารย์-บุคลากรสุขภาพ นักศึกษา-บุคลากรสุขภาพ) ใจกว้าง ใจเย็น ควบคุมอารมณ์ในทุกสถานการณ์ที่พบในแหล่งฝึก สร้างวัฒนธรรมการรับรู้ว่า “ความไม่รู้ ไม่ใช่ความผิด แก้ไขได้ด้วยการค้นคว้า” “ทุกวันที่ฝึกปฏิบัติ คือ วันแรกที่จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ” “การปฏิบัติทั้งที่ไม่รู้ อาจทำให้เกิดความผิดที่ยากจะแก้ไข” ข้อเสนอแนะในการดำเนินการในอนาคต หรือการดำเนินการเพื่อสามารถนำไปสู่การเป็น Good Practice           ผลการทดลองใช้รูปแบบการเรียนรู้ที่แต่ละสาขาพัฒนาขึ้นเป็นไปตามความคาดหวังเพียงส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ทั้งหมด คือ สร้างสมรรถนะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 (ทักษะการตัดสินใจทางคลินิก ทักษะการสื่อสารเชิงวิชาชีพและสังคม ทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ภาวะผู้นำและการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง) อย่างไรก็ตามผลจากการถอดบทเรียนในการเสวนาครั้งที่ 5 ทำให้คณะฯ ได้ (ร่าง) รูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาคปฏิบัติที่น่าจะเหมาะสมกับบริบทการจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติของคณะฯ แต่ควรมีการดำเนินการต่อเนื่อง ดังนี้1. เผยแพร่ (ร่าง) รูปแบบการจัดการเรียนรู้ให้คณะกรรมการบริหารหลักสูตร และคณาจารย์ ทราบ เพื่อสร้างการรับรู้ และสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน2. พัฒนาอาจารย์ให้มีทักษะด้านเทคนิคการสอนโดยใช้ Questioning, Reflecting กระบวนการกลุ่ม และเทคนิคการสร้างความรู้จากประสบการณ์3. มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารหลักสูตรกำหนดบันไดสมรรถนะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ของแต่ละชั้นปี และปรับปรุงแบบประเมินผลการสอนภาคปฏิบัติ ให้ครอบคลุมสมรรถนะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เพื่อให้สาขานำไปทดลองใช้4. กำหนด/กระตุ้นให้ทุกสาขานำรูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาคปฏิบัติที่ได้จากการถอดบทเรียน ไปทดลองใช้ เก็บรวบรวมข้อมูล และนำเข้าสู่การเสวนาครั้งต่อไป ดูรูปภาพ/กิจกรรมเพิ่มเติมที่นี่

รูปแบบการเรียนรู้ภาคปฏิบัติสู่การสร้างสมรรถนะจำเป็นในศตวรรษที่ 21​ Read More »

อาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษา

รางวัลชมเชย ปีการศึกษา 2565 ยุทธศาสตร์ที่ 1 :KR 1.4.1, KR 1.4.2, KR 1.4.5 อาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษา ผู้จัดทำโครงการ​ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัลลภา เฉลิมวงศาเวช วิทยาลัยครูสุริยเทพ หลักการและเหตุผล/ความสำคัญ/ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้​          ตามหลักการอาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษานับเป็นหนึ่งในมาตรฐานหลักของการบริหารหลักสูตรตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติรวมไปถึงมาตรฐานของสมาคมพัฒนาวิชาชีพการบริหารการศึกษาแห่งประเทศไทย ทั้งยังสอดคล้องกับกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัยรังสิตในการพัฒนาสมรรถนะอาจารย์ให้มีความเป็นมืออาชีพทั้งในทางด้านวิชาการ การจัดการเรียนการสอนและการประเมินผล โดยกำหนดไว้ว่าอาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษานั้นนอกจากจะต้องเป็นอาจารย์ที่มีคุณภาพสูง มีความสามารถเป็นเลิศในการจัดการเรียนและการสอน และมีผลการประเมินประสิทธิผลการสอนโดยนักศึกษาในระดับ 4.01 ขึ้นไปแล้วนั้น ยังต้องได้รับการพัฒนาทางวิชาการและวิชาชีพ โดยเน้นกระบวนการทำงานและการสร้างมาตรฐานที่นำไปสู่ความสำเร็จตามได้ตามความคาดหมาย         ความสำคัญในการพัฒนาตนเองสู่การเป็นอาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษาไม่เพียงแต่เป็นการสนองนโยบายหลักของการบริหารหลักสูตรตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ มาตรฐานของสมาคมพัฒนาวิชาชีพการบริหารการศึกษาแห่งประเทศไทย รวมทั้งกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัยรังสิตในการพัฒนาสมรรถนะอาจารย์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยรังสิต ปี พ.ศ.2565-2569 (แผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่) แต่ยังเป็นวิธีการประเมินตนเองอย่างเป็นเป็นรูปธรรมในกระบวนการการทำงานว่าได้ทำสิ่งใดบ้าง อย่างไร และได้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่         ดังนั้น ประเด็นสำคัญของการพัฒนาตนเองสู่การเป็นอาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษานั้นขึ้นอยู่กับการทบทวนวิธีการและและสะท้อนประสบการณ์ในกระบวนการสร้างและรักษามาตรฐานของการทำงานสู่ระดับการยอมรับในความเป็นมืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษาตั้งแต่ในระดับสถาบันจนถึงระดับชาติ ซึ่งรวมถึงการสร้างการยอมรับและความน่าเชื่อถือให้กับวิชาชีพ สาขาวิชา รวมไปถึงหลักสูตรที่รับผิดชอบในทุกๆด้าน ตั้งแต่การจัดการเรียนการสอน การวิจัย การเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ตลอดจนการพัฒนาหลักสูตรให้เป็นไปตามกรอบมาตรฐานฯและสาขาวิชาชีพ ดังนั้นอาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษาจึงจำเป็นต้องพัฒนาตเองสู่ความเป็นเลิศในการพัฒนา ความรู้ ทักษะและความสามารถที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน ประเภทความรู้และที่มาความรู้ ความรู้แบบชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) : เจ้าของความรู้ความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge) : – วิธีการดำเนินการ 1. วิธีการดำเนินการ   การพัฒนาตนเองสู่ความเป็นอาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษาต้องอาศัยการสร้างความเข้าใจในความเป็นตัวตน บทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบในฐานะอาจารย์ผู้สอน การเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา การทำวิจัย และการบริการวิชาการ ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสอบถามความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับอาจารย์ในหลักสูตรและสาขาวิชา เพื่อสร้างความสัมพันธ์และบรรยากาศที่ดีในการการทำงานร่วมกันให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล ซึ่งการปฏิบัติภาระหน้าที่และการวางแผนการพัฒนาตนเองให้เข้ากับเกณฑ์ต่างๆนั้นจำเป็นต้องทำควบคู่กันไป อาทิ การสร้างผลงานด้านการบริหารหลักสูตร ด้าการสอน ด้านการส่งเสริมหรือการให้การสนับสนุนผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาและผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษา โดยพิจารณาเกณฑ์ต่างๆไปทีละประเด็น จัดลำดับความสำคัญของงาน โดยประยุกต์งานประจำให้เหมาะสมกับเกณฑ์เหล่านั้น และดำเนินงานตามแผนการพัฒนาตนเองที่ได้กำหนดไว้ให้สำเร็จลุล่วง โดยวิธีการดำเนินการสามารถแบ่งงานออกเป็นด้านๆ ดังนี้   1. งานด้านการสอน อาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษาอาจารย์ต้องมีความรู้ความเข้าใจและมีความสามารถในการออกแบบการสอน การวางแผนการสอน การประเมินผลการสอน ตามเกณฑ์ TQF และจัดการเรียนการสอนโดยใช้รูปแบบและวิธีการสอนที่เหมาะสมโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ   2. งานด้านการเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษาต้องทำหน้าที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้แก่นักศึกษา โดยหน้าที่หลักคือการดูแลนักศึกษาตั้งแต่เริ่มต้นทำวิทยานิพนธ์จนเสร็จสิ้นกระบวนการที่นักศึกษาสามารถยื่นจบการศึกษาได้ อาจารย์ต้องวางแผนการทำวิทยานิพนธ์ให้แก่นักศึกษาในความรับผิดชอบอย่างเป็นระบบ มีการให้คำปรึกษา แนะนำ เสนอแนะแนวทาง ตรวจสอบและปรับปรุงแก้ไขวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาให้เป็นไปตามระเบียบวิธีวิจัยที่ถูกต้อง พร้อมทั้งให้คำปรึกษาหรือเสนอแนะแหล่งตีพิมพ์เผยแพร่บทความวิจัยของนักศึกษา ตลอดจนการสร้างขวัญและกำลังใจให้ผู้เรียนอย่างสม่ำเสมอและการให้ความสำคัญแก่นักศึกษาทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน   3. งานด้านการบริหารหลักสูตร อาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษาต้องบริหารจัดการ กำกับดูแล ในฐานะผู้อำนวยการหลักสูตร ตลอดจนพัฒนาหลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษาให้มีประสิทธิภาพ โดยศึกษาเกณฑ์ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ให้ชัดเจน รู้แจ้ง ทำความเข้าใจองค์ประกอบของหลักสูตร จัดการเรียนการสอน และมาตรฐานการรับรองหลักสูตรปริญญาโททางการบริหารการศึกษาของคุรุสภา   4. งานด้านการบริการทางวิชาการ อาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษาต้องมีการบริการทางวิชาการ เป็นส่งเสริมหรือการให้การสนับสนุนผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาและผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษา โดยอาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษาต้องสละเวลา อุทิศตน สร้างเครือข่ายโดยให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมในการทำงานกับหน่วยงานอื่นทั้งภายในและภายนอกสถาบัน โดยการใช้ความรู้ ความสามารถของตนในการช่วยเหลือ ส่งเสริม และให้การสนับสนุนแก่หน่วยงานต่างๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นการพัฒนาศักยภาพการทำงานของตัวอาจารย์เองแล้วนั้น ยังเป็นการสร้างความร่วมมือ และการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับหน่วยงานภายในและภายนอกอื่นๆ 2. ผลการดำเนินการ การนำไปใช้ หรือการลงมือปฏิบัติจริง อุปสรรคหรือปัญหาในการทำงาน    การเป็นอาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษาที่มีคุณภาพสูง มีความสามารถเป็นเลิศในการจัดการเรียนและการสอน มีผลการประเมินประสิทธิผลการสอนโดยนักศึกษาในระดับ 4.01 ขึ้นไปนั้น จะต้องมีผลงานด้านการบริหารหลักสูตร ด้านการสอน ด้านการส่งเสริมหรือการให้การสนับสนุนผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาและผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษา ด้วยเหตุผลที่ว่าหลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษาเป็นหลักสูตรที่ต้องพัฒนาประสบการณ์ทางวิชาการชีพเฉพาะด้านที่ลุ่มลึก โดยมุ่งหวังให้ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้ด้วยตนเองจากการศึกษาค้นคว้าวิจัย และสามารถนำองค์ความรู้และผลของการวิจัยไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการประกอบวิชาชีพ ไปจนถึงการพัฒนาเยาวชน และสร้างความเข้มแข็งให้สังคม และประเทศชาติ โดยผลการดำเนินการสามารถแบ่งงานออกเป็นด้านๆ ดังนี้    1. งานด้านการสอน อาจารย์จะต้องมีความรู้ความเข้าใจและมีความสามารถในการออกแบบการสอน การวางแผนการสอน การประเมินผลการสอน และจัดการเรียนการสอนโดยใช้รูปแบบและวิธีการสอนที่เหมาะสมโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยอาจารย์จะต้องกระตุ้นผู้เรียนให้มีความรู้และทักษะที่นำไปใช้ได้จริงในการประกอบวิชาชีพ ผลที่ได้คือนักศึกษาทุกคนสามารถวัดผลการประเมินรายวิธิผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานระดับบัณฑิตศึกษา และอาจารย์มีผลการประเมินประสิทธิผลการสอนโดยนักศึกษาในระดับ 4.01 ขึ้นไป    2. งานด้านการเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา การทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาอย่างมีคุณภาพเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในบางกรณีที่นักศึกษามีข้อจำกัดบางประการ ยกตัวอย่างเช่น นักศึกษาชาวจีนที่เข้ามาศึกษาต่อในหลักสูตรจะต้องเรียนและทำวิทยานิพนธ์เป็นภาษาไทย การเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาซึ่งนอกจากจะต้องให้ความรู้ ความเข้าใจ และคอยชี้แนะ แนะนำการทำวิทยานิพนธ์ที่ต้องเขียนเป็นภาษาไทยให้เป็นไปตามมารตฐานการวิจัยแล้วนั้น อาจารย์ที่ปรึกษาจะต้องคอยให้กำลังใจ กระตุ้น และคอยติดตามนักศึกษาอย่างสม่ำเสมอไม่ให้ขาดการติดต่อซึ่งส่งผลให้นักศึกษาสามารถสอบผ่านวิทยานิพนธ์ได้ในระดับดีเยี่ยม สามารถนำบทความไปตีพิมพ์เผยแพร่วิทยานิพนธ์ในฐานข้อมูลที่ได้รับการยอมรับในระดับ TCI 1 จนได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น จากบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรังสิต ปีการศึกษา 2565 ทำให้นักศึกาสามารถจบการศึกษาตามกำหนดภายในระยะเวลา 2 ปีการศึกษา   3. งานด้านการบริหารหลักสูตร งานสำคัญของการบริหารหลักสูตรนอกเหนือจากการวางแผนการดำเนินงาน การจัดการดูแลหลักสูตรให้สามารถดำเนินงานไปอย่างราบรื่นแล้วนั้น หน้าที่ที่สำคัญคือการเป็นผู้พัฒนาหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา ของมหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อให้ได้รับการรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษาจากคุรุสภา ทั้งนี้การได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบพัฒนาหลักสูตรปีปรับปรุงปีการศึกษา 2560 และหลักสูตรปรับปรุงปีการศึกษา 2565 เพื่อให้ได้รับการรับรองอย่างต่อเนื่องถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุด โดยการที่หลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากคุรุสภาเท่านั้นที่จะทำให้นักศึกษาที่เข้าเรียนในหลักสูตร สามารถขอรับใบประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา/ผู้บริหารการศึกษาได้ เมื่อจบการศึกษาจากหลักสูตร โดยกระบวนการการพัฒนาหลักสูตรทั้งหมดนั้นจะต้องศึกษากฎเกณฑ์ระเบียบและข้อบังคับเพื่อชี้แจงและสร้างความเข้าใจแก่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์การขอรับรองหลักสูตรเพื่อขอรับใบประกอบวิชาชีพจากคุรุสภา ซึ่งปัจจุบันนี้หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษาได้รับการรับรองหลักสูตรฯ จากคุรุสภาเป็นรอบที่ 2 เป็นที่เรียบร้อย โดยที่รอบที่ 1 เป็นการรับรองหลักสูตรฉบับปรับปรุงปี 2560 (ครอบคลุมปีการศึกษา 2560 – 2564) และรอบที่ 2 หลักสูตรฉบับปรับปรุงปีการศึกษา 2565 (ครอบคลุมปีการศึกษา 2565 – 2569) นั่นหมายถึงมหาบัณฑิตที่จบการศึกษาจากหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา แผน ก ทุกคนจะมีสิทธิ์ได้รับใบประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา/ผู้บริหารการศึกษาจากคุรุสภา เพื่อไปสอบชิงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาในอนาคตอย่างแน่นอน  4. งานด้านการบริการทางวิชาการ การบริการทางวิชาการเป็นการส่งเสริมหรือการให้การสนับสนุนผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาและผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษา อาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษาต้องสละเวลา อุทิศตน สร้างเครือข่ายโดยให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมในการทำงานกับหน่วยงานอื่นทั้งภายในและภายนอกสถาบัน โดยการใช้ความรู้ ความสามารถของตนในการช่วยเหลือ ส่งเสริม และให้การสนับสนุนแก่หน่วยงานต่างๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นการพัฒนาศักยภาพการทำงานของตัวอาจารย์เองแล้วนั้น ยังเป็นการสร้างความร่วมมือ และการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับหน่วยงานภายในและภายนอกอื่นๆ อีกด้วย อาทิ การได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการฝ่ายวิชาการของสมาคมพัฒนาวิชาชีพการบริหารการศึกษาแห่งประเทศไทย (ภาคกลาง) เพื่อร่วมมือกันพัฒนาวิชาชีพการบริหารการศึกษาทั้งองค์ ความรู้ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม เป็นการสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาวิชาชีพการบริหารการศึกษาของประเทศไทย การได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2565 ของมหาวิทยาลัยรังสิต การได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับหลักสูตร และการได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินรายการงานรังสิตวิชาการ ในการเสวนาเรื่อง นวัตกรรมการศึกษาของครูยุคใหม่ เพื่อพัฒนาผู้เรียนในยุคปัจจุบัน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อส่งเสริม และสนับสนุนผู้ร่วมวิชาชีพให้มีการพัฒนาวิชาชีพและการบริหารงานทางด้านการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นอาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษาควรจะต้องพัฒนาตนเองให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมวิชาการ ดังนี้    1. การให้บริการวิชาการในฐานะการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการพิจารณาบทความในวารสารต่างๆ อาทิ การเป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความของวารสารต่างๆ ในฐาน TCI อาทิ วารสารวิชาการธรรมทรรศน์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (TCI1), วารสารการบริหารและนวัตกรรมการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (TCI1), วารสาร ASEAN Journal of Management & Innovation มหาวิทยาลัยสแตมฟอร์ด (TCI2), การประชุมวิชาการและเผยแพร่ผลงานวิจัยคัดสรร สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ สสอท., การนำเสนอผลงานทางวิชาการระดับชาติและระดับนานาชาติและงานบริหารการศึกษาสัมพันธ์ ของสมาคมพัฒนาวิชาชีพการบริหารการศึกษาแห่งประเทศไทย    2. การเป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาโครงร่างการวิจัยเพื่อในการรับรองจริยธรรมการวิจัย     3. การได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตัดสินผลงานทางการศึกษาต่างๆ การตัดสินผลงานของครู เพื่อนำเสนอในงานรังสิตวิชาการ (RSU Academic Expo/Conference) ซึ่งการให้บริการทางวิชาการเหล่านี้นั้นถือเป็นการสร้างความร่วมมือทางวิชาชีพ และการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับสถาบันและหน่วยงานอื่นๆ อันก่อให้เกิดเครือข่ายทางวิชาชีพที่เข้มแข็ง การให้บริการวิชาการโดยเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อดําเนินแผนงานร่วมทุนสนับสนุนการพัฒนาสุขภาวะจังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นกิจกรรมเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพภายในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์และภารกิจตามมาตรา 5 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 โดยการจัดบริการวิชาการ โครงการโรงเรียนสุขภาวะ ตําบลหลักหก จังหวัดปทุมธานี เพื่อพัฒนาโรงเรียนสุขภาวะ โดยเริ่มต้นพัฒนาจากผู้เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) กับโรงเรียนก่อน คือ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง และชุมชน เป็นใช้องค์ความรู้และความสามารถของอาจารย์ในการพัฒนาและสร้างการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทํางานให้แก่กลุ่มเป้าหมาย ให้เกิดการเรียนรู้ที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันใน 3 ประเด็นหลักคือ    1) ร่วมสร้างแผนพัฒนาโรงเรียน (School Improvement Plan/ SIP)    2) ร่วมออกแบบกระบวนการทํางานในโรงเรียนให้เกิดความยั่งยืน และ    3) ร่วมเรียนรู้การทํางานเป็นทีมโดยใช้ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community/ PLC) ซึ่งการร่วมมือกันดังกล่าวนี้จะช่วยใหกลุ่มเป้าหมายปรับเปลี่ยนวิธีคิดจากการรอรับนโยบาย และการสั่งการเป็นการมีส่วนร่วมรับผิดชอบการบริหารจัดการด้วยตัวเองมากขึ้น โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงพัฒนาโรงเรียนตามสภาพจริง ซึ่งโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะพัฒนาสุขภาวะของประชาชนในจังหวัดปทุมธานีให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ตําบลหลักหก เพื่อพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ให้เป็นโรงเรียนสุขภาวะ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่นักเรียนในพื้นที่ตําบลหลักหก อีกทั้งโครงการดังกล่าวยังมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการที่สถาบันอุดมศึกษาจะเป็นพี่เลี้ยงให้แก่สถานศึกษาขั้นพื้นฐานในการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา ตลอดจนการให้คำแนะนำ ปรึกษา และชี้แนะผู้บริหารสถานศึกษาให้การบริหารสถานศึกษาได้อย่างราบรื่นและมีคุณภาพ เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาของชาติอีกด้วย 3. การตรวจสอบผลการดำเนินการ การนำเสนอประสบการณ์นำไปใช้ สรุปและอภิปรายผล บทสรุปความรู้หรือความรู้ที่ค้นพบใหม่    สรุปประเด็นสำคัญที่ได้ ดังนี้คือ 1. อาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษาเป็นอาจารย์ที่มีคุณภาพ มีความทันสมัย ทันเหตุการณ์ และมีการพัฒนาตนเองทางวิชาการและวิชาชีพอย่างสม่ำเสมอ2. อาจารย์มีผลการประเมินประสิทธิผลการสอนโดยนักศึกษาในระดับ 4.01 ขึ้นไป3. อาจารย์มีเครือข่ายความร่วมมือในสาขาวิชาชีพ4. อาจารย์มีคุณสมบัติสอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานคุณวุฒิและมีผลงานเป็นไปตามเกณฑ์การประเมินผลประจำปีของมหาวิทยาลัย 5. อาจารย์ได้ใช้ความรู้ความสามารถในการกำกับดูแลช่วยเหลือนักศึกษาให้สำเร็จการศึกษาอย่างมีคุณภาพ6. อาจารย์ได้ใช้ความรู้ความสามารถในการกำกับดูแลช่วยเหลือสังคมวิชาการ7. อาจารย์ได้ใช้ความรู้ความสามารถในการทำโครงการช่วยเหลือครูในชุมชนและพัฒนาสังคมให้มีความรู้ ความเข้าใจ และมีคุณภาพในการทำงานได้ดีขึ้น8. การได้รับรางวัลนักบริหารการศึกษาดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2565 ของสมาคมพัฒนาวิชาชีพการบริหารการศึกษาแห่งประเทศไทย ประเภทอาจารย์ผู้สอนทางการบริหารการศึกษาดีเด่น ข้อเสนอแนะในการดำเนินการในอนาคต หรือการดำเนินการเพื่อสามารถนำไปสู่การเป็น Good Practice           การเป็นอาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษาต้องอาศัยความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่ค่อยๆ สั่งสม และปฏิบัติงานในหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง ต้องอาศัยเวลา กำลังกาย กำลังใจ และความอดทน และความเชื่อมั่นว่าอาจารย์ทุกคนจะเป็นอาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษาที่ประสบความสำเร็จได้หากมีความมุ่งมัน ตั้งใจ ขยัน อดทน และอุทิศตน

อาจารย์มืออาชีพในระดับบัณฑิตศึกษา Read More »

เทคนิคการจัดอบรมหลักสูตรระยะสั้น

รางวัลชมเชย ปีการศึกษา 2565 ยุทธศาสตร์ที่ 1 : KR 1.1.2, KR 1.1.4, KR 5.2.2 เทคนิคการจัดอบรมหลักสูตรระยะสั้น ผู้จัดทำโครงการ​ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุมามาลย์ ปานคำ วิทยาลัยนวัตกรรมดิจิทัลเทคโนโลยี หลักการและเหตุผล/ความสำคัญ/ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้​          จากวิสัยทัศน์ของหลักสูตรสารสนเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสื่อสังคม คือ มุ่งสร้างนักเทคโนโลยีสื่อสังคมที่มีคุณภาพเน้นความรู้ ลงมือปฏิบัติจริงและผู้เรียนสามารถสำเร็จการศึกษาได้ภายใน 1 ปี มีการปรับปรุงหลักสูตรทุก ๆ 5 ปี ให้มีความทันสมัย มีความเป็นนวัตกรรม และตอบสนองความต้องการของสังคม          ปัจจุบันเทคโนโลยีสื่อสังคม หรือ โซเชียลมีเดีย (Social Media) ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากสำหรับคนในยุคดิจิทัลกลายเป็นพื้นที่ในการติดต่อสื่อสาร เผยแพร่ และทำกิจกรรมประเภทต่าง ๆ หนึ่งในนั้น คือ การทำงานหรือประกอบอาชีพ สามารถเป็นตัวช่วยในการทำงาน เช่น ผู้ประกอบการใช้โซเชียลมีเดียให้เป็นพื้นที่ทางการค้าและการตลาด หรือที่เรียกว่า “ตลาดออนไลน์” ซึ่งเจริญเติบโตอย่างมาก ดังนั้น โซเชียลมีเดียจึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยให้การทำงานในยุคดิจิทัลของทุกคนง่ายขึ้น          ในปี พ.ศ. 2565 แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ติ๊กต็อก, เพจเฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม และไลน์ออฟฟิศเชียลแอคเคาท์ (Line OA) ดังนั้น ผู้ประกอบในการยุคดิจิทัลควรมีความรู้เกี่ยวกับ Social Media Ads, Content, Search Ads, Google Ads และ SEO (Search Engine Optimization) เป็นต้น ซึ่งแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมีการปรับเปลี่ยนหลังบ้านอยู่ตลอดเวลา          หลักสูตรจึงร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก จัดอบรมหลักสูตรระยะสั้นให้กับบุคคลภายนอกหรือผู้ที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องการทำการตลาดบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะทางวิชาชีพ ตอบสนองความต้องการของสังคมต่อไป ประเภทความรู้และที่มาความรู้ ความรู้แบบชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) : –ความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge) : เจ้าของความรู้  วิธีการดำเนินการ 1. วิธีการดำเนินการ    หลักสูตรสารสนเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสื่อสังคม (Social Media Technology: SMT) ร่วมกับ บริษัท ตานี มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นศิษย์เก่าปริญญาโท SMT รุ่น 10 และนักศึกษาปริญญาเอก SMT รุ่น 1 จัดอบรมหลักสูตรระยะสั้นให้กับบุคคลภายนอกหรือผู้สนใจ โดยกำหนดจัดเป็นเดือนเว้นเดือน คือ ไม่น้อยกว่า 6 ครั้งต่อปี มีการดำเนินการดังนี้           1. กำหนดวิทยากรและหัวข้อของหลักสูตรระยะสั้นให้ตรงตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมายหรือตามกระแสที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน           2. กำหนดลำดับของหัวข้อให้เป็นหลักสูตรระยะสั้นแบบต่อเนื่อง เช่น ยิงแอดปังด้วยเฟซบุ๊ก สร้างแบรนด์บน Tiktok รุ่นที่ 1 แล้วเปิดหลักสูตรระยะสั้นต่อไป คือ ระเบิดยอดขาย ยกกำลังสองด้วย Google Ads x LINE OA รุ่นที่ 1 เพื่อวางแผนหลักสูตรการอบรมให้ผู้อบรมกลุ่มเดิมมาอบรมในหลักสูตรระยะสั้นอย่างต่อเนื่อง           3. กำหนดค่าลงทะเบียนอบรมหลักสูตรระยะสั้น 3,999 – 5,999 บาท โดยมีส่งเสริมการขายใช้กลยุทธ์การตั้งราคา Early Bird เพื่อให้ได้งบประมาณมาใช้ในการยิง Ads โฆษณาประชาสัมพันธ์หลักสูตรระยะสั้นนั้น ๆ           4. กำหนดจำนวนผู้อบรมอย่างน้อย 30 คน และจัดเตรียมห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์           5. ทำหนังสือเชิญวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญตามวัน-เวลาที่กำหนดไว้ และจองสถานที่จัดอบรม รวมถึงประสานงานผู้เกี่ยวข้อง           6. สร้าง Content และรูปภาพ เพื่อประชาสัมพันธ์และยิง Ads โฆษณาบนเพจเฟซบุ๊ก Social Media Technology – ปริญญาโท-เอก ไปยังกลุ่มเป้าหมาย           7. สร้างไลน์ออฟฟิศเชียลแอคเคาท์ (Line OA) ของหลักสูตรสารสนเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสื่อสังคม เพื่อส่งข้อมูลให้กับผู้สนใจเข้าร่วมอบรมหลักสูตรระยะสั้น  2. ผลการดำเนินการ การนำไปใช้ หรือการลงมือปฏิบัติจริง อุปสรรคหรือปัญหาในการทำงาน   หลักสูตรสารสนเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสื่อสังคม จัดอบรมหลักสูตรระยะสั้นให้กับบุคคลภายนอกหรือผู้สนใจตามแผนที่วางไว้ จำนวนทั้งหมด 7 หลักสูตร ดังนี้    1. ยิงแอดปังด้วยเฟซบุ๊ก สร้างแบรนด์บน Tiktok รุ่นที่ 1 ในวันที่ 25-26 มิถุนายน 2565    2. ระเบิดยอดขาย ยกกำลังสองด้วย Google Ads x LINE OA รุ่นที่ 1 ในวันที่ 27-28 สิงหาคม 2565    3. Creative Ad Design & Content Course เปลี่ยนคุณให้เป็นนักออกแบบมืออาชีพได้ทันที รุ่นที่ 1 ในวันที่ 24-25 กันยายน 2565    4. ยิงแอดบน เฟซบุ๊ก x Tiktok PLUS ONLINE STRATEGY CANVAS รุ่นที่ 2 ในวันที่ 29-30 ตุลาคม 2565    5. นำเข้าและขายสินค้าจากประเทศจีน รุ่นที่ 1 ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2565    6. ยิงแอดบนเฟซบุ๊ก x tiktok รุ่นที่ 3 ในวันที่ 25-26 กุมภาพันธ์ 2566    7. ยิงแอดเข้มข้น เฟซบุ๊ก x Tiktok พร้อมเปิด Tiktok Shop รุ่นที่ 4 ในวันที่ 25 มีนาคม 2566 3. การตรวจสอบผลการดำเนินการ การนำเสนอประสบการณ์นำไปใช้ สรุปและอภิปรายผล บทสรุปความรู้หรือความรู้ที่ค้นพบใหม่    จากแผนการจัดอบรมหลักสูตรระยะสั้นให้กับบุคคลภายนอกหรือผู้สนใจ โดยได้วางแผนและใช้กลยุทธ์ทางด้านทางการตลาดออนไลน์ต่าง ๆ สามารถสรุปผลได้ดังนี้    1. ยิงแอดปังด้วยเฟซบุ๊ก สร้างแบรนด์บน Tiktok รุ่นที่ 1 มีจำนวนผู้เข้าร่วมอบรม 30 คน     2. ระเบิดยอดขาย ยกกำลังสองด้วย Google Ads x LINE OA รุ่นที่ 1 มีจำนวนผู้เข้าร่วมอบรม 35 คน    3. Creative Ad Design & Content Course เปลี่ยนคุณให้เป็นนักออกแบบมืออาชีพได้ทันที รุ่นที่ 1 มีจำนวนผู้เข้าร่วมอบรม 31 คน     4. ยิงแอดบน เฟซบุ๊ก x Tiktok PLUS ONLINE STRATEGY CANVAS รุ่นที่ 2 มีจำนวนผู้เข้าร่วมอบรม 36 คน     5. นำเข้าและขายสินค้าจากประเทศจีน รุ่นที่ 1 มีจำนวนผู้เข้าร่วมอบรม 33 คน     6. ยิงแอดบนเฟซบุ๊ก x tiktok รุ่นที่ 3 มีจำนวนผู้เข้าร่วมอบรม 37 คน     7. ยิงแอดเข้มข้น เฟซบุ๊ก x Tiktok พร้อมเปิด Tiktok Shop รุ่นที่ 4 มีจำนวนผู้เข้าร่วมอบรม 31 คน      ผลการจัดอบรมหลักสูตรระยะสั้นเป็นไปตามแผนที่วางไว้ คือ ไม่น้อยกว่า 6 ครั้งต่อปี และจำนวนผู้เข้าอบรม มากกว่า 30 คนต่อหลักสูตร ทั้งนี้ยังมีผู้อบรมหลักสูตรระยะสั้น ให้ความสนใจที่จะศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ในปีการศึกษา 2566 จำนวน 10 คน อีกด้วย  ข้อเสนอแนะในการดำเนินการในอนาคต หรือการดำเนินการเพื่อสามารถนำไปสู่การเป็น Good Practice           1. ควรมีการวางแผนที่ดีเกี่ยวกับ “หลักสูตรที่จะจัดอบรม” ต้องตอบสนองความต้องการและน่าสนใจโดยนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในธุรกิจหรืองานที่ทำในปัจจุบันจึงจะตรงตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย เช่น Tiktok Shop, Google Ads, Facebook Ads, Line OA, การนำเข้าและขายสินค้าจากประเทศจีน เป็นต้น         2. วิทยากรต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และถ่ายทอดความรู้ ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติเพื่อให้ผู้อบรมได้รับความรู้ตรงตามที่คาดหวังไว้ และเมื่ออบรมเสร็จแล้วยังมีช่องทางติดต่อเพื่อให้ผู้อบรมสามารถสอบถามเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อไปทดลองทำได้ เพื่อสร้างความพึงพอใจและการบอกต่อสิ่งดี ๆ ที่ได้รับจากการเข้าอบรมหลักสูตรระยะสั้นนั้น ๆ          3. ควรกำหนดวัน-เวลาที่เหมาะสม เช่น ไม่ตรงกับวันหยุดยาว หรือวันสำคัญต่าง ๆ และไม่ควรจัดอบรมในเดือน เมษายน ของทุกปี          ดังนั้น ในปีการศึกษา 2566 หลักสูตรสารสนเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสื่อสังคม ได้วางแผนว่าจะจัดอบรบหลักสูตรระยะสั้นเดือนละ 1 ครั้ง คือ ไม่น้อยกว่า 12 ครั้งต่อปี มีจำนวนผู้เข้าอบรมไม่น้อยกว่า 30 คน

เทคนิคการจัดอบรมหลักสูตรระยะสั้น Read More »

ขั้นตอนการขอรับรองจริยธรรมการวิจัยในคน

รางวัลชมเชย ปีการศึกษา 2565 ยุทธศาสตร์ที่ 2 : KR 2.5.2 ขั้นตอนการขอรับรองจริยธรรมการวิจัยในคน ผู้จัดทำโครงการ​ นายวุฒิศักดิ์ อยู่จำนงค์ สำนักงานจริยธรรมการวิจัย หลักการและเหตุผล/ความสำคัญ/ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้​         จริยธรรมการวิจัยในคน ตามหลักการที่บัญญัติไว้ในรายงานเบลมองต์ (Belmont Report) ประกอบไปด้วยหลักสำคัญ 3 ประการ คือ1. หลักความเคารพในบุคคล (Respect for person) เป็นการเคารพในศักดิ์ศรีความคนของผู้เข้าร่วมโครงการวิจัย2. หลักคุณประโยชน์ (Benefit) ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการวิจัยกับผู้เข้าร่วมโครงการวิจัย ชุมชนหรือสังคมในภาพรวม3. หลักความยุติธรรม (Justice) การพิจารณาคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการวิจัยด้วยวิธีการที่เป็นธรรมไม่อคติรวมทั้งการกระจายผลประโยชน์และความเสี่ยงจากการดำเนินโครงการวิจัยอย่างเท่าเทียมกัน จากหลักการและเหตุผลดังที่กล่าวนั้นงานวิจัย งานสร้างสรรค์ และ/หรือนวัตกรรม จึงจำเป็นต้องขอรับรองจริยธรรมการวิจัยในคน ในด้านศิลธรรม เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดได้ในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคน ไม่ว่าจะเป็นอันตรายทางกาย จิตใจ สถานะทางสังคม ฐานะทางการเงิน และอันตราจากกฎหมาย ทางด้านวิชาการ เป็นหลักฐานแนบ ในการส่งบทความตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำ (สำหรับงานวิจัยที่เกี่ยวกับคน) เป็นหลักฐานแนบในการขอตำแหน่งวิชาการ (สำหรับงานวิจัยที่เกี่ยวกับคน) ตามประกาศ ก.พ.อ. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2564 ข้อที่ (6) หากผลงานทางวิชาการมีการใช้ข้อมูลการทำการวิจัยในคนหรือสัตว์ ผู้ขอจะต้องยื่นหลักฐานแสดงการอนุญาตจากคณะกรรมการจริยธรรมของสถาบันที่มีการดำเนินการ       ดังนั้นเพื่อการดำเนินการขอรับรองจริยธรรมการวิจัยในคน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพช่วยให้ผลงานวิจัย งานสร้างสรรค์ และ/หรือนวัตกรรม ได้รับการรับรองจริยธรรมการวิจัยในคนอย่างถูกต้อง รวดเร็วทำให้ผลงานคุณภาพ สามารถเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ สำนักงานจริยธรรมการวิจัยจึงได้จัดทำ การจัดการความรู้ (KM) เพื่อให้ทุกคนในองค์กรสามารถเข้าถึงความรู้ และพัฒนาตนเองให้เป็นผู้รู้ รวมทั้งปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในเรื่อง  “ขั้นตอนการขอรับรองจริยธรรมการวิจัยในคน มหาวิทยาลัยรังสิต”  ประเภทความรู้และที่มาความรู้ ความรู้แบบชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) :ความรู้จากคลังความรู้ของเว็บไซต์ระบบการจัดการความรู้ KM Rangsit University (https://hrd.rsu.ac.th/km/), ระเบียบวิธีดำเนินการมาตรฐาน (Standard Operating Procedures) มหาวิทยาลัยรังสิตความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge) : เจ้าของความรู้  วิธีการดำเนินการ 1. วิธีการดำเนินการ   ขั้นตอนการขอรับรองจริยธรรมการวิจัยในคน มหาวิทยาลัยรังสิต มีขั้นตอนในการดำเนินการ ดังนี้             1. ขั้นเตรียมเอกสารเพื่อขอรับรอง และส่งเอกสารของรับรองจริยธรรมการวิจัยในคน 2. ขั้นตอนการพิจารณาประเภทของโครงการ และส่งกรรมการประเมินโครงการ 3. ขั้อตอนการพิจารณาโดยกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน 4. ขั้นตอนการส่งผลการพิจารณาให้นักวิจัย และแก้ไขตามผลการพิจารณาจากผู้ประเมิน 5. ขั้นตอนการออกหนังสือรับรอง และติดตามผลหลังจากการได้รับหนังสือรับรอง    1. ขั้นเตรียมเอกสารเพื่อขอรับรอง และส่งเอกสารของรับรองจริยธรรมการวิจัยในคน       ขั้นตอนเตรียมเอกสารเพื่อขอรับรองจริยธรรมการวิจัยในคน โดยจัดเตรียมเอกสาร ดังต่อไปนี้ จัดส่งเอกสารต้นฉบับ (Hard copy) จำนวน 1 ชุด และสำเนา 1 ชุด มาที่สำนักงานจริยธรรมการวิจัย มหาวิทยาลัยรังสิต และแนบไฟล์ Word & PDF ทั้งหมดส่ง Email: rsuethics@rsu.ac.th โดยระบุชื่อโครงการวิจัย และรายละเอียดขอให้ส่งทั้งเอกสารและรายละเอียดของผู้จัดส่ง (ชื่อ-นามสกุล , ที่อยู่, เบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้, E-Mail สำหรับติดต่อกลับ)สำนักงานจริยธรรมการวิจัย มหาวิทยาลัยรังสิต ห้อง 504 ชั้น 5 อาคารอาทิตย์อุไรรัตน์ติดต่อประสานงาน :  นายวุฒิศักดิ์ อยู่จำนงค์ รองผู้อำนวยการสำนักงานจริยธรรมการวิจัย                                    เลขานุการคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนT. 02 791 5728 / 086 890 6621E-mail: rsuethics@rsu.ac.th   2. ขั้นตอนการพิจารณาประเภทของโครงการ และส่งกรรมการประเมินโครงการ       การขอรับรองจริยธรรมการวิจัยในคน และส่งกรรมการประเมินโครงการ มหาวิทยาลัยรังสิต แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้       2.1 Exemption process โครงการวิจัยในคนที่มีความเสี่ยงทางด้านจริยธรรมการวิจัยในคนอยู่ในระดับที่ไม่มีความเสี่ยงถึงความเสี่ยงต่ำมาก ประธานฯ/รองประธานฯ พิจารณาส่งโครงการวิจัยให้กรรมการ 1 คน ระยะเวลาในการพิจารณา 7 วันทำการ      2.2 Expedited process โครงการวิจัยในคนที่มีความเสี่ยงทางด้านจริยธรรมการวิจัยในคนอยู่ในระดับที่มีความเสี่ยงต่ำถึงความเสี่ยงปานกลาง ประธานฯ/รองประธานฯ พิจารณาส่งโครงการวิจัยให้กรรมการ จำนวน 2 คน ระยะเวลาในการพิจารณา 10 วันทำการ      2.3 Full board process โครงการวิจัยในคนที่มีความเสี่ยงทางด้านจริยธรรมการวิจัยในคนอยู่ในระดับที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงถึงความเสี่ยงสูง ประธานฯ/รองประธานฯ พิจารณาส่งโครงการวิจัยให้กรรม 2 คน ระยะเวลาในการพิจารณา 14 วันทำการจัดประชุมพิจารณาเดือนละ 1 ครั้ง โดยต้องมีกรรมการภายนอก อย่างน้อย 1 คน และ Lay person อย่างน้อย 1 คน   3. ขั้นตอนการพิจารณาโดยกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน       กรรมการผู้ประเมินต้องเขียนอธิบายรายละเอียดการประเมินตามหัวข้อต่างให้ครบถ้วน โดยต้องเขียนอธิบายการประเมินในแต่ละหัวข้ออย่างละเอียด (ไม่ควรเขียนเพียง ดี ดีมาก เพียงพอ เป็นต้น) และต้องลงนามกำกับการประเมิน โดยมีประเด็นที่พิจารณา ดังนี้       1. ผู้วิจัยมีคุณสมบัติเหมาะสมกับการทำโครงการวิจัย       2. ผู้วิจัยชี้แจงเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest; COI) ชัดเจน       3. ผู้เข้าร่วมวิจัย (Participants) ว่าอยู่ในกลุ่มใด และนักวิจัยปกป้องสิทธิของผู้เข้าร่วมวิจัยชัดเจน       4. การออกแบบการทดลอง ระเบียบวิธีวิจัยที่ถูกต้อง เหมาะสม       5. โครงงานวิจัยมีความเสี่ยงอย่างไร และมีประโยชน์อย่างไร เหมาะสมที่จะทำวิจัยหรือไม่อย่างไร กรณีที่มีความเสี่ยงมีการระบุการรักษา ดูแล กรณีเกิดเหตุสุดวิสัยหรือไม่       6. Inform Consent มีความถูกต้องหรือไม่ อย่างไร       7. การปกปิดความลับให้ผู้เข้าร่วมวิจัย เหมาะสม หรือไม่อย่างไร       8. เนื้อความและภาษาที่ใช้ใน Inform Consent เหมาะสมหรือไม่อย่างไร       9. ผู้เข้าร่วมงานวิจัยมีอิสระ เพียงพอในการเข้าร่วมโครงการ หรือไม่อย่างไร      10. มีการแนบ Consent/Assent forms       11. มีการชดเชยการเสียเวลาของผู้เข้าร่วมวิจัยอย่างเหมาะสม หรือไม่       12. มีการระบุวิธีการเข้าถึงผู้เข้าร่วมวิจัยและวิธีการได้รับ Inform Consent forms    4. ขั้นตอนการส่งผลการพิจารณาให้นักวิจัย และแก้ไขตามผลการพิจารณาจากผู้ประเมิน       เมื่อกรรมการประเมินผลส่งกลับมาที่สำนักฯ แล้ว เลขานุกรรมกรรมการจะเป็นผู้รวบรวมข้อมูล และสรุปส่งให้นักวิจัยทาง Email โดยให้นักวิจัยมีเวลาการแก้ไข ประมาณ 14 วันมีผลการประเมิน 4 ประเภทดังนี้    รับรอง    รับรองหลังจากปรับปรุงแก้ไขเรียบร้อยแล้ว    ปรับปรุงแก้ไข และนำเข้าพิจารณาใหม่    ไม่รับรอง        เมื่อนักวิจัยได้รับผลการประเมินแล้ว จะต้องดำเนินการแก้ไขให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาโดยนักวิจัยต้องแก้ไขทุกประเด็นที่ผู้ประเมินเสนอแนะมา โดยปรับแก้ไขโครงการวิจัยตามรูปแบบ ดังนี้       1. ขอให้ท่านจัดทำบันทึกข้อความซึ่งมีการระบุรหัสโครงการวิจัยและชื่อเรื่องพร้อมระบุรายละเอียดการปรับแก้ไขโครงการวิจัยลงในตารางข้างล่างนี้ และขอให้หัวหน้าโครงการวิจัยลงนามทั้งในบันทึกข้อความและในแบบเสนอโครงการวิจัยฯ หน้าสุดท้าย       2. ขอให้ท่านทำ highlight หรือขีดเส้นใต้ในเอกสารที่ปรับแก้ไขแล้วมาด้วย จำนวน 1 ชุด พร้อมแนบสำเนาเอกสารอีก จำนวน 1 ชุด ซึ่งไม่มีการ highlight เพื่อจะได้ประทับตราสำนักงานคณะกรรมการจริยธรรมฯ ให้ท่านนำไปดำเนินการวิจัยต่อไป (รวมทั้งหมด 2 ชุด)   5. ขั้นตอนการออกหนังสือรับรอง และติดตามผลหลังจากการได้รับหนังสือรับรอง       เมื่อแก้ไขตามผลการประเมิน และประธานฯ / รองประธานฯ พิจารณาความถูกต้อง และออกหนังสือรับรอง 2 แบบ ดังนี้       1. เอกสารรับรองโครงการวิจัย (Certificate of Approval) สำหรับโครงการวิจัยประเภท Expedited Review หรือ Full Board Review       2. เอกสารยืนยันการยกเว้นการรับรอง (Documentary Proof of Exemption) สำหรับโครงการวิจัยประเภท Exemption Review       การติดตามผลหลังจากได้รับหนังสือรับรองแล้ว หรือ การรายงานความก้าวหน้าของโครงการวิจัย (Progress Report) ผู้วิจัยจะต้องรายงานความก้าวหน้าของโครงการวิจัยเกี่ยวกับจำนวนผู้เข้าร่วมวิจัยและการถอนตัวออกจากโครงการวิจัยปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการวิจัยและเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่กำหนดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือมากกว่าขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของโครงการวิจัยเพื่อเป็นข้อมูลในการติดตามโครงการวิจัยและต่ออายุการรับรอง (หากจำเป็น) เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดใน ICH-GCP ข้อ3.1.4 ที่ระบุว่า ERB/IEC ควรพิจารณาทบทวนการวิจัยที่ดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่องเป็นระยะตามความเหมาะสมกับระดับความเสี่ยงต่ออาสาสมัครอย่างน้อยปีละครั้ง       เพื่อให้ขั้นตอนการขอรับรองจริยธรรมการวิจัยในคน มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในแต่ละปีจะมีการจัดฝึกอบรมให้นักวิจัย เพื่อให้ดำเนินการตามขั้นตอนได้ถูกต้องตามหลักการขอรับรอง โดยจัดฝึกอบรม หัวข้อ “เทคนิคการกรอกแบบฟอร์มเพื่อยื่นขอรับรองจริยธรรมการวิจัยในคน”   2. ผลการดำเนินการ การนำไปใช้ หรือการลงมือปฏิบัติจริง อุปสรรคหรือปัญหาในการทำงาน    ผลการดำเนินการ โดยนำไปใช้ และการลงมือปฏิบัติจริง ทั้ง 5 ขั้นตอน 1. ขั้นเตรียมเอกสารเพื่อขอรับรอง และส่งเอกสารของรับรองจริยธรรมการวิจัยในคน 2. ขั้นตอนการพิจารณาประเภทของโครงการ และส่งกรรมการประเมินโครงการ 3. ขั้อตอนการพิจารณาโดยกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน 4. ขั้นตอนการส่งผลการพิจารณาให้นักวิจัย และแก้ไขตามผลการพิจารณาจากผู้ประเมิน และ 5. ขั้นตอนการออกหนังสือรับรอง และติดตามผลหลังจากการได้รับหนังสือรับรอง     ส่งผลให้เกิดอุปสรรค และปัญหาในการทำงานอยู่บ้าง เช่น ขั้นเตรียมเอกสารเพื่อขอรับรอง และส่งเอกสารของรับรองจริยธรรมการวิจัยในคน เนื่องจากเอกสารแบบฟอร์มต่างๆ มีเยอะทำให้เกิดความล่าช้าในการจัดทำเอกสาร และการจัดส่งเอกสารจะต้องส่งทั้งไฟล์เอกสาร และเอกสารต้นฉบับตัวจริง จึงจะสามารถดำเนินการขอรับรองจริยธรรมการวิจัยในคนต่อไปได้ และการติดต่อสื่อสารกันระหว่างคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน กับนักวิจัย ซึ่งเวลาอาจจะไม่ตรงกันจึงทำให้การติดต่อสื่อสารต้องติดต่อกันหลายๆ ช่องทางทั้งท่าง Email / Line / โทรศัพท์ ในเวลานอกราชการ เป็นต้น      เพื่อให้การดำเนินการตามขั้นตอนการขอรับรองจริยธรรมการวิจัยในคนมีประสิทธิภาพ และเป็นการกำจัดอุปสรรคหรือปัญหาในการดำเนินงานขอรับรองจริยธรรมการวิจัยในค คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัย ในคนจึงมีการจัดฝึกอบรมให้นักวิจัย หัวข้อ “เทคนิคการกรอกแบบฟอร์มเพื่อยื่นขอรับรองจริยธรรมการวิจัยในคน” เพื่อให้ดำเนินการตามขั้นตอนได้ถูกต้องตามหลักการขอรับรองและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น 3. การตรวจสอบผลการดำเนินการ การนำเสนอประสบการณ์นำไปใช้ สรุปและอภิปรายผล บทสรุปความรู้หรือความรู้ที่ค้นพบใหม่    จากผลการดำเนินการ สรุปได้ว่า ขั้นตอนการขอรับรองจริยธรรมการวิจัยในคน มหาวิทยาลัยรังสิต 5 ขั้นตอน และการจัดฝึกอบรมให้นักวิจัย ดังเสนอมานั้น ส่งผลให้นักวิจัยขอรับรองจริยธรรมการวิจัยในคน ได้อย่างมีความเข้าใจในการขอรับรองและเกิดรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทั้งคณะกรรมการฯ และนักวิจัย สามารถดำเนินการตามหน้าที่ของต้นเองได้อย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้งานวิจัยที่เกียวข้องกับคนมีประสิทธิภาพ สามารถเผยแพร่ได้ทั้งในระดับชาติ และนานาชาติได้     การจัดทำการจัดการความรู้ (KM) ในหัวข้อ “ขั้นตอนการขอรับรองจริยธรรมการวิจัยในคน มหาวิทยาลัยรังสิต” ทำให้ทุกคนในองค์กรสามารถเข้าถึงความรู้ รวมทั้งปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำประสบการณ์จากการปฏิบัติจริง จากข้อเสนอแนะจากนักวิจัย กรรมการฯ มาจัดทำเป็นขั้นตอนในการขอรับรองจริยธรรมการวิจัยในคนที่เข้าใจง่าย ปฏิบัติได้จริงถูกต้องตามหลักการของรับรองจริยธรรมการวิจัยในคนทุกประการ  ข้อเสนอแนะในการดำเนินการในอนาคต หรือการดำเนินการเพื่อสามารถนำไปสู่การเป็น Good Practice          การขอรับรองจริยธรรมการวิจัยในคน เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นสำหรับการผลงานวิจัย งานสร้างสรรค์ และ/หรือนวัตกรรม จึงจำเป็นต้องจัดอบรมขั้นตอนการขอรับรองจริยธรรมการวิจัยในคน มหาวิทยาลัยรังสิต โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1 . อาจารย์ นักวิจัย 2. นักศึกษา ที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกันคน อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้สามารถขอรับรองจริยธรรมการวิจัยในคนได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และผลงานดังกล่าวสามารถเผยแพร่ได้ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

ขั้นตอนการขอรับรองจริยธรรมการวิจัยในคน Read More »

ทุนวิจัยภายนอกสายศิลปะ

รางวัลชมเชย ปีการศึกษา 2565 ยุทธศาสตร์ที่ 2 : KR 2.1.3, KR 2.2.1, KR 2.2.2, KR 2.3.1 ทุนวิจัยภายนอกสายศิลปะ ผู้จัดทำโครงการ​ ผศ.ธรรมศักดิ์ เอื้อรักสกุล คณะดิจิทัลอาร์ต หลักการและเหตุผล/ความสำคัญ/ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้​          การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไปตามเทคโนโลยี ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีการติดต่อเชื่อมโยงกันมากขึ้น เรียกได้ว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างรวดเร็วชนิดทวีคูณจนยากจะคาดการณ์ได้ว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น การศึกษาในยุคนี้จำเป็นต้องมีการปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ ไม่ใช่เพียงแค่ชั่วคราวหากแต่ต้องมีการดำเนินการให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่องอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ดังเช่น วิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 อันส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนของทุกสถาบันการศึกษาทั่วโลกจนต้องทำให้มีการปรับตัวคือ ได้มีการนำการเรียนการสอนแบบออนไลน์เข้ามาใช้อย่างจริงจัง สถานศึกษาหลายแห่งแม้ยังไม่เคยใช้ต่างพยามดำเนินการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบทั้งห้องเรียนการศึกษาทั่วไปและห้องเรียนการศึกษาพิเศษ สื่อการสอนด้านศิลปะส่วนใหญ่ส่งเสริมเป็นการสอนสำหรับเด็กปกติ ขณะที่เด็กพิการและผู้ด้อยโอกาสจำนวนมากยังขาดสื่อการเรียนรู้ด้านศิลปะ จากปัญหาและความสำคัญดังกล่าว การออกแบบสื่อการสอนออนไลน์และการผลิตสื่อการสอนแอนิเมชันเพื่อพัฒนาทักษะสำหรับเด็กพิการและด้อยโอกาส จึงนับเป็นการส่งเสริมให้ประชากรทุกคนควรได้รับการสนับสนุนทางการศึกษา “การศึกษาไทย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” (ครูกัลยา. ๒๕๖๓)        ที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการปฏิรูปการศึกษาเพื่อปรับปรุงคุณภาพหลายครั้ง แต่ยังมีสิ่งที่จำเป็นต้องดำเนินการพัฒนาต่อไปคือ การเสริมสร้างพัฒนาทักษะพื้นฐานที่จำเป็นให้ได้ผลดังที่ควรจะเป็น เพราะทุกความสำเร็จจะเกิดผลได้หากมีพื้นฐานที่ชำนาญมั่นคง การศึกษาในยุคนี้ได้มีนักวิชาการหลายท่านให้ความเห็นร่วมกันว่า ต้องสามารถสร้างและพัฒนาคนให้มีทักษะหลายด้าน มีความพร้อมที่จะเผชิญต่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีปกติสุข        “เป้าหมายการศึกษาควรกว้างกว่าเพื่อการทำมาหากิน” การศึกษามักจะเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความรู้ทักษะทำงานหาเงินมาบริโภค การจัดการศึกษาซึ่งเป็นการลงทุนพัฒนาคนที่สำคัญที่สุด ควรมีเป้าพัฒนาพลเมืองให้ฉลาดทางปัญญา ทางอารมณ์ และสังคม เป็นทั้งคนมีความสุข ความพอใจ และเป็นพลเมืองที่ดีมีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช่มีเป้าแคบๆ แค่ให้เก่งในแง่ทำงานที่ประสบความสำเร็จมาก มีรายได้สูง แต่อาจเป็นคนเห็นแก่ตัวมากกว่าส่วนรวม ไม่มีความสุข ความพอใจอย่างแท้จริง และไม่ได้ช่วยสร้างให้สังคมดีขึ้นด้วย (รศ.วิทยากร เชียงกูร. ๒๕๖๒. กรุงเทพธุรกิจ.)  ประเภทความรู้และที่มาความรู้ ความรู้แบบชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) : โครงการวิจัยความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge) : เจ้าของความรู้  วิธีการดำเนินการ 1. วิธีการดำเนินการ   1. เสนอรับทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ สำนักงานบริหารงานการศึกษาพิเศษ กระทรวงศึกษาธิการ   2. เสนอแผน/กิจกรรมการทำงาน ส่วนงานผลิตสื่อการสอนศิลปะ สื่อเเอนิเมชันเสริมทักษะศิลปะ สื่อเสมือนจริง    3. จัดกิจกรรมภาคสนามด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล/สื่อเสมือนจริงในรูปชุดแบบเรียนวาดระบายสี AR Painting กลุ่มเป้าหมายโรงเรียนที่มีห้องเรียนการศึกษาพิเศษจำนวน 10 แห่ง   4. เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทางศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ RSU Cyber    5. ดำเนินงานผ่านสถาบันวิจัย มรส.   2. ผลการดำเนินการ การนำไปใช้ หรือการลงมือปฏิบัติจริง อุปสรรคหรือปัญหาในการทำงาน    การดำเนินการ / การนำไปใช้– จัดทำสื่อการสอนศิลปะ สื่อแอนิเมชัน ชุดแบบเรียนวาดระบายสีสื่อเสมือนจริง พร้อมแอปพลิเคชัน– จัดส่งมอบครุภัณฑ์และวัสดุอุปกรณ์ให้สถานศึกษาจำนวน 10 แห่ง– จัดกิจกรรมภาคสนาม การสอนศิลปะสำหรับเด็กพิเศษ อุปสรรตและปัญหาในการทำงาน    1. ระยะเวลาในการดำเนินงานยังคงเป็นช่วงที่สถานการณ์ระบาดโควิด-19 ยังมีความรุนแรง หน่วยงานในมรส.ส่วนใหญ่ปิดทำการ ทำให้การติดต่อ เกี่ยวกับเอกสาร การเบิกจ่ายมีความล่าช้า    2. คณะทำงานบางท่านตรวจพบการติดเชื้อโควิด-19 ต้องเข้ารับการรักษาตัวทำให้การดำเนินงานส่วนผลิตสื่อแอนิเมชันเกิดความล่าช้า และต้องแก้ไขหลายครั้ง    3. เนื่องจากเป็นช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 การติดต่อโรงเรียนในกลุ่มเป้าหมายเป็นไปด้วยความลำบาก และไม่สามารถจัดกิจกรรมภาคสนามตามกรอบระยะเวลาเดิมได้ ทำให้ต้องเลื่อนระยะเวลาใหม่    4. เนื่องจากเป็นทุนวิจัยแรกของมรส. ที่ได้รับจากแหล่งทุนนี้ ซึ่งมีข้อระเบียบปฏิบัติไม่เหมือนกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น การเบิกจ่าย แหล่งทุนโอนเงินเข้าบัญชีโครงการ และต้องการให้ มรส.ออกใบเสร็จรับเงิน ซึ่งมรส.ไม่สามารถออกใบเสร็จได้เนื่องจากเงินไม่ได้โอนเข้าบัญชีของมรส. ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากสถาบันวิจัยและสำนักงานฝ่ายการเงิน ให้เจ้าของโครงการโอนเงินเข้าบัญชีมรส.เพื่อให้มรส.ออกใบเสร็จ และมรส.จะดำเนินการเบิกจ่ายเงินให้ทางโครงการ (ซึ่งมีความล่าช้ามาก และตรงกับช่วงที่มรส.ปิดทำการ) 3. การตรวจสอบผลการดำเนินการ การนำเสนอประสบการณ์นำไปใช้ สรุปและอภิปรายผล บทสรุปความรู้หรือความรู้ที่ค้นพบใหม่    1. การจัดการเรียนการสอนศิลปะโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอาร์ต สื่อเสมือนจริงไปช่วยจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กพิเศษในระดับชั้นประถมศึกษา    2. ผลงานสื่อการสอนของโครงการได้รับการตอบรับในระดับดีมากจากกลุ่มเป้าหมาย     3. ประสบการณ์การดำเนินการติดต่อ/การนำเสนองานด้านการศึกษาพิเศษ ข้อเสนอแนะในการดำเนินการในอนาคต หรือการดำเนินการเพื่อสามารถนำไปสู่การเป็น Good Practice            1. งานวิจัยที่สนับสนุนด้านการศึกษาพิเศษยังมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับการศึกษาทั่วไป         2. จุดเด่นของโครงการคือเน้นไปใช้จริงในห้องเรียนการศึกษาพิเศษ          3. ได้รับผลสัมฤทธิ์เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้          4. ได้รับคำชมเชยจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากแหล่งทุน ดูรูปภาพ/กิจกรรมเพิ่มเติมที่นี่

ทุนวิจัยภายนอกสายศิลปะ Read More »

สร้างนวัตกรรมงานวิจัย (Innovative Research and Development)

รางวัลชมเชย ปีการศึกษา 2565 ยุทธศาสตร์ที่ 2 : KR 2.2.1 สร้างนวัตกรรมงานวิจัย (Innovative Research and Development) ผู้จัดทำโครงการ​ อ.กัญจนพร โตชัยกุล ผศ.ดร นัฐพงษ์ มูลคำ คณะรังสีเทคนิค หลักการและเหตุผล/ความสำคัญ/ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้​ แนวทางการสร้างนวัตกรรมวิจัยและขออนุสิทธิบัตร (นวัตกรรมทางด้านวัสดุป้องกันรังสี)         อุปกรณ์กันรังสีที่มีจำหน่ายในท้องตลาด เป็นวัสดุที่ผลิตจากตะกั่วและมี Density ที่สูง ทำให้มีคุณสมบัติในการป้องกันรังสี มักใช้ในห้อง General X-ray, CT Scan, Cath Lab, X-ray C-arm, Operation Room หรือใช้ประกอบกับประตูกันรังสี ฉากกันรังสีภายในห้อง ตลอดจนฉากเลื่อนกันรังสีต่างๆ แต่เนื่องจากด้วยราคาที่ค่อนข้างสูงและตะกั่วมีความเป็นพิษ จึงต้องการศึกษาคุณสมบัติของส่วนผสมสารทึบรังสีที่มีไอโอดีนเป็นองค์ประกอบ (Iodine contrast media) และ epoxy resin ที่สามารถขึ้นรูปได้อย่างอิสระ รวมถึงศึกษาคุณสมบัติการในการดูดกลืนรังสีและพัฒนาไปสู่วัสดุที่ช่วยป้องกันรังสี          โดยสารทึบรังสีหมายถึงสารที่ใช้ในการตรวจทางรังสีวิทยาเพื่อให้เกิดความแตกต่างในการดูดกลืนรังสีระหว่างอวัยวะที่ต้องการตรวจกับอวัยวะหรือโครงสร้างอื่นที่อยู่ใกล้เคียง และสารทึบรังสีที่ใช้กันทางรังสีวินิจฉัยเป็นสารทึบรังสีที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ มีคุณสมบัติในการดูดกลืนรังสี ซึ่งสามารถนำไปผสมในส่วนประกอบต่างๆ เพื่อขึ้นรูปสำหรับเป็นอุปกรณ์ป้องกันรังสี โดยเฉพาะผสมกับ epoxy resin ที่มีคุณสมบัติขึ้นรูปง่ายและส่วนผสมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นวัสดุกันรังสีดังกล่าวจะสามารถป้องกันรังสีในระดับพลังงานต่ำได้ และมีข้อดีในการลดค่าใช้จ่ายในการผลิต น้ำหนักเบา ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงสามารถประยุกต์ขึ้นรูปในการสร้างเป็นอุปกรณ์ป้องกันรังสีในส่วนต่างๆของร่างกายได้ และผลลัพธ์สุดท้ายจะสามารถนำไปจดขออนุสิทธิบัตรที่ว่าด้วย เป็นความคิดสร้างสรรค์ที่มีระดับการพัฒนาเทคโนโลยีไม่สูงมาก หรือเป็นการประดิษฐ์คิดค้นเพียงเล็กน้อยและมีประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น ประเภทความรู้และที่มาความรู้ ความรู้แบบชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) : –ความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge) : เจ้าของความรู้  วิธีการดำเนินการ 1. วิธีการดำเนินการ   1) อาจารย์ภายในคณะร่วมกันวางแผนดำเนินการต่างๆ สำหรับการแนวทางการเขียนขอทุนนวัตกรรมและสร้างผลงานนวัตกรรมที่สอดคล้องกับวิชาชีพรังสีเทคนิค   2) อาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เตรียมสร้างผลงานนวัตกรรมรวมถึงขออนุสิทธิบัตร   3) เริ่มเตรียมบทความฉบับสมบูรณ์ (manuscripts) สำหรับส่งตีพิมพ์บทความ   4) อาจารย์ที่ได้รับการตีพิมพ์บทความและได้เลขอนุสิทธิบัติ จะมีการเปิดโอกาสให้อาจารย์ภายในคณะสามารถอภิปราย แลกเปลี่ยน ซักถาม ได้ 2. ผลการดำเนินการ การนำไปใช้ หรือการลงมือปฏิบัติจริง อุปสรรคหรือปัญหาในการทำงานประโยชน์ต่อบุคลากร    1) เพื่อให้เป็นแนวทางการสร้างนวัตกรรมวิจัยและขออนุสิทธิบัตร    2) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลงานทางวิชาการในรูปแบบต่างที่หลากหลายประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัย    1) คณาจารย์คณะรังสีเทคนิคมีคุณภาพและสามารถพัฒนาผลงานทางวิชาการในรูปแบบนวัตกรรมวิจัย ร่วมถึงยกระดับคุณภาพมหาวิทยาลัยรังสิตให้เป็นที่รู้จักกว้างขว้างมากขึ้น    2) คณาจารย์คณะรังสีเทคนิคมีความรู้ด้านงานวิจัย และสอดคล้องกับแนวคิดงานวิจัยของมหาวิทยาลัย  3. การตรวจสอบผลการดำเนินการ การนำเสนอประสบการณ์นำไปใช้ สรุปและอภิปรายผล บทสรุปความรู้หรือความรู้ที่ค้นพบใหม่    การพาณิชย์: องค์ความรู้และเทคโนโลยีนี้ก่อให้เกิดการสร้างนวัตกรรมทางอุปกรณ์การแพทย์ที่เกี่ยวกับการป้องกันอันตรายจากรังสี ทำให้เกิดต้นแบบผลิตภัณฑ์ (Prototype) ในทางพาณิชย์ รวมถึงความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนหรือหน่วยงานร่วมดำเนินการวิจัย    ภายในมหาวิทยาลัย: ความรู้เกี่ยวกับวัสดุป้องกันรังสีชนิดที่ปราศจากตะกั่ว ทำให้ได้วัสดุที่ผลิตจากสารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถป้องกันรังสีได้เทียบเท่าตะกั่ว ซึ่งนำไปสู่นวัตกรรมการสร้างวัสดุกันรังสีภายในประเทศและองค์ความรู้สามารถต่อยอดในงานวิจัยได้หลายด้านและสามารถตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับ ความรู้ทาง radiation protection ข้อเสนอแนะในการดำเนินการในอนาคต หรือการดำเนินการเพื่อสามารถนำไปสู่การเป็น Good Practice          ประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยและคณะรังสีเทคนิคในทางด้านวิชาการ: ความรู้เกี่ยวกับวัสดุป้องกันรังสีชนิดที่ปราศจากตะกั่ว ผลการศึกษาจะทำได้ได้วัสดุที่ผลิตจากสารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถป้องกันรังสีได้เทียบเท่าตะกั่ว ซึ่งนำไปสู่นวัตกรรมการสร้างวัสดุกันรังสีภายในประเทศและองค์ความรู้สามารถต่อยอดในงานวิจัยได้หลายด้าน และสามารถตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารที่เกี่ยวข้องกับ ความรู้ทาง radiation protection         ประโยชน์ในนวัตกรรมและสิ่งแวดล้อม: วัสดุป้องกันรังสีดังกล่าวเป็นชนิดที่ปราศจากตะกั่ว ทำให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมรวมถึงการสร้างแนวคิดทางนวัตกรรม เพื่อพัฒนาไปใช้ในระดับคลินิกและเพิ่มประสิทธิภาพของนวัตกรรมของไทย โดยกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ได้แก่ ทีมผู้วิจัย, ภาคเอกชน, สหวิชาชีพที่อยู่ในสาขารังสีวิทยา รวมถึงสถานที่มีการใช้อุปกรณ์กันรังสี ดูรูปภาพ/กิจกรรมเพิ่มเติมที่นี่

สร้างนวัตกรรมงานวิจัย (Innovative Research and Development) Read More »

“คนต่างรุ่นในสังคมสูงวัย” สู่งานวิจัยกระดาษสาผักตบชวา

รางวัลชมเชย ปีการศึกษา 2565 ยุทธศาสตร์ที่ 2 : KR 2.3.2 “คนต่างรุ่นในสังคมสูงวัย” สู่งานวิจัยกระดาษสาผักตบชวา ผู้จัดทำโครงการ​ ดร.เริงศักดิ์ แก้วเพ็ชร นางสาวกัญญ์กานต์ กุญโคจร นางสาวชวัลรัศมิ์ จตุเทน นายกิตติธัช ช้างทอง สถาบันศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาสังคม ฝ่ายพัฒนาสังคมศิลปวัฒนธรรมและสิทธิประโยชน์ หลักการและเหตุผล/ความสำคัญ/ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้​          มหาวิทยาลัยรังสิตจัดตั้งรายวิชาเรียน RSU184 คนต่างรุ่นในสังคมสูงวัย ทางสถาบันศิลปวัฒนธรรม และพัฒนาสังคม ร่วมกับสถาบัน GEN.ED. มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยรังสิต โดยมุ่งเน้นให้นักศึกษาเรียนรู้การเตรียมตัวสำหรับคนต่างรุ่น ในการเข้าสู่วัยสูงอายุ และสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ของประเทศไทย และสังคมโลก เข้าใจแนวคิดสูงวัยเชิงรุก (Active Aging) ซึ่งเป็นกรอบแนวนโยบายที่สร้างโดยองค์การอนามัยโลก ที่มุ่งเน้นในด้านสุขภาพกายและจิตที่ดี การมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและครอบครัว และการมีส่วนร่วมในสังคมเพื่อให้ผู้สูงอายุและคนต่างรุ่นได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในสังคมสูงวัยและสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในอนาคต พร้อมมีพื้นฐานในการเตรียมตัวทำธุรกิจ การเป็นผู้ประกอบการ มุ่งเน้นให้เกิดความรู้ ความเข้าใจด้านกระบวนการคิด วิเคราะห์ การออกแบบธุรกิจด้วยความคิดสร้างสรรค์ สามารถเชื่อมโยงประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม นำไปประกอบการใช้งานได้จริง และมีเข้าใจในปรับตัวให้เข้ากับทุกสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจและสามารถมีการจัดการการวางแผนอย่างเป็นระบบได้ดี แม้ท่ามกลางกระแสขอความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวมแย่ลง รวมทั้งปัญหาโรคระบาดโควิค 19 โดยภาครัฐบาล มีมาตรการควบคุมการระบาดทั้งมาตรการปิดเมือง มาตรการรักษาระยะห่าง และภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซายาวนาน ผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อยรวมไปถึงพ่อค้ารายเล็กรายน้อยประเภทหาบเร่แผงลอยต้องเลิกขาย เนื่องจากขายไม่ได้เหตุเพราะกำลังซื้อไม่มี และส่วนหนึ่งต้องเลิกกิจการไปส่งผลกระทบหนักต่อกลุ่มคนเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่ขาดทักษะและผู้มีรายได้น้อย ขาดเงินออม มีภาระหนี้สูง จึงทำให้คนกลุ่มนี้ซึ่งโดยปกติมีรายได้น้อยอยู่แล้วก็ขาดรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงวิธีการรับมือกับวิกฤติและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ และไม่มีความพร้อมในด้านเทคโนโลยี         ผลการสำรวจจำนวนคนจนในปทุมธานี “คนจนเป้าหมาย” ในปทุมธานี คือ คนจนที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน เนื่องจากเป็นคนที่ได้รับการสำรวจว่าจน (survey-based) จาก ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และยังมาลงทะเบียนว่าจนอีกด้วย (register-based) จากข้อมูลผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ กระทรวงการคลัง สำหรับข้อมูลปี 2565 เป็นการบูรณาการข้อมูลระหว่าง จปฐ 2564 และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 จะพบว่า ความยากจนสามารถวัดได้ 5 มิติ ความยากจนสามารถวัดได้จากดัชนีความยากจนหลายมิติ หรือ ดัชนี MPI (Multidimensional Poverty Index) ที่พิจารณาจาก 5 มิติ ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านความเป็นอยู่ ด้านการศึกษา ด้านรายได้ และด้านการเข้าถึงบริการรัฐ ซึ่งจะพบว่า ปัญหาของชุมชนตำบลหลักหก ยังคงเป็นเรื่องสุขภาพ และรายได้ คณะทำงานเร่งเห็นในการสร้างเสริม อาชีพ รายได้ ให้แก่ชุมชน โดยเริ่มจากชุมชนหลักหก จากการสำรวจปัญหา และวัตถุดิบรอบๆ ชุมชน คณะทำงานนักศึกษา มีความสนใจในกลุ่มชุมชนหลักหก จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่รอบมหาวิทยาลัยรังสิต ปัญหาส่วนหนึ่งที่ค้นพบคือ ผักตบชวาในลำคลองของชุมชนตำบลหลักหกมีเป็นจำนวนมาก จนทำให้น้ำเกิดปัญหา น้ำเน่าเสีย มลภาวะทางอากาศ ชาวบ้านสูดดมเข้าไปทุก ๆ วัน ทำให้มีปัญหาในระบบการหายใจได้ คณะทำงานนักศึกษาจึงมุ่งเน้นในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤติครั้งนี้ ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต ส่งเสริม อาชีพ รายได้ การกระจายโอกาสให้กับชุมชนหลักหก ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและลดความเสี่ยงด้านอาชญากรรมต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งการทำกระดาษสาจากผักตบชวาปลอดสารเคมี สีธรรมชาติ เพื่อใช้ในงานประดิษฐ์ ตกแต่งและงานฝีมือ จากการทำกระดาษสาผักตบชวาปลอดสารเคมีที่มีคุณภาพต่องานประดิษฐ์ มีความเหนียว ขนาดไม่บางหรือหนามาก เนื่องจากการขึ้นรูปเป็นดอกไม้ในการประดิษฐ์ จะต้องมีความเหนียว และขนาดพอดี ต่อยอดมาเป็นผลงานสร้างสรรค์ที่สามารถสร้างรายได้ และสร้างแนวคิดเศรษฐกิจฐานรากเพื่อสร้างสุขภาวะ สามารถดำเนินธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤติครั้งนี้ โดยมุ่งเน้นทิศทางของการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ของแต่ละท้องถิ่นให้มีคุณภาพและสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ประเภทความรู้และที่มาความรู้ ความรู้แบบชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) : รายวิชา RSU184 คนต่างรุ่นในสังคมสูงวัยความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge) : เจ้าของความรู้  วิธีการดำเนินการ 1. วิธีการดำเนินการ   1. ทีมอาจารย์ผู้สอนและนักศึกษาร่วมระดมความคิดดำเนินโครงการที่สอดคล้องกับเป้าประสงค์ของรายวิชาเรียนและให้สามารถเป็นโครงการที่ใช้งานได้จริง เกิดผลสัมฤทธิ์ระยะยาว จึงเริ่มต้นศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นจากรอบข้าง จึงได้เล็งเห็นปัญหาของชุมชนที่อยู่โดยรอบมหาวิทยาลัยรังสิต คือ ชุมชนหลักหก ได้เกิดปัญหา ผักตบชวาล้นคลอง ตามบทนำที่กล่าวไว้ข้างต้น การดำเนินงานของกลุ่มนักศึกษาได้เริ่มปรึกษาหารือเรื่องการจัดหาแกนนำชุมชนหลักหก โดยแกนนำนักศึกษาต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง แกนนำชุมชนหลักหกมีคุณสมบัติเบื้องต้นอย่างไรบ้าง คณะทำงานนักศึกษาได้กำหนดคุณสมบัติดังนี้ แกนนำนักศึกษาและแกนนำชุมชนหลักหก ต้องมีคุณสมบัติพร้อมที่จะทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ดี และสามารถทำงานกับแกนนำของชุมชนได้ และต้องพร้อมที่จะเสืยสละเวลาทำเพื่อสังคมส่วนร่วมให้เกิดผลดีต่อชุมชนเป้าหมายได้อย่างสำเร็จ    2. จัดตั้งกลุ่มแกนนำ นำทีมนักศึกษา และกลุ่มแกนนำชุมชนหลักหกคณะทำงานนักศึกษาปรึกษาหารือเรื่องการคัดเลือกแกนนำนักศึกษา และแกนนำชุมชนหลักหก เพื่อที่จะดำเนินโครงการต่อเนื่อง    3. ลงพื้นที่ศึกษาปัญหาจากผักตบชวาร่วมกันระหว่างคณะทำงานกับชุมชน จากนั้นอาจารย์ผู้สอนและนักศึกษานำปัญหามาวิเคราะห์ว่าอยากจะทำอะไร แก้ไขปัญหานี้อย่างไร จึงได้เกิดเป็นแนวคิด “กระดาษสาจากผักตบชวา” เนื่องจากกระดาษสาเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ง่าย และมีต้นทุนวัตถุดิบที่ต่ำ หาได้ง่าย และยังสามารถต่อยอดจากกระดาษสาได้หลากหลาย    4. เริ่มประชาสัมพันธ์โครงการเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับนักศึกษาและชุมชนหลักหกให้เป็นวงกว้างในมหาวิทยาลัยรังสิต คณะทำงานลงมติในการจัดทำโปสเตอร์ เพื่อเป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ให้กับนักศึกษาและชุมชนหลักหก โดยการจัดหาคนในวิชาเรียนออกแบบโปสเตอร์เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับแกนนำนักศึกษาและแกนนำชุมชนหลักหก    5. คณะทำงานกลุ่มนักศึกษากำหนดบทบาทหน้าที่ของกลุ่มแกนนำนักศึกษาและแกนนำชุมชนหลักหก มีการพูดคุยถึงความถนัดของแต่ละแกนนำนักศึกษาและแกนนำชุมชนหลักหก ความพร้อม ความสนใจในการดำเนินโครงการ และตอบข้อซักถามและทำการทดสอบในการทำกระดาษสาผักตบชวาของกลุ่มแกนนำทั้ง 2 กลุ่ม เพื่อวางกรอบการทำงาน ออกแบบกิจกรรมร่วมกับ    6. คณะทำงานกลุ่มนักศึกษาและแกนนำชุมชนหลักหก ร่วมศึกษาดูงานขั้นตอนการจัดทำกระดาษสาผักตบชวา พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างแกนนำนักศึกษา แกนนำชุมชน ณ ศูนย์ฝึกอาชีพมีชีวิต กศน. ต.หนองน้ำใจ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อนำมาทดลองทำกระดาษสาผักตบชวา และทำการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนหลักหกต่อไป    7. คณะทำงานกลุ่มนักศึกษา เข้ารับการการอบรมการให้องค์ความรู้ในด้านที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ระหว่างนักศึกษาและแกนนำชุมชนเบื้องต้น เพื่อนำมาปฏิบัติและถ่ายทอดต่อให้แก่ชุมชน โดยการอบรมการต่อยอดงานประดิษฐ์จากกระดาษสาผักตบชวา ให้เป็นดอกไม้ที่สวยงาม และมีความเป็นธรรมชาติปลอดสารพิษ พร้อมทั้งอบรมการจัดทำแผนธุรกิจเบื้องต้น ในการคำนวนหาต้นทุนของวัตถุดิบ อาทิ อุปกรณ์ที่จัดทำกระดาษสาผักตบชวา ค่าแรงต่างๆ จากการอบรม เรื่องการประดิษฐ์ดอกไม้จากกระดาษสาผักตบชวา กลุ่มแกนนำนักศึกษาและแกนนำชุมชนหลักหก    8. จัดทำกระดาษสาผักตบชวา หัวหน้าโครงการทำการชี้แจงการจัดทำกระดาษสาผักตบชวา โดยอธิบายถึงขั้นตอนการทำกระดาษสาผักตบชวา รวมถึงการแบ่งหน้าที่การดำเนินงานตามขั้นตอนการจัดทำกระดาษสาผักตบชวาร่วมกัน คณะทำงานนักศึกษา แกนนำชุมชน ชี้แจงขั้นตอนการทำกระดาษสาผักตบชวาให้ทุกคนได้รับทราบขบวนการแล้วนั้น ได้ทำการแบ่งหน้าที่ และลงมือทำ   9. การขึ้นรูปกระดาษสาจากผักตบชวาสำเร็จไปได้ด้วยดี ผลเป็นที่นักศึกษาและแกนนำชุมชนตั้งเป้าหมายไว้ เมื่อได้รูปร่างของกระดาษสาจากผักตบชวาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อาจารย์ผู้สอนและนักศึกษาหารือร่วมกันถึงข้อเสนอแนะ ข้อบกพร่องต่างๆ ในขั้นตอนการทำ รวมถึงวัตถุดิบที่ใช้ผสมในการขึ้นเป็นรูปกระดาษสาจากผักตบชวา ผลสรุปว่าทุกคนพอใจกับกระบวนการขั้นตอนการทำ รวมถึงวัตถุดิบที่ใช้ ทำให้การทดลองครั้งนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง    10. กลุ่มนักศึกษาร่วมกันประสานงานกับแกนนำชุมชนหลักหก ทำการประสานงานร่วมกับภาคท้องถิ่นในการจัดอบรมวิธีการทำกระดาษสาผักตบชวา การหารือร่วมกับตัวแทนชุมชนท้องถิ่นในการจัดอบรม ตามแผนการดำเนินงาน เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ การใช้อุปกรณ์ สถานที่ และสร้างอาชีพ รายได้ให้กับท้องถิ่นจากการอบรม การหาภาคีเครือข่าย ประสานงานร่วมกับวัดบริเวณพื้นที่โดยรอบมหาวิทยาลัยรังสิต โดยมีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก    11. อาจารย์ผู้สอน กลุ่มนักศึกษา แกนนำชุมชน สรุปผลสัมฤทธิ์ที่ได้จากการดำเนินโครงการ พร้อมส่งมอบโมเดลต้นแบบ กระดาษสาจากผักตบชวา พร้อมอุปกรณ์การขึ้นรูปกระดาษให้แก่ชุมชนได้ดำเนินงานต่อเป็นการสร้างสรรค์งานทางด้านงานวิจัยอีกทั้งสร้างสุขภาวะที่ดีแก่ชุมชนให้มีความยั่งยืนต่อไป 2. ผลการดำเนินการ การนำไปใช้ หรือการลงมือปฏิบัติจริง อุปสรรคหรือปัญหาในการทำงาน    จากการดำเนินงานโครงการการแก้ปัญหา ร่วมสร้างรายได้ แก่ชุมชนหลักหก ขับเคลื่อนโดยกลุ่มแกนนำนักศึกษาจากรายวิชาเรียน RSU184 คนต่างรุ่นในสังคมสูงวัย และกลุ่มแกนนำชุมชนหลักหก ผลการดำเนินการ นักศึกษาได้เรียนการทำงานร่วมกันของกลุ่มคน 3 วัย ซึ่งได้ผลสัมฤทธิ์ตรงตามวัตถุประสงค์ของรายวิชาเรียนเป็นอย่างมาก นักศึกษาและคนในชุมชนส่วนใหญ่มีความถนัดในสิ่งประดิษฐ์ รวมทั้งมีความสนใจในการต่อยอดธุรกิจต่างๆ จึงมีความเข้าใจและเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว ในการจัดทำกระดาษสาผักตบชวา มีการสังเกตุ และการอยากทดลอง ในรูปแบบต่างๆ มีความคิดสร้างสรรค์    จากการทดลองกระดาษสาผักตบชวาประสบผลสำเร็จ แกนนำชุมชนหลักหก มีความสนใจในการประดิษฐ์ดอกกุหลาบ มากกว่าการจัดทำกระดาษสาผักตบชวา ตามความสนใจและความถนัดของตัวบุคคล โดยภาพรวมแกนนำนักศึกษา และแกนนำชุมชนหลักหก สามารถผลิตกระดาษสาผักตบชวาได้ในคุณสมบัติที่ต้องการ อาทิ ความเหนียว สี และลวดลายของกระดาษสา สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างขั้นตอนการผลิตกระดาษผักตบชวาจากการสังเกตุ การหาข้อบกพร่องต่างๆ จนสามารถทำกระดาษสาผักตบชวาสำเร็จสมบูรณ์พร้อมที่จะนำองค์ความรู้สู่ชุมชนท้องถิ่นต่อไป คณะทำงานกลุ่มนักศึกษาทำการลงภาคสนามเพื่อทำการอบรมให้แก่ชาวบ้านชุมชนหลักหก ให้มีความรู้ความเข้าใจทุกขั้นตอน ให้ได้มาตรฐานกระดาษตามที่ต้องการ ได้รับความสนใจจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน และสื่อต่าง ๆ อย่างมากมาย ด้านของปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินโครงการ คือระยะเวลาในการดำเนินโครงการน้อยเกินไปเนื่องจากรายวิชาเรียนในภาคการศึกษาที่ 1 มีระยะเวลาการเรียนการสอนเพียง 4 เดือน ทำให้ระยะเวลาการดำเนินโครงการขาดความต่อเนื่องในระยะยาวนักศึกษาส่วนใหญ่ไม่สามารถดำเนินโครงการต่อได้ อีกทั้งความร่วมมือภาคท้องถิ่น ในเรื่องของผลประโยชน์ซับซ้อนในชุมชน 3. การตรวจสอบผลการดำเนินการ การนำเสนอประสบการณ์นำไปใช้ สรุปและอภิปรายผล บทสรุปความรู้หรือความรู้ที่ค้นพบใหม่การเรียนรู้ของผู้เล่าเรื่องจากประสบการณ์ความสำเร็จดังกล่าว    การค้นคว้า ศึกษาการทำกระดาษสาจากผักตบชวาได้ผลสัมฤทธิ์ตรงตามวัตถุประสงค์ นักศึกษาและชุมชนสามารถแปรรูปผักตชวาที่เป็นปัญหาของชุมชนหลักหกออกมาได้อย่างเป็นรูปธรรม ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ เมื่อดำเนินการอย่างต่อเนื่อง นักศึกษาได้มองเห็นวัตถุดิบของชุมชนอีกอย่างหนึ่งคือ ต้นกล้วย ที่มีจำนวนมากในชุมชนหลักหก เมื่อนักศึกษามีความรู้ในการผลิตกระดาษสาแล้ว จึงได้ทำการทดลองนำเยื่อกล้วยมาเป็นกระดาษสาจากเยื่อกล้วยเพื่อสามารถเสร้างสรรค์ป็นงานประดิษฐ์ต่อไปได้ ผลสรุป ต้นกล้วย เยื่อกล้วย สามารถทำเป็นกระดาษสาได้ นักศึกษาจึงค้นพบองค์ความรู้ใหม่จากการทำวิจัยครั้งนี้คือ กระดาษสาจากเยื่อกล้วย ข้อเสนอแนะในการดำเนินการในอนาคต หรือการดำเนินการเพื่อสามารถนำไปสู่การเป็น Good Practice       โครงการสร้างสรรค์ของนักศึกษาที่เกิดขึ้นจากรายวิชาเรียนควรได้รับความร่วมมือการสนับสนุนเริ่มจาก อาจารย์ บุคคลากรในคณะ/วิทยาลัย จนไปถึงระดับมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง และเป็นรูปธรรม เพื่อการดำเนินกิจกรรมนักศึกษาให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลต่อการพัฒนานักศึกษา และมหาวิทยาลัยสามารถนำผลการวิจัยไปใช้เป็นแนวทางในการวางแผนพัฒนาในด้านต่าง ๆ ต่อไป ดูรูปภาพ/กิจกรรมเพิ่มเติมที่นี่

“คนต่างรุ่นในสังคมสูงวัย” สู่งานวิจัยกระดาษสาผักตบชวา Read More »

การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบและต้านมะเร็งในหลอดทดลองของสมุนไพรไทยสูตรผสม

รางวัลชมเชย ปีการศึกษา 2565 ยุทธศาสตร์ที่ 2 : KR 2.5.2 การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบและต้านมะเร็งในหลอดทดลองของสมุนไพรไทยสูตรผสม ผู้จัดทำโครงการ​ อ.ดร.ภญ. นลินี ประดับญาติ วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ หลักการและเหตุผล/ความสำคัญ/ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้​ บริบทหรือความเป็นมาของเรื่องที่เล่า          ในปัจจุบันด้วยสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 หรือภาวะมลพิษจากการกระจายของฝุ่นละอองขนาดเล็ก (particulate matters 2.5; PM 2.5) ซึ่งทั้งสองปัจจัยทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั้งในระยะเฉียบพลันและในระยะยาว ในระยะเฉียบพลันการติดโรคโควิด-19 มีผลกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันหลายอย่างที่เป็นสาเหตุให้เกิดกระบวนการอักเสบและเป็นเหตุให้การทำงานของอวัยวะหลายระบบล้มเหลวได้ ส่วนฝุ่น PM 2.5 ทำให้เกิดผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจ กระตุ้นปฏิกิริยาการอักเสบ รวมทั้งมีผลการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าฝุ่นนี้เป็นปัจจัยต่อการเจริญของเซลล์ที่ผิดปกติและเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง พืชสมุนไพรไทยหลายชนิด ได้แก่ มะนาว ใบหญ้านาง ข่า พริกไทย ใบกัญชา ฯลฯ มีประวัติการใช้ตามภูมิปัญญาโดยใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารตลอดจนใช้สำหรับดูแลสุขภาพตลอดจนรักษาโรค ซึ่งมีผลการศึกษาในหลอดทดลองหลายการศึกษาที่สนับสนุนว่าพืชสมุนไพรเหล่านี้มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน ลดกระบวนการอักเสบได้ ในบทบาทของการเป็นอาจารย์ผู้สอนทางด้านเภสัชวิทยาและพิษวิทยาที่จะต้องมีภาระทั้งการสอน และการทำวิจัยควบคู่ไปด้วย ได้เล็งเห็นประโยชน์และความสำคัญของภูมิปัญญาไทยต่อการใช้พืชสมุนไพรชนิดต่าง ๆ ในการบำรุง ดูแล รักษาและฟื้นฟูสุขภาพ ทั้งนี้ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเคลียร์-บีลอง พลัส ผสมใบกัญชา โดยบริษัทนารีฟาร์มา กรุ๊ป ที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรชนิดต่าง ๆ ที่ผลิตออกมาในรูปแคปซูลที่สะดวกต่อการรับประทาน ดังนั้นเพื่อสนับสนุนความปลอดภัยและประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจึงได้มีการทำการศึกษาวิจัยในหลอดทดลองเป็นเบื้องต้น ประเภทความรู้และที่มาความรู้ ความรู้แบบชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) : ความรู้ที่เกิดจากกระบวนการศึกษาวิจัยความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge) : เจ้าของความรู้  วิธีการดำเนินการ 1. วิธีการดำเนินการ   วิธีการ/ขั้นตอน หรือกระบวนการที่ทำให้งานนั้นประสบความสำเร็จ        1. รวบรวมข้อมูล และทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ        2. ออกแบบการศึกษาที่รัดกุม ครอบคลุมวัตถุประสงค์การวิจัยที่สามารถวัดและประเมินผลได้อย่างเป็นรูปธรรม        3. ดำเนินการวิจัยจนเสร็จสิ้น และจัดทำรายงานการวิจัย        4. เผยแพร่ผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ        5. นำผลการศึกษาที่ได้พัฒนาต่อยอดเพื่อศึกษาวิจัยต่อในระดับคลินิก และวางแผนถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ 2. ผลการดำเนินการ การนำไปใช้ หรือการลงมือปฏิบัติจริง อุปสรรคหรือปัญหาในการทำงานเทคนิคหรือกลยุทธ์ที่ทำให้เกิดความสำเร็จ    – กำหนดหัวข้อวิจัยที่ชัดเจน    – สร้างทีมวิจัย โดยชักชวนนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันพัฒนางานวิจัยที่สนใจ    – ขอทุนวิจัย และดำเนินการวิจัยจนเสร็จสิ้นตามสัญญาทุน หากเกิดปัญหาหรืออุปสรรคจะขอคำปรึกษาจากทีมวิจัย และที่ปรึกษาโครงการวิจัยเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้    – เตรียมข้อมูลความพร้อมและทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ    – กำหนดของเขตการวิจัยที่ชัดเจ    – เลือกเครื่องมือในการดำเนินงานวิจัยที่เหมาะสม    – ดำเนินงานวิจัยตามกรอบแนวคิด และมีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ละเอียดรอบคอบ    – เขียนบทความวิจัยเพื่อส่งตีพิมพ์ โดยเลือกวารสารวิชาการระดับนานาชาติคุณภาพสูงและอยู่ในฐานข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับเป็นอันดับแรก หากถูกปฏิเสธการตีพิมพ์ จะนำข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิมาแก้ไขบทความวิจัย และส่งตีพิมพ์ในวารสารใหม่ที่คุณภาพลดหลั่นลงมาผู้ที่มีส่วนร่วมทำให้เกิดความสำเร็จ และบทบาทของบุคคลนั้น    – คณะนักวิจัยที่ร่วมดำเนินงาน    – ผู้บริหารของวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยรังสิต และบริษัทนารีฟาร์มา กรุ๊ป เป็นผู้สนับสนุนและให้โอกาสในการทำวิจัยอุปสรรคหรือปัญหาในการทำงาน และแนวทางในการแก้ปัญหา/อุปสรรคดังกล่าว     การศึกษาวิจัยนี้ใช้เซลล์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของมนุษย์เป็นแบบจำลองในการศึกษา ปัญหาที่พบคือเซลล์เจริญเติบโตช้า ต้องเลี้ยงให้มีคุณลักษณะที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ผลการทดลองที่สอดคล้องกันในแต่ละวิธีการศึกษาและแปลผลไปสู่การประยุกต์ใช้ในทางคลินิกผลลัพธ์หรือความสำเร็จที่เกิดขึ้น     ดำเนินการศึกษาวิจัยแล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลา ผลการวิจัยได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ เผยแพร่ผลงานผ่านสื่อสังคมและเตรียมความพร้อมสำหรับดำเนินการวิจัยทางคลินิก 3. การตรวจสอบผลการดำเนินการ การนำเสนอประสบการณ์นำไปใช้ สรุปและอภิปรายผล บทสรุปความรู้หรือความรู้ที่ค้นพบใหม่การเรียนรู้ของผู้เล่าเรื่องจากประสบการณ์ความสำเร็จดังกล่าว      เรียนรู้บริบทการดำเนินการวิจัยที่เน้นการทำงานเป็นทีม ที่ประกอบด้วยนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญหลาย ๆ สาขา เพื่อให้งานวิจัยสัมฤทธิ์ผลดีและประหยัดเวลาในการดำเนินงาน ดังนั้นการสร้างทีมวิจัยและเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้การดำเนินงานวิจัยในปัจจุบันต้องเน้นผลลัภย์ที่สร้างผลิตภัณฑ์และมูลค่าจากกวิจัย รวมทั้งการตีพิมพ์บทความวิจัยในปัจจุบันจะเน้นการศึกษาในเชิงลึกและเชิงบูรณาการศาสตร์หลายแขนง ทำปรับเปลี่ยนจากการดำเนินงานวิจัยในแนวกว้างเป็นการทำงานเชิงลึกและบูรณาการมากขึ้น เพื่อให้บทความวิจัยไม่ถูกปฏิเสธการตีพิมพ์สมรรถนะ (ความรู้ ทักษะ หรือทัศนคติ) ของผู้เล่าเรื่อง      เกิดความเข้าใจแนวทางการดำเนินการวิจัยที่เน้นการสร้างทีมวิจัยที่มีคุณภาพ เน้นการดำเนินงานวิจัยที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่สร้างผลิตภัณฑ์และเพิ่มมูลค่าแทนที่แนวทางการวิจัยแบบเดิมที่สร้างองค์ความรู้เพียงมิติเดียว ตลอดจนการตีพิมพ์บทความวิจัย เกิดการเรียนรู้ความหลากหลายทักษะการทำวิจัยระหว่างผู้ร่วมวิจัย ทำให้เกิด การสั่งสมประสบการณ์การทำวิจัยในเชิงลึก บูรณาการองค์ความรู้และการมีบทความตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ จึงได้รับเชิญให้พิจารณาบทความวิจัยจากวารสารต่าง ทำให้เป็นแนวทางในการสร้างงานวิจัยเรื่องอื่น ๆ ในอนาคตได้ ผลงานเชิงประจักษ์ของผู้เล่าเรื่อง คือ      ผลการวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ BMC Complementary Medicine and Therapies ซึ่งอยู่ใน quartile 1 มีค่า impact factor 2.83 มีการแถลงข่าวเผยแพร่ผลงานวิจัย เปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการศึกษาวิจัย และเตรียมโครงการวิจัยต่อยอดในระดับคลินิกต่อไป ข้อเสนอแนะในการดำเนินการในอนาคต หรือการดำเนินการเพื่อสามารถนำไปสู่การเป็น Good Practice          การดำเนินงานวิจัย สิ่งสำคัญที่สุดคือทำงานศึกษาข้อมูลให้มากสุดก่อนเริ่มต้นดำเนินการ การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบนอกจากจะทำให้นักวิจัยมีองค์ความรู้ที่กว้างแล้วยังทำให้สามารถค้นพบช่องว่างของงานวิจัยหรือข้อจำกัดของงานวิจัยอื่น ๆ ที่ผ่านมา (identify research gap) และทำให้ตั้งคำถามงานวิจัยที่เหมาะสมได้ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในกระบวนการเริ่มดำเนินโครงการวิจัยและออกแบบการทดลองที่สามารถตอบคำถามงานวิจัยได้ ในการดำเนินการวิจัยต้องมองภาพประโยชน์ของงานวิจัยที่จะเกิอดขึ้นว่าคืออะไร เพราะการมองเห็นคุณค่าที่ชัดเจน จะเป็นปัจจัยที่ทำให้นักวิจัยมีแรงขับเคลื่อนให้ก้าวผ่านปัญหาและอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมั่นคงคือ เกิดการเรียนรู้อย่างสูงสุด นอกจากนี้สิ่งแวดล้อมในการดำเนินการวิจัยและคณะผู้ร่วมงานวิจัยก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่จะส่งเสริมให้เกิดแนวคิดและการสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เกิดจากกระบวนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การอภิปราย การตั้งคำถามที่สมเหตุสมผลที่ทำให้เกิดการค้นคว้าเพิ่มเติมการวิเคราะห์และสังเคราะห์ผลที่ได้จากการดำเนินการวิจัยที่จะนำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการดำเนินงาน ดูรูปภาพ/กิจกรรมเพิ่มเติมที่นี่

การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบและต้านมะเร็งในหลอดทดลองของสมุนไพรไทยสูตรผสม Read More »

การพัฒนาความร่วมมือด้านการวิจัยระดับนานาชาติอย่างมืออาชีพ

รางวัลชมเชย ปีการศึกษา 2565 ยุทธศาสตร์ที่ 2 : KR 2.5.1, KR 2.5.3 การพัฒนาความร่วมมือด้านการวิจัยระดับ นานาชาติอย่างมืออาชีพ ผู้จัดทำโครงการ​ ผศ. ดร. คณิตศร เทอดเผ่าพงศ์ คณะบัญชี หลักการและเหตุผล/ความสำคัญ/ความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้​        ในการพัฒนาการร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างประเทศ จำเป็นต้องมีความรู้ที่หลากหลาย เพื่อให้การทำงานในแต่ละขั้นตอนของแผนการดำเนินงาน รวมถึง Plan, Do, Check และ Action ประสบความสำเร็จ มีดังนี้       1. ความรู้เกี่ยวกับหัวข้อวิจัยหรือประเด็นการวิจัยน่าสนใจ (Research knowledge) รวมถึงเข้าใจสภาวะปัจจุบันของการวิจัยในสาขานั้น ๆ การระบุช่องว่างการวิจัย และการกำหนดคำถามวิจัยที่ต้องการคำตอบ ความรู้นี้จะช่วยนำไปสู่ขั้นตอนการวางแผนและตรวจสอบว่าโครงการมีความเกี่ยวข้องและมีผลกระทบหรือไม่อย่างไร       2. ความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพระหว่างทีมงาน (Efficient collaboration between team members) การทำงานในโครงการวิจัยในระดับนานาชาติ ต้องการบุคคลที่มีความรู้เกี่ยวกับการวิจัย รวมถึงเข้าใจพื้นหลัง ความเชี่ยวชาญ และเข้าใจถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมเนื่องจากเป็นการทำงานร่วมกันหลายฝ่ายและหลายประเทศ ความรู้นี้ช่วยสร้างความสัมพันธ์ สร้างความไว้วางใจ และสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของโครงการ      3. ความสามารถในการใช้ซอฟต์แวร์ (Software and application knowledge) เพื่อการทำงานร่วมกันและใช้เครื่องมือการจัดการโครงการในการแบ่งปันข้อมูล หลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อน นอกจากควรสามารถเขียนหรือกำหนดโปรโตคอลในการสื่อสารและการตัดสินใจเพื่อให้แน่ใจว่าสมาชิกในทีมทุกคนทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ      4. ทักษะการบริหารโครงการ (Project management skill) เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาความร่วมมือด้านการวิจัยระดับนานาชาติให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งรวมถึงทักษะต่างๆ เช่น การวางแผน การจัดระเบียบ การมอบหมายงาน การติดตามความคืบหน้า และการปรับเปลี่ยนตามข้อเสนอแนะและข้อมูลเชิงลึกที่ได้รับจากขั้นตอนการตรวจสอบ ทักษะเหล่านี้ช่วยให้มั่นใจได้ว่าโครงการจะเป็นไปตามแผนและทีมสามารถบรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการวิจัยได้ ประเภทความรู้และที่มาความรู้ ความรู้แบบชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) : จากการทำงานในโครงการวิจัยร่วมกับต่างประเทศความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge) : เจ้าของความรู้  วิธีการดำเนินการ 1. วิธีการดำเนินการ   ขั้นตอนการวางแผนมีความสำคัญต่อความสำเร็จของความร่วมมือด้านการวิจัยระดับนานาชาติ เริ่มต้นด้วยการกำหนดขอบเขตของโครงการให้ชัดเจน รวมถึงเป้าหมายการวิจัย ระยะเวลา และงบประมาณ สิ่งสำคัญคือต้องพิจารณาความเชี่ยวชาญที่จำเป็นสำหรับโครงการและกำหนดผู้ทำงานร่วมกันที่มีศักยภาพ ซึ่งควรเป็นบุคคลที่สามารถนำเสนอมุมมองและมีทักษะทางการวิจัยที่จำเป็น เมื่อระบุผู้ทำงานร่วมกันที่มีศักยภาพแล้ว ให้ประเมินความเชี่ยวชาญและผลงานของผู้ร่วมงานนั้น เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ร่วมงานเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมกับโครงการ สร้างช่องทางการสื่อสารที่ชัดเจน เช่น การประชุมทางวิดีโอ อีเมล หรือซอฟต์แวร์การทำงานร่วมกัน และกำหนดโปรโตคอลสำหรับการแบ่งปันข้อมูล ผู้เขียน และการกำหนดเครดิต    นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือต้องสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับบทบาทและความรับผิดชอบของสมาชิกในทีมแต่ละคน สุดท้าย ตรวจสอบให้แน่ใจว่าทุกคนในทีมตระหนักถึงเป้าหมาย ลำดับเวลา และความคาดหวังสำหรับโครงการ ตลอดจนความรับผิดชอบของแต่ละคน 2. ผลการดำเนินการ การนำไปใช้ หรือการลงมือปฏิบัติจริง อุปสรรคหรือปัญหาในการทำงาน    เมื่อวางแผนเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาเริ่มดำเนินการ โดยเริ่มต้นด้วยการกำหนดการประชุมออนไลน์อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงเวลาและวันที่ที่เหมาะสมกับทุกฝ่าย ใช้การประชุมเหล่านี้เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับความคืบหน้า ปัญหาอุปสรรค์ และวิธีการแก้ไขที่เป็นไปได้ กำหนดเนื้องาน กำหนดเวลา และกำหนดบุคลากรสำหรับงานแต่ละงาน เพื่อและให้แน่ใจว่าทุกคนเข้าใจหน้าที่ของตนเองได้อย่างชัดเจน ใช้ซอฟต์แวร์สำหรับการสร้างสรรค์และเครื่องมือจัดการโครงการเพื่อติดตามความคืบหน้าและสื่อสารกับสมาชิกในทีม นอกจากนี้ การตั้งตารางการสื่อสารอย่างสม่ำเสมอกับสมาชิกในทีมเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้แน่ใจว่าสมาชิกในทีมได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอในการดำเนินงานของตน นอกจากนี้ การกำหนดโปรโตคอลสำหรับการสื่อสารและการตัดสินใจเพื่อให้แน่ใจว่าสมาชิกในทีมทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3. การตรวจสอบผลการดำเนินการ การนำเสนอประสบการณ์นำไปใช้ สรุปและอภิปรายผล บทสรุปความรู้หรือความรู้ที่ค้นพบใหม่ขั้นตอนตรวจสอบ      หัวหน้าโครงการวิจัยทำการตรวจสอบความคืบหน้าของโครงการอย่างสม่ำเสมอและการประเมินว่าโครงการกำลังเดินหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมายหรือไม่ กำหนดตารางการรายงานอย่างสม่ำเสมอและใช้รายงานเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการติดตามความคืบหน้า และหากพบปัญหาหรือส่วนที่ต้องให้ความสนใจพิเศษเพิ่มเติม ควรให้การแนะนำเพื่อแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นด้วยความรวดเร็ว และเปิดรับข้อเสนอแนะและคำแนะนำจากสมาชิกในทีม ใช้ข้อเสนอแนะเหล่านี้ในการปรับปรุงโครงการตามความจำเป็น และให้แน่ใจว่าทุกคนในทีมรับทราบถึงการเปลี่ยนแปลง       นอกจากนี้ การประเมินว่าโครงการบรรลุเป้าหมายและทีมทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญด้วย หากเนื้องานตามโครงการไม่เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ให้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้โครงการสามารถกลับมาเดินหน้าได้ต่อไป ข้อเสนอแนะในการดำเนินการในอนาคต หรือการดำเนินการเพื่อสามารถนำไปสู่การเป็น Good Practice          ในขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนการดำเนินการจากข้อมูลเชิงลึกที่ได้รับจากขั้นตอนการตรวจสอบและใช้เพื่อขับเคลื่อนโครงการไปข้างหน้า ควรมีการปรับวิธีการหรืออาจปรับทีมงานตามความจำเป็น มีการติดตามความก้าวหน้า พร้อมทั้งเขียนรายงานความคืบหน้าและข้อเสนอแนะ ในขั้นตอนนี้ผู้วิจัยควรมีทำการตรวจสอบให้แน่ใจว่าโครงการจะสามารถบรรลุเป้าหมายการวิจัยและวัตถุประสงค์ที่วางไว้ และมีการวิเคราะห์หรือสังเคราะห์ผลลัพธ์ และเรียนรู้จากปัญหาอุปสรรค หรือความล้มเหลวที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ทีมงานควรมีการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานระหว่างประเทศต่อไปอย่างสม่ำเสมอ โดยมองหาโอกาสในการแบ่งปันสิ่งที่ค้นพบและหาโอกาสในการทำงานร่วมกันในโครงการในอนาคต         นอกจากนี้ ควรมีการบันทึกผลลัพธ์ของโครงการและแบ่งปันกับสมาชิกในทีม โดยรับรู้ถึงการมีส่วนร่วมของสมาชิกในทีมแต่ละคน เอกสารนี้มีประโยชน์ในการประเมินโครงการและการสร้างความร่วมมือสำหรับโครงการในอนาคต ดูรูปภาพ/กิจกรรมเพิ่มเติมที่นี่

การพัฒนาความร่วมมือด้านการวิจัยระดับนานาชาติอย่างมืออาชีพ Read More »

Scroll to Top